1 ใน 3 เรือนของนาฬิกาจากคอลเล็กชั่น 140th Anniversary ของก่อตั้งบริษัท Seiko นั้น รุ่น SPB207J ถือเป็นรุ่นที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของรูปลักษณ์ สเปก และราคาที่เข้าถึงได้
Seiko Prospex SPB207J ฉลอง 140 ปีกับความงามบนข้อมือ
-
1 ใน 3 นาฬิกาที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นคอลเล็กชั่นฉลอง 140 ปีของการก่อตั้ง Seiko
-
ตัวเรือนขนาดกำลังดีด้วยตัวเลข 42 มิลลิเมตร พร้อมกลไก 6R35
-
การผลิตมีอยู่ 6,000 เรือน และราคาป้ายตั้งเอาไว้ที่ 49,800 บาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคอลเล็กชั่นฉลอง 140 ปีของการก่อตั้งบริษัท ไซโก ที่นำร่องด้วย 3 รุ่นหลักคือ Prospex Presage Edge และ Astron นั้น สิ่งที่ถูกจริตของบรรดาแฟนๆ คนไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น 3 เรือนที่อยู่ในกลุ่มของ Prospex Sea หรือ Diver ครั้นจะรีวิวทั้งหมดอาจจะงานช้างไปสักนิด สุดท้ายเราก็เลือกหยิบเอารุ่น SPB207J ออกมาทำรีวิวในครั้งนี้
เหตุผลมีอยู่ไม่กี่ข้อ อย่างแรกคือ นี่คือนาฬิกาที่ Ana-digi.com ยังไม่เคยเขียนรีวิวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย ข้อที่ 2 นาฬิการุ่นนี้ได้รับความสนใจจากบรรดาแฟนๆ ค่อนข้างเยอะ ด้วยเหตุที่เหมือนกับถอดแบบมาจาก MM300 มากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ที่ได้รับฉายาว่า MM200 และที่สำคัญคือ เป็นนาฬิกาที่อยู่ในช่วงราคาซึ่งแฟนๆ Seiko สามารถตัดสินใจได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องหยิบยกเหตุผลมาประกอบการตัดสินใจมากนัก แค่เอาความชอบเป็นตัวนำ หน้าตาถูกใจ ก็สามารถปิดดีลได้เลย
คำว่า MM200 ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อสัก 3 ปีที่แล้ว เมื่อ ไซโก จัดการผลิตรุ่น Re-Issue ของนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกที่ใช้ตัวเรือน Monocase พร้อมกลไก Hi-Beat ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 1968 ออกมา และเช่นเคยพวกเขาจะต้องมีรุ่นประหยัด หรือที่เรียกว่า Re-Interpretation ออกมาด้วย ซึ่งนั่นก็คือ SPB077 และ SPB079
ด้วยความที่เป็นนาฬิกาที่เกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดของ MM300 ในเวลาต่อมา และการที่มีความสามารถในการดำน้ำอยู่ที่ 200 เมตร นาฬิการุ่นนี้ก็เลยถูกเรียกว่า MM200 มาโดยตลอด จนกระทั่งการมาถึงของ SPB185 และ SPB187 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยรูปทรงและเส้นสายที่แทบจะถอดแบบมาจาก MM300 ทำให้นาฬิการุ่นนี้สามารถใช้คำว่า MM200 ได้อย่างเต็มปากมากกว่า…อันนี้ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ
นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวรุ่นธรรมดาออกมาเพียง 2 รุ่นเท่านั้น และจากนั้นก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่น 140th Anniversary ของ ไซโก ในครั้งนี้ โดยจำหน่ายกับชื่อรุ่น SPB207J คู่กับเพื่อนร่วมทีมอีก 2 เรือน คือ SLA047 และ SSC807J นาฬิกาเรือนนี้จะมีการผลิตออกขายอยู่ที่ 6,000 เรือน ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในบรรดานาฬิกาทั้ง 3 เรือน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการถูกคาดการณ์ว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟน ไซโก ทั่วโลก แต่น่าเสียดายที่ในคอลเล็กชั่นนี้ ทาง ไซโก ไม่ได้สลักเลขที่ผลิตและจำนวนเรือนที่ถูกผลิตออกมาลงบนฝาหลังของนาฬิกา
เหตุผลคงหนีไม่พ้นประมาณ 2-3 หัวข้อ คือ อย่างแรก…ราคาที่อยู่ในช่วงซึ่งจับต้องได้ ซึ่งราคาป้ายอยู่ที่ 49,800 บาทแถมมีสายยางที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษเข้ามาอยู่ในเซ็ตด้วย ตามด้วย…ขนาดที่กำลังดีกับทุกข้อมือ ซึ่งต้องยอมรับเลยว่ากับตัวเลข 42 มิลลิเมตรสำหรับเส้นผ่านศูนย์กลาง และ 48.8 มิลลิเมตรสำหรับ Lug to Lug ถือเป็นนาฬิกาที่รองรับข้อมือในช่วง 6-7 นิ้วได้อย่างลงตัว และสเป็กที่ถือว่าลงตัวทั้งกระจกแบบ Sapphire รวมถึงกลไก 6R35 ที่ขยายขนาดของกระปุกลานให้สามารถสำรองพลังงานได้ถึง 70 ชั่วโมง
สุดท้ายที่ผมคิดว่ามีส่วนไม่น้อยคือ ดีไซน์ที่ถูกทำให้ดูเป็น Baby MM300 มากกว่ารุ่นก่อนหน้านั้นอย่างชัดเจน ความหมายก็คือทั้งรูปทรงตัวเรือน เส้นสายด้านข้าง ตำแหน่งการวางของเม็ดมะยม และรูปทรงของเข็มทั้ง 3 ส่วน ต่างสะท้อนออกมาถึงการย่อส่วนของ MM300 มาอยู่ในนาฬิกาเรือนนี้ เหลือเพียงแค่ไม่กี่อย่าง เช่น กลไก 8L35 และชุดตัวเรือนแบบ Monocase เท่านั้นเอง ซึ่งในกรณีของ SPB207J ใช้ตัวเรือนแบบมีฝาหลัง และมีกลไกอัตโนมัติ 6R35 ประจำการอยู่ข้างใน
ประเด็นที่อาจจะทำให้ SPB207J ถูกมองว่าไม่คุ้มค่าในบางมุมนั้น ผมว่ามีอยู่แค่ประเด็นเดียว นั่นคือ การที่ ไซโก ใช้อะไรต่อมิอะไรร่วมกัน และบางคนมักนำสเป็กของ SPB207J ไปเปรียบเทียบกับนาฬิกาในตระกูล 6R35 รุ่นอื่นๆ
อย่างที่ทราบกันดีว่านาฬิกาในกลุ่มนี้มีช่วงราคาป้ายตั้งแค่ 30,000 บาทไล่ไปจนถึง 50,000 บาท และด้วยสเป็กที่เหมือนกันโดยเฉพาะจุดหลัก คือ วัสดุตัวเรือน (ยกเว้นรุ่น Shogun) กลไก 6R35 และกระจกที่เป็น Sapphire นั้น การจ่ายเพิ่มหรือลดลงจึงเป็นการจ่ายเพื่อความต่างในแค่ดีไซน์เท่านั้นเอง เพราะไม่ว่าจะอยู่ในช่วงราคาไหนของนาฬิกากลุ่มนี้ 3 จุดหลักที่เขียนถึงข้างต้นนั้นจะเหมือนกันหมด
แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกไป กับค่าตัวในระดับเฉียด 50,000 บาทของ SPB207J ถือว่า เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังมองหานาฬิกาดำน้ำที่มีดีไซน์สวย สเป็กพอได้ มีเรื่องราว และประสิทธิภาพในการใช้งานที่เกิดมาเพื่อการใช้งานใต้น้ำ เพียงแต่งานอาจจะหนักสักนิด เพราะทางเลือกในตลาดระดับนี้ดันมีพวก Entry-Level Swiss Made Diving Watch อย่าง Longines HydroConquest หรือ Oris Aquis ที่มีราคาป้ายใกล้เคียงกันขวางทางอยู่
กลับมาที่ตัวนาฬิกาของ SPB207J นาฬิกาเรือนนี้ได้รับการสร้างสรรค์ตามคอนเซ็ปต์ที่ Seiko วางเอาไว้ โดยที่มาของการใช้หน้าปัดสีเขียวผสมผสานกับสีดำของขอบตัวเรือนนั้น มีคอนเซ็ปต์ตั้งต้นมาจากธรรมชาติ เหมือนกับนาฬิกาลิมิเต็ด เอดิชั่นบางรุ่นของ Seiko และสำหรับเซ็ตนี้คือ ความเขียวชะอุ่มและความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบที่อยู่บนเกาะอิริโอโมเตะ ในจังหวัดโอกินาวา ของประเทศญี่ปุ่น
ที่นี่เป็นแหล่งความงามใต้ท้องทะเลที่ดึงดูดนักดำน้ำจากชาวญี่ปุ่นและจากที่อื่นๆทั่วโลก ให้เข้ามาสัมผัสแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล แต่เสน่ห์ที่ถือว่ามีความพิเศษของเกาะแห่งนี้อยู่ที่ ป่าชายเลนดึกดำบรรพ์และป่าชายเลนที่มีความบริสุทธิ์ที่อยู่ล้อมรอบเกาะ
นอกจากนั้น อิริโอโมเตะยังเป็นแหล่งกำเนิดของพืชพรรณและสัตว์หลายชนิดที่หายาก และบางสายพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบได้เฉพาะในเกาะแห่งนี้เท่านั้น ด้วยองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างแนวปะการัง ป่าดงดิบ ป่าชายเลน ชายหาด แม่น้ำและน้ำตก ทำให้อิริโอโมเตะเป็นเกาะที่มีความสวยงาม มีความหลากหลายทางธรรมชาติ พร้อมความสมบูรณ์อันเขียวชอุ่ม
นั่นคือคอนเซ็ปต์ของนาฬิกาชุดนี้ซึ่งถูกสะท้อนผ่านทางหน้าปัดสีเขียวเข้มของนาฬิการุ่นใหม่นี้ โดยทั้งหมดถูกถ่ายลงบนหน้าปัดสีเขียวเข้ม และการเลือกใช้ Insert บนขอบตัวรือนที่เป็นสีดำ
ถ้าถามว่ารุ่นไหนน่าสนใจบ้าง คำตอบของผมคือ ทั้งหมดนั่นแหละ เพราะต้องบอกว่าด้วยสีเขียวที่แตกต่างจากโทนที่ผ่านมานั้น สีเขียวเข้มของป่าอิริโอโตเมะนั่นเข้ากับบุคลิกของตัวนาฬิกาได้เป็นอย่างดี และแม้จะไม่ใช่เขียวสด แต่ก็ถือว่าให้ความโดดเด่นและสวยสะดุดตาโดยเฉพาะเมื่อเล่นกับแสงตามธรรมชาติ อีกทั้งการนำสีเหลืองเข้ามาใช้ในการออกแบบตามจุดต่างๆ เช่น เข็มวินาที และตัวหนังสือบนหน้าปัดนั้น ถือเป็นสีที่ตัดกันอย่างลงตัว และช่วยทำให้ตัวนาฬิกามีความเด่นขึ้นมาอย่างมาก
เอาเป็นว่าถ้างบฯ ถึง ผมเชียร์ให้ครบ เพราะถ้าคุณจะเก็บมันก็ต้องลุยให้จบ เรียกว่าเจ็บแต่จบ แต่ถ้างบไม่เยอะอยากได้ของดีในราคาที่เข้าถึงได้ ก็ต้อง SLA047 เรียกว่านี่คือท็อปออฟเดอะไลน์ของพรอสเป็กซ์ในกลุ่มดำน้ำเลย งานดี กลไกเยี่ยม และที่สำคัญคือมีสตอรี่ที่เป็นทายาทสายตรงของนาฬิกาดำน้ำแบบโมโนเคสที่เปิดตัวในปี 1968
แต่ถ้าต้องการความคุ้มค่าก็คงต้องเป็น SPB207 เพราะสเป็กไม่ได้ขี้เหร่เลยทั้งกระจกแซฟไฟร์ การขัดแต่งตัวเรือนที่สวยและลงตัว รูปทรงที่ถอดแบบมาจากนาฬิกาดำน้ำรุ่นปี 1968 เพียงแต่ในรุ่นนี้จะเป็นแบบมีฝาหลัง และกลไกที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของแบรนด์ในตอนนี้เลย นั่นคือ 6R35 ที่สำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง
ส่วนซูโม่ โครโนกราฟเป็นอย่างไรหรือ ?
หลายคนอาจจะบอกว่าไม่น่าสนใจเพราะว่ามันเป็นนาฬิกาควอตซ์ แต่ส่วนตัวสำหรับผมแล้ว ถ้าคุณมีงบอยู่บวกลบ 20,000 บาท นี่คือนาฬิกาที่ผมจะเชียร์เลยละ ตัวเรือนมีขนาดลงตัว ได้ความหนาเข้ามาช่วยเพิ่มความสปอร์ต ขณะที่กลไกควอตซ์แบบ Solar นั่นตอบโจทย์ในเรื่องการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม เพราะแทบไม่ต้องมานั่งกังวลในเรื่องของการขึ้นลาน หรือตั้งเวลาใหม่เหมือนกับนาฬิกาออโต้ในกรณีที่ถอดวางเอาไว้ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ หลายคนอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ค่อยโอเคกับกลไกควอตซ์ แต่ส่วนตัวผมนั้นไม่ได้ติดใจอะไร เรียกว่าถ้าสวยและลงตัว ถูกใจ แม้จะเป็นนาฬิกาควอตซ์ ผมก็สามารถมองข้ามเรื่องนี้ไปได้
เอาเป็นว่าถ้าให้ผมเลือก ก็เป็นเจ้า SPB207J นี่แหละ ที่ขนาดลงตัว สเป็กถือว่าโอเค และราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า SLA047
ข้อมูลทางเทคนิค :
- ขนาดตัวเรือน : เส้นผ่านศูนย์กลาง 0 มม.ความหนา 12.5 มม.ผลิตจากสแตนเลสสตีล พร้อมกับการเคลือบพื้นผิวทนทานต่อการขูดขีดแบบซูเปอร์-ฮาร์ด โคตติ้ง
- กระจก : แซฟไฟร์เคลือบสารกันสะท้อนฝาหลังและเม็ดมะยมแบบขันเกลียว
- กลไก : 6R35
- ระบบขับเคลื่อน : อัตโนมัติ
- ความถี่ในการเดิน : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง (6 ครั้งต่อวินาที)
- พลังงานสำรอง : 70 ชั่วโมง
- จำนวนทับทิม : 24 เม็ด
- ประสิทธิภาพกันน้ำ : 200 เมตร
- ความทนทานต่อสนามแม่เหล็ก : 4,800 แอมป์/เมตร
- บานพับแบบ 3 ชั้นพร้อมปุ่มกดคลายล็อก มีระบบยึดบานพับอยู่ด้านในและสามารถเลื่อนปรับความยาวสายมาพร้อมกับสายยางซิลิโคน
- จำนวนการผลิต : 6,000 เรือนทั่วโลก
- ประทับใจ : สีสันและคอนเซ็ปต์ของคอลเล็กชั่นนี้ รูปแบบตัวเรือนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก MM300
- ไม่ประทับใจ : เป็นลิมิเต็ดแต่ไม่ระบุจำนวนเรือนที่ผลิตบนฝาหลัง
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/