Seiko Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J ปรับขนาด เปลี่ยนกลไก จนได้ความลงตัว

0

นอกจากรุ่นกลไกอัตโนมัติแล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ Seiko Sumo จะมีทางเลือกของกลไกควอตซ์แบบจับเวลา หรือ Chronograph และหลังจากที่ได้ลองแล้ว เราพบว่า นี่คือนาฬิกาที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่งของ ไซโก้ Seiko เลยทีเดียว

Seiko Sumo Chronograph Solar
Seiko Sumo Chronograph Solar

Seiko Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J ปรับขนาด เปลี่ยนกลไก จนได้ความลงตัว

  • ผลผลิตใหม่จากคอลเล็กชั่น Sumo กับนาฬิกา Chronograph ที่มากับกลไก V192 ควอตซ์และชาร์จพลังงานผ่านแสงอาทิตย์ หรือ Seiko SOLAR

  • ตัวเรือนถูกลดขนาดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ Sumo ที่ใช้กลไกอัตโนมัติ ทำให้ใส่ได้ง่ายและสะดวกสำหรับคนข้อมือเล็ก

  • ทำตลาด 2 รุ่นคือ SBDL063/SSC759J หน้าน้ำเงินสายยาง และ SBDL061/SSC757J หน้าดำสายเหล็ก

- Advertisement -

ดวงคนเราจะเสียเงินอะไรก็ฉุดไม่อยู่ เหมือนอย่างวันนี้โรงเรียนลูกๆ หยุด และผมไม่ติดกิจในการไปรับกลับบ้าน ก็เลยพอมีเวลากลับไปเดินทัวร์ที่ห้างขาประจำสักหน่อยเพราะกะจะเซอร์เวย์อัพเดทความเคลื่อนไหวในตลาดสักหน่อย แต่สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นว่า โดนซะเอง ได้ของติดมือกลับมา และก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็น Seiko Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J ซึ่งผมแอบเล็งๆ เอาไว้ เพราะวันนี้เป็นวันแรกที่ของลงเคาน์เตอร์พอดี….อะไรมันจะเหมาะเจาะปานนั้น

Seiko Sumo Chronograph Solar

สมัยเด็กๆ ผมเป็นคนชอบนาฬิกาจับเวลาแบบ Chronograph ด้วยเหตุผลเดียวคือ เข็มมันเยอะดี ดูแล้วเท่ แต่เมื่อโตมาความชอบก็ยังมีอยู่ แต่ใจเอนเอียงไปที่นาฬิกาดำน้ำเสียมากกว่า ดังนั้น ตอนที่ Seiko เปิดตัว Sumo Chronograph ที่ใช้รหัส SSC759J1 สำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งก็รวมถึงเมืองไทย และใช้รหัส SBDL063 สำหรับตลาดญี่ปุ่น มันจึงอยู่ในความสนใจของผม เพราะเป็นความลงตัวในเรื่องของความชอบใน 2 สิ่งที่ถูกรวมเข้ามาอยู่ด้วยกัน

เอาเข้าจริงๆ ตอนแรกที่มีข่าวออกมาผมคิดว่า Seiko จะทุ่มทุนจับกลไกจับเวลาแบบอัตโนมัติมาใส่ แต่เมื่อมองดูจากระดับตลาดของ Sumo และราคาของกลไกประเภทนี้แล้ว คิดว่าคงยากที่จะเป็นไปได้ถ้าราคาของ Sumo Chronograph ยังถูกตั้งให้อยู่ในระดับนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หวยจะมาตกลงที่กลไกควอตซ์ และพวกเขาเลือกเอารหัส V192 มาใช้ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้มีความชัดเจนในการแบ่งระดับตลาดกับ Diver Solar Chronograph ที่มีราคาถูกกว่าและใช้กลไกรหัส V175

ผมเล็งหน้าปัดน้ำเงินเอาไว้ตั้งแต่แรกเห็นด้วยเหตุผลไม่กี่อย่าง นั่นคือ ในมุมผมมันสวยกว่าหน้าดำ อย่างที่ 2 ผมชอบสายยางมากกว่า ราคาป้ายถูกกว่า 2,000 บาทซึ่งเหลือพอจะไปสอยรองเท้าอีกสักคู่ และสุดท้ายในกรุของผม ณ ตอนนี้ มีนาฬิกาหน้าปัดสีน้ำเงินเพียงเรือนเดียวเท่านั้น ดังนั้น การเข้ามาของ Seiko Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J ก็จะช่วยเบรกความซ้ำซากของหน้าปัดดำที่อยู่ในกรุของผมลงไปได้

อย่างไรก็ตาม ความชอบนี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงในบางเรื่องและจะชัดเจนขึ้นก็ต่อเมื่อมีการได้ลองจับและเห็นตัวจริงๆ เท่านั้น ประเด็นที่ว่าคือ เรื่องรูบนขาสายของ Seiko Sumo เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ Gen 1 มาจนถึง Gen 2 นี่คือปัญหาหนักอกสำหรับผม เพราะด้วยเหตุที่รูบนขาสายอยู่ในระดับที่ต่ำ ถ้าคุณเลือกสายไม่เหมาะสม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ช่องว่างขนาดเอานิ้วสอดลงไปได้ระหว่างตัวเรือนและสายหนัง ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดหลักที่ทำให้ผมไม่ค่อยโอเคกับนาฬิกา Sumo ของ Seiko สักเท่าไร ทั้งที่เป็นนาฬิกาที่คุ้มค่ารุ่นหนึ่งเลยก็ว่าได้

Seiko Sumo Chronograph Solar

เมื่อยืนเกาะเคาน์เตอร์และชี้ให้คนขายรีบหยิบมา สิ่งแรกที่ผมขอดูก่อนเลยก็คือ สายยางรุ่นใหม่ของ Seikoสามารถจับคู่กับ Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J ได้อย่างลงตัวหรือไม่ ? และคำตอบเรื่องนี้ก็ได้ความกระจ่างหลังจากหยิบขึ้นมาดูด้วยตาตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยในเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะเมื่อกลับมาบ้านก็จัดการถอดสายยางออกแล้วเอามาลองกับสายหนังไซส์ 20 มิลลิเมตรที่มีอยู่ ซึ่งพบว่าหลังจากลองไปได้ 4 เส้น ปัญหาเรื่องช่องว่างตรงนี้ได้หมดไปแล้ว กับสายยางติดมาจากโรงงานนั้นไม่ต้องพูดถึง แทบไม่เหลือช่องว่างเลย และเมื่อลองเอาสายหนังของตัวเองที่มีหัวสายค่อนข้างหนาไปจนถึงบาง ก็ไม่มีช่องว่างแบบน่าเกลียดให้เห็นอีกต่อไป และอยู่ในระดับที่รับได้เกือบทั้งหมด

อีกสิ่งที่ผมว่าน่าจะทำให้ Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J ได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะกับคนข้อเล็กคือ ใส่แล้วโอกาสกางมีน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับ Sumo กลไกอัตโนมัติ นอกเสียจากข้อมือคุณจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 6 นิ้ว

ตรงนี้ทาง Seikoมีการลดขนาดของตัวเรือน 2 จุดคือ เส้นผ่านศูนย์กลางซึ่งอยู่ที่ 44.5 มิลลิเมตร และ Lug to Lug ซึ่งอยู่ในระดับ 51.6 มิลลิเมตร และแทบไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าส่วนต่างแค่ 0.95 มิลลิเมตร จะทำให้ผมมีความรู้สึกว่า Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J เล็กลงอย่างชัดเจนเมื่ออยู่บนข้อมือขนาด 7 นิ้วของผม

แต่การได้ความหนาของตัวเรือนที่เพิ่มเข้ามาอีก 0.8 มิลลิเมตรกลับช่วยทำให้นาฬิกาดูบึกขึ้น และมีสมดุลมากขึ้นเมื่ออยู่บนข้อมือ เรียกว่าความรู้สึกว่าเป็นนาฬิกาตัวโตขาลีบเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับรุ่นอัตโนมัตินั้นหมดไปในทันที แม้ว่ารุ่นนี้จะยังมีความกว้างขาสาย 20 มิลลิเมตรเหมือนเดิมก็ตาม

เอาเป็นว่าถ้าคุณยังคาใจกับ Sumo กลไกอัตโนมัติ และมีโอกาสเดินผ่านเคาน์เตอร์ Seikoผมว่าไปขอลองเอา Sumo Chronograph ขึ้นข้อดูแล้วจะพบว่ามันมีเสน่ห์และความสวยชนิดที่ทำให้เงินหลุดลอยออกจากกระเป๋าได้อย่างง่ายๆ

นอกเหนือจาก 2 ข้อนี้แล้ว ผมยังค่อนข้างชอบรายละเอียดบนหน้าปัดของ Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J โดยเฉพาะหน้าน้ำเงินแบบ Deep Blue ที่ถูกออกแบบหน้าปัดมีการเล่นแสงในระดับหนึ่ง แต่ไม่เยอะชนิดที่เป็นประกายวิบวับเหมือนกับที่เจอในพวกรุ่น Save the ocean เรียกว่าปกติผมเป็นคนชอบหน้าปัดนาฬิกาแบบสีด้านมากกว่าพวก Sunray หรือ Gradient แต่กับรุ่นนี้ต้องยอม

Seiko Sumo Chronograph Solar

ขณะที่ชุดเข็มชั่วโมง-นาทีแม้ว่าจะมีดีไซน์และสไตล์ที่คล้ายกับSumo กลไกอัตโนมัติ แต่ก็ออกแบบใหม่และเป็นคนละชุดกัน เพราะใน Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J จะมีการเจาะโปร่งที่ปลายในส่วนที่ติดกับแกน และปลายเข็มมีการเคลือบสารเรืองแสง Lumibrite เช่นเดียวกับเข็มวินาทีในวงหน้าปัดย่อยก็มีการเคลือบสารนี้ด้วยเช่นกัน

อีกสิ่งที่ Seiko ทำได้คือ

การวางสมดุลของหน้าปัดย่อยของระบบ Chronograph และบรรดาข้อความทั้งหลายที่อยู่บนหน้าปัดที่ไม่ได้มีเยอะจนเกินงาน โดยในส่วนหน้าปัดย่อยนั้นในตำแหน่ง 9 นาฬิกาคุณจะพบกับหน้าปัดของเข็มวินาทีในการแสดงเวลาปกติ ในตำแหน่ง 6 นาฬิกาเป็นวงย่อยจับเวลาในสเกล 60 นาที และจะมีช่องสำหรับแสดงพลังงานของแบตเตอรี่ หรือ Power Indicator ซึ่งเมื่อคุณคลายเกลียวของปุ่มกดจับเวลา พร้อมกับกดปุ่มให้ทำงาน เข็มจะดีดกลับมาที่ตำแหน่ง 0 ที่พร้อมจับเวลา ขณะที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกาเป็นหน้าปัดย่อยของการบอกเวลา AM/PM โดยทั้ง 3 วงย่อยนี้จะมากับพื้นสีดำ และเป็นหน้าปัดแบบเล่นระดับ 2 ชั้นที่เว้าลึกลงไป

Seiko Sumo Chronograph Solar

แม้ว่าจะใช้กลไกควอตซ์ที่แตกต่างจากที่ Sumo เป็นมาตั้งแต่รุ่นแรก แต่ในเมื่ออยู่ในคอลเล็กชั่นเดียวกัน คุณก็จะสามารถสัมผัสกลิ่นอายของ Sumo ที่ถูกส่งผ่านออกมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนทรงโค้งที่รับกับข้อมือ หลักชั่วโมงในตำแหน่ง 12 นาฬิกาทรงสามเหลี่ยมปลายตัดที่ออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายกับ Mawashi ซึ่งเป็นผ้าเตี่ยวสำหรับนักกีฬา Sumo รวมถึงหลักชั่วโมงทรงกลม ไปจนถึงฟอนต์และรายละเอียดบนขอบสเกลบนขอบตัวเรือนที่ถอดแบบกันมา

กลไกแบบควอตซ์ที่อาศัยแสงอาทิตย์ในการชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในตัวเก็บประจุที่ Seikoเรียกว่า SOLARนั้น สำหรับตัวผมไม่ได้ติดปัญหาหรือประเด็นในการใช้งานอะไรเลย เพราะคุ้นเคยกันมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังขลุกอยู่ในโลกของ G-Shock แถมในรุ่นนี้มี Power Indicator มาให้ด้วย การใช้งานก็ยิ่งง่ายเข้าไปอีก เพราะเมื่อไรที่เข็มกระดิกลงจาก F มาอยู่ใกล้ E ก็ควรรีบเอาออกมาวางตากแดดกันได้แล้ว

Seiko Sumo Chronograph Solar

ตามสเปกของ Seikoนั้น กลไก V192 ที่อยู่ใน Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J เมื่อมีการชาร์จจนเต็ม จะสามารถทำงานได้นานถึง 6 เดือนสำหรับการใช้งานปกติ โดยที่เปิดการใช้งานระบบ Chronograph น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ตัวกลไกมีความเที่ยงตรงระดับ +/-15 วินาทีต่อเดือน เรียกว่าใช้กันสบายๆ สำหรับคนที่มองหานาฬิกาที่ใช้งานสะดวก ไม่ต้องมานั่งตั้งเวลาใหม่เมื่อหมดลานเหมือนอย่างนาฬิกาอัตโนมัติ

Seiko Sumo Chronograph Solar

Sumo Chronograph Solar SBDL063/SSC759J มีราคาป้ายในเมืองไทยอยู่ที่ 25,400 บาท และถ้าเป็นรุ่นสายเหล็กในรุ่น SBDL061/SSC757J จะมีราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 27,400 บาท เอาเป็นว่าถ้าคุณอยากได้นาฬิกาที่ไม่มีความยุ่งยากในการใส่ การขัดตัวเรือนและคุณภาพ รวมถึงสเป็กอยู่ในระดับเดียวกับ Sumo Automatic ผมว่านี่คืออีกทางเลือกที่ควรรับไว้พิจารณา