Seiko Samurai Prospex SRPD13K Zimbe 9 : เปลี่ยนมากกว่าหน้าปัดกับเข็ม

0

เปิดตัวมาถึงรุ่นที่ 9 แล้วสำหรับคอลเล็กชั่น Zimbe คราวนี้ยังใช้รุ่น Samurai เป็นพื้นฐานแต่สร้างความแตกต่างจากรุ่นปกติมากมาย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนหน้าปัดกับเข็มเท่านั้น ส่วนการผลิตก็ยังจำกัดที่ 1,300 เรือนเท่านั้น

Seiko Samurai Prospex SRPD13K Zimbe 9
รุ่นที่ 9 จากคอลเล็กชั่น Zimbe

Seiko Samurai Prospex SRPD13K Zimbe 9 : เปลี่ยนมากกว่าหน้าปัดกับเข็ม

  • รุ่นที่ 9 จากคอลเล็กชั่น Zimbe

  • ใช้พื้นฐานรุ่น Samurai แต่เปลี่ยนรายละเอียดหลายจุด

  • ผลิตเพียง 1,300 เรือน และราคาจำหน่าย 22,900 บาท

- Advertisement -

จากเดิมที่เราคิดว่า Zimbe Project ของ Seiko น่าจะจบซีรีส์นี้กันที่ตัวเลข 5 หรือ 6 รุ่นเท่านั้น แต่สุดท้าย ผลผลิตจากโครงการนี้ก็ถูกลากยาวมาจนถึงรุ่นที่ 9 จนได้ และถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ Seiko นำนาฬิการุ่นเดิมมาผลิตซ้ำในคอลเล็กชั่นนี้ ซึ่งเจ้า Samurai ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น Zimbe No.9 พร้อมกับวางขายในบ้านเราด้วยรหัส SRPD13K โดยความเปลี่ยนที่มีมากขึ้นจากรุ่นที่ 6 ซึ่งใช้พื้นฐานของ Samurai ด้วยเช่นกัน

ผมคงไม่พูดถึงเรื่องดราม่าเกี่ยวกับความเห็นที่มีต่อ Zimbe No.9 ที่ค่อนข้างร้อนแรงในโลกออนไลน์ และตอนแรกสารภาพตรงๆ เลยว่าแวบแรกที่เห็นเจ้า SRPD13K นั้น ผมมีความรู้สึกค่อนข้างเห็นด้วยกับหลายความเห็นในนั้น ถึงขั้นติดลบเลยทีเดียว ทั้งที่พอจะเข้าใจแนวทางและสไตล์ในการผลิตนาฬิกาแบบ Limited Edition ของ Seiko ในระดับหนึ่ง แน่นอนว่า ผมไม่ได้ติดใจในประเด็นของเรื่องการใช้ชิ้นส่วนหรืออะไหล่ที่มีอยู่แล้วมาสร้างขึ้นเป็นนาฬิการุ่นใหม่ แต่อย่างใด เพราะขนาดรถยนต์ยังทำได้ แล้วทำไมนาฬิกาถึงทำไม่ได้ละ ?

แต่ที่ติดลบอย่างที่บอกข้างต้นนั้นเป็นเพราะแวบแรกที่เห็นนั้นมันเป็นความผิดหวังระคนน้อยใจนิดๆ จากความคาดหวังที่ตั้งเอาไว้ เพราะผมชอบเจ้า Prospex Dawn Grey Series ของพวกเขามากที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน โดยเฉพาะตัว Samurai รหัส SRPD03K1 และหวังว่าเจ้า Zimbe No.9 จะมาในแนวทางนั้น แต่ก็ไม่ได้มาอย่างที่คิด มันก็เลยเกิดความรู้สึกนั้นขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ใช่พวกที่พอเห็นครั้งแรกแล้วไม่ชอบจากนั้นก็จะไม่มองอีกเลย แต่ยังเปิดโอกาสให้เสมอ โดยเฉพาะหลังจากที่นั่งเพ่ง และอาศัยโพสต์ในกลุ่ม FB เป็นตัวบิลด์อารมณ์อยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ยอมรับเลยว่า ‘เวลา’ คือ เครื่องมือที่ทำให้ใจเกิดอาการหวั่นไหวได้จริงๆ

จริงๆ ผมไม่ได้ติดใจอะไรกับชุดเข็มและหน้าปัดที่ดูเหมือนว่าจะยกชุดมาจาก Seiko Sumo 50th Anniversary ในรหัส SBDC027 แถมยังโล่งใจซะอีก เพราะส่วนตัวไม่ค่อยชอบชุดเข็มทรงหัวลูกศรแบบโตๆ ของ Samurai รุ่นปัจจุบันที่ยกชุดมาจาก Baby Tuna ดังนั้น การได้เข็มนาทีและเข็มชั่วโมงแบบปลายเรียว ถือว่าลงตัวมาก และชวนให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของชื่อเล่น Samurai ที่ถูกตั้งในรุ่นที่แล้วซึ่งมีชุดเข็มมีลักษณะเรียวและคมเหมือนกับดาบซามูไร

แต่สิ่งที่ติดใจจริงๆ คือ เรื่องของการใช้โทนสี ระหว่างเทาเข้มกับแดง ที่ผมว่ามันเป็นโทนสีที่ไม่ค่อยจะเข้ากันสักเท่าไร แต่อย่างที่บอกว่า สุดท้ายพอได้ใช้เวลานั่งเพ่ง และดูภาพที่ SRPD03K1 ถูกถ่ายและนำมาขึ้นข้อจากหลากหลายภาพที่อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว มันบั่นทอนความเห็นตรงนี้ได้ดีชะมัดเลย ยิ่งถ้าได้จับคู่กับสายหนังสวยๆ ด้วยแล้วละก็ สะดุดตาขึ้นมาเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องของการใช้ชิ้นส่วนหรืออะไหล่ของนาฬิการุ่นอื่นๆ มาใส่ใน SRPD13K นั้น ผมไม่ถือเป็นประเด็นอะไรที่คาใจ เพราะมันเป็นเรื่องของแนวทางในการพัฒนาของแต่ละแบรนด์ แต่การเปลี่ยนในแบบนี้ ผมว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้เกิดความแตกต่างได้มากกว่าแค่เปลี่ยนสีของชิ้นส่วนต่างๆ บนตัวเรือนเหมือนอย่าง Zimbe หลายรุ่น มองในแง่ดีก็เหมือนที่บางครั้งเราอยากจะได้ชิ้นส่วนของรุ่นอื่นมาเปลี่ยนกับอีกรุ่นนั่นแหละ ส่วนพอออกมาเป็นเรือนจริงแล้วจะถูกใจใครหรือไม่โดนใจใคร อันนั้นขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลแล้ว

กลับมาที่ SPRD13K นาฬิกาเรือนนี้ถูกพัฒนาบนพื้นฐานของ Samurai รุ่นปัจจุบัน แต่เพิ่มความพิเศษด้วยการเปลี่ยนรายละเอียดหลายจุด เช่น ขอบ Bezel ที่หันมาใช้สเกลสีแดง-เทา ชุดหน้าปัด และเข็มทั้งนาที ชั่วโมง และวินาทีซึ่งมีดีไซน์ใกล้เคียงกับของ Sumo 50th Anniversary ซึ่งผมคิดว่าน่าจะยกชุดมาใช้ร่วมกัน ยกเว้นเข็มวินาทีที่มีการเปลี่ยนมาเป็นสีแดงเพื่อให้เข้ากับขอบสเกลที่ใช้ในการจับเวลาดำน้ำ และทาง Seiko เองก็มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่า สีเทา-แดงนั้นเป็น ‘เปรียบเสมือนกับสีของผิวหนังฉลามวาฬจ้าวสมุทรนักเดินทาง ตัดกับสีแดงที่เป็นตัวแทนของอะดรีนาลีนในตัวคุณ ที่ให้ความตื่นตัวทุกครั้งที่ออกเดินทาง’ เอาเถอะอาจจะฟังดูแล้วไม่ค่อยเข้ากัน แต่อย่างน้อย มันก็มีที่มาที่ไป

กลไกก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือแตกต่างจาก Samurai รุ่นปกติ ใช้รหัส 4R35 แบบ Date ซึ่งมีกำลังงานสำรอง 41 ชั่วโมง และถือว่าความเที่ยงตรงและความทนทานเลยทีเดียว

สำหรับอีกจุดที่หลายคนบอกว่าแตกต่างจาก Samurai รุ่นธรรมดา คือ สายเหล็กของ SRPD13K Zimbe 9 มีการเปลี่ยนใหม่เป็นแบบยิงทรายเพื่อให้ดูเป็นสีด้านๆ ขุ่นๆ เช่นเดียวกับตัวสายที่ไม่ได้มีแบบขัดด้านสลับเงาเหมือนกับรุ่นปกติ ทำให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ผิวหนังของฉลามวาฬ

อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ผมค่อนข้างขัดใจคือ Seiko ดันไม่กล้าอัดสเป็กของ Zimbe 9 แบบเต็มๆ เพราะรุ่นนี้ยังใช้กระจกแบบ Hardlex ที่มีเลนส์ Cyclop ในตำแหน่งแสดงวันที่ โอเค เข้าใจว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Zimbe 6 แล้ว การเปลี่ยนแปลงในแง่ของชิ้นส่วนนั้นรุ่น 9 มีมากกว่า เพราะใน Zimbe 6 นั้นแทบไม่มีอะไรแตกต่าง เหมือนกับเอาชิ้นส่วนของรุ่นธรรมดามาสลับระหว่างกัน และเปลี่ยนแค่กระจกมาเป็น Sapphire แบบมี Cyclop กับหน้าปัดที่มีการเติมคำว่า Limited Edition ลงไป แต่น่าจะใจถึงเปลี่ยนให้อีกสักหน่อยเป็น Sapphire ของ Zimbe 6 ตรงนี้ดูแล้วภาพรวมของในแง่ต้นทุนการผลิตก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอะไรมากนัก เพราะยังไงอะไหล่ตรงส่วนนี้ของ Zimbe 6 ก็ถูกผลิตเอาไว้รองรับอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนขึ้นแม่พิมพ์ใหม่ให้เปลืองเงิน

กับราคาที่ตั้งเท่ากับ Zimbe 6 คือ 22,900 บาท ถ้า Seiko ยอมหั่นกำไรออกอีกสักหน่อยแล้วมาอัพสเป็กของ SRPD13K Zimbe 9 ให้ดีขึ้นอีกนิด ผมว่าน่าจะช่วยให้อีกหลายคนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเยอะเลย อย่างน้อยผมก็คนหนึ่งละ ที่จะตัดสินใจลุยโดยไม่คิดมาก

ขอบคุณ : www.excel-watch.com

ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Samurai Prospex SRPD13K Zimbe 9

  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 43.8 มิลลิเมตร (ไม่รวมเม็ดมะยม)
  • ความหนา : 13.5  มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 48.3 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กันน้ำ : 200 เมตร
  • กระจก : Hardlex
  • กลไก : 4R35 ทับทิม 24 เม็ด หน้าต่าง Date ตรง 3 นาฬิกา
  • สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมงตามสเป็ก
  • ความถี่ : 21,600 Bph
  • ผลิต : 1,300 เรือน
  • ประทับใจ : ชุดเข็ม ตัวเรือนแบบพ่นทรายดูด้านๆ
  • ไม่ประทับใจ : กระจกยังเป็น Hardlex