หลังจากจัดกิจกรรมมาติดต่อกันถึง 4 ครั้งและยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าร่วม ในที่สุด Ana-Digi.com ก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างโครงการ Save the ocean ของ Seiko
เมื่อผมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม Seiko Save the ocean # 5
หลังจากที่พลาดการเข้าไปไปส่วนหนึ่งในกิจกรรม Save the ocean #4 ในปีที่แล้ว ผมบอกกับตัวเองว่าปีนี้จะต้องไม่พลาดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แม้ว่าเงื่อนไขที่จะส่งผลต่อคำว่าเยสหรือโนจะมีค่อนข้างเยอะอยู่พอสมควร
และเมื่อ ‘พี่เปิ้ล’ พัทธ์สิตา สิทธิพรวัฒนากุล จาก Seiko ยืนยันวันเดินทางว่าเป็นช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2022 พร้อมกับข่าวว่า ภรรยาที่แสนดีของผมวางแผนที่จะหนีไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น มันคือข่าวร้ายแบบสุดๆ และงานนี้ทำเอาใจหล่นไปที่ตาตุ่มแบบไม่มีชะลอความเร็ว และเฝ้าภาวนาว่า ขออย่าให้พลาดอีกเลย
แต่สุดท้ายแล้ว เหมือนสวรรค์ยังเมตตา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยังไม่รับนักท่องเที่ยว และวันเดินทางของทริปถูกย้ายไปเป็นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนนี้เพื่อยืนยันว่าทริปของผมกับภรรยาไม่มีทางชนกันอย่างแน่นอน ประโยคที่ว่า ‘ภูเก็ตจ๋า…พี่มาแล้ว’ ก็ล่องลอยออกมาในทันที
ทำไมผมถึงอยากที่จะเข้าร่วมกิจกรรม Save the ocean ?
คุณอาจจะบอกว่าเพราะ Seiko คือลูกค้าหนะสิ เอาละ…นั่นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และถ้าไม่นับเรื่องโอกาสที่แสนดีในการใช้เรื่องงานเป็นข้ออ้างเพื่อหนีลูกหนีเมียเที่ยวได้แล้ว ส่วนใหญ่ของเหตุผลก็คือ ผมติดตามโปรเจ็กต์นี้มาตั้งแต่ครั้งแรก ตั้งแต่สมัยที่ Seiko Thailand เพิ่งเริ่มรู้จักกับ Ana-Digi.com ด้วยซ้ำ ผมติดตามคอลเล็กชั่นของพวกเขามาตลอด จนกระทั่งการมาถึงของเจ้าเพนกวินหน้าปัดเขียวซึ่งเป็นรุ่นที่ 8 ก็เลยได้โอกาสเสียเงินกับคอลเล็กชั่นนี้ซะที และก็จับทำรีวิวให้อ่านกันไปแล้ว
ส่วนตัว…ผมชอบท้องทะเล ชอบนาฬิกาดำน้ำ แต่กลับไม่ชอบการดำน้ำ และเรื่องที่บรรดาแบรนด์นาฬิกาต่างๆ ประกาศการเข้าไปมีส่วนในการฟื้นฟูท้องทะเลที่กำลังวิกฤต คือ คอนเทนต์โปรดของผมเสมอมา เพราะส่วนตัวผมอยากรู้ว่าพวกเขามีความจริงจังขนาดไหน ต้องทำและวางแผนอย่างไรบ้างนอกเหนือจากการเปิดตัวนาฬิกาออกมาสักรุ่นหรือสักเรือนเพื่อขายในตลาด
ผมเคยอ่านเจอเรื่องที่ฝรั่งเขียนเหน็บแบรนด์ต่างๆ เหล่านี้ตามช่องทางออนไลน์ว่า การผลิตนาฬิกาแค่ร้อยสองร้อยเรือนเพื่อระดมทุน หรือการใช้วัสดุที่เกิดจากการนำขยะพลาสติกในท้องทะเลมาเข้ากระบวนการ Recycle หรือ Reuse ตามแนวคิด Upcycling เพื่อใช้เป็นวัสดุในการผลิตบางส่วนของนาฬิกา มันจะไปมีส่วนในเรื่องการช่วยเหลือปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเลได้อย่างไร ?
มันก็จริงนะ เพราะเหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน ถ้าไม่มีใครเริ่ม หรือไม้ซีกที่มีนับร้อยๆ ชิ้นไม่รวมตัว…แล้วปัญหาพวกนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้น เลิกฟังเสียงบ่นงุบงิบข้างๆ หูแล้วลงมือทำเลยดีกว่า
ก่อนหน้านี้ ผมเคยรับจ็อบเขียนบทความทำนองนี้ให้กับนิตยสารเมืองไทย มุมมองของผมในตอนนั้นและเชื่อมั่นมาจนถึงตอนนี้ก็คือ จริงอยู่ที่การผลิตนาฬิกาเพียงไม่กี่เรือน ได้เงินไม่เท่าไร คงไม่ได้ช่วยอะไรได้มากในแง่ของการแก้ปัญหากองโต แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือพลังของแบรนด์ในการทำ PR เพื่อสร้างการรับรู้หรือ Awareness ในวงสังคมมากกว่า
การพูดผ่านแบรนด์ดังๆ สารที่ส่งออกไปยังคนทั่วโลกย่อมมีพลังมากกว่าการส่งสารผ่านเครื่องมือหรอืแพล็ตฟอร์มขององค์กรหรือหน่วยงานอนุรักษณ์เหล่านั้นที่บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ เพราะไม่อย่างนั้นใครต่อใครคงไม่จ้างคนดัง เซเลบฯ หรือดารามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เพื่อให้พูดแทนกันอย่างแน่นอน พวกเขาแค่ใช้หน้าที่ของตัวเองทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่านั้นเอง ส่วนใครจะคลิกหรือเกิด Engagement หรือไม่นั้น…เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที
เอาละกลับมาที่ Save the ocean ของ Seiko ตอนแรกผมก็นึกว่าแคมเปญนี้เป็นแค่กระบอกเสียงในการกระจายสารออกไปยังคนทั่วไปเหมือนกับหลายๆ แบรนด์ แต่กลับผิดคาด… สิ่งที่ถูกวางแผนเอาไว้มีมากกว่างานประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกผ่านการบอกเล่าหรือตัวหนังสือที่ก็ไม่รู้ว่าทำให้เกิดเป็นจริงได้ขนาดไหน และสิ่งที่ Seiko Thailand ทำก็คือ การลงมือจริงๆ บนพื้นที่จริงๆ เพราะได้เห็นพวกเขาลงมือทำกิจกรรมนี้กันอย่างจริงจัง ถ้าไม่เอาจริง คงไม่เดินทางมาจนถึงครั้งที่ 5 อย่างแน่นอน
และผมก็มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมลักษณะนี้บนพื้นที่จริงๆ สักที
Save the ocean คือ อะไร ?
Save the ocean เป็น Global Campaign ที่เกิดจากความร่วมมือของ Seiko กับ Fabien Costeau นักสำรวจโลกใต้ท้องทะเลที่เป็นหลานชายของ Jacques-Yves Cousteau (ฟาเบียน คุสโตว์) นักสำรวจชื่อดังของโลก โดย Seiko จะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกา Save the ocean มอบให้กับ Ocean Learning Center (OLC) หรือศูนย์วิจัยและการเรียนรู้ทางทะเลของ Fabien Cousteau แบรนด์แอมบาสเดอร์ คอลเลคชั่น Prospex (พรอสเป็กซ์) เพื่อนำไปศึกษา, เรียนรู้เพื่อหาทางฟื้นฟู มหาสมุทรที่ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และจากการกระทำของมนุษย์
นาฬิกาของคอลเล็กชั่น Save the ocean จะเป็นการนำนาฬิกาดำน้ำในกลุ่ม Prospex มาแต่งเติมความสวยเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวข้องกับใต้ท้องทะเล และในแต่ละรุ่นจะมีคอนเซ็ปต์ในการเพิ่มความสวยงามที่ชัดเจน เพียงแต่นาฬิการุ่นนี้เป็น Special Edition ไม่ใช่ Limited Edition แบบมีการกำหนดจำนวนการผลิต ซึ่งนับจากปี 2018 เป็นต้นมา Seiko ผลิตออกมาแล้ว 8 เจนเนอเรชั่นด้วยกัน (และไม่นับรวมเวอร์ชันพิเศษที่แยกออกมาต่างหาก)
นอกจากการผลิตนาฬิกาแล้ว บริษัทที่เป็นตัวแทนในแต่ละประเทศก็จะนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนากิจกรรม ในการมีส่วนร่วมเพื่อฟื้นฟูสภาพท้องทะเลตามที่วางเอาไว้ ซึ่งในส่วนของ Seiko Thailand คือ การจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการทำงานจริงๆ บนพื้นที่ซึ่งมีปัญหาและต้องการการสนับสนุนในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์จริงๆ ซึ่ง Seiko ได้ทำงานกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงพาร์ทเนอร์ และชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยโครงการ “Save The Ocean” สำหรับประเทศไทยได้จัดทำมาแล้วอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 4 ครั้งทั้งในแถบ หมู่เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต, เกาะกระดาน จังหวัดตรัง และ บริเวณอ่าวท่าเลน จังหวัดกระบี่
ครั้งที่ 5 จุดเริ่มต้นที่ภูเก็ต
กิจกรรมครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม แต่วันที่หนักและเป็นวันทำกิจกรรมคือ วันที่ 12 มีนาคม โดยเราจะต้องนำบ้านปลาที่ถูกสร้างโดยชาวบ้านและมีบรรดาสื่อมวลชนและพาร์ทเนอร์ของ Seiko Thailand เข้าไปร่วมสร้างและต่อเติมให้มีความสมบูรณ์ไปวางตรงจุดที่กำหนดเอาไว้
ในช่วงบ่ายหลังจากที่เดินทางจากกรุงเทพไปถึงภูเก็ต เราได้พักกันชั่วครู่จากนั้นก็เดินทางมายังพื้นที่จัดงานแถลงข่าว เพื่อต้อนรับคณะสื่อมวลชน กลุ่มคนรัก Seiko และพาร์ทเนอร์ของ Seiko เพื่อเริ่มงานอย่างเป็นทางการสำหรับโปรเจ็กต์ในปีนี้
คุณฮิโรยูกิ อากาชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก (ประเทศไทย) ได้กล่าวเปิดงานและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมของปีนี้ เช่นเดียวกับการแนะนำพาร์ทเนอร์ใหม่ที่เข้ามามีส่วนในการฟื้นฟูท้องทะเลอย่างบริษัท SCG จำกัด มหาชน ที่ร่วมสนับสนุนปะการังเทียมที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลเพิ่มเติมให้กับโครงการ รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยาน หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อีกด้วย
ชุมชนชาวแหลมตุ๊กแก แถบหมู่เกาะสิเหร่ เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีอาชีพประมงเป็นหลัก โดยทาง Seiko ได้ร่วมสนับสนุนชุมชน ในการสร้างบ้านปลา เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กในบริเวณอ่าวซันไรส์ที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำเพื่อประกอบอาชีพ จำนวนกว่า 10 หลัง เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนในการสร้างอาชีพ โดยมีชาวบ้านและคณะ มาร่วมแสดงศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้อย่าง “รองเง็ง” ในวันแถลงข่าวและร่วมกันทำบ้านปลาอีกด้วย
ผมชอบไอเดียในการดึงชาวบ้านที่เป็นคนในท้องที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก เพราะคนเหล่านี้จะต้องอยู่ที่นี่ และทำมาหากินกับท้องทะเลที่พวกเขาอยู่ ดังนั้น การเข้าไปช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การให้ความรู้ หรือการดึงคนในชุมชมเข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ท้องทะเลของพวกเขาเป็นอะไรที่สามาราถสร้างความยั่งยืนได้ แม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นแบบรวดเร็วทันตาเห็นก็ตาม แต่การปลูกฝังจิตสำนึกเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาหวงแหนและดูแลพื้นที่บ้านของพวกเขากันอย่างเต็มที่
งานหนักแต่น่าชื่นใจรออยู่ในวันที่ 2
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 2 ถือเป็นสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของทริป เราลงเรือเพื่อมุ่งหน้ามายังอ่าวซันไรส์ของชาวบ้าน เพื่อทำการปล่อยบ้านปลาทั้ง 10 หลังที่ได้สร้างขึ้น ซึ่งตอนแรกที่ผมเดินดูและเข้าไปช่วยสร้างบ้านปลาเหล่านี้ ดูจากสิ่งที่เห็นก็เกิดคำถามตามมาทันทีว่า มันจะอยู่นานหรือ และเชือกพลาสติกที่รอยยึดเพื่อทำหน้าที่เหมือนกับเป็นตาข่ายป้องกันเหมือนกับที่ธรรมชาติมีแนวปะการังในการเป็นบ้านและเขตป้องกันอันตรายให้กับบรรดาปลาเล็กๆ นั้นๆ จะไม่ทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกตามมาอีกเหรอ
ดูเหมือนพี่ชาวบ้านคนที่ผมช่วยแกสร้างบ้านจะรู้ทันสิ่งที่อยู่ในใจผม และตอบมาด้วยสำเนียงใต้แบบผมฟังรู้เรื่องได้ว่า สุดท้ายแล้ว บ้านเหล่านี้ถูกตรวจสอบเป็นประจำทุกๆ ครึ่งปีเพื่อดูแลสภาพของมัน อันไหนดูแล้วพังหรือเสียก็จะกู้ขึ้นมาเพื่อซ่อมแซมและปล่อยลงไปใหม่ ส่วนเรื่องของเชือกพลาสติกทั้งหลายก็จะถูกเก็บกู้ขึ้นมาไม่ให้เป็นขยะพลาสติกที่สร้างปัญหาให้กับธรรมชาติในอนาคต…ได้ยินอย่างนี้แล้วก็ชื่นใจ
บ้านปลาทั้ง 10 หลังถูกปล่อยลงไปเพื่อเป็นที่หลบภัย และคณะของเราก็ต้องเดินทางต่อไปยังอีกจุดกับงานที่หนักกว่า เพราะจะต้องนำปะการังเทียมจำนวนหนึ่งปล่อยลงไปที่ทะเลตรงบริเวณอ่าวเปลวของเกาะพีพีดอน
ปะการังเทียมที่ใช้ในการปล่อยลงสู่ทะเลในครั้งนี้ มีแบบสวยงามเหมือนปะการังจริงกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยวัสดุที่ใช้ผลิตจากปูนนั้นเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล โดยมี Calaium Carbonate (แคลเซียม คอร์บอเนต)ที่เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนปะการังใช้ดักจับจากน้ำทะเลในธรรมชาติเพื่อเอามาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองอยู่แล้ว โดยทาง SCG ที่เป็นพันธมิตรในครั้งนี้ ได้พัฒนาแบบพื้นผิวให้เหมาะสมกับการยึดเกาะตัวอ่อนปะการังและดีไซน์ให้โครงสร้างมีความซับซ้อนเพื่อให้ เหมาะให้สิ่งมีชีวิตเข้าไปอยู่อาศัยและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืนและยาวนากว่า
แน่นอนว่าปะการังแต่ละเซ็ตมีน้ำหนักมากราวๆ 400-800 กิโลกรัมแล้วแต่ชิ้น จำเป็นจะต้องวางอยู่บนเรือสำหรับบรรทุกและใช้รถเครนยกเพื่อวางลงไปในจุดในท้องทะเลที่ต้องการ
ปะการังเทียมเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาการกัดเซาะของพื้นที่ริมชายทะเลแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำโดยรวม มีสัตว์น้ำนานาชนิดอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งกุ้ง,หอย, ปู และปลาหลายชนิดที่เป็นปลาประจำถิ่น เช่น กลุ่มปลากะพงหลายชนิดและปลาในแนวปะการังทั่วไป ช่วยฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางทะเลให้กลับมาดีขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังการทำประมงพื้นบ้านหรือประมงขนาดเล็กให้กลับมาดีขึ้นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลกลับคืนมา
ที่ผ่านมาผมได้เห็นแคมเปญที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ส่งผ่านทางงานประชาสัมพันธ์ของพวกเขาอยู่ตลอด ซึ่งตรงนั้นสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งเพราะอย่างน้อยปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในบ้านเราก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกละเลยและยังมีคนที่สนใจและคอยสร้างการรับรู้มาอย่างต่อเนื่อง และที่ทำให้อุ่นใจมากขึ้นก็คือ การได้เห็นแบรนด์ลงมือทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งแคมเปญ Save the ocean ของ Seiko ก็คือหนึ่งในนั้น
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline