หลังจากที่เฝ้ารอมานานพร้อมกับความหวังอันเลือนลางเพราะไม่มีขายในไทยอย่างเป็นทางการ ในที่สุดผมก็ได้เจ้า Seiko Samurai ใหม่หน้าส้ม ที่มีรหัส 2 แบบคือ SRPB97 หรือ SRPC07 มาอยู่ในครอบครองจนได้กับราคาในระดับหมื่นกลางๆ ซึ่งแพงกว่ารุ่นปกติในบ้านเราประมาณ 3 พันบาท
Seiko Prospex SRPB97/SRPC07 ส้มนี้ที่เรารอคอย
-ทางเลือกใหม่ของ Seiko Samurai กับสีหน้าปัดใหม่
-มีจำหน่าย 2 เวอร์ชัน SRPB97 ที่แถมสายยาง และ SRPC07 รุ่น Low Cost
-ขับเคลื่อนด้วยกลไก 4R35 แบบ Date สำรองพลังงาน 41 ชั่วโมง
ตอนที่ Seiko ปล่อยข่าวว่าพวกเขาจะผลิตเวอร์ชันหน้าส้มของ Samurai ใหม่ออกขาย และสั่งผ่านทาง Amazon.com เท่านั้น สารภาพเลยว่าโกรธจริงๆ เพราะนี่คือหน้าปัดที่ผมเฝ้าคอยมากที่สุด แต่อย่างว่าละครับ ถ้าเงินถึง อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะหลังจากเปิดตัวไม่นาน บ้านเราก็มี Orange Samurai หลุดเข้ามาทำตลาดอย่างรวดเร็วตามสไตล์พ่อค้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และนั่นจึงถือว่าทำให้ผมได้สมหวังกับเจ้า Seiko Prospex SRPB97 หรือ SRPC07 กันสักที
ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมนาฬิการุ่นนี้ถึงมี 2 รหัสให้เรียกขานทั้งที่เป็นเวอร์ชันที่มีผลิตขายอยู่ในตลาดไม่กี่แห่ง ไม่เหมือนบางรุ่นที่ถ้าเป็น JDM จะรหัสหนึ่ง แต่พอขายในตลาดทั่วโลกก็จะเปลี่ยนเป็นอีกรหัสหนึ่ง…สารภาพเลยว่า ผมก็งงเหมือนกัน และพยายามเสาะหาข้อมูลมาไขปริศนาจนกระทั่งได้คำตอบในที่สุด
ถ้าเป็น SRPB97 จะเป็นเวอร์ชันแพงที่มีขายล็อตแรกผ่านการสั่งทาง Amazom.com โดยในแพ็คจะมีสายยางแถมมาให้ด้วยในชุด ซึ่งชุดนี้จำได้ว่าตอนที่หลุดเข้ามาในบ้านเรานั้นราคามีนำหน้าด้วยเลข 2 ขณะที่บ้านเราในล็อตหลังๆ ที่พ่อค้านำเข้ามาขายนั้นจะเป็นรหัส SRPC07 มีขาทยทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยมากับตัวเรือนสายเหล็กเปล่าๆ ไม่มีสายยางแถม และแพ็คเกจก็บ้านๆ เรียกว่าเป็น Samurai Low Cost ราคาก็เลยขยับลงมาอยู่ที่หมื่นกลางๆ ซึ่งก็ดีครับ เพราะทำให้ผมตัดสินใจได้ง่ายและประหยัดเงินไปได้มาก เพราะการเดินไปเคาน์เตอร์ Seiko และสั่งสายยางเส้นใหม่ ก็แค่ 1,200 กว่าบาทเท่านั้นเอง
นอกจากนั้น ตอนแรกเจ้ารหัส SRPC07 ก็เป็นประเด็นถกกันในโลกออนไลน์ของบรรดาฝรั่งด้วย เพราะภาพของร้านค้าแห่งหนึ่งที่นำมาเปิดเผยในช่วงตอนที่ขายนั้น หน้าปัดของหน้าส้มดันมีลายวัฟเฟิลเหมือนกับ Samurai รุ่นปกติ และนั่นคืออีกประเด็นที่ทำให้มันต่างจาก SRPB97 แต่สุดท้ายเมื่อของจริงมาถึงมันเหมือนกันทุกอย่างต่างกันแค่สายเท่านั้น
ถ้าลองนับดูแล้ว Samurai ใหม่ถือเป็นนาฬิกาอีกรุ่นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปกับผมค่อนข้างเยอะและถี่ รวมตัวนี้ด้วยก็ 4 เวอร์ชันเข้าไปแล้ว และส่วนตัวคิดว่าถ้าให้เลือกเก็บเพียงเรือนเดียว ก็คงเป็นเจ้าหน้าส้ม SPRB97/SRPC07 นี่แหละ เพราะความสวยของหน้าปัด และการเล่นสีที่ตัดกันอย่างลงตัวของสีดำจากรายละเอียดของสเกลบนหน้าปัดและชุดเข็มกับสีส้มของพื้นหน้าปัดอย่างลงตัว ขณะที่บน Insert ของ Bezel ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมและเคลือบฟิล์มนั้น มีการสลับด้านโดยใช้แถบสีส้มยาวเฉพาะในส่วนสำคัญของการจับเวลาในการดำน้ำ นั่นคือ สเกล 0-15 ขณะที่ส่วนที่เหลือจะเป็นสีดำ ถือว่าสวยไม่แพ้กัน เมื่อเปรียบเทียบกับเวอร์ชัน Pepsi หรือ PADI
SRPB97/SRPC07 เข้ามาแทนที่ SBDA005 โดยในแง่รายละเอียดของตัวนาฬิกามีการขยายขนาดตัวเรือนจาก 42 มิลลิเมตรในรุ่นเดิมมาเป็น 43.8 มิลลิเมตรในรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้ตัวนาฬิกาดูใหญ่ขึ้นแม้ว่า Lug-to-Lug ของตัวเรือนจะไม่มากเท่าไร แค่ 45 มิลลิเมตรก็ตาม และแน่นอนว่าผมเดินตามวิธีที่บอกข้างตน คือ ไปมองหาเอาสายยางของ Seiko มาทดแทนสายเหล็ก ซึ่งปกติแล้วผมไม่ค่อยโปรดเท่าไร
และนั่นทำให้นาฬิกาเรือนนี้ดูลงตัวและมีความสปอร์ตมากขึ้น และด้วยข้อดีของสายยาง Seiko ที่ผมค่อนข้างชื่นชมเพราะมีข้อย่นนั้น ทำให้เมื่ออยู่บนข้อมือของผมแล้ว ตัวเลข 48.3 มิลลิเมตรของ Lug-to-Lug จึงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้นาฬิกาดูแล้วไม่เต็มข้อมือผม ซึ่งปกติแล้วจะโปรดกับตัวเลขไม่ต่ำกว่า 50 มิลลิเมตรมากกว่า
สำหรับเรื่องราคาเราคงไม่เอามาคุยกันในแง่ของความคุ้มค่า เพราะสิ่งที่มีต่อนาฬิกาเรือนนี้คือ Passion ล้วนๆ ถ้าไม่แพงมากยังไงก็ได้เจอกัน และหนทางที่จะได้เป็นเจ้าของคือ ต้องสั่งเอาเอง หรือไม่ก็รอใครสักคนหิ้วมาขาย ซึ่งถ้าหลับตาไม่เอาราคาที่โชว์อยู่บน Amazon.com มาเป็นตัวตั้งแล้ว ส่วนต่างที่จ่ายเพิ่มอีกราวๆ 3 พันบาทนิดๆ ผมถือว่าไม่ได้มากมายเท่าไรในแง่ของค่าขนส่ง ค่าดำเนินการ และค่าภาษี ที่มีคนอื่นเป็นธุระจัดการให้ และคิดไปคิดมาแล้ว ราคาก็ต่างจากรุ่นธรรมดาตัวสายเหล็กไม่เท่าไรด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ Samurai คือ การเป็นนาฬิกาดำน้ำที่ออกแบบเม็ดมะยมเป็นลักษณ์แท่งยาวยื่นออกมาจากตัวเรือน ซึ่งทำให้พวกนิ้วใหญ่ๆ อย่างผมสามารถจับและหมุนได้อย่างสะดวกและคล่องมือมากกว่านาฬิกาดำน้ำหลายๆ รุ่นของ Seiko โดยใน Samurai เองจะมี Crown Guard ป้องกันเอาไว้ 2 ด้าน ซึ่งทำให้การออกแบบในด้านรูปลักณ์ภายนอกดูลงตัวมากขึ้น
สำหรับกลไกที่อยู่ใน SRPB97/SRPC07 ก็เหมือนกับ Samurai ใหม่ทุกรุ่นคือ 4R35 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่มีเฉพาะ Date ของนาฬิกาตระกูล 4R รุ่นใหม่ๆ ถือเป็นกลไกที่ถูกใช้กับนาฬิกาของ Seiko ตั้งแต่รุ่นพื้นฐานระดับหลักพันไปจนถึง 20,000 บาท ซึ่งยังเชื่อมั่นได้ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ผมจะมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีกับเพื่อนร่วมสายพันธุ์ของมันอย่างกลไก 4R36 ถึง 2 ครั้งติดต่อกันก็ตามในแง่ของการสำรองพลังงาน ทั้งที่ซื้อของใหม่ป้ายแดง ดังนั้น เมื่อได้มาปุ๊บ ในฐานะที่เป็นของหิ้ว ผมต้องรีบเช็คเรื่องนี้ทันทีเลย และก็สอบผ่าน ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด
หลังจากที่อ่านรีวิวอันนี้เสร็จ ใครที่อยากตามหา เท่าที่ผมเชคดูจากกลุ่มใน facebook ยังพอเห็นผ่านตาว่า มีหลงเหลืออยู่ แต่ถ้าไม่มี งานนี้คงต้องสั่งกันเอาเองจากเว็บซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เพียงแต่ผมเป็นพวกขี้เกียจ และไม่ชอบรออะไรนาน ก็เลยชอบอะไรที่สามารถรับกับมือมากกว่า
และที่สำคัญไม่ต้องโดนเพ่งเล็งโดยคนที่บ้านอีกด้วย
ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex SRPB97/SRPC07
- เส้นผ่าศูนย์กลาง : 43.8 มิลลิเมตร (ไม่รวมเม็ดมะยม)
- ความหนา : 13.5 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 48.3 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- กันน้ำ : 200 เมตร
- กระจก : Hardlex
- กลไก : 4R35B ทับทิม 24 เม็ด หน้าต่าง Date ตรง 4 นาฬิกา
- สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมงตามสเป็ก
- ความถี่ : 21,600 Bph
- สิ่งที่ประทับใจ : สีหน้าปัด รูปทรงของนาฬิกา และการให้สีสัน
- สิ่งทีไม่ประทับใจ : ชุดเข็ม การสำรองพลังงาน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/