นานๆ จะได้เห็น Seiko ทำอะไรที่แปลกใหม่สักที แล้ว Seiko Prospex Street Series ดูเหมือนว่าจะได้ใจใครหลายคนกับการนำนาฬิกาดำน้ำ Tuna Solar มาดัดแปลงหน้าตาและสีสันเพื่อเปิดตลาดกลุ่มใหม่
Seiko Prospex Street Series ฉีกแนวคิดเพื่อตลาดกลุ่มใหม่
- Street Series มีขาย 3 รุ่น NE537 สีเทา SNE535 สีเขียว และ SNE533 สีน้ำเงิน
- กลไกกินแสงแบบ 3 เข็ม V157 ใช้งานง่าย
- ราคาป้าย 14,900 บาท
Seiko กับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ? … ผมว่ามันเป็นงานที่หินเอาเรื่องเลยนะสำหรับโจทย์ข้อนี้ เรียกว่าถ้าไม่ทำอะไรขึ้นมาใหม่แบบแกะกล่องเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โอกาสแจ้งเกิดคงยากหน่อย เพราะที่ผ่านมาและของที่ Seiko มีอยู่ในตลาด มองยังไง กลุ่มลูกค้าของพวกเขาก็ยังไม่ใช่คนเหล่านี้ไม่ว่าจะยังนุ่งขาสั้น ขายาวเพื่อไปเรียน หรือเริ่มทำงานแล้วก็ตาม ดังนั้น Street Series ที่ Seiko เพิ่งเปิดตัวออกมา 3 รุ่นอย่าง NE537 สีเทา SNE535 สีเขียว และ SNE533 สีน้ำเงิน ส่วนตัวแล้วผมว่าน่าจับตามองอย่างมากว่า Seiko จะใช้ท่าไหนหรือทำอย่างไรให้เปรี้ยง และที่สำคัญ ตอนแรกนึกว่าจะเจาะตลาดสหรัฐอเมริกเท่านั้น ที่ไหนได้มีเข้ามาขายในเมืองไทยด้วย
จำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่ Seiko ทำอะไรที่มีสีสันให้กับนาฬิกาของตัวเองนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร โอเค…บางคนอาจจะบอกว่าก็เวอร์ชัน Save the sea ไง … นั่นมันก็จริง แต่สุดท้ายกลุ่มลูกค้าของพวกเขาก็ยังหน้าเดิมๆ ไม่ได้มีการแตกกลุ่มเป้าหมายอะไรที่แปลกใหม่ออกมาเลย เหมือนอารมณ์พยายามดึงไม่ให้ลูกค้าตัวเองไปเสียเงินกับนาฬิกาแบรนด์อื่นที่มีสีสันมากกว่า ดังนั้น ตอนที่พวกเขาเปิดตัว Street Series ออกมา แถมอัดโปรโมทอย่างหนักหน่วง และมีความชัดเจนในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ผมเลยเกิดเครื่องหมายคำถามมากมาย
เอาแค่ชื่อรุ่น Street Series สิ่งที่ผมนึกออกคือบรรดาวัยรุ่นที่แต่งตัวแนว Street ซึ่งไลฟ์สไตล์มันคนละเรื่องกับนาฬิกาของ Seiko เลย และถ้าจะให้จับคู่กับแบรนด์นาฬิกาแล้วคำตอบแรกที่ได้น่าจะเป็น Casio G-Shock มากกว่า อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังพยายามทำอะไรให้แตกต่าง และภาพที่สื่อออกมาก็ไม่ได้เน้นไปที่พวกกลุ่ม X-Treme อย่างที่คิด แต่คือ วัยรุ่นที่เริ่มหันมามองนาฬิกาที่แตกต่างจากที่พวกเขาคุ้นเคย
ก็ดีนะครับ ประมาณว่า ขอลองแนวทางนี้ก่อน ถ้าพลาด ก็รีบลุกใหม่ ซึ่งเมื่อก่อน Seiko ก็พยายาม x กับหลายๆ แบรนด์ที่เป็นวัยรุ่นหน่อยๆ อย่างล่าสุดก็คือ Nano Universe แต่ด้วยการที่จำกัดอยู่แค่ในตลาดญี่ปุ่น เราก็ไม่เห็นว่าผลลัพธ์ไปได้ดีขนาดไหน ส่วน Street Series นั้นเป็นของใหม่ล่าสุดที่ถูกหย่อนลงมา และคราวนี้มีเจาะตลาดในหลากหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย
ที่น่าสนใจ คือ ผมพยายามลองหาคอนเทนต์จากเว็บต่างๆ ที่ไม่ใช่พวกคอนาฬิกาแบบฮาร์ดคอร์นั้น ผมว่าการส่งข้อความเพื่อติดต่อกับกลุ่มลูกค้าใหม่ของพวกเขาค่อนข้างชัดเจน เน้นความว่า Street Series เต็มๆ และไม่พูดอะไรมากมายเกี่ยวกับ Heritage ของการเป็นนาฬิกาดำน้ำ รวมถึงทรวดทรงกระป๋องของ Tuna Solar ที่ลอกแบบมาจากรุ่นพี่อย่าง Tuna Can หรือตำนานแห่งนาฬิกาที่เป็นมืออาชีพอย่างคอลเล็กชั่น Prospex เหมือนอย่างที่พวกเขาชอบทำกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ของตัวเอง งานนี้จึงเป็นการปล่อยให้หน้าตาและดีไซน์ที่ถูกอนุมัติออกมาแล้วได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ในการเชิญชวนลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองโลกในแง่ร้ายว่า Street Series เกิดพลาดพลั้งขึ้นมา และแป๊กเหมือนอย่าง Save the sea อย่างน้อยผมว่าพวกเขาก็ยังได้ลูกค้ากลุ่มเดิมๆ นี่แหละที่ช่วยอุดหนุนกันต่อ เพราะอยากได้อะไรที่มีสีสันและแปลกจากที่เป็นอยู่ ซึ่งผมคนหนึ่งละที่ในตอนแรกเล็งๆ เอาไว้ แม้ว่าจะเข็ดกับ Tuna Solar มาแล้วทีหนึ่งเพราะขนาดตัวเรือนเวลาอยู่บนข้อมือที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไร แต่งานนี้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนตัวเรือน และการเล่นสีสันที่แม้ว่าจะไม่ได้ฉูดฉาดแต่ก็ถือว่าแปลกตาและสร้างความเด่นได้เป็นอย่างดี
Street Series นั้นถูกสร้างขึ้นจาก Tuna Solar ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่พวกเขาทำร่วมกับ Lowercase และเปิดตัวออกมาเมื่อสัก 2 ปีที่แล้วได้ โดยถือเป็นคอลเล็กชั่นหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม Sea ของ Prospex ดังนั้นในแง่ของความสามารถนั้นจัดเต็มอยู่แล้ว และเป็นนาฬิกาดำน้ำพันธุ์แท้ที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบของ Seiko
อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาตัวเองเป็นไม้บรรทัดเพื่อวัด สิ่งเดียวที่ผมคาใจและติดค้างคือ ความเหมาะสมของขนาดนาฬิกากับข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผม แม้ว่าตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระบุอยู่ในสเป็กจะมีมากถึง 47 มิลลิเมตร แต่ผมคงต้องบอกว่าอย่าเพิ่งไปเชื่อมัน จนกว่าจะได้ลองทาบของจริง เพราะด้วยความที่เป็นนาฬิกาที่ขาสั้นจนแทบจะไม่เห็นขาเลย ดังนั้นค่า Lug-to-Lug มันก็บวกลบ 47 มิลลิเมตรอยู่ดี ดังนั้น ความรู้สึกที่เต็มอิ่มกับการคาดเจ้านี่อยู่บนข้อมือก็เลยไม่เกิดขึ้น แถมตัวเรือนก็ไม่ได้หนาอะไร แค่ 12.4 มิลลิเมตรเท่านั้น มันก็เลยยิ่งไปกันใหญ่
ในฐานะที่ชอบนาฬิกาใหญ่ๆ มันก็เลยยังไม่เต็มอิ่มเท่าที่ควร และอารมณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยที่ผมสะสม Casio G-Shock Frogman ซึ่งมันทำให้นาฬิการุ่นที่ต่ำกว่านี้ดูเล็กไปโดยปริยาย ในกรณีของ Tuna Solar ก็เช่นเดียวกัน และอารมณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่รุ่นนี้เท่านั้น ยังลามไปถึง Baby Tuna, Tuna 300 ควอตซ์ หรือแม้แต่ Tuna Quartz 1,000m ด้วย เพราะเมื่อคุณคุ้นเคยกับความหนา และใหญ่ของ Emperor Tuna ไปแล้ว ที่เหลือมันจะดูเล็กไปหมดเลย เรียกว่าใส่ยังไงก็ไม่ลงตัวสักที
ในทางกลับกัน สำหรับคนที่มีปัญหากับพวก Tuna Can ประเภทต่างๆ เพราะขนาดตัวที่ใหญ่หรือหนาจนเกินไป นี่แหละคือตัวเลือกที่เหมาะเจาะที่สุด ด้วยขนาดที่ดูเหมือนจะใหญ่เมื่อดูจากสเป็ก แต่พอลองทาบบนข้อมือแล้ว จะถือว่าค่อนข้างลงตัวอย่างมาก
เอาละถ้าตัดเรื่องขนาดที่เกือบจะได้แล้วออกไป ผมมองว่านี่คือ นาฬิกาอีกคอลเล็กชั่นที่ Seiko อัดแน่นความกล้าในการที่จะฉีกสไตล์ของตัวเองออกไป โดย Street Series จะมาด้วยกัน 3 สีคือ NE537 สีเทา SNE535 สีเขียว และ SNE533 สีน้ำเงิน ส่วนตัวแล้วผมชอบสีเทามากที่สุด ด้วยเหตุผลของความง่ายในการ Mix&Match กับการแต่งกายแบบมนุษย์เงินเดือนของผม และเป็นสีกลางๆ ที่ดูแล้วสวยมาก
และแม้ว่าจะได้รับอิทธิพลของ Tuna Solar มาแบบเต็มๆ แต่ Seiko ก็ยังไม่เล่นอะไรง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนนิดนี่หน่อยเหมือนกับที่ผ่านๆ มา แต่กลับสร้างความแตกต่างในแง่ของหน้าตาได้ชนิดที่เปลี่ยนอารมณ์จากการที่ไม่ค่อยชอบ Tuna Solar ให้มาชอบได้ในคอลเล็กชั่น Street Series
Seiko ปรับหลายจุดบนนาฬิกาเรือนนี้ทั้ง Bezel แบบสตีลให้สีตามหน้าปัด โดยมีการเซาะร่องให้ลึกลงไปในช่วงขอบสเกลของตัวเลข 0-15 ซึ่งดูแล้วชวนนึกถึงนาฬิกาที่มีชื่อเล่นว่า Mohawk ของพวกเขา เช่นเดียวกับตัวเกราะ หรือ Shroud ที่ถูกเปลี่ยนมาใช้วัสดุอย่างอะลูมิเนียมและมีการทำให้เกิด Texture หยาบๆ บนพื้นผิว
และอีกสิ่งที่ถือว่าทำได้ดี คือ การใช้ชุดเข็มทรงหัวลูกศรใหญ่เหมือนกับนาฬิกาหลายรุ่นที่อยู่ในกลุ่ม Prospex Sea เช่น SBDC051/053 รวมถึงพวก Tuna Can รุ่นใหม่ๆ ทั้ง 300 และ 1,000 เมตร หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับจุดนี้ แต่สารภาพเลยว่าผมชอบเข็มชุดนี้ของ Seiko อย่างมาก และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมแรงบวกให้กับผมชื่นชอบคอลเล็กชั่น Street Series เช่นเดียวกับสายซิลิโคนที่มาพร้อมกับสีเดียวกับหน้าปัด และมีการเติมลูกเล่นด้วยลวดลายหยาบๆ อยู่บนพื้นสาย ทำให้ดูสปอร์ตขึ้นกว่าสายยางแบบเดิมๆ ของ Seiko และสิ่งเดียวที่ค่อนข้างขัดใจนิดๆ คือ พวกเขาน่าจะให้ตัวรัดสายแบบเหล็กเหมือนกับพวกสายยางรุ่นใหม่ๆ แทนที่จะเป็นแบบยาง ซึ่งผมว่าไม่ค่อยจะทนทานและใส่แล้วดูแปลกๆ ไปหน่อย
ในเรื่องของกลไก ผมว่าไม่มีอะไรซับซ้อนและยุ่งยากในการใช้งานอยู่แล้ว เพราะเป็นควอตซ์ที่อาศัยกระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังแสงอาทิตย์ โดยเป็น Caliber ในรหัส V157 ซึ่งเมื่อกินพลังแสงอาทิตย์และแปรเป็นกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในตัวเก็บประจุจนเต็ม เราจะใช้งานนาฬิกาเรือนนี้ได้นานถึง 10 เดือนโดยที่ไม่ต้องโดนแดดเลยก็ได้ แต่ทางที่ดีเชื่อผมเถอะว่า พยายามเอาออกมารับแดดรับลมบ้างก็ได้ จะได้ไม่ต้องตกใจตอนที่เข็มมันเริ่มกระตุกแบบเดินทีละ 2 วินาทีเพื่อบอกว่ามีกระแสไฟฟ้าเหลือเพียงเล็กน้อย
ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งกับการที่ Seiko พยายามนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากที่เป็นอยู่ สีสันแปลกตา และใช้งานง่ายกับกลไก V157 แบบกินแสง ส่วนเรื่องขนาด อย่างที่บอกตั้งแต่ต้น อย่าไปกลัวกับตัวเลข 47 มิลลิเมตรตามสเป็ก เพราะเอาเข้าจริงๆ ไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด นอกจากข้อมือของคุณจะเล็กมาก เอาเป็นว่าถ้าอยู่ในช่วง 5.5-7 นิ้ว ผมว่ากำลังสวยเลยสำหรับนาฬิการุ่นนี้ ส่วนป้ายราคาอยู่ที่ 14,900 บาท ลองมองหาดีลดีๆ ผมว่าราคาน่าจะเกินหมื่นนิดๆ
***ขอขอบคุณ : ร้าน Excel-Watch : www.excel-watch.com
รายละเอียดทางเทคนิค : Seiko Prospex Street Series
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47 มิลลิเมตร
- หนา : 12.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 48 มิลลิเมตร
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- กระจก : Hardlex
- สาย : ซิลิโคน
- กลไก : V157 ใช้ระบบ Solar
- ประทับใจ : ดีไซน์ ชุดเข็ม หน้าปัด แพ็คเกจ
- ไม่ประทับใจ : ขนาดทั้งเส้นผ่านศูนย์กลางและความหนา ตัวรัดสาย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/