หลังจากลังเลอยู่นานในที่สุดผมก็จัดการสอย Seiko Prospex SPB051/SBDC051 เข้ามาอยู่ในกรุจนได้ และบอกเลยว่าแม้ว่าราคาตั้งจะรุนแรงไปหน่อย แต่ถ้าเจอส่วนลดดีๆ ก็ช่วยทำให้ตัดสินใจไม่ยาก
Seiko Prospex SPB051/SBDC051 ถ้าเจอดีลดีก็ตัดสินใจไม่ยาก
- Seiko Prospex SPB051/SBDC051 มาพร้อมกับงานดีไซน์ย้อนยุคสู่ 62MAS
- ตัวเรือนตัดแต่งได้อย่างสวยงาม และมีขนาดพอเหมาะ
- กลไก 6R15 ยังมั่นใจได้ในความทนทาน และการสำรองพลังงาน
สารภาพเลยว่าตอนที่ได้เห็นภาพของเจ้า Seiko SPB051 หรือใช้รหัส SBCD051 สำหรับตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกตอนเปิดตัวที่งาน Basel World 2017 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ผมตกหลุมรักมันอย่างจัง ด้วยเหตุผลเดียว และคิดว่าคงไม่มีใครที่น่าจะบ้าพอที่จะยอมควักเงินในระดับนี้เพียงเพราะความชอบที่ ‘เข็ม’
จะว่าบ้าก็บ้าเถอะครับ แต่เพราะชุดเข็มที่วางอยู่บนหน้าปัดของนาฬิกาเรือนนี้แหละที่ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่เด่นที่สุด และทำให้ตัวเรือนดูมีเสน่ห์อย่างมาก (สำหรับผม) ชนิดกินขาดตัวแพงที่เป็น Re-Issue อย่าง SLA017 ด้วยซ้ำ ซึ่งหลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มวางขายเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมก็นั่งนับวันเฝ้ารอเวอร์ชันไทยที่จะใช้รหัส SPB051 สำหรับเรือนดำ และ SPB053 สำหรับหน้าน้ำเงินสายยางอย่างใจจดใจจ่อ แม้ว่าเงินในกระเป๋าจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปลายเดือนตุลาคม แฟนๆ Seiko ก็ได้เฮเพียงชั่วครู่เมื่อทราบข่าวว่า SPB051/SPB053 วางขายแล้ว ซึ่งทางผมก็ได้รับข่าวนี้ผ่านไลน์ที่ติดต่อกับตัวแทนขายของ Seiko เจ้าประจำ ก่อนที่จะเซ็งกันไปตามๆ กันเมื่อทราบถึงราคาเปิดที่ออกจะดุเดือดเอาเรื่อง โดยมีราคาป้ายอยู่ที่ 43,500 บาทสำหรับ SRP051 และ 39,500 บาทสำหรับ SPB053 แถมยังเปิดตัวในช่วงที่ไม่มีการจัดโปรฯ และส่วนลดก็น้อยนิด สุดท้ายก็เลยต้องบอกผ่าน
ราคาป้ายไม่ใช่ประเด็น แต่ส่วนลดต่างหากที่ไม่เร้าใจพอที่จะให้เสียเงิน สุดท้ายผมตัดใจสั่งของหิ้วจากญี่ปุ่น ซึ่งผมหาได้ถูกสุด 80,000 เยน หรือราวๆ 24,000 บาท เพราะในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนๆ ในแวดวงของผมต้องเดินทางไปโตเกียวกันหลายคนเพราะมีการจัดงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ แต่สุดท้ายก็แห้วอีก เพราะตอนที่จะไปซื้อให้ดันไม่มีของ และคิวเพื่อนผมก็รัดตัว เลยได้มาแค่เจ้า Monster SZSC003 หน้าน้ำเงินมาแค่เรือนเดียว
โบราณว่าเอาไว้ว่า ถ้าเป็นเนื้อคู่กันสุดท้ายก็ไม่คลาดแคล้วกัน และผมก็ได้เจ้า SPB051 มือหนึ่งกล่องใบไทย มาครองสมใจในราคาของหิ้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วในช่วงที่ก่อนจะได้มา ก็นั่งคุยกับเพื่อนๆ ที่เล่น Seiko กันหลายคน ส่วนใหญ่ก็บอกว่า รุ่นนี้ยอดขายไม่ค่อยแล่นเท่าไร ด้วยเหตุผลที่บอกข้างบน ทำให้ตอนนี้ดีลเลอร์หลายรายเริ่มทยอยปล่อยของในราคาที่มีส่วนลดค่อนข้างเยอะกว่าในช่วงแรก เรียกว่ามากกว่า 30%
บ่นกันมาพอประมาณแล้ว เรามาลองดู Seiko SPB051 กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนาฬิกาเรือนนี้เป็นการผลิตในแบบ Re-Issue ของนาฬิกาดำน้ำรุ่นแรกของ Seiko ที่เปิดตัวเมื่อปี 1965 ในรหัส 6217-8000 หรือที่เรียกกันว่า 62MAS โดยรับเอาดีไซน์มาแบบเต็มๆ โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นทรงกลมและมีขายื่นออกมานิดๆ เพียงแต่ขนาดตัวเรือนนั้นมีการปรับให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสอดรับกับขนาดความต้องการของคนใช้งานในยุคปัจจุบัน
SPB051 มากับเส้นผ่านศูนย์กลาง 42.6 มิลลิเมตร ซึ่งด้วยอคติที่มีอยู่ในช่วงแรกเรื่องส่วนลด ทำให้ตอนแอบไปลองทาบที่เคาน์เตอร์นั้น ผมพยายามหาเหตุผลสารพัดมาบอกกับตัวเองว่าเล็กไปสำหรับข้อมือขนาด 7 นิ้วของตัวเอง ทั้งที่อีกใจดูแล้วก็โอเคนะ ไม่เล็กจนเกินไป เหมาะกับเป็นนาฬิกาเดรสส์กึ่งสปอร์ตได้เลย เพราะตัวเรือนก็ไม่ได้หนามาก 13.8 มิลลิเมตร ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อ Seiko บอกว่า SPB051/SPB053 คือ นาฬิกาดำน้ำ แต่ขนาดกลับผิดแผกจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในตลาด ซึ่งปกติในตลาดซึ่งไซส์มักจะ 44 มิลลิเมตรขึ้นไป
ตัวเรือนของ Seiko SPB051/SBDC051 ผ่านกรรมวิธีที่เรียกว่า Dia-Shield (ย่อมาจาก Diamond Shield) ที่แฟนๆ Seiko คุ้นหูกันดีนับจากปี 2015 ซึ่งเป็นการเคลือบแข็งชนิดพิเศษที่ทำให้ตัวเรือนมีความทนทานต่อการขีดข่วน และการกระแทกมากขึ้นจากกรรมวิธีปกติ 2-3 เท่า มีค่าความแข็ง หรือ Vickers Harshness หรือ VH อยู่ที่ 350-650 VH ขณะที่การขัดแต่งนั้น มีความใส่ใจในทุกรายละเอียด มีการขัดหยาบและขัดเงาสลับกันระหว่างด้านข้างตัวเรือน ซึ่งทำให้ดูมีมิติและสวยงามขึ้น ซึ่งเป็นกรรมวิธีเดียวกับการขัดดาบซามูไรที่ Seiko เรียกว่า Zaratsu โดยที่ตัวเรือนนั้นมีการออกแบบให้โค้งและงุ้มลงเพื่อรับกับข้อมือ
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบสำหรับ Seiko SPB051/SBDC051 คือ พวกเขาออกแบบความกว้างขาสาย หรือ Lug Width ให้สมดุลกับขนาดตัวเรือนจริงๆ ซึ่งนาฬิกาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 42 มิลลิเมตรในมุมของผมนั้น ควรมีความกว้างขาสายไม่เกิน 20 มิลลิเมตร และพวกเขาก็ทำมาขนาดนี้พอดี ทำให้เวลาเปลี่ยนสายแล้วขนาดของสายจะรับกับขนาดของตัวเรือนอย่างลงตัว ไม่ดูแล้วเป็นแท่งเหมือนกับพวกที่ใช้ความกว้างขาสาย 22 มิลลิเมตร
ขณะที่เม็ดมะยมขนาดใหญ่และยาวยื่นออกมาจากตัวเรือนมากถึง 5 มิลลิเมตร โดยที่ไม่มีคราวน์การ์ดมาระกบซ้ายขวา ถือเป็นอีกเอกลักษณ์ที่ถอดแบบมาจาก 62MAS และเป็นอะไรที่สวยมากจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดหลักที่แสดงถึงการเชื่อมโยงกันของนาฬิกา 2 เจนเนอเรชั่น
สำหรับ Bezel ของ Seiko SPB051/SBDC051 กับวัสดุที่ใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นที่คาใจและสงสัยของบรรดาที่สนใจมาโดยตลอดนั้นว่าใช่เซรามิกหรือไม่นั้น คำตอบคือ ไม่ใช่เซรามิก แต่เป็นวัสดุพิเศษที่ทาง Seiko พัฒนาขึ้นมา และมีความทนทานไม่แพ้เซรามิก แต่ก็ให้ความเงาและแววาวไม่ต่างกัน
มาที่เรื่องของชุดเข็มที่เป็นจุดที่ทำให้ผมหลงและชอบนาฬิการุ่นนี้มากนั้น ผมคิดว่า Seiko จัดการยกชุดเข็มสไตล์เดียวกับที่ใช้อยู่ใน Marinemaster ในตระกูล Tuna Can มาใช้กับ Seiko SPB051/SBDC051 กับเข็มชั่วโมงที่เป็นหัวลูกศร และเข็มนาทีทรงแท่งตรง บวกกับเข็มวินาทีแบบ Lolli-Pop โดยทั้งหมดมีปลายยาวยื่นออกมานั้น เมื่อลองเทียบเคียงกับชุดเข็มของ Tuna Can รุ่นใหม่นั้น มันเหมือนกันเลย แต่เอาเป็นว่าผมไม่ชัวร์เรื่องขนาด และการเป็นพาร์ทชิ้นเดียวกันหรือไม่ จนกว่าจะได้เช็ค Part NO.
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมหลงรักนาฬิการุ่นนี้ โดยเฉพาะในจังหวะที่เข็มชั่วโมงและนาทีวางในตำแหน่ง 10.10 น. ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กับตัว X … ดูลงตัวชะมัด
ส่วนเรื่องของสีหน้าปัดนั้น เหตุผลที่ผมเลือกหน้าดำนั้น เป็นเพราะตัวหน้าน้ำเงินกันเป็นพวก Gradient ที่มีการเหลื่อมและเล่นกับแสงเงา ซึ่งหน้าปัดแบบนี้ไม่ค่อยถูกจริตกับผมเท่าไรนัก แม้ว่าจะมันดูสวยเวลาที่อยู่ท่ามกลางแสงแดด แต่ผมกลับชอบหน้าปัดแบบทึบๆ ด้านๆ แบบนี้แหละ
สำหรับเรื่องกลไกก็ไม่ต้องยุ่งยากและวุ่นวายใจอะไรในการทำความรู้จักกับมัน เพราะกลไก 6R15 แฟนๆ Seiko คุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่รุ่น SUMO และถือเป็นกลไกที่สเปกดี เชื่อใจได้ เข็มวินาทีเดินนิ่งและเรียบสมกับราคา โดยมีการสำรองพลังงานที่ 50 ชั่วโมง และที่ผมชอบมากที่สุดคือ มันเป็นพวก Date ไม่ใช่ Day/Date
ร่ายยาวมาจนถึงบรรทัดนี้ ผมเขียนเล่าแต่เรื่องดีๆ ที่ประทับใจกับ Seiko SPB051/SBDC051มามากมาย ลองมาดูจุดที่ไม่ค่อยประทับใจบ้าง ซึ่งถ้าตัดเรื่องส่วนลดในบ้านเราที่น้อยเกินไปออกไปแล้วนั้น สิ่งที่ดูจะขัดใจผมมากที่สุด คือ เรื่องของบานพับสาย ซึ่งออกตัวก่อนว่า ผมค่อนข้างชอบตัวสายเหล็กและสายบนสาย รวมถึงความหนาแน่น และเนื้อชิ้นงานมาก แต่มาขัดใจเอากับตัวล็อกสายที่ดันออกแบบเหมือนกันเกือบหมดสำหรับพวกไลน์อัพที่เป็น Diver น่าจะทำให้มันพิเศษหน่อยก็ไม่ได้
ประการต่อมาคือ แพ็คเกจที่ดูด้อยค่าเหลือเกินสำหรับนาฬิกาที่มีราคาป้ายเกือบครึ่งแสน ซึ่ง Seiko ก็เลือกใช้กล่องมาตรฐานของพวกเขาแบบเดียวกับพวกที่มีระดับตลาดต่ำกว่า เรียกว่าไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนก็ใช้ได้ด้วยกันหมด เหมือนนโยบายกระป๋องเหล็กของ Casio G-Shock ยังไงยังงั้น ซึ่งผมว่าน่าจะใส่ใจเรื่องนี้กันสักหน่อยนะ ไม่ต้องหรูมาก เอาแบบประมาณ Shogun ก็พอ และข้อสุดท้ายคือ กระจก Sapphire ทรงโดม หลายคนอาจจะชอบเพราะความพิเศษของมัน แต่ผมกลับไม่ประทับใจเท่าไร เพราะมันดูหลอกๆ ตาไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อด้อยถึงขนาดที่ทำให้ลดความประทับใจ และความอยากในการเป็นเจ้าของลงไป
บทสรุปสำหรับนาฬิกาเรือนนี้สำหรับตัวผมคือ ผ่านหมดทุกอย่างยกเว้น 3 เรื่องที่พูดในพารากราฟก่อนหน้านี้ และกับราคา43,500 บาท แน่นอนว่ามันค่อนข้างโหดเอาเรื่องสำหรับนาฬิกาสเป็กนี้ที่ใช้กลไก 6R15 เพราะถ้าต้องจ่ายเต็ม หรือมีส่วนลดน้อยนิด ผมแนะนำให้ไปเดินหา MM300 มือสองที่เป็นเข็มเก่าดีกว่า แต่ถ้าได้ดีลดีๆ ส่วนลดแจ่มๆ อย่างที่ผมได้มาจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม SMMT ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะตัดสินใจ
เส้นผ่าศูนย์กลาง : 42.6 มิลลิเมตร (ไม่รวมเม็ดมะยม)
ความหนา : 13.8 มิลลิเมตร
Lug-to-Lug : 49.8 มิลลิเมตร
ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
กันน้ำ : 200 เมตร
กระจก : Sapphire ทรงโค้ง พร้อมสารเคลือบกันสะท้อนแสง
กลไก : 6R15
ความเที่ยงตรง : -15/+25 วินาทีต่อวัน
สำรองพลังงาน : 50 ชั่วโมงตามสเป็ก
ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
- ประทับใจ : ดีไซน์สวยเชื่อมโยงกับ 62MAS ชุดเข็มโดดเด่นคล้าย Tuna Can กลไกที่มั่นใจได้
- ไม่ประทับใจ : แพ็คเกจแบบบ้านๆ ส่วนลดที่เคาน์เตอร์ ตัวล็อคสายที่เหมือนกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ Seiko
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/