รุ่นที่ 11 กำลังจะเปิดตัวและเมื่อดูจากภาพมีแนวโน้มว่าจะอยู่บนพื้นฐานของ Shogun (อีกครั้ง) แต่เพิ่มความร้อนแรงด้วยโทนสีหน้าปัดใหม่ แต่ก่อนที่จะถึงคิวของรุ่นใหม่เรามาดูกันว่า Zimbe Collection ทั้ง 10 รุ่นที่เริ่มทำตลาดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีอะไรบ้าง
ทำความรู้จัก Seiko Prospex Zimbe ทั้ง 10 รุ่น
เชื่อว่านับจาก 3 ปีที่แล้วแฟนๆ Seiko น่าจะคุ้นเคยกับคอลเล็กชั่น Zimbe ของ Seiko กันมาไม่มากก็น้อย เพราะนอกจากจะเป็นแคมเปญที่มีความเกี่ยวข้องกับงานในเชิง CSR เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ท้องทะเลแล้ว ยังเป็นโปรเจ็กต์ในการผลิตนาฬิกาที่ถือเป็น Thailand Limited Edition ออกมาขายให้นักสะสมชาวไทยได้สัมผัสกัน
แน่นอนว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ทาง Seiko Thailand กำลังจะเปิดตัวผลผลิตใหม่ของ Zimbe Collection ออกมา และเป็นตัวที่ 11 แล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจจะต้องการข้อมูลและอยากทราบเรื่องราวของคอลเล็กชั่นนี้กันไม่มากก็น้อย วันนี้เรามาทำความรู้จักกันครับ
ที่มาของชื่อ Zimbe
Prospex Zimbe Limited Edition เป็นนาฬิกาดำน้ำคอลเลกชันในแคมเปญ SEIKO Zimbe ดีไซน์ขึ้นเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Move your adventurous mind further” ให้ใจไปไกลกว่าเคย ซึ่งคอลเลกชันนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ฉลามวาฬ” ที่เป็นนักเดินทางตัวจริง ไม่เคยหยุดว่ายน้ำเลยสักวินาทีเดียว และในช่วงชีวิตหนึ่งของปลาฉลามวาฬมันเดินทางกว่าล้านกิโลเมตรหรือมากกว่า 25 รอบของโลก เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่ชอบการผจญภัย ที่มุ่งมั่นเสาะแสวงหาและเดินทางเพื่อความสำเร็จในชีวิต โดยคำว่า Zimbe มาจากคำว่า Jinbe Zame ที่แปลว่าฉลามวาฬในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง
ในปี 2016 Seiko Thailand ดึงอนันดา เอเวอริ่งแฮม ดาราหนุ่มสุดฮ็อตมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ พร้อมกับเปิดตัวแคมเปญ Zimbe ออกมารวมถึงบรรดาสื่อต่างๆ สำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์ภายใต้ชื่อ “SEIKO FOLLOW ZIMBE SPIRIT : จิตวิญญาณของนักเดินทาง” เช่นเดียวกับนาฬิการุ่นแรกของคอลเล็กชั่นนี้ที่ได้รุ่นเต่า หรือ Turtle มาแต่งเติมความสวยในการทำตลาด
หลังจากนั้น Zimbe Collection ถูกเปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง และถ้าลองนับจากเดือนกรกฎาคม 2016 แล้วจะพบว่าเฉลี่ยปีละ 3 รุ่นกันเลยทีเดียว เพราะนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ (ยังไม่รวม Zimbe 11 ที่ตอนเขียนบทความยังไม่เปิดตัว) นาฬิกาจาก Zimbe Collection มีมาแล้ว 10 รุ่นด้วยกัน
Zimbe 1st : SRPA19K1
จำนวนผลิต : 1,299 เรือน
เป็นรุ่นแรกของเวอร์ชันนี้ที่เปิดตัวออกมาพร้อมกับอนันดา จนหลายคนมักจะเรียกว่าเต่าอนันดา มากกว่า Zimbe รุ่นแรก ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกอะไรเพราะตัวนาฬิกาที่ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานนั้นคือ Turtle Re-Edition ซึ่งมาพร้อมกับตัวเรือนขนาด 44 มิลลิเมตร เปลี่ยนกระจกจาก Hardlex ในรุ่นปกติมาเป็น Sapphire พร้อมเลนส์ Cyclope ในรุ่นนี้ เช่นเดียวกับเข็ม หน้าปัด และ Bezel ที่ออกแบบให้รับกับสีเทา ส่วนกลไกก็ยังเหมือนเดิมเป็นรหัส 4R36 มาพร้อมกับฟังก์ชั่น Day/Date และสำรองพลังงานได้ 41 ชั่วโมง
สำหรับรุ่นนี้มาพร้อมกับกล่องขนาดใหญ่ที่ไม่ถึงกับอลังการ แต่ก็ทำให้คนซื้อรู้สึกได้ถึงความเป็นลิมิเต็ด เช่นเดียวกับการแถมสายยางสีเทา ซึ่งยังไม่มีใช้อยู่ใน Turtle Re-Edition รุ่นปกติ ส่วนค่าตัวก็ขยับมากที่มีราคาหน้าตู้ในระดับหมืนกลางๆ มาเป็น 23,000 บาท โดยมีการผลิตออกมา 1,299 เรือนเท่านั้น และก็หมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นการคัมแบ็คมาสู่ตลาด Limited Edition อย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้งของ Seiko และอาจจะด้วยกระแสของอนันดาก็น่าจะมีส่วน
Zimbe 2nd : SLA013J1
จำนวนผลิต : 222 เรือน
ทิ้งระยะเพียงแค่เดือนเดียวที่เต่าอนันดาออกวางขายในตลาดพร้อมกับสัญลักษณ์ของ Zimbe ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า Seiko จะกระหน่ำตลาดทันทีด้วยฉลามวาฬตัวที่ 2 กับรหัส SLA013J1 ที่คราวนี้ขยับขึ้นไปเจาะตลาดระดับบนเพราะใช้ Base ของ MM300 หรือ MarineMaster ตัวกลไกอัตโนมัติ โดยโดดเด่นด้วยหน้าปัดเวฟแพทเทิร์นสีไลฟ์บลู แถมยังดูล้ำสมัยด้วยการผลิตแบบตัวเรือนชิ้นเดียว (One-piece structure) เพื่อปกป้องแก๊สฮีเลี่ยมเข้าไปในตัวเรือนในขณะที่ทำงานอยู่ใน Chamber หรือ Tank ใต้ท้องทะเล อีกทั้งยังมีคาร์ลิเบอร์ 8L35 ที่มีทั้งคุณภาพความอึด จึงมีความเที่ยงตรงสูง ที่สำคัญยังสำรองพลังงานที่ยาวนานได้ถึง 50 ชั่วโมง
นอกจากนั้น รุ่นนี้ยังมีขายอยู่ในเยอรมนีโดยทางดีลเลอร์ของ Seiko ในเยอรมนีได้ผลิตออกขายแบบจำนวนจำกัด 200 เรือน และใช้รหัส SLA015 ด้วย
สำหรับรุ่นนี้ราคาเปิดในช่วงแรกอยู่ที่ 89,000 บาท และมีการผลิตออกมาเพียง 222 เรือน ซึ่งก็หมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนกัน ก่อนที่ทาง Seiko จะนำเบอร์ 1 ออกมาประมูลออนไลน์ทาง FB Live ซึ่งปิดราคาไปแบบไม่ค่อยสะใจเท่าไร แค่แสนต้นๆ เท่านั้นเอง ทั้งที่น่าจะไปได้ไกลกว่านั้น
Zimbe 3rd : SRPA47J1
จำนวนผลิต : 1,286 เรือน
เป็นการต่อยอดมาจาก Baby Tuna 50 ปี ด้วยการใช้บอดี้ตัวเรือนขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 50.2 มิลลิเมตรมาเป็นต้นทางในการพัฒนา โดยมีการเปลี่ยนหน้าปัดใหม่ เช่นเดียวกับชุดเข็ม ส่วนขอบตัวเรือนสเตนเลสสตีลนั้นถูกตกแต่งด้วยเทคนิค ฮอร์นิ่ง ฟินิช ขณะที่พื้นหน้าปัดมาในโทนสีขาวนวล เสริมความเด่นด้วยหลักชั่วโมงและเข็มสีดำ สวมเข้าคู่มากับสายยางซิลิโคนสีดำ ขับเคลื่อนด้วยกลไกขึ้นลานอัตโนมัติรหัส 4R36
ตรงนี้จะว่าไปแล้วเจ้า Baby Tuna 50 ปีเป็นนาฬิการุ่นเดียวที่เกิดในแบบรุ่นพิเศษก่อน เพราะก่อนหน้าที่จะเปิดตัวเวอร์ชัน 50 ปีออกมานั้น Seiko ยังไม่เคยผลิตรุ่นธรรมดาออกมาขายเลย เรียกว่าเปิดตัวออกมาก็เจอกับรุ่น 50 ปี เลย จากนั้นค่อยมาเป็นรุ่น Zimbe และค่อยถึงคราวของรุ่นธรรมดาที่เปิดตัวเมื่อต้นปี 2017
สำหรับ Zimbe รุ่นที่ 3 มีการผลิตออกมาเพียง 1,286 เรือน โดยมีราคาอยู่ที่ 25,900 บาท
Zimbe 4th : SPB055J
จำนวนผลิต : 1,639 เรือน
“Zimbe Limited Edition” รุ่นที่ 4 ที่ยังคงได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉลามวาฬผู้ยิ่งใหญ่ นักเดินทางแห่งโลกใต้ทะเล ครั้งนี้กลับมามาพร้อมแรงบันดาลใจของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ยากจะเกิดขึ้นอย่าง “ทะเลเรืองแสง” ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดจากแพลงก์ตอนพืช ในกลุ่ม ไดโนแฟลกเจลเลต เช่น Noctiluca Scintillans ซึ่งแพลงก์ตอนเหล่านี้เมื่ออยู่รวมกันมากๆ จะทำให้เกิดทะเลเรืองแสงได้เมื่อมีสิ่งมากระทบกับพื้นน้ำสีดำสนิท เช่นเมื่อมีคลื่นกระทบฝั่งหรือวัตถุ ซึ่งหลายคนอาจเคยพบกับปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ด้วยตนเองหรือเห็นภาพของ “ทะเลเรืองแสง” ในเว็บไซต์หรือหนังบางเรื่องมาแล้ว และปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตามชายหาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, มัลดีฟส์, ออสเตรเลีย, แถบทะเลแคริบเบียน หรือแม้กระทั่ง ทะเลในประเทศไทยเองก็ตาม ซึ่งบางคนเรียกปรากฎการณ์ธรรมชาตินี้ว่า Bioluminescent หรือ บลูเวฟ หรือ ทะเลเรืองแสงนั่นเอง
ตัวนาฬิกาอยู่บนพื้นฐานของรุ่น Sumo ตัวเรือนมีขนาด 44 มิลลิเมตรและมีการรมดำทั้งตัวเรือนและสาย ส่วนกลไกที่ติดตั้งเป็น 6R15 เหมือนเคย
Zimbe 5th : SPB057J
จำนวนผลิต : 456 เรือน
ถูกสร้างขึ้นจากนาฬิกาดำน้ำตัวเรือนไทเทเนียมที่นักเล่นชาวไทยเรียกกันในชื่อ โชกุน โดย 5th Zimbe ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากคอนเซ็ปต์ที่เกิดขึ้นกับรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นการนำสีสันที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงมาใช้ เพียงแต่คราวนี้มีการตัดสีม่วงทิ้งไป และใช้สีน้ำเงินและดำเป็น 2 สีหลัก ซึ่งต้องยอมรับว่า Seiko ทำได้ดีมาก โดยเฉพาะตัวหน้าปัดที่มีการไล่เฉดสีอย่างสวยงามและรู้สึกวิ้งๆ เวลาที่เล่นกับแสงไฟ โดยบนหน้าปัดจะมีการไล่สีจากน้ำเงินด้านบนที่ค่อยๆเข้มขึ้น เมื่อดำดิ่งลงสู่ด้านล่าง จนกลายเป็นเฉดสีแห่งธรรมชาติ ที่เข้ากันอย่างลงตัว
ตัวเรือนและสายเป็นไทเทเนียม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 43 มิลลิเมตรส่วนกระจกเป็น Sapphire แต่แถมเลนส์นูนขยายวันที่มาให้ด้วย ภายในบรรจุกลไกจักรกลอัตโนมัติคาลิเบอร์ 6R15 เก็บสำรองพลังงานได้ยาวนานถึง 50 ชั่วโมง และเลือกขึ้นลานผ่านเม็ดมะยม แฮ็คเข็มวินาทีเทียบตั้งเวลาได้ละเอียด เส้นผ่านศูนย์กลาง 43.5 มิลลิเมตร เสริมประสิทธิภาพกันน้ำลึกได้ถึง 200 เมตร นี่คือจุดหลักๆ ของสเป็กที่แทบจะไม่ได้เปลี่ยนอะไร ยกเว้นเลนส์นูนบนกระจก และฝาหลังที่สลักจำนวนการผลิต 456 เรือน ส่วนสายยาง ในรุ่นธรรมดาก็มีแถมมาให้อยู่แล้ว ถือว่าแทบจะไม่มีอะไรต่างจาก Shogun รุ่นปกติ โดยมีราคาป้ายอยู่ที่ 55,000 บาท
Zimbe 6th : SRPC43K1
จำนวนผลิต : 1,500 เรือน
เป็นครั้งแรกสำหรับคอลเล็กชั่น Samurai ที่ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่นี้ มากับตัวเรือน 43.8 มิลลิเมตร พร้อมกลไก 4R35 รวมทั้งแพ็คเกจสุดอลังการ และมีการแถมสายยางมาให้ในชุดด้วย โดยในรุ่นนี้เป็นการนำโทนสีดำทองของรุ่น SRPB55 ซึ่งในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีขายอย่างเป็นทางการมาสลับสับเปลี่ยนกับ Samurai รุ่นธรรมดา และเปลี่ยนกระจกเป็นแบบ Sapphire พร้อมกับมีเลนส์ Cyclop ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกาบนช่อง Date ส่วนราคาขายอยู่ในระดับ 22,900 บาท และผลิตออกมา 1,500 เรือน
Zimbe 7th : SLA027
จำนวนผลิต : 428 เรือน
การกลับมาอีกครั้งของ MM300 หรือ MarineMaster ในคอลเล็กชั่นนี้ และไม่ได้แค่เรื่องของการเปลี่ยนสีหน้าปัดหรือขอบ Bezel เท่านั้น แต่รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในตัวนาฬิกาเองด้วย โดยพื้นฐานยังเป็น MM300 แต่เพิ่ม gimmick ให้โดดเด่นด้วยสีแดงแห่งปะการังอันอุดมสมบูรณ์ ใน Index ตำแหน่ง 6 , 9 และ 12 นาฬิการวมถึง กรอบหน้าต่างวันที่ ณ ตำแหน่งที่ 3 นาฬิกา รวมถึงชุดเข็มที่เป็นแบบใหม่ด้วย โดยมาพร้อมสายซิลิโคนคุณภาพสูง (Silicone Band) และกล่องไม้พิเศษเฉพาะรุ่น ส่วนราคาป้ายอยู่ที่ 96,900 บาท
Zimbe 8th : SPRC96K
จำนวนผลิต : 1,234 เรือน
เป็นครั้งแรกที่นาฬิกาในตระกูล Baby Tuna เข้ามาเกี่ยวข้องกับคอลเล็กชั่น Zimbe และมีการปรับปรุงในหลายจุดเพื่อให้เกิดความสวยและลงตัว โดยเฉพาะการใช้เกราะ หรือ Shroud สีทองซึ่งเป็น Outer case ผลิตจาก Stainless Steel Rose Gold IP Coating ตัดกับหน้าปัดสีน้ำเงินแบบซันเรย์อย่างลงตัว โดยที่มีกระจก Sapphire พร้อม Cyclop เลนส์นูนมาให้จากโรงงานพร้อมกลไกอัตโนมัติ Cal.4R36 ขึ้นลานอัตโนมัติหรือเลือกขึ้นลานผ่านเม็ดมะยม สำรองลานได้นานสูงสุดถึง 41 ชั่วโมง โดยในเซ็ตมีการแถมสายยางพร้อมกับตัวรัดสายและบัคเคิลสีทองแบบเดียวกับเกราะ สำหรับราคาตั้งเอาไว้ที่ 24,900 บาท
Zimbe 9th : SRPD13K
จำนวนผลิต : 1,300 เรือน
ถือเป็นการนำรุ่น Samurai กลับมาผลิตซ้ำในคอลเล็กชั่นนี้อีกครั้ง และนั่นทำให้เป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก MM300 ที่ถูกผลิตเป็นเวอร์ชัน Zimbe ถึง 2 รุ่นด้วยกันคือ 6 และ 9 แต่สิ่งที่พิเศษคือ Seiko มีการปรับปรุงรายละเอียดที่อยู่ภายในของตัวนาฬิกาใหม่หมด ทั้งหน้าปัดที่เปลี่ยนเป็นสีเทาแบบซันเรย์ และชุดเข็มที่มีดีไซน์คล้ายกับ Sumo 50th Anniversary แต่กระจกไม่ได้เปลี่ยนเป็น Sapphire เหมือนกับรุ่นที่ 6 ส่วนกลไกก็ยังใช้รหัส 4R35 เหมือนอย่างเคย โดยมีราคาอยู่ที่ 22,900 บาท และมีการแถมสายยางในเซ็ตด้วย
Zimbe 10th : SRPD17K และ SRPD19K
จำนวนผลิต : 999 เรือน
ท้องทะเลจะสวยงามได้นั้นจะต้องเปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง และในคอลเลคชั่น Zimbe ฉลามวาฬลำดับที่ 10 นั้น ทาง Seiko ได้นำแรงเอาบันดาลใจในการออกแบบหน้าปัดที่มีลายแพทเทิร์นอันสวยงามนี้มาจากลวดลายของกระดองเต่าทะเลซึ่งเต่าทะเลนั้นก็เปรียบดั่งอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลเช่นกัน
หากสังเกตบนพื้นหน้าปัดนั้นจะพบกับแพทเทิร์นลวดลายสวยงามที่เป็นลายหกเหลี่ยมกระจายแผ่ออกจากตรงกลาง โดยในประเทศไทยนั้นมีเต่าด้วยกันอยู่หลากหลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยในเมืองไทยคือเต่าตนุ หรืออีกชื่อที่สากลเรียกกันคือเต่าเขียว ซึ่งกระดองนั้นจะมีสีเขียวและสีดำปะปนกันอยู่ ในปัจจุบันนั้นก็จำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ ลำดับที่สองก็คือเต่า “กระ” หรือที่สากลเรียกกันว่าเต่าปากเหยี่ยว เป็นเต่าที่มีกระดองเป็นสีดำตัดกับสีเหลือง ปากของเต่าชนิดนี้นั้นจะคล้ายปากของเหยี่ยว ซึ่งในปัจจุบันพบเจอได้น้อยกว่าเต่าตนุหลายเท่าเลยทีเดียว
สิ่งที่ ไซโก ประเทศไทย ต้องการจะสื่อผ่านไปในนาฬิการุ่นพิเศษในรุ่น Zimbe No.10 ทั้งสองสีนี้ ก็คือการช่วยกันรักษาความสวยงาม สมบูรณ์ของท้องทะเลไทย ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทิ้งขยะรวมถึงลดการใช้พลาสติกเพื่อลดอัตราการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลรวมถึงสัตว์ทะเลที่นับวันยิ่งสูยหายและลดจำนวนลงทั้งจากสภาพแวดล้อมและการกระทำของมนุษย์
และนี่เองจึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจสู่นาฬิกา Seiko Prospex Zimbe Limited Edition ลำดับที่ 10 โดยมี 2 สีให้ลือก รุ่น SRPD17K หน้าปัดจะเป็นสีเขียวพิมพ์ลายแพทเทิร์นแบบพิเศษ สเกลสำหรับดำน้ำจะเป็นสีเขียวตัดกับสีดำ และรุ่น SRPD19K เป็นสีเหลืองพิมพ์ลายแพทเทิร์นแบบพิเศษ สเกลสำหรับดำน้ำจะเป็นสีเหลืองตัดกับสีดำ ทั้งสองรุ่นนำเสนอบนตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 42.3 มิลลิเมตร หนา 13 มิลลิเมตร ปกป้องหน้าปัดด้วยกระจก Hardlex พร้อมเลนส์ขยาย ขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ทิศทางเดียวพร้อมสเกลสำหรับดำน้ำ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องระบบอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 4R35 มีฟังก์ชั่นบอกวันที่บริเวณ 3 นาฬิกา สำรองพลังงานได้นานสูงสุด 41 ชั่วโมง มีอัตราความแม่นยำที่ +45 ถึง +35 วินาทีต่อวัน ดำน้ำได้ลึกสูงสุด 200 เมตร สวมใส่ด้วยสายซิลิโคนพร้อมเข็มขัดสเตนเลสสตีล
ทั้งสองรุ่นจะผลิตออกมาจำนวนจำกัดเพียงรุ่นละ 999 เรือน ในประเทศไทยเท่านั้น ทุกเรือนจะประทับหมายเลขประจำตัวเรือนเอาไว้ที่ฝาหลัง บรรจุเอาไว้ในกล่องพิเศษเฉพาะรุ่น โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกา คอลเลคชั่น Zimbe นั้น จะยังคงนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ทะเลไทย อย่างต่อเนื่องทุกปี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/