ผมได้ยินชื่อของ Undone (อันดัน) มาสักระยะแล้ว แต่ถือเป็นครั้งแรกที่เพิ่งจะได้มีโอกาสสัมผัสนาฬิกาของพวกเขากับ อันดัน รุ่น Basecamp Classic Blue
Undone Basecamp Classic Blue สวยอย่างมีเอกลักษณ์ในราคาจับต้องได้
เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นหูกับชื่อของ อันดัน แบรนด์นาฬิกาน้องใหม่มาแรงกันไม่มากก็น้อย เพราะในช่วงหนึ่งหน้า Feed และช่องทางออนไลน์บนหน้าจอของผมมักจะมีโฆษณาของแบรนด์นี้ถาโถมเข้ามาอยู่ตลอดเวลาที่เปิดเครื่อง จนกระทั่งเกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นมาว่า ‘นี่คืออะไร ?’ และนำไปสู่การค้นหาความจริง จนกระทั่งสุดท้ายก็มาจบอยู่ตรงที่การมีนาฬิกา อันดัน รุ่น Basecamp Classic Blue วางอยู่บนข้อมือของตัวเอง
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อันดัน คืออะไร ?
นี่คือ แบรนด์นาฬิกาที่มีจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดที่น่าสนใจจากแนวคิดของ Michael Young ผู้ก่อตั้งชาวฮ่องกง ในการสร้างแบรนด์ที่แตกต่างด้วยการทำให้ลูกค้าสามารถสร้างสรรค์นาฬิกาขึ้นเองตามความต้องการและจินตนาการภายใต้ทางเลือกที่มีอยู่ของอันดันไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสาย ตัวเรือน หน้าปัด หรือชุดเข็ม เรียกง่ายๆ คือ คุณเปิดเว็บของพวกเขาจากนั้นเลือกจับโน่นเอามาเจอนี่และใส่สายประเภทนี้ แน่นอนว่าตรงนี้นอกจากจะเกิดความสนุกสนานแล้ว ลูกค้ายังสามารถค้นหานาฬิกาที่ตรงใจกับตัวเองมากที่สุดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน อันดัน ไม่ได้มีทางเลือกของนาฬิกาในแบบ Customize เท่านั้น พวกเขายังผลิตนาฬิกาในรูปแบบที่เป็นคอลเล็กชันของตัวเองออกมาขายด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน ซึ่งคอลเล็กชั่นของพวกเขาก็จะมีรุ่น Terra Urban Urban34 Basecamp Aero และ Aqua ซึ่งท้ายที่สุด ผมเลือกเอาเจ้า อันดัน รุ่น Basecamp Classic Blue มาอยู่ในครอบครอง
Basecamp เป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นครบประสิทธิภาพสูง ที่ให้ลุควินเทจที่ดูดี สวยงามน่าหลงใหล และรุ่นที่มีขายตามปกติถ้าไม่นับพวกรุ่นพิเศษที่อันดันจัดการทำ Collaboration กับแบรนด์อื่นๆ นั้น จะมีด้วยกัน 2 หน้าปัด คือ หน้าปัดธรรมดาซึ่งพวกเขาใช้ชื่อรุ่นว่า Basecamp Classic และหน้าปัดที่เป็นแบบ California Dial ที่เรียกว่า Basecamp Cali
สิ่งหนึ่งที่ส่วนตัวผมมองว่ามีส่วนทำให้คนที่มีความพิเศษอะไรบางอย่างในแง่กายภาพของข้อมือเลือกตัดสินใจที่จะเดินผ่าน อันดัน คือ การที่พวกเขาต้องการให้สินค้าของตัวเองเข้าถึงกลุ่มทั้งผู้ชายและผู้หญิง มากกว่าที่จะเจาะไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นตัวเลข 40 มิลลิเมตรของหน้าปัดจึงเป็นมาตรฐานสำหรับนาฬิกาเกือบทุกเรือนของพวกเขา เพื่อเน้นให้สามารถใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะด้วยการสั่งผ่านทางช่องทางออนไลน์ไม่มีหน้าร้าน โอกาสที่จะได้ลองก็เลยยาก และบรรดาพวกเที่ชอบใส่นาฬิกา Oversized ก็คงจะเดินผ่านอยู่ดี
ดังนั้น จะว่าไปแล้วงานนี้เหมือนกับการวัดดวงนิดๆ ของผม เพราะตามปกติแล้ว ด้วยลักษณะทางกายภาพของข้อมือตัวเองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 นิ้วบวกกับรูปแบบที่แบน ทำให้การเลือกนาฬิกาต้องเน้นที่ตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์และ Lug to Lug เป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 40 มิลลิเมตรของ Basecamp Classic อาจจะยังไม่ผ่าน แต่ด้วยขนาด Lug to Lug ที่มีตัวเลข 48 มิลลิเมตร อันนี้ก็เลยพอทำใจตัดสินใจกดสั่งซื้อ
ในแง่ของหน้าตานั้น Basecamp Classic Blue โดดเด่นด้วยเข็มชั่วโมงสีส้ม บนพื้นหน้าปัดสีน้ำเงินที่มีพื้นผิวเป็นประกายดูสวยงามและตัว ซึ่งส่วนตัวจากในภาพผมค่อนข้างพอใจ และเมื่อตัวจริงมาถึงก็เรียกว่า ‘สินค้าตรงปก’ แต่ติดอยู่อย่างเดียวในเรื่องของความโล่งบนพื้นที่ใต้หลัก 12 นาฬิกา ซึ่งตามปกติแล้วเราจะคุ้นเคยกับการวางสัญลักษณ์ของแบรนด์ หรือข้อความอะไรบางอย่าง แต่สำหรับ อันดัน พวกเขากลับเลือกเอาชื่อของแบรนด์ไปวางอยู่ใต้ตำแหน่ง 6 นาฬิกาแทนอะไรต่อมิอะไรก็เลยไปวางอยู่ครึ่งล่างของหน้าปัด ผลก็คือ ทำให้ครึ่งบนของหน้าปัดดูโล่งไปหน่อย
ถามว่าซีเรียสไหม ? ส่วนตัวผมมองว่านิดนึงนะ เพราะถ้าในกรณีที่เข็มชั่วโมงและนาทีอยู่ในตำแหน่งของเวลาครึ่งบนหน้าปัด ตรงนี้ก็จะหมดปัญหาไป เพราะมีการเข้ามาของเข็ม แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาในช่วงครึ่งล่างของหน้าปัด คุณจะพบกับความโล่งแบบสังเกตได้ชัดเจนเลยทีเดียว
กลับมาที่เรื่องของขนาดตัวนาฬิกากับความรู้สึก ในเรื่องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร ผมไม่ได้ติดใจอะไรแล้วหลังจากที่ได้เจอตัวจริงและทาบขึ้นข้อ เพราะว่ามีอยู่ 3 อย่างที่เข้ามาช่วยลดทอนความรู้สึกที่เป็นอคติกับตัวเลข 40 มิลลิเมตรลงไป
อย่างแรกบอกไปแล้วคือ Lug to Lug ขนาด 48 มิลลิเมตร ข้อที่ 2 คือ ความหนาของตัวเรือนนาฬิกา ซึ่งการใช้กระจกที่เป็นเลนส์เล็กแซนพลี่คาร์บอร์เนตทรงโดมสูงแบบไม่ธรรมดา ก็เลยทำให้ความหนาขยับขึ้นมาถึง 15 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าหนามากเมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมของตัวนาฬิกา และสุดท้ายคือ การออกแบบเม็ดมะยมได้อย่างสวยและลงตัวกับนาฬิกากับทรงเหลี่ยม และมีความยาวถึง 6 มิลลิเมตร ซึ่งจะแตกต่างจากนาฬิกาที่ใช้เคสทรงนี้ที่มักจะมากับเม็ดมะยมทรงกลมแบบบางๆ เสียมากกกว่า
ในแง่ของสเป็กบนตัวเรือนนั้นต้องบอกว่า Basecamp Classic Blue ทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการขัดแต่งบนตัวเรือนแบบเงาสลับด้านที่ทำได้สวย การดีไซน์รูปแบบของตัวเลขบนขอบสเกลบนขอบตัวเรือนที่ดูคลาสสิคและวินเทจ ลวดลายบนพื้นหน้าปัดที่มีเท็กซ์เจอร์ในรุ่นเบสแคมป์คลาสสิค ส่วนสายก็มีให้เลือกทั้งสายหนังที่เย็บเก็บมุมตรงหัวสายตามสไตล์สายวินเทจ ติดอยู่อย่างเดียวตรงที่ปลายสายเรียวเล็กไปหน่อย ถ้าเป็น 20/18 มิลลิเมตร ผมว่าน่าจะดูดีขึ้น
แน่นอนว่าในเรื่องของกลไกอาจจะไม่ต้องห่วงหรือกังวลอะไรมากกับเรื่องความทนทานและการดูแลรักษา เพราะอันดันก็เหมือนกับแบรนด์นาฬิกาหลายๆ แบรนด์ในตลาดที่เลือกจะใช้กลไกในรหัส NH35A ของ Seiko ผลิตโดย Seiko Manufacturing ซึ่งทำหน้าที่ผลิตกลไกอัตโนมัติส่งขายให้กับแบรนด์นาฬิกาต่างๆ ที่ต้องการสร้างนาฬิกาอัตโนมัติของตัวเองแต่ไม่ต้องลงทุนผลิตกลไกด้วยตัวเองขึ้นมา
กลไก NH35A เปรียบเทียบแล้วคือเครื่อง 4R35ของไซโก้ มาพร้อมกับฟังก์ชั่นเดทในการแสดงวันที่ ซึ่งในรุ่น Basecamp Classic จะมีอยู่ในตำแหน่ง 4.30 น.บนหน้าปัด แต่สำหรับ Basecamp Cali จะไม่ได้ตามสไตล์นาฬิกาที่ใช้หน้าปัด California Dial ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 ส่วนการสำรองกำลังงานก็อยู่ที่ 41 ชั่วโมง ส่วนการกันน้ำของทั้งคู่จะอยู่ที่ 100 เมตร
สรุปโดยรวมแล้ว อันดันถือเป็นนาฬิกาทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังมองหานาฬิกาในระดับราคาบวกลบหนึ่งหมื่นบาทที่มีดีไซน์และสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร พร้อมกลไกอัตโนมัติที่เชื่อใจได้ ให้ความมั่นใจกับการที่เป็นแบรนด์มีตัวแทนจำหน่ายที่สามารถดูแลได้หลังจากที่ซื้อไปแล้วซึ่งอาจจะต่างจากการสั่งซื้อไมโครแบรนด์จากเมืองนอกที่มีอยู่ตามออนไลน์
โดยนอกจาก 2 รุ่นนี้แล้ว อีกหลายรุ่นของอันดันถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะรุ่นพิเศษที่แบรนด์ไปทำคอลาบอเรชั่นกับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งคุณสามารถเช็ครายละเอียดเหล่านี้ได้ที่เว็บไซต์ www.undone.com/th ของพวกเขา
ส่วนราคาค่าตัวในระดับ 10,758 บาทสำหรับบางคนอาจจะดูแล้วสูงไปนิดกับแบรนด์นาฬิกาที่มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าคุณคิดที่จะซื้อนาฬิกาสักเรือนโดยที่ไม่ต้องแคร์แบรนด์หรืออนาคต แต่เลือกเพราะความตรงใจกับบุคลิก และความชอบของตัวคุณเองแล้ว ผมว่าราคานี้ไม่ใช่ปัญหาในการตัดสินใจอะไรเลย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/