ทิ้งระยะหลังจากที่ Tissot เปิดตัว PRX Chronograph Automatic หน้าปัดสีใหม่ได้ไม่นาน เรามีความรู้สึกว่า นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะได้สัมผัสกับนาฬิกาเรือนนี้สักทีหลังจากที่พวกเขาเคยเปิดตัวออกมา 2 หน้าปัดแรก แต่สีสันและการตกแต่งที่อยู่ข้างในยังไม่โดนใจแบบเต็มๆ เหมือนกับเวอร์ชันใหม่นี้
Tissot PRX Chronograph Automatic พลาดไม่ได้กับ Blue Panda Dial
-
การเพิ่มสีใหม่ของหน้าปัดให้กับรุ่น PRX Chronograph ในแบบ Blue Panda Dial
-
ตัวเรือนขนาด 42 มิลลิเมตรและรูปทรงที่ออกแนวสี่เหลี่ยม อาจจะไม่เหมาะกับคนข้อมือเล็กเท่าไร
-
ราคาป้าย 67,000 บาทแลกกับนาฬิกากลไกอัตโนมัติจับเวลา Chronograph ที่เป็น Swiss Brand และมีรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ถือว่าคุ้มค่า
ตอนที่เห็นภาพแรกของนาฬิกาเรือนนี้ในงานแถลงข่าวออนไลน์ของ Tissot เมื่อปี 2022 สารภาพเลยว่า ผมตกหลุมรัก Tissot PRX Chronograph Automatic เข้าอย่างจังในแง่ของรูปทรงและดีไซน์ของตัวนาฬิกา แต่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นในตอนนั้น คือ สีของหน้าปัดที่มีให้เลือกยังน้อยไปหน่อย แถมยังอยู่ในสถานะแค่ถูกใจ ยังไม่ถึงขั้นโดนแบบเต็มๆ จนกระทั่งในปี 2023 เมื่อพวกเขาเปิดตัวหน้าปัดแบบ Panda สีใหม่ออกมา แม้ว่าจะเป็น Blue Panda Dial ที่พื้นหน้าปัดวงย่อยเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่ไปๆ มาๆ ผมว่าลงตัวและโดนใจอย่างมาก
ต้องบอกว่านับจากการนำคอลเล็กชั่น PRX เข้ามาทำตลาด ชื่อของ Tissot และนาฬิการุ่นนี้ถูกพูดถึงและกล่าวขานถึงคนที่ชื่นชอบนาฬิกาในเมืองไทยค่อนข้างบ่อย ทั้งในเรื่องของหน้าตา สเป็ก และที่สำคัญคือ ความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป และสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อผลผลิตใหม่ๆ ของแบรนด์ที่อยู่ในคอลเล็กชั่นเดียวกันอย่าง Tissot PRX Chronograph Automatic ที่เปิดตัวในปี 2022
ตามปกติแล้วผมเป็นคนชอบนาฬิกา Chronograph ไม่ว่าจะมาในแบบ Bi-Compax หรือแบบ 2 วง และแบบ Tri-Compax แบบ 3 วง ซึ่งแบบหลังเลย์เอาท์ที่ถูกใจและชอบมากที่สุดคือ การวางในตำแหน่ง 3-6-9 นาฬิกา ซึ่ง Tissot PRX Chronograph มาในเลย์เอาท์นี้
นั่นจึงทำให้นาฬิกาเรือนนี้เรียกคะแนนบวกไปก่อนเลยตอนที่ได้เห็นภาพแต่ยังไม่เห็นเรือนจริงๆ สิ่งที่ 2 คือ ผมชอบหน้าปัดแบบ Panda-Dial ถ้าได้แบบขาวดำตรงตามข้อกำหนดก็เยี่ยม แต่ถ้าไม่ได้ ขอเป็นขาวกับสีเข้มอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งตอนที่ Tissot PRX Chronograph Automatic เปิดตัวออกมาพวกเขานำเสนอด้วยกัน 2 หน้าปัดคือ Panda แบบขาว-ดำ และ Reverse-Panda แบบน้ำเงิน-ขาว
ผมควรจะโดนตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว…หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ ‘เกือบ’ นั่นแหละ แต่ติดอยู่ประการเดียวคือ เจ้าหน้าปัด Panda Dial ดันมากับเข็มและหลักชั่วโมงสีทอง รวมถึงการตัดขอบวงจับเวลาย่อยด้วยสีนี้ด้วย นั่นก็เลยทำให้ทุกอย่างอยู่ในสถานะชะลอเอาไว้ก่อนเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์
ดังนั้น ตอนที่ได้เห็นภาพของหน้าปัด Blue Panda Dial ที่เพิ่งเปิดตัวออกมา ผมอยู่ในอาการหัวใจพองโต แต่กระเป๋าเงินเตรียมแฟบในทันที
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครหลายคนที่มีขนาดข้อมือเล็ก เรียกว่าต่ำกว่า 6 นิ้วก่อนที่จะไปถึงขั้นเสียทรัพย์ ผมคิดว่าคุณควรรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนี้ก่อนที่จะกดสั่งผ่านทางออนไลน์ และทางที่ดีผมแนะนำให้ไปทดลองทาบที่เคาน์เตอร์ Tissot ก่อน…เพราะอะไรหรือ ?
ใครที่มีประสบการณ์กับ PRX รุ่น 3 เข็มมาก่อน น่าจะทราบดีว่า แม้ว่าตัวนาฬิกาจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร แต่ด้วยรูปทรงของตัวเรือนที่เป็นแบบทรงเหลี่ยมและมีหน้าปัดวงกลมอยู่ข้างใน ทำให้นาฬิกาสไตล์นี้จะมีขนาดใหญ่กว่าข้อมูลที่เป็นจริง เรียกว่าไซส์ 40 มิลลิเมตรแต่เมื่อสวมลงไปนั้นให้อารมณ์ของนาฬิกาที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น น่าจะอยู่ราวๆ 42-43 มิลลิเมตรเลยก็ว่าได้
และอีกสิ่งที่ผมได้ประสบในระหว่างการลองตอนที่ซื้อ PRX รุ่น 3 เข็ม คือ ในรุ่นสายสตีลจะมีอารมณ์ที่เรียกว่าอาการถ่างออกของสายจนทำให้ตัวนาฬิกามีค่า Lug to Lug เพิ่มขึ้นมากกว่าจากการวัดตามวิธีที่ถูกต้อง
ผมกำลังจะบอกว่า ไอ้ข้อต้นของหัวสายนี่แหละตัวดีที่ทำให้สายโก่งออกและเพิ่มค่า Lug จนทำให้นาฬิกาเหมือนกับดูกางๆ เวลาอยู่บนข้อมือ และสุดท้ายผมเลือกซื้อสายหนังไปแทน เพราะดูแนบกับข้อมือมากกว่า ซึ่งใน Tissot PRX Chronograph Automatic ก็อาการเช่นเดียวกัน
และนั่น คือ 1 ใน 2 สิ่งที่ผมไม่ค่อยแฮปปี้เกี่ยวกับนาฬิกาในสไตล์ Integrated Bracelet เหมือนอย่างที่คอลเล็กชั่น PRX ไม่ว่าจะรุ่น 3 เข็ม หรือ Chronograph เป็น
ดังนั้น กับตัวเรือนไซส์ 42 มิลลิเมตรของ Tissot PRX Chronograph Automatic บวกกับขนาดที่ไม่ธรรมดาโดยเฉพาะความหนาในระดับ 14.5 มิลลิเมตร อาจจะสร้างปัญหาให้กับคุณได้ ถ้าในกรณีที่คุณเป็นคนข้อมือเล็กในระดับต่ำกว่าตัวเลขที่ผมบอกไปข้างต้น รวมถึงคนที่ไม่ชอบนาฬิกาที่มีตัวเรือนหนาๆ และคิดว่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา 3.6 มิลลิเมตรที่เพิ่มขึ้นมายังไม่มากพอที่จะทำร้ายความรู้สึกคุณได้ ผมขอร้องให้ไปลองก่อนตัดสินใจ
แต่ถ้าคุณเป็นแบบผม มีขนาดข้อมือใหญ่ ขอบการสวมนาฬิกาแบบ Oversized และนาฬิกาที่มากับขนาดตัวเรือนซึ่งแม้ว่าจะขึ้นต้นด้วยเลข 5 ก็ยังไม่อาจทำร้ายความรู้สึกของคุณได้ บอกเลยว่า นี่คืออีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังมองหานาฬิกาคุณภาพดีๆ ในระดับราคาที่จับต้องได้
สำหรับอีกเรื่องที่ควรจะต้องเน้นคือ ผมควรบอกก่อนเลยว่า อย่าได้ไปแคร์ว่านี่คือ Poor Man ของแบรนด์ดังอะไรสักเรือน เพราะเอาเข้าจริงๆ Tissot มีสตอรี่เกี่ยวกับนาฬิกาที่มีรูปทรงสไตล์นี้พร้อมๆ ในทศวรรษที่ 1970 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการก่อกำเนิดในการทำให้จินตนาการของมิสเตอร์ Genta กลายขึ้นมาเป็นเรือนจริง ดังนั้น Tissot มีสตอรี่ที่เชื่อมโยงในแง่ของการออกแบบอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพิ่งนำดีไซน์ลักษณะนี้มาใช้ตามกระแสความฮ็อตของนาฬิกาบางแบรนด์
หัวใจหลักในการขับเคลื่อนของนาฬิการุ่นนี้คือ Valjoux A05.H31 หรือ ETA A05.H31 ซึ่งแฟนๆ นาฬิกาคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นเวอร์ชันที่ดัดแปลงและปรับปรุงมาจาก Valjoux 7753 และวางอยู่ในนาฬิกา Chronograph หลายรุ่นของแบรนด์ในเครือ The Swatch Group เช่น Mido Certina หรือ Rado และก็รวมถึง Tissot ด้วย ตัวกลไกมีฟังก์ชั่นจับเวลา Chronograph สูงสุด 12 ชั่วโมง และมีกำลังสำรองสูงสุด 60 ชั่วโมง
ฉะนั้นในเรื่องของชื่อเสียง ความทนทาน และความพร้อมสรรพของฟังก์ชั่นของกลไกจึงถือว่าเหมาะสมกับนาฬิกาที่มีค่าตัวอยู่ในช่วงครึ่งแสนไปจนถึงแสนนิดๆ และสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าของพวกเขาไม่ได้มีความคิดฝังหัวในเรื่องของกลไก In-House ที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะเพื่อนาฬิกาเรือนใดเรือนหนึ่งในแบรนด์ของตัวเอง
แต่ส่วนตัวผม นี่คือ ข้อที่ทำให้อารมณ์เสียจุดที่ 2 ของตัวนาฬิการุ่นนี้ ซึ่งก็คือ พวกเขาเลือกใช้ฝาหลังแบบใส ทั้งที่ตัวกลไกและชิ้นส่วนที่อยู่ข้างในแทบไม่ได้ขัดแต่งอะไรเลย นอกจากโรเตอร์ขึ้นลานที่สลักเป็นลวดลายและมีดีไซน์ของ Tissot ส่วนที่เหลือก็เป็นแบบดิบๆ ที่ไม่ได้มีการสร้างสรรค์อะไรเพิ่มเติมมากมาย ก็เข้าใจนะครับว่า บางครั้งฝาหลังแบบใสอาจจะได้ผลบในแง่ของการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการตัดสินใจของคนซื้อนาฬิกา แต่ถ้าข้างในไม่มีความสวยอะไรจะโชว์ ส่วนตัวผมว่าฝาหลังทึบก็น่าจะพอแล้ว หรือถ้าจะใช้ฝาหลังใส ขออะไรสวยๆ เนียนๆ เพิ่มขึ้นมาอีกสัก 2-3 จุดก็ถือว่าโอเคแล้ว
ถ้าถามว่าตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ถึงกับขนาดลดความตั้งใจในการเป็นเจ้าของหรือไม่ คำตอบคือ ‘ไม่’ เพราะยังไงในแง่องค์ประกอบโดยรวมที่มีอยู่ในตัวนาฬิกาบวกกับราคาป้าย 67,000 บาท เพื่อแลกกับนาฬิกากลไกอัตโนมัติจับเวลา Chronograph ที่เป็น Swiss Brand พร้อมกับเรื่องราวที่แบรนด์เคยสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 1970 ส่วนตัวในความคิดเห็นของผม สิ่งที่ได้มา ถือว่าค่อนข้างโอเคและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปนะ
รายละเอียดทางเทคนิค : Tissot PRX Chronograph Automatic
- รหัสรุ่น : Ref. T137.427.11.011.01
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 42 มิลลิเมตร
- ความหนา: 14.2 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน: สแตนเลสสตีล
- กระจก: Sapphire
- กลไก: Valjoux A05.H31 อัตโนมัติแบบจับเวลา
- ความถี่: 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- จำนวนทับทิม: 27 เม็ด
- กำลังสำรอง: 60 ชั่วโมง
- การกันน้ำ:100 เมตร
- ประทับใจ : ขนาดตัวเรือน ดีไซน์ การเลือกใช้สีสันบนหน้าปัด
- ไม่ประทับใจ : การใช้ฝาหลังใสโดยที่กลไกไม่ได้ขัดแต่งมากมาย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline