สำหรับคนที่ชอบนาฬิกา Bronze เชื่อว่าทางเลือกในปัจจุบันถูกบีบแคบลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์สวิสส์ระดับหรู และเรากำลังจะบอกว่าถ้าคุณกำลังมองหานาฬิกาประเภทนี้สักเรือน Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial คืออีกทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก
Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial
-
ผลผลิตใหม่ของ Tudor ในการลุยตลาด Bronze ด้วยรุ่น Heritage Black Bay Bronze นับจากปี 2016
-
มากับหน้าปัดสีใหม่ที่เรียกว่า Slte-Grey ตัวเรือน 43 มิลลิเมตร และกลไก In-House
-
มีจำหน่าย 2 ทางเลือกคือ สายหนังและสายผ้าแจ็คการ์ดในราคาเท่ากัน 151,100 บาท
จู่ๆ ผมก็เกิดอาการอยากได้นาฬิกาบรอนซ์ขึ้นมาซะงั้น ซึ่งถ้ามองในตอนนี้โดยอ้างอิงจาก 3 ปัจจัยที่ผมตั้งเอาไว้ให้กับตัวเองคือ ต้องมีแบรนด์ ราคาโดนใจภายใต้งบที่มีบวกลบไม่เกิน 200,000 บาท และสเป็กดีโดยเฉพาะอยากลองกลไก In-House นั้น เท่าที่มองหาในตลาดเรียกว่าแบบครบๆ นี่หาค่อนข้างยากเลยทีเดียว เรียกว่า ถ้าสเป็กดีแบรนด์ดังราคาก็ต้องแรงตามไปด้วย จนในที่สุดก็มาถึงช่วงเวลาของการตัดสินใจแบบจริงจัง ก็เลยต้องบอกตัวเองว่า ‘ช่างมันโว้ย’ เอาที่โดนใจสักข้อหรือสองข้อก็ได้ไม่จำเป็นต้องทั้งหมด ก่อนที่จะเลือกเอาเจ้า Tudor Heritage Black Bay Bronze รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งหน้าปัดมากับโทนสีเทาที่เรียกว่า Slate-grey
เอาเข้าจริงๆ ในกลุ่มนาฬิกาดำน้ำของ Tudor ผมชื่นชม Pelagos มากถึงขนาดจับใส่เข้าใน Wish List ของตัวเอง (แต่ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งสักที) ส่วน Heritage Black Bay นั้น ต้องบอกว่าไม่เคยอยู่ในหัวเลย แม้ว่าจะเป็นนาฬิกายอดนิยมของแบรนด์ก็ตาม เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะขนาดตัวเรือนที่มากับไซส์ 41 มิลลิเมตร ซึ่งแม้ว่าขาสายจะยาวและทำให้ดูเต็มข้อได้ แต่ส่วนตัวผม กลับไม่ค่อยโดนเท่าไรกับตัวเรือนขนาดนี้ ผมชอบนาฬิกาที่ใส่แล้วดูเต็มข้อและทะมัดทะแมง ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่นาฬิกากลุ่มสปอร์ต โดยเฉพาะพวกดำน้ำจะต้องมี
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
แต่สุดท้ายก็เป็นอีกครั้งที่ไปไม่ถึง Pelagos และแวะข้างทางลองสัมผัสกับ Heritage Black Bay Bronze แทน ด้วยเหตุผลในเรื่องที่อยากได้นาฬิกา Bronze แบบมีชาติตระกูล ไม่ใช่พวก Homage และอยากรู้ด้วยว่าขนาดตัวเรือน 43 มิลลิเมตรของมันจะรับกับข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผมได้ดีขนาดไหน
Tudor เปิดตัวนาฬิกาบรอนซ์ของ Heritage Black Bay มาแล้ว 3 รุ่นด้วยกันนับจากปี 2016 ซึ่งรุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาเป็นหน้าปัดสีน้ำตาล ก่อนที่จะมีรุ่นพิเศษสำหรับ Only Watch แบบขับซ้ายในปี 2017 จากนั้นก็เป็นรุ่นหน้าปัดสีน้ำเงินตามออกมาในปีเดียวกันด้วยเวอร์ชัน Bucherer และปี 2019 เป็นรุ่นล่าสุดคือสีเทาที่เรียกว่า Slate-grey ซึ่งจะมีขายด้วยกัน 2 รุ่นย่อยคือ สายหนัง และสายผ้าแบบแจ็คการ์ดอันเป็นเอกลักษณ์ของ Tudor นับจากปี 2010 เป็นต้นมา
จริงๆ ผมชอบหน้าปัดสีน้ำเงินนะ แต่ของหมดและในตลาด Re-Sale ก็แทบจะไม่เจอ เรียกว่าหายากสุดๆ อาจจะเป็นเพราะมันคือ Bucherer Version จนสุดท้ายก็ตัดสินใจ เลือกหน้าปัด Slate-grey แทน ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าน่าจะเข้ากับสีตัวเรือนที่เปลี่ยนไปเพราะ Patina ได้มากกว่าหน้าปัดสีน้ำตาล ซึ่งในปัจจุบันไม่มีขายในบูติกแล้ว
ผมคลุกคลีกับนาฬิกาบรอนซ์มาสักระยะหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่เชี่ยวขนาดที่ทำ Forced Patina เอง แต่ก็ชอบที่จะค่อยๆ ปั้นมันให้มีสีสันที่สวยเด่นด้วยการสวมใส่ทำกิจกรรมอยู่บ่อยๆ เพื่อให้เหงื่อของตัวเองเข้าไปมีส่วนในการทำปฏิกิริยากับตัวเรือน Bronze และต้องบอกว่านาฬิกา Bronze คือ นาฬิกาที่ผมใส่บ่อยที่สุด เพราะไม่ต้องมานั่งกังวลว่ามันจะเก่าเหมือนพวกนาฬิกาสตีลหรือไทเทเนียม เพราะยิ่งเก่าจะยิ่งดี และคราวนี้ก็เลยมีความคิดว่าในเมื่อชอบนาฬิกา Bronze ก็น่าจะหันมาลองกับนาฬิกา Bronze แบบมีชาติตระกูลดูบ้าง
Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial มาพร้อมกับตัวเรือนที่ใหญ่ถึง 43 มิลลิเมตร ซึ่งในปัจจุบัน ในยุคที่เทรนด์หรือกระแสนาฬิกาไซส์เล็กหรือพวกที่มี Diameter ต่ำกว่า 40 มิลลิเมตรกำลังมาแรง ถือว่าตัวผมเองทำอะไรสวนกระแสเหมือนกันนะเนี่ย แต่อย่างว่าครับ ผมเลือกเอานาฬิกาที่ตัวเองใส่แล้วชอบดีกว่า จะต้องมานั่งใส่อะไรที่ขัดใจตัวเอง เพราะต้องหมุนตามทิศทางโลก
43 มิลลิเมตร กับ Lug to Lug ระดับ 50 มิลลิเมตรนิดๆ สารภาพเลยว่าในตอนแรกทำเอาหวั่นเหมือนกันว่าเวลาขึ้นข้อแล้วจะสวยหรือไม่ แต่สุดท้ายเมื่อได้ลองของจริง ต้องบอกเลยว่า เข้ากับข้อมือ 7 นิ้วของผมสุดๆ ทุกมิติของตัวเรือนถือว่าจัดมาได้อย่างลงตัว ทั้งในแง่ของเส้นผ่านศูนย์กลาง ความหนา และ Lug to Lug ซึ่งทำให้นาฬิกาเรือนนี้เกิดมาเพื่อคนข้อมือ 6.5 นิ้วขึ้นไป แต่ถ้าจะให้แล้วสวยต้องประมาณ 7 นิ้ว
Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial ผลิตจากอัลลอยอลูมิเนียมคอปเปอร์ประสิทธิภาพสูง ทนทานต่อการกัดกร่อนเป็นอย่างยิ่ง และเป็น Bronze เกรดเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัสดุสำหรับการใช้งานทางทะเล ซึ่งจะต้องมีความทนทานที่สูงมาก
ผมเลือกเอารุ่นสายหนังที่มาพร้อมกับบัคเคิล Bronze ซึ่งตอนแรกด้วยเหตุผลที่อยู่ในใจ ผมคิดว่าตัวเองเลือกไม่ผิด แต่หลังจากที่ลองขึ้นข้ออีกทีหลังจากได้นาฬิกามาอยู่ในครอบครองแล้ว ในใจกลับลังเลและคิดว่านาฬิกาบรอนซ์ มันน่าจะเหมาะกับสายผ้าที่ทอด้วยเครื่องแจ็คการ์ดมากกว่าเพราะดูดีกว่าเยอะ
แต่สุดท้ายก็เลยต้องหาเหตุผลอื่นๆ มาสนับสนุนความคิดตัวเอง และเถียงกับเสียงในหัวดังๆ ว่า ที่เลือกสายหนังก็เพราะผมไม่ชอบสายเรื่องเดียวคือ ผมไม่ชอบตัวรัดสายในลักษณะ Single-Pass ของ Tudor ที่ใส่ยากสุดๆ สุดท้ายคิดถูกแล้วที่ผมก็เลือกสายหนังกลับบ้าน และถ้าไม่ชอบสายเดิม ก็สามารถสั่งตัดสายใหม่ได้ ซึ่งผมก็ทำจริงๆ เพราะส่วนตัวไม่ค่อยชอบโทนสีของสายเดิมจากโรงงานเท่าไร
![]() |
![]() |
และนั่นทำให้ผมได้ทราบว่า Heritage Black Bay Bronze Slate-grey มากับความกว้างขาสาย 23 มิลลิเมตร…
’จะทำไซส์นี้มาทำไม ?’ นี่คือ คำในเวอร์ชันสุภาพของคำถามที่อยู่ในความคิดของตัวเอง และหลายต่อหลายครั้งที่ซื้อนาฬิกาในยุคนี้ ผมต้องเจอกับตัวเลขความกว้างขาสายแปลกๆ ในลักษณะนี้อยู่เสมอ ทั้ง 19-21-23 มิลลิเมตร ซึ่งมันน่าจะหายไปจากตลาดแล้ว เพราะมันโคตรจะไม่เมคเซนส์เลย เนื่องจากในโลกของการผลิตนาฬิกาคุณควรที่คงความกว้างขาสายแบบมาตรฐานเอาไว้ที่ 18-20-22 มิลลิเมตรเหมือนชาวบ้านเค้า ซึ่งจะง่ายต่อการสลับสายเปลี่ยนใหม่ สำหรับให้คนเล่นนาฬิกาได้สนุกกับมัน
อารมณ์เหมือนกับผมมีรถหลายคันและล้อแม็กอีกเพียบ ซึ่งผมเลือกรุ่นที่ใช้ล้อ 5 รู 114.3 อยู่เสมอ แต่ดันซื้อคันหนึ่งมาด้วยความหวังจะสลับล้อที่มีอยู่เพื่อแต่งเพิ่มเติมจะได้ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่สุดท้ายมาพบว่าคันที่เพิ่งซื้อมานั้น ดันมีดุมล้อแบบ 5 รู 100
แต่อย่างว่าละครับ สุดท้ายเราก็ยังได้เห็นความกว้างขาสายแปลกๆ จากนาฬิกาแบรนด์สวิสส์อยู่เสมอ และแน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่ทราบว่าคุณสามารถเดินหน้าสายจากร้านตัดสายทั่วไปในตลาดได้ เมื่อสายเกิดพัง (ซึ่งก็คงอีกนานแสนนาน) ก็คงเดินเข้าไปสอยสายเส้นใหม่ในบูติก ซึ่งถ้าแบรนด์จะหวังรายได้อีกทางจากการขายพาร์ทด้วยวิธีนี้ ผมว่าไปหาวิธีอื่นที่ได้เงินเร็วและมากกว่านี้น่าจะดีกว่า
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
เอาละกลับมาที่ตัวนาฬิกากันต่อ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่ขัดใจ สิ่งที่ถูกใจก็ยังมีอยู่ และสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบจาก Heritage Black Bay Bronze Slate-grey คือ Tudor ทำให้นาฬิกาเรือนนี้มันดูออกสีทองทั้งหมดจริงๆ ซึ่งก็รวมถึงฝาหลังด้วย จะต่างจากนาฬิกา Bronze ส่วนใหญ่ที่มักจะใช้ฝาหลังที่ผลิตจากสตีลหรือไทเทเนียม และตอนแรกที่ได้มา และเห็นว่าฝาหลังเป็นสีทอง ในใจก็คิดว่างานนี้แขนเขียวกันแน่ๆ ถ้าเกิดมันเป็น Bronze จริงๆ แต่สุดท้ายฝาหลังสีทองที่เห็นอยู่นั้นคือ ฝาหลังสตีลแต่เคลือบ PVD ให้เป็นสีทองเพื่อจะได้ดูเข้ากัน และมั่นทำให้นาฬิกาดูกลมกลืนทั้งเรือน แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ฝาหลังนั้นจะยังสีแจ่มไม่หม่นหมองเพราะ Patina เหมือนกับตัวเรือนที่อยู่รอบๆ มัน
ในแง่ของภาพรวมของการออกแบบ งานนี้เหมือนกับเอา Black Bay รุ่นธรรมดามาขยายขนาด เพราะรูปทรงของตัวนาฬิกาแทบไม่ต่างกันมาก เป็นนาฬิกาที่มีขาสายยาวและรูยึดสปริงบาร์อยู่ต่ำ ดังนั้น ถ้าคิดจะสั่งตัดสายแจ้งช่างประจำตัวสักนิดให้ทำสายที่มีหัวสายหนาหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างระหว่างหัวสายกับตัวเรือนอย่างแน่นอน
![]() |
![]() |
หน้าปัดสี Slate Grey ซึ่งในตอนแรกผมไม่ค่อยถูกใจเท่าไรนะ แต่พอลองเพ่งดูดีๆ และลองจับสัมผัสกับแสงแดด จะพบกับความลงตัวและความสวยอีกแบบ ไม่เข้มเหมือนกับสีดำ แต่ให้ความสวยที่เข้ากับกับสีทองที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บนหน้าปัด เช่น ชุดเข็ม กรอบบนหลักชั่วโมง และตัวหนังสือ ซึ่งหน้าปัดของรุ่น Bronze จะต่างกับรุ่นสตีลตรงที่บนหลักชั่วโมง 3-6-9 จะใช้ตัวเลข ไม่ใช่เป็นขีดสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเป็นนาฬิกาแบบ No Date ซึ่งตรงนี้ถูกใจผมมาก
![]() |
![]() |
ตัวเรือน เม็ดมะยม และขอบตัวเรือนผลิตจาก Bronze แต่สิ่งที่อาจจะขัดใจคนทั่วไปที่ต้องจ่ายเงินกับนาฬิการะดับนี้ แต่ต้องมาเจอขอบตัวเรือนที่มี Insert Ring แบบ Anodised Aluminium สีเดียวกับหน้าปัดและเป็นแบบด้าน แทนที่จะเป็นเซรามิก แต่ส่วนตัวแล้วผมเฉยๆ นะ เพราะตามปกติแล้วนาฬิกา Bronze ก็มักจะมาในแนวนี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้คาดหวังอะไร
![]() |
![]() |
ที่ผมชอบอีกจุดในนาฬิกาเรือนนี้คือ การเลือกใช้กระจก Domed แบบขอบสูง ทำให้ดูผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับความวินเทจได้อย่างลงตัว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงกระจกแตกหากเดินแกว่งแขนแบบไม่ระวังแล้วไปกระแทกเข้ากับอะไร เพราะด้วยความที่กระจกนูนขึ้นเหนือจากขอบตัวเรือนทำให้ส่วนนี้มีความเสี่ยงในเรื่องนี้มากขึ้น
MT5601 คือ หัวใจในการขับเคลื่อนของ Heritage Black Bay Bronze Slate-grey นี่คือกลไก In-House อาจจะดูเก่าหน่อยเพราะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ก็ถือเป็นกลไกที่มั่นใจได้ในความเที่ยงตรงและแม่นยำ และเป็นกลไกที่ถูกพัฒนามาเพื่อ Heritage Black Bay Bronze โดยเฉพาะ โดยคำว่า MT ย่อมาจาก Manufacture Tudor หรือมีความหมายถึง In-House นั่นเอง
เมื่อดูจากสเปกเช่นจำนวนกำลังสำรองที่อยู่ในระดับ 70 ชั่วโมง รวมถึงการใช้ซิลิคอนในการผลิตใยนาฬิกาเพื่อลดผลกระทบจากสนามแม่เหล็กที่ส่งผลต่อความเที่ยงตรงของตัวนาฬิกา และมาตรฐานความเที่ยงที่ได้รับการรับรองโดย COSC ในระดับ Chronometer ถือว่าค่อนข้างโอเคและรับได้นะแม้ว่าจะเป็นกลไกรุ่นเก่า และในตอนนี้ Tudor เปิดตัวรุ่น MT5602 ออกมาแล้ว และรุ่นปรับปรุงใหม่ MT5602-1U วางอยู่ในรุ่น Black Bay Ceramic แล้วก็ตาม ส่วนตัวผมไม่ได้ติดใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเป็นกลไกที่ดี ต่อให้เปิดตัวมานานแล้วสักระยะก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย ตราบใดที่มันไม่สร้างปัญหาในเรื่องการใช้งานให้กับผมเหมือนกับที่ได้ยินข่าวบ่อยๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกลไก In-House รุ่นใหม่ๆ จากกลุ่ม FB
กับราคาป้าย 151,00 บาทของ Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey ไม่ว่าจะเป็นรุ่นสายหนัง หรือสายแจ็คการ์ด ผมว่านี่คือนาฬิกา Bronze ที่น่าสนใจรุ่นหนึ่งถ้าคุณคำนึงถึง 3 ปัจจัยในด้านความต้องการที่ผมบอกตั้งแต่เริ่มต้น และสารภาพเลยว่า แม้ตอนแรกจะหงุดหงิดกับเรื่องจุกจิกที่เพิ่งมาค้นพบตอนจ่ายเงินซื้อมาแล้วอย่างความกว้างขาสายที่มีตัวเลขแปลกๆ แต่โดยรวมแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งดีลที่ผมค่อนข้างพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับกลับมา
ที่สำคัญ นาฬิการุ่นใหม่ๆ ของ Tudor ขยายการรับประกันออกไปเป็น 5 ปีแล้ว ถือว่าสร้างความมั่นใจในการเป็นเจ้าของได้อย่างเต็มที่เลย
ข้อมูลทางเทคนิค : Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey
Ref. M79250BA-0001
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14.5 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 23 มิลลิเมตร
- กระจก : Sapphire ทรงโดม
- กลไก : MT5601 อัตโนมัติ In-House No Date และ Chronometer
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- จำนวนทับทิม : 25 เม็ด
- กำลังสำรอง : 70 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : แบรนด์ ไซส์และคุณภาพของเนื้องาน และกลไก In-House ที่มีกำลังสำรองสูง และมีความเที่ยงตรง
- ไม่ประทับใจ : ความกว้างขาสายที่มีขนาดแปลกๆ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
You Tube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline