Swatch SKIN Irony บางเฉียบบนตัวเรือนโลหะ

0

20 ปีก่อน Swatch เคยเขย่าตลาดด้วยนาฬิกาเรือนบางอย่าง SKIN และตอนนี้พวกเขากลับมาอีกครั้ง แต่เปลี่ยนมาเป็นตัวเรือนโลหะในชื่อ Swatch SKIN Irony พร้อมความบางเฉียบ

- Advertisement -

Swatch SKIN Irony บางเฉียบบนตัวเรือนโลหะ

  • Swatch SKIN Irony ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีในการกลับมาของนาฬิกาเรือนบาง
  • ตัวเรือนผลิตจาก Stainless Steel มีความพนาเพียง 5.8 มม.
  • ราคาเริ่มต้นที่ 4,950 บาท

สำหรับคนที่มีอายุในช่วง 40  ปีผมว่าน่าจะมีประสบการณ์ของชีวิตวัยรุ่นร่วมกับนาฬิกา 2 แบรนด์ คือ Casio และอีกอันคือ Swatch เพราะในยุคที่ G-Shock ยังไม่เบ่งบาน 2 ยี่ห้อนี้ครองใจบรรดานักเรียนนุ่งขาสั้นอย่างพวกผมมาก และตรงนี้น่าจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ผมมีโอกาสได้กลับมาสัมผัสกับ Swatch อีกครั้ง กับความบางในนาฬิกาตระกูล SKIN แต่คราวนี้เป็น Irony ที่ว่ากันว่าเป็นตัวเรือนสตีลที่บางที่สุดของพวกเขา

ย้อนกลับไปเมื่อสักกว่า 30 ปีได้ ในยุคที่ Swatch ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับ G-Shock แต่ยังไม่โด่งดังมาก บนข้อมือของบรรดานักเรียนชายหัวเกรียนเกือบ 90% จะเป็นนาฬิกา Casio โดยเฉพาะพวกที่เป็นเกมรถแข่งกับสกีจะฮิตแบบสุดๆ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น จนเมื่อเริ่มรู้สึกว่าสาวๆ ห้องข้างๆ เริ่มดูดี การใส่นาฬิกาเด็กๆ  แบบนี้เริ่มไม่เหมาะละในการหลีสาว และในตอนนั้น G-Shock ยังเป็นอะไรที่ไกลตัว Swatch ที่เริ่มปูพรมในตลาดได้อย่างรวดเร็ว จึงกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ที่สอดแทรกเข้ามา เพราะด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เน้นสีสันและการไร้กฎเกณฑ์ที่ดูโดดเด่น

จำได้ว่า Swatch เรือนแรกๆ ของผมในตอนนั้นก็เป็นรุ่นธรรมดานี่แหละแต่สุดเท่ด้วยสีสันและลวดลาย และก็ห่างหายกันไปนานเลยจนกระทั่งมาเจอกันอีกครั้งตอนทำงาน ซึ่งผมมีโอกาสเดินทางไปที่สวิตเซอร์แลนด์ และเจ้านายชวนขึ้นรถไฟเที่ยวที่เมือง Lausanne ซึ่งที่นั่นผมได้มีโอกาสสอย Swatch กลับมาจากร้านค้าในสำนักงานใหญ่ Olympic เพราะตื่นตากับกลไกอัตโนมัติ ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่า  Swatch จะผลิตนาฬิกาแบบนี้ออกมา

ช่วงนั้นผมมีโอกาสไปสวิตเซอร์หลายครั้งเพราะหน้าที่การงาน และคอนเซ็ปต์ประจำตัวคือ ‘ไปสวิสส์ ต้องซื้อ Swatch’ เพราะตอนนั้นราคาไม่แรงมาก แถมยังเป็นของฝากทดแทนให้กับบรรดาสาวๆ ของผมที่เริ่มหมดความตื่นเต้นกับ Toblerone อันเท่าไม้หน้าสามแล้ว

นั่นคือประสบการณ์เล็กๆ ของผมกับ Swatch ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ได้วนเวียนเสียเงิน แต่ก็ยังโฉบไปเดินดูตามร้านในห้างสรรพสินค้าเสมอ เพราะส่วนตัวผมค่อนข้างชอบความกล้าในการเติมสีสันและลวดลายของพวกเขา โดยเฉพาะรุ่นโปรดของผมอย่าง Rabbit Sutra ที่อยากได้มาก ตอนที่เปิดตัวก็ไม่ได้ซื้อ ตอนหลังมาอยากได้ก็ไม่มีแล้ว และเคยเจอคนเอามาขายก็ดันสอยไม่ทัน

เอาละกลับมาสู่เรื่องของรุ่นใหม่ๆ ที่ผมมีโอกาสได้ลองสัมผัสเพื่อระลึกถึงความหลัง ซึ่งเจ้า SKIN Irony ถือเป็นการรวมตัวกันของ 2 คอลเล็กชั่นของพวกเขา คือ SKIN ที่เน้นความบางแบบสุดๆ และ Irony ที่พลิกโฉมหน้าของ Swatch จากนาฬิกาพลาสติกมาเป็นตัวเรือนที่ผลิตด้วยโลหะ ซึ่งเมื่อรวมตัวกันคือ นาฬิกาโลหะที่มีตัวเรือนบางเฉียบ

ถามว่าน่าสนใจตรงไหน…ก็น่าสนใจสิ เพราะที่ผ่านมาแม้ว่า Swatch จะเคยผลิตนาฬิกสุดบางในระดับ 3.9 มิลลิเมตรของคอลเล็กชั่น SKIN เมื่อปี 1997 มาแล้ว แต่นั่นก็เป็นตัวเรือนพลาสติก แต่นี่เป็นความบางจากตัวเรือนโลหะ ซึ่งแม้ว่าจะไม่บางเท่า แต่การรีดจนมีความหนาเพียง 5.8 มิลลิเมตรก็ถือว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน และถือเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ใช้ Stainless Steel เป็นวัสดุในการผลิตที่มีความบางที่สุดเท่าที่เคยผลิตมา

ตอนแรกความบางนี่แหละที่จะสร้างความลำบากใจให้กับผมตอนสวมอยู่บนข้อมือ เพราะส่วนใหญ่ผมจะชอบนาฬิกาที่มีความหนาไม่ต่ำกว่า 12 มิลลิเมตร แต่เอาเข้าจริงๆ ก็โอเคเลยนะดูแนบไปกับข้อมือสมกับชื่อ SKIN และที่สำคัญ เบาจนไม่รู้สึกว่ามีนาฬิกาคาดอยู่บนข้อมือเลย

อีกสิ่งที่ผมค่อนข้างถูกใจกับนาฬิกา SKIN Irony คือ คอนเซ็ปต์ในสไตล์ Minimalist ของพวกเขาที่เน้นความเรียบง่าย ทำออกมาได้อย่างดูดี ซึ่งในบรรดา 8 รุ่นย่อยของ SKIN Irony ที่เปิดตัวออกมามีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหยุดยืนดู และมีอีก 2 เรือนที่ผมชอบมากกับหน้าปัดแบบ Sun-Brushed ดูคลาสสิค แต่ติดอย่างเดียวที่มันดันเป็นสายเหล็ก แล้วตัวเรือนของ Swatch ดันมีเอกลักษณ์เรื่องขาสายแบบซี่ๆ ที่บอกตามตรงว่าถ้าไม่ตรงรุ่นก็อย่าคิดที่จะหามาเปลี่ยนเลย

กับ Swatch ผมมักจะชอบนาฬิกาที่เป็นสายยางของพวกเขาอยู่เสมอ แต่หลังจากได้ลอง SKIN Irony ผมกลับรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะและถูกใจเท่าไร อาจจะเพราะความนุ่มและความไม่ค่อยอยู่ตัวของมัน เลยทำให้ต้องรัดแน่นขึ้น ซึ่งผลคือ ใส่ไม่ค่อยสบายเท่าไร และสุดท้ายเท่าที่ดูจาก 8 รุ่นผมชอบ Skinbrushed มากที่สุด กับหน้าปัดสีดำดูเคร่งขรึมพร้อมตัวเรือนเงินแบบขัดด้านเข้ากันได้ดี แถมสายหนังสีน้ำตาลออกแดงดูลงตัวและเข้ากันได้ดี

เมื่อก่อนผมมักจะกังวลเสมอเวลาเจอนาฬิกาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าระดับที่ตัวเองขีดเส้นเอาไว้ว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมกับข้อมือตัวเองมากที่สุด แต่หลังจากที่หันมาสนใจตัวเลขของความยาวตัวเรือนหรือ Lug to Lug มากขึ้นผมค่อนข้างคลายกังวลกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ขนาดตัวเองยังไม่อยากจะเชื่อเลยว่านาฬิกาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 38 มิลลิเมตรจะดูลงตัวกับข้อมือของผมที่สัมผัสกับนาฬิกาเรือนใหญ่ๆ หนาๆ มาโดยตลอด

นอกจากปัจจัยเรื่อง Lug to Lug ที่ทำให้ผมรู้สึกโอเคกับ Swatch SKIN Irony แล้ว อีกสิ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบของนาฬิกา ที่ไม่ได้มีขอบ Bezel จริงอยู่ที่แม้ว่าจะมีขอบตัวเรือนแต่ก็ไม่ได้หนาอะไร และทำให้หน้าปัดดูใหญ่และเต็มข้อมือขึ้น แน่นอนตรงนี้ผมไม่ได้รู้สึกไปเอง เพราะหลังจากลองสอบถามความเห็นของคนรอบข้างแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บอกว่าเล็กจนเกินไป ยกเว้นพวกที่เล่นนาฬิกาที่มีรสนิยมคล้ายๆ ผม

สำหรับคนที่นิยมนาฬิกากลไกเป็นหลักอาจจะรู้สึกขัดเคืองกับการซื้อนาฬิกากินถ่าน เพราะอาการเดินกระตุกของเข็มวินาที ซึ่งผมก็เป็น และดูเหมือนว่า Swatch จะรู้สึกถึงความรู้สึกนี้ของผม ก็เลยตัดเข็มวินาทีออกไปจะได้ไม่ต้องมานั่งขัดตาและขัดใจกับการเดินของเข็มวินาที ซึ่งผมโอเคกับมันมากเลยนะ

สิ่งที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงและกังวลกับ Swatch คือ รูปแบบของหัวเข็มขัดของ Swatch ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งหลังจากร้อยเข้ากับเข็มแล้วยังต้องร้อยสายอีกรอบเพื่อผ่านตัวบัคเคิล อาจจะเหมาะกับสายยาง แต่กับสายหนังผมเคยมีประสบการณ์ที่เมื่อใช้ไปนานๆ แล้วมันกลับทำให้มีความเสี่ยงที่สายจะเสียหายจนพังในที่สุด

ส่วนอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นใหญ่ คือ ความต่างในด้านความคิดในการใช้นาฬิการะหว่างคนชอบและสะสมนาฬิกากับคนใช้นาฬิกาเพื่อดูเวลา เพราะคนกลุ่มแรกเมื่อซื้ออะไรสักอย่างแล้วจะค่อนข้างยึดมั่นกับการเป็นเจ้าของ และเมื่อเสียก็ต้องซ่อม ไม่ใช่โยนทิ้งแล้วซื้อใหม่ มันก็เลยอาจจะสร้างความกังวลให้กับพวกเขาได้เพราะตัวเรือนของ Swatch เกือบทุกรุ่นจะปิดซีลเหลือแค่ช่องสำหรับขันเอาแบตเตอรี่ออกมาเท่านั้น ถ้าถามว่าถ้าจะซ่อมทำได้ไหม ผมว่าไม่เกินแรงช่างไทย แต่จะมีรอยอะไรตามมาด้วยไหม อันนี้บอกเลยไม่ยืนยัน

แต่ถ้ามองในแง่ของความถึกของกลไกควอตซ์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความทนทานอยู่แล้ว และมาตรฐานการผลิตที่มีคำว่า Swiss แปะอยู่บนหน้าปัด ก็น่าจะช่วยคลายความกังวลตรงนี้ได้ แต่ถ้าจะพลาดก็น่าจะเป็นตัวเจ้าของเอง ที่ละเลยการสังเกตในเรื่องการเปลี่ยนถ่าน ซึ่งไอ้การที่ไม่มีเข็มวินาทีมาด้วยนี่แหละ ที่กลายเป็นดาบ 2 คมไปโดยปริยาย โดยเฉพาะกับพวกที่มีนาฬิกาหลายเรือนสลับกันใส่ จนบางครั้งแทบไม่ได้หยิบออกมาสังเกต กว่าจะรู้ตัวว่าถ่านหมดเวลาก็ผ่านไปได้สักระยะแล้ว

สำหรับผมไม่ค่อยกังวลเรื่องพวกนี้เลย เพราะยังไงทุกเรือนได้ใส่สลับกันอยู่แล้วตามคิวที่วางเอาไว้ และผมก็มักจะสังเกตดูนาฬิกาของตัวเองอยู่เสมอจนคนที่บ้านเริ่มระอาใจแล้ว ดังนั้นเรื่องถ่านหมดโดยที่ผมไม่ที่ทราบโดยไวนั้น จึงเกิดขึ้นได้ยากถึงยากมาก

อีกประเด็นที่ผมค่อนข้างชอบสำหรับ Swatch คือ คอนเซ็ปต์ในการให้บริการแบบถึงใจ ตรงที่เปลี่ยนถ่านฟรีตลอดอายุการใช้งาน มันเหมือนกับเวลาคุณซื้อรถยนต์สักคันแล้วแบรนด์นั้นๆ บอกว่าขับอย่างเดียวไม่ต้องสนใจเรื่องค่าน้ำมันเดี๋ยวเราดูแลให้เอง แม้ว่าเปลี่ยนถ่านมันจะไม่บ่อยเท่าเติมน้ำมันก็ตาม แต่ก็ได้ใจสุดๆ ซึ่งคุณสามารถนำไปเปลี่ยนถ่านได้ตามชอปใหญ่ๆ ของ Swatch ทั่วประเทศ

ราคาของ SKIN Irony มีตั้งแต่ 4,950 บาท ไปจนถึงรุ่นสูงสุดที่เป็นสายเหล็กเรือนทอง 6,600 บาท ถามว่าแพงไหม ผมว่าน่าเปลี่ยนคำถามเป็นว่าคุ้มค่าไหม ซึ่งผมว่าถ้าคุณชอบยังไงก็ไม่มีคำว่าแพง และอีกอย่างผมเคยพูดเสมอว่า ทำไมของที่บางๆ หรือเล็กๆ จะต้องมีราคาถูกกว่าของที่มีขนาดใหญ่ๆ หนาๆ ด้วยละ

ข้อมูลทางเทคนิค : Swatch SKIN Irony

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 38 มิลลิเมตร
  • หนา : 5.8 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 44 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 18 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : Stainless Steel
  • วัสดุสาย : ยาง / Stainless Steel / หนัง
  • ระบบกลไก : ควอตซ์
  • การกันน้ำ : 30 เมตร
  • ประทับใจ : ดีไซน์ ความบาง
  • ไม่ประทับใจ : รูปแบบของบัคเคิล ตัวเรือนแบบซีลไม่มีฝาหลังจนเกิดข้อสงสัยว่าจะซ่อมได้ไหม