Seiko Prospex SRPB09 ‘Blue Lagoon’ ถึงไม่ใช้คำว่า Limited ผมก็ควักเงินซื้อ

0

ช่วงนี้ดูเหมือนว่าดวงเงินหลุดออกจากกระเป๋าของผมจะมาแรงเสียเหลือเกิน ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว จำเป็นจะต้องเอานาฬิกาไปซ่อมเพราะอาการแปลกๆ แต่สุดท้ายพอไปถึงร้านได้คุยกับช่างซ่อม ไปๆ มาๆ ดันมีติดมือกลับบ้านมาอีกเรือน ก่อนที่เช้าวันต่อมาจะตื่นอย่างสดชื่น แต่ต้องสะดุ้งโหยงเพราะข้อความจาก LINE ของคนขายจาประจำกระเด้งขึ้นมาว่า ‘Seiko Blue Lagoon ที่ถามตอนนั้น ของเข้าแล้วนะพี่พร้อมกับบรรยายโปรโมชั่นเสร็จสรรพ

Seiko Prospex SRPB09 ‘Blue Lagoon’ ถึงไม่ใช้คำว่า Limited ผมก็ควักเงินซื้อ
Seiko Prospex SRPB09 ‘Blue Lagoon’ ถึงไม่ใช้คำว่า Limited ผมก็ควักเงินซื้อ

Seiko Prospex SRPB09 ‘Blue Lagoon’ : ถึงไม่ใช้คำว่า Limited ผมก็ควักเงินซื้อ

- Advertisement -

ตอนแรกก็ทำหน้างงๆ ว่าตัวเองไปสั่งเอาตอนไหนหว่า แต่สุดท้ายก็นึกได้เพราะได้ไปเห็นข่าวที่ Seiko กำลังจะเปิดตัวเวอร์ชัน Blue Lagoon ออกมา และสายตาของผมไปสะดุดเอาการกลับมาของเจ้านาฬิกาที่มีชื่อเรียกว่า Samurai ก็เลยถามน้องคนขายว่ามาเมื่อไรบอกด้วยนะ…แต่นั่นมันตั้ง 5 เดือนที่แล้วนะ

แต่เอาเถอะในเมื่อจะต้องนั่งดูนาฬิกาคลุกกับข้าวเปล่า ก็ต้องไปให้สุด ว่าแล้วเย็นวันนั้นก็จัดการบึ่งไปที่เคาน์เตอร์ในห้างคู่ใจเพื่อไปดูตัวเป็นๆ ของเจ้า Samurai Blue Lagoon สักหน่อย แน่นอนว่าก่อนที่จะไป ผมลองเช็คกระแสเอาใน FB กลุ่มที่เล่นประจำ ก็มีการถ่ายภาพให้ดูกันประปราย แต่ประเภทขึ้นข้อแล้วถ่ายยังไม่มีให้เห็น ซึ่งตอนที่ดูภาพเหล่านี้เรียกว่าสามารถบิลด์อารมณ์ผมได้ไปเรื่อยๆ และสุดท้ายก็ติดมือกลับมาบ้านแบบสมใจอยาก

ในคอลเล็กชั่น Blue Lagoon  ผมเชื่อเลยว่า คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้สนใจอีกรุ่นซึ่งก็คือเจ้าเต่าที่มีรหัส SRPB11 แม้ว่าราคาจะต่างกันนิดเดียว แต่มีสายยางแถมมาให้ด้วยก็ตาม และในยุคที่ Limited Edition ของ Seiko ไม่ได้ขลังเหมือนกับเมื่อก่อน ก็เชื่อว่าการมีคำว่า Limited Edition ติดมาด้วย มันก็ไม่ได้บิลด์อารมณ์คนซื้อได้มากเท่ากับการกลับมาของเจ้า Samurai ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งคอลเล็กชั่นนาฬิกาดำน้ำที่มีแฟนประจำอยู่กลุ่มหนึ่ง

คนขายบอกว่านี่คือการกลับมาของ Samurai ในรอบ 10 กว่าปีเลยทีเดียว ซึ่งก็น่าจะจริงเหมือนกัน เพราะคอลเล็กชั่นนี้ผมเห็นตั้งแต่ยังไม่ได้สนใจ Seiko อย่างจริงจังราวๆ กลางทศวรรษที่ 2000  และกลไกที่ประจำการอยู่ก็ยังเป็นตระกูล 7S ซึ่งพอเช็คข้อมูลหลายรายก็พบว่า Samurai เป็นคอลเล็กชั่นที่ทำตลาดช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2004-2008

ตอนแรกที่เห็นการกลับมาของ Samurai ผมคิดว่าอาจจะเป็นการนำโมลด์เคสเก่ากลับมาเปลี่ยนหน้าและทำใหม่ แต่พอเช็คเข้าจริงๆ มันคือการ Re-Issue ทั้งเรือน เพราะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวเรือนก็ขยับมาเป็น 43.8 มิลลิเมตร (ซึ่งก็คือ 44 มิลลิเมตรนั่นแหละ) จากเดิม 42 มิลลิเมตร ซึ่งตอนแรกที่ได้เห็นตัวเลขก็ทำใจนิดๆ ว่า เล็กแหงๆ กับข้อมือแบนๆ 7 นิ้วของผม เพราะเต่ากับตัวเลข 44 มิลลิเมตรผมยังว่าเล็กเลย แต่พอลองทาบเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ประเด็นคือ มันเป็นนาฬิกาที่มีขายาว และ Lug-to-Lug อยู่ที่ประมาณ 48.3 มิลลิเมตร ก็เลยช่วยได้เยอะเลย

หน้าปัดสีฟ้า เวลาอยู่กลางแจ้งเล่นกับแสงอาจจะทำให้พวกที่ตกเป็นทาสเวลาอย่างผมหลงเอาได้ง่ายๆ ทั้งที่เมื่อก่อนผมจะไม่ค่อยชอบหน้าปัดแบบนี้เลย โดยที่มีมาร์คเหลืองแซมในตำแหน่งที่ 12-3-6-9 และที่ปลายเข็มวินาทีถือว่าค่อนข้างลงตัวกับการใช้โทนสีที่ตัดกันอย่างโดดเด่น หลักชั่วโมงก็มีการเปลี่ยนให้แตกต่างจากเดิม แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไร เห็นจะเป็นการนำชุดเข็มยกจาก Baby Tuna ที่กำลังขายอยู่มาใช้ทั้งชุด ซึ่งพอจะบมาลงในบอดี้ของ Samurai แล้ว กลับดูแปลกๆ และทำให้ผมคิดถึงเข็มชุดเก่าขึ้นมาทันที

ผมว่านาฬิกาของ Seiko แต่ละคอลเล็กชั่นมักจะมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ประจำรุ่น ซึ่งเข็มก็ถือเป็นจุดหนึ่ง และว่ากันว่าด้วยรูปทรงของมันที่ดูคล้ายดาบซามูไร ก็เลยทำให้ถูกตั้งชื่อว่า Samurai (อันนี้ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน) นอกจากนั้นส่วนอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งถ้าให้ผมคิดถึงก็คงจะมีอยู่อีก 2  จุดด้วยกันคือ ลวดลายเม็ดมะยมที่ทรงค่อนข้างแปลกตา คล้ายกับพวก Jungle Master และอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ขณะที่นาฬิกาดำน้ำของ Seiko ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4 นาฬิกา และอีกอย่างคือขาตัวเรือนที่มีลักษณะหักและงุ้มลงมา ซึ่งช่วยทำให้รับกับข้อมือได้เป็นอย่างดี

อีกประเด็นที่ผมค่อนข้างชอบ Samurai คือ การมีแค่ Date ไม่มี Day มากวนใจ เพราะตามปกติแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ชอบตั้งวันที่ และมักจะค่อนข้างหงุดหงิดนิดหน่อยกับพวกนาฬิกา Day/Date ที่มันชวนให้วุ่นวายใจในการที่จะต้องมานั่งปรับ ดังนั้นถ้าเป็นแบบ No Date  จะถูกใจผมที่สุด แต่ถ้าหาไม่ได้ แค่ Date ย่างเดียวก็โอเคแล้ว และนั่นส่งผลต่อการเลือกกลไกเข้ามาประจำการ ซึ่งก็เป็น 4R35 ซึ่งเป็นแบบ Date ไม่ใช่ 4R36 ที่มีทั้ง Day/Date เหมือนกับเต่า

อย่าถามผมนะว่ามันเที่ยงตรงหรือมีความคลาดเคลื่อนมากน้อยขนาดไหน เอาเป็นว่าประเด็นนี้สำหรับผมไม่ใช่จุดหลักในการตัดสินใจซื้อนาฬิกาสักเรือนมากเท่ากับหน้าตา และความรู้สึก จะเดินช้าเดินเร็วสักหน่อย ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ผมรับได้ ผมมักจะปล่อยผ่านมันไป แต่สัญญาว่าถ้ามีเวลาจะเอาลองเทียบกับนาฬิกาพวก Chronometer  ที่อยู่ในกรุให้ในวันหลังก็แล้วกันครับ

การใช้กลไก 4R35 ก็ย่อมหมายความว่า นาฬิกาเรือนนี้สามารถสำรองพลังงานได้ 41 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับผมถือว่าน้อยไปนิด (แต่ทำไงได้เพราะนี่คือเครื่อง Base สำหรับนาฬิการาคาไม่หลักพันถึงหลักหมื่นต้นๆ ของ Seiko) เพราะถ้าคุณงานเสร็จวันศุกร์ถอดวางเอาไว้แล้ว มันจะไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านวันหยุด 2 วันเสาร์-อาทิตย์ได้เลย นอกจากจะหยิบมาสวมวันใดวันหนึ่งเพื่อเติมพลังลงในกระปุกลานเพิ่มเข้าไป ส่วนอีก 2 สิ่งที่ต่างจากรุ่นเดิม คือ ในรุ่นใหม่สามารถ Hack เข็มวินาทีได้ ซึ่ง Samurai รุ่นเก่าทำไม่ได้ เช่นเดียวกับการขึ้นลานด้วยมือ

ในแง่ของสายเหล็กที่ให้มาด้วย ถือว่าค่อยสมฐานะกับค่าตัว 19,000 บาทหน่อย เพราะหลังจากที่เคยบ่นเจ้า SRPA73K1 เพราะความก๋องแก๋งของสาย แต่กับ Samurai รู้สึกได้ถึงความแน่นหนา และน้ำหนักที่รับรู้ได้เวลาอยู่บนมือ

ส่วนเรื่องที่ไม่ชอบใจเท่าไรคือ การบอกว่าเป็น Limited Edition แต่ไม่รันตัวเลข ซึ่ง 6,000 เรือนของแต่ละรุ่นคือการผลิตออกมาขายในคอลเล็กชั่นนี้ และบ้านเราได้โควตามาประมาณ 700 เรือน แต่ที่ผมขัดใจคือ ถ้าคิดจะใช้คำว่า LE แปะอยู่ข้างในฝากล่อง และสลัดกอยู่บนฝาหลังแบบทึบ มันน่าจะมีการรันตัวเลขซะหน่อย ถ้าไม่คิดที่จะทำเช่นนี้ก็ใช้คำว่า SE หรือ Special Edition เหมือนพวก PADI ไปซะเถอะ…ไม่ใช่ว่าบ้าตัวเลขนะ แต่มันแค่ดูแล้วผิดหลักการไปนิดนึงเท่านั้นเอง

19,000 บาทคือราคาตามป้าย ซึ่งตอนที่เปิดตัวใหม่ๆ ในไทยมีโปรโมชั่นร่วม 20% และถ้าคุณมีคะแนนบัตรด้วยแล้ว ค่าตัวอาจจะดรอปลงมาถึงระดับ 13,000 บาทต้นๆ ซึ่งถือว่าคุ้มค่าพอสมควรกับการรีเทิร์นของ Samurai ส่วนเรื่องของการเป็น Limited Edition ผมว่าลืมๆ มันไปเถอะไม่ได้เป็นประเด็นที่น่าสนใจอะไรเลย

คุณสมบัติของ : Seiko Prospex SRPB09 ‘Blue Lagoon’

  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 43.8 มิลลิเมตร (ไม่รวมเม็ดมะยม)
  • ความหนา : 13.5  มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 48.3 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กันน้ำ : 200 เมตร
  • กระจก : Hardlex
  • กลไก : 4R35B ทับทิม 24 เม็ด หน้าต่าง Date ตรง 4 นาฬิกา
  • สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมงตามสเป็ก
  • ความถี่ : 21,600 Bph
  • จุดเด่น : การกลับมาชอง Samurai หน้าปัดให้สีที่สวย ขอบ Bezel มีเอกลักษณ์
  • จุดด้อย :  ชุดเข็มที่ไม่ลงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเก่า ลิมิเต็ด เอดิชั่นแต่ดันไม่มีเลขกำกับ การสำรองพลังงานของกลไกที่ต่ำไปหน่อย

Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/