นาฬิกาดำน้ำจากเยอรมนีที่พกความไม่ธรรมดาของวัสดุในการผลิตตัวเรือนที่ใช้เกรดเดียวกับที่ผลิตเรือดำน้ำ และนั่นทำให้ Sinn U1 กลายเป็นที่สนใจของแฟนๆ ทั่วโลก
Sinn U1 สวย แกร่ง แต่ราคาไม่ธรรมดา
-
นาฬิกาดำน้ำจากเยอรมนี U1 ใช้เหล็กชนิดเดียวกับเรือดำน้ำ
-
ตัวเรือนขนาด 44 มิลลิเมตร และกันน้ำได้ 1,000 เมตร
-
ในรุ่นใหม่เปลี่ยนมาใช้กลไก SW-200-1 ของ Sellita
ผมจำไม่ได้ว่า ผมรู้จักกับแบรนด์ Sinn ได้อย่างไร แต่คาดว่าน่าจะมาจากโลกออนไลน์นี่แหละ เสิร์ชโน่นนี่นั่นจนกระทั่งสุดท้ายได้มาเจอกันบนหน้าเว็บ และยังจำได้ดีถึงอารมณ์ที่ได้เห็นหน้าตาของ U1 เป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมไม่รู้จักว่า Sinn คือแบรนด์อะไรและมาจากไหน แต่หลังจากที่ได้เจอหน้ากันแล้ว นั่นเป็นตัวจุดประกายและทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการขุดค้นเพื่อหาเรื่องราวและสตอรี่ของแบรนด์มาประกอบการบิลด์อารมณ์ จนนำไปสู่การเสียเงินในที่สุด
ทั้งหมดคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว และ แม้ว่า U1 จะอยู่ใน Wish List แต่ผมก็ยังไปไม่ถึงสักที เพราะโดนพาลงข้างทางตลาด จนกระทั่งสุดท้าย เราก็ได้เจอกันสักที และบอกได้คำเดียวเลยว่า ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะมันยิ้มให้ตลอดเวลาที่อยู่บนข้อมือ
Sinn U1 สวย แกร่ง แต่ราคาไม่ธรรมดา
กลับมาที่เรื่องแบรนด์ Sinn กันก่อน เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอก เพราะมันคือแบรนด์นอกกระแสสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าคุณหลงใหลอยู่ในโลกของเรือนเวลาแล้ว นี่คือชื่อคุ้นเคย Sinn ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดย Helmut Sinn อดีตนักบินและครูฝึกนักบินที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อต้นปีนี้ด้วยวัย 101 ปี โดยชื่อบริษัทเต็มๆ นั้นคือ Helmut Sinn Spezialuhren และมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมนี
แต่ถึงจะโด่งดังจากการผลิตนาฬิกาเพื่อใช้ในคอกพิทของเครื่องบินขับไล่แต่ Sinn ก็มีนาฬิกาหลากหลายแบบที่ถูกส่งออกมาขายในตลาด รวมถึงในกลุ่มนาฬิกาดำน้ำด้วย ซึ่งกลุ่มหลังนี่แหละที่ทำให้ผมหลงใหลในแบรนด์ Sinn อย่างเต็มตัวโดยเฉพาะรุ่น U1 ที่เปิดตัวออกมาครั้งแรกเมื่อ Basel World 2005
หลายคนอาจจะบอกว่ามันไม่เห็นจะมีอะไรที่โดดเด่นเลยทั้งในแง่ของดีไซน์ หรือสเป็กของกลไก เพราะก็ยังใช้กลไกที่สามารถหาซื้อตามท้องตลาดได้ ไม่ใช่พวก In-House ที่ผลิตหรือพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งตัวผมเองก็บอกว่าไม่เกี่ยง และไม่ค่อยสนใจอะไรในประเด็นนี้เท่าไร เพราะเท่าที่เห็นครั้งแรกจนถึงตอนนี้ Sinn U1 ยังยิ้มให้ผมอยู่เสมอ ไม่ว่ามันจะสวมกลไก ETA หรือ Sellita
‘The diving watch made of German submarine steel’
คือ นิยามของ U1 และไอ้คำว่า German Submarine Steel นี่แหละที่ทำให้ผมรู้สึกดีเป็นอันดับ 2 ต่อจากการออกแบบหน้าตาของตัวนาฬิกา เพราะมีความรู้สึกว่าพวกเขาพยายามหาจุดเด่นที่น่าสนใจในการนำเสนอออกมาให้ดูเหนือกว่าชาวบ้านด้วยวิธีที่แตกต่าง และก็ไม่ค่อยจะมีใครที่บอกว่าตัวเองใช้วัสดุแบบเดียวกับที่ผลิตเรือดำน้ำจนกระทั่งมาเจอกับพวกเขานี่แหละ เพราะส่วนตัวผมว่ามันดูแล้วประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นจุดเด่นที่สามารถดึงดูดให้คนมาซื้อหรือหลงใหลเลย เมื่อเปรียบเทียบกับยานพาหนะอื่น เช่น ซูเปอร์คาร์ หรือจรวด แต่อย่างว่าละครับในเมื่อเป็นนาฬิกาดำน้ำ มันก็ต้องเรือดำน้ำสิ จะให้เป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร และสุดท้ายกลับดันได้ผลกับผมซะงั้น
Sinn ใช้เหล็กที่ผลิตจาก ThyssenKrup เกรดเดียวกับเรือดำน้ำที่มีความทนทานต่อการกัดกร่อนของทะเล โดยเหล็กประเภทนี้จะถูกใช้ในเรือน้ำคลาส 212 ของเยอรมนี และมีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็ก เช่นเดียวกับความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าเหล็กเกรด 316L ถึง 1.55 เท่า
ส่วนการผลิตตัวเรือนเป็นงานของ SUG หรือ SÄCHSISCHE UHREN-TECHNOLOGIE GMBH GLASHÜTTE ซึ่งเป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาให้กับแบรนด์คุณภาพหลายแบรนด์ โดย SUG เข้ามาร่วมมือกับ Sinn ในการผลิตตัวเรือนมาตั้งแต่ปี 1999 และถ้าสังเกตให้ดีตรงด้านข้างตัวเรือนระหว่างขาสายยาว จะมีการปั๊มโลโก้ SUG เอาไว้ ซึ่งคุณจะไม่มีทางเห็นหากไม่ใช่พวกซนชอบเปลี่ยนสายเล่น ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนสายแล้ว ผมค่อนข้างถูกใจอีกจุดเกี่ยวกับเรื่องของการเจาะรู้ที่ขาสายของ U1 แค่ไม้จิ้มฟันอันเดียวก็เปลี่ยนสายได้อย่างสะดวกแล้ว ไม่ต้องมาเสี่ยงเอาตัวถอดสปริงบาร์กระแทกกับขาด้านในจนเป็นรอย
นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ถือว่าเทพและเป็นเอกลักษณ์ของ Sinn คือ การเคลือบตัวเรือนด้วยกรรมวิธีที่เรียกว่า Tegiment ทำให้มีความทนทานต่อการขูดขีดได้ดีขึ้น โดยมีค่าความแข็งในระดับ 1,200 Vicker และ Sinn ได้นำกรรมวิธีนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2003 และนำมาใช้ในปี 2008 ซึ่งคำว่า Tegiment มาจากคำในภาษาละตินว่า Tegimentum ที่แปลว่า ชั้น หรือ Layer โดยในรุ่นทั่วไปทาง Sinn จะเคลือบ Tegiment เฉพาะส่วนที่เป็น Bezel เท่านั้น ยกเว้นอยากได้เพิ่มก็สั่งจากโรงงานได้ จะเคลือบตัวเรือนและสายเหล็กให้ แต่ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 250 ยูโร หรืออีกราวๆ 10,000 บาท
สำหรับ U1 ถือว่าเป็นนาฬิกาที่ลงตัวมากในแง่ของการออกแบบ กับตัวเรือนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug ในระดับ 50 มิลลิเมตรถือว่าเต็มข้อสำหรับข้อมือในระดับ 7 นิ้ว เม็ดมะยมวางในตำแหน่ง 4.00 น. ทำให้หลีกเลี่ยงการสร้างความรำคาญให้กับหลังมือเหมือนในตำแหน่ง 3 นาฬิกา เพราะเม็ดมะยมของ U1 ค่อนข้างยาวยื่นไม่จมลงไปในตัวเรือน ในแง่ของดีไซน์ ผมค่อนข้างชอบกับการใช้เข็มนาฬิกาทรงแท่งแบบขาว-แดงที่ดูคล้ายกับสัญลักษณ์ที่คุ้นตาในเรือดำน้ำ การเลือกใช้สีที่หลักบน Bezel ที่มีการสลับเอาสีแดงไปใช้กับตำแหน่งปกติ แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการดำน้ำคือ ตำแหน่ง 0-15 จะใช้สีดำแทน
จุดที่ไม่ประทับใจที่เกิดขึ้นบนตัวเรือนซึ่งแฟนๆ ของ Sinn ทั่วโลกไม่ค่อยชอบคือ ความละเอียดของการหมุน Bezel ที่เป็นแบบหมุนทางเดียว เพราะมีแค่ 60 คลิ๊กหรือครึ่งเท่าของนาฬิกาดำน้ำทั่วไปที่มีการเจาะละเอียดถึง 120 คลิก ตรงนี้ทำให้การปรับละเอียดและความแน่นของสัมผัสที่เกิดขึ้นเวลาหมุนบนขอบ Bezel แล้วไม่ค่อยโอเคเท่าไร ผมว่า Seiko ราคาครึ่งหมื่นยังทำได้ดีกว่าอีก
ส่วนอีกเรื่องคือความสว่างของพรายน้ำของ U1 ที่ทำได้ไม่แจ่มเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับเทพทางด้านนี้อย่างนาฬิกาดำน้ำของ Seiko อีกทั้งพรายน้ำบนเข็มวินาทีที่แม้ว่าตัวส่วนหัวจะออกแบบให้มี Lollipop ทรงเหลี่ยมเอาไว้ แต่พวกเขาดันกลับแต้มพรายน้ำลงบนเข็มเพรียวๆ บางๆ ของเข็มวินาที แค่นี้ก็ไม่ต้องคิดแล้วว่าจะชัดขนาดไหนเวลาอยู่ใต้น้ำท่ามกลางความมืด ซึ่งจริงอยู่ที่เข็มวินาทีอาจจะไม่สำคัญเท่ากับเข็มนาที แต่ในเมื่อเป็นนาฬิกาดำน้ำแล้ว ก็น่าจะทำให้ครบเครื่องมากกว่านี้
U1 มีความสามารถในการกันน้ำ แต่ทว่าไม่มี Helium Valve มาให้ด้วย อันนี้คงมองได้ 2 ประเด็นคือ อาจจะไม่ออกแบบมาเพื่อเน้นการใช้งานใต้น้ำแบบ Saturation หรืออยู่ใต้น้ำนานหลายวัน หรือไม่ก็ความยอดเยี่ยมในการซีลตัวเรือนชนิดที่เทียบเท่ากับพวก Monocase อย่าง Seiko Tuna ซึ่งทาง Sinn ยืนยันว่า U1 มีการซีลที่ดีด้วยการใช้ประเก็นชุดพิเศษ ปิดโอกาสในการเล็ดรอดของก๊าซฮีเลี่ยม
ใครที่ซื้อ U1 รุ่นหลังจากปี 2013 หมดโอกาสได้สัมผัสกับกลไก ETA 2824-2 เพราะพวกเขาเปลี่ยนมาเป็น SW-200 ของ Sellita สามารถ Hack เข็ม และขึ้นลานมือได้ เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ในเรื่องของการดูแลและซ่อมบำรุงนั้นสะดวกและง่ายไม่ต่างจาก ETA แต่ผมแค่รู้สึกวาการสำรองพลังงานน้อยไปหน่อย แค่ 38 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ส่วนในเรื่องความสามารถนั้น U1 ผ่านการทดสอบการกระแทกตามมาตรฐานของ Din ISO 1413 และกันสนามแม่เหล็กตามาตรฐาน DIN 8309
ตอนที่สอยเจ้านี้เข้ากรุมา ทุกคนถามแต่เรื่องความคุ้มค่า สารภาพเลยว่าผมแทบไม่แคร์ เพราะอารมณ์อยู่เหนือเหตุผลละ แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์กันเป็นฉากๆ ผมรู้สึกว่าค่าตัวของ U1 ที่คุณสั่งจากเว็บต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ 1,820 ยูโร (เท่ากันทั้งสายยางและสายเหล็ก) หรือราวๆ 72,800 บาท ถ้าตัดเรื่องความชอบออกไปแล้ว ผมมีความรู้สึกว่า U1 ค่อนข้างแพงไปหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับสเป็กของมัน เพราะจุดเด่นทั้งหมดถูกยกไปที่เรื่องของเทคโนโลยีในด้านวัสดุการผลิตตัวเรือนเป็นหลัก ส่วนเรื่องของกลไกนั้นพวกเขาสนใจเพียงน้อยนิด ชนิดที่พวกสะสมนาฬิกาแบบฮาร์ดคอร์อาจจะไม่ถูกใจเท่าไร
แต่โดยรวมแล้วถามว่าน่าสนใจไหม ? คำตอบคงเหมือนเดิมแหละครับว่า ถ้าถูกใจยังไงก็ไม่มีคำว่าแพง
รายละเอียดทางเทคนิค : Sinn U1
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 50.5 มิลลิเมตร
- หนา : 14.8 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : Sellita SW-200-1
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน : 38 ชั่วโมง
- ระดับการกันน้ำ : 1,000 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ วัสดุ และความทนทาน
- ไม่ประทับใจ : พรายน้ำ ราคา และความละเอียดในการหมุนของ Bezel
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/