เมื่อ Seiko จับตลาดดิจิตอลกับการร่วมมือกับ Lowecase ในการนำดีไซน์ของ Tuna Can มาใช้กับนาฬิกาในตระกูล Filedmaster พร้อมกับกลไกใหม่แบบกินแสงอาทิตย์ โดยเป็น JDM ที่ในตอนนี้มีขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น
Seiko Prospex SBEP003 ทูน่าดิจิตอลขึ้นบก
-
เมื่อ Lowercase จับเอางานดีไซน์ของ Tuna Can มาใช้กับนาฬิกา Fieldmaster
-
กลไกดิจิตอลใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรหัส S802
-
เป็น JDM มีขายเฉพาะในญี่ปุ่นมีขายราคาป้าย 30,000 เยน
เมื่อพูดถึง Seiko กับการทำนาฬิกาดิจิตอล หลายคนอาจจะไม่คิดว่านี่คือ ‘ทางที่ใช่’ ของพวกเขา เพราะที่ผ่านๆ มาผลผลิตในทำนองนี้ออกมาสู่ตลาดค่อนข้างน้อยจนเรียกว่าถ้าพูดถึงนาฬิกาดิจิตอลแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงคู่แข่งร่วมชาติอย่าง Casio และ Citizen มากกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเปิดเว็บของญี่ปุ่นแล้วเข้าไปในกลุ่ม Prospex ของ Seiko แล้ว จะพบว่าพวกเขามีผลผลิตพวกนี้ออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีมานานแล้ว และยิ่งมีมากขึ้นในช้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่ม Outdoor Watch และนี่คือหนึ่งในผลผลิตที่ว่า Seiko Prospex Fieldwatch ที่มาในสไตล์ Tuna Can พร้อมกับหน้าจอดิจิตอลในแบบ Solar รับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเราเพิ่งจะมีโอกาสสอยรุ่น SBEP003 เข้ามาอยู่ในกรุหลังจากที่ออกขายมานานร่วมปี
ทำไมเราเพิ่งสอยเข้ามา ? หลายคนอาจจะสงสัยและตั้งคำถามนี้ขึ้นมา
ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมาย นอกจากตอนที่มีขายในเพจนั้นงบฯ ก็ดันหมด แล้วนาฬิการุ่นนี้ไม่ได้มีการนำเข้ามาขายอย่างเป็นทางการโดย Seiko Thailand ดังนั้น เลยต้องพึ่งพาของหิ้วอย่างเดียว ซึ่งหลังจากที่กระแสฮ็อตในช่วงแรกแล้ว ของก็เลยขาดตลาดเพราะดีมานด์ไม่ได้มีเยอะเหมือนกับช่วงแรก ดังนั้น ตอนที่มีเงินแล้วอยากได้ของก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องอดทนรอกันหน่อยนะ เพราะกว่าจะมาถึงมือก็นานร่วมเดือนกันเลยทีเดียว และสุดท้ายร้าน MEwela (เสิร์ชชื่อนี้ใน FB ได้เลยครับ) ก็สานฝันให้เป็นจริง
สิ่งที่ทำให้ผมสนใจนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้คือ คำพูดของฝรั่งที่รีวิวออนไลน์บางคน ซึ่งบอกว่าถ้าได้สัมผัสกับนาฬิการุ่นนี้แล้ว คุณจะลืม Casio G-Shock ที่บ้านไปเลย ‘แม่เจ้า…อะไรมันจะขนาดนั้น’ ดังนั้น พอมันเดินทางมาถึงมือ นี่คือสิ่งแรกที่ผมต้องพิสูจน์
Seiko Prospex Fieldwatch หรือ Digi Tuna เป็นผลผลิตที่ต่อเนื่องในแง่ความร่วมมือในด้านการออกแบบกับ Lowercase ซึ่งถ้ายังจำกันได้เมื่อสัก 4 ปีที่แล้ว พวกเขาประเดิมตลาดกับ Tuna Can Solar Lowercase ซึ่งฮ็อตแค่ช่วงแรกในบ้านเรา แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่าความนิยมจะค่อนข้างฝืดไปหน่อย ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเพราะการออกแบบตัวนาฬิกาในแบบ Unisex ทำให้มันออกแนวกั๊กๆ ไปหน่อย แล้วพวกที่มี Tuna Can อยู่ในใจอย่างผม อารมณ์หลังจากที่ได้ลองแล้ว ค่อนข้างผิดหวังในขนาดอย่างรุนแรง จนในที่สุดก็ต้องแยกทางกันไป
ดังนั้นนี่คืออีกหนึ่งปัจจัยนอกเหนือจากเงินค่าตัวที่ทำให้ผมเกิดอาการลังเลในช่วงแรกว่าจะสั่งเข้ามาดีหรือไม่เมื่อเห็นว่า Lowercase ยังมีเอี่ยวในการออกแบบนาฬิการุ่นนี้อยู่ เพราะยังเข็ดกับรุ่น SBDN025J อยู่ แถมในตลาดก็ไม่มีของจริงให้ลองทาบข้อมือก่อนการตัดสินใจเสียด้วยสิ
สุดท้ายมันก็เลยเหมือนกับการวัดดวงนิดๆ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่พอสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่ง เพราะด้วยตัวเลขของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือนที่ระบุอยู่ในสเป็นซึ่งอยู่ที่ 49.9 มิลลิเมตรหรือมากกว่ารุ่น SBDN025J ที่ผมได้ลองถึงเกือบ 4 มิลลิเมตรนั้น ทำให้เชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้ไม่น่าจะผิดพลาดเหมือนกับครั้งแรก
SBEP003 เป็นรุ่นแรกๆ ที่ Seiko ออกนาฬิการุ่นนี้มา เพราะเท่าที่จำได้จะมีอยู่ประมาณ 5 รุ่นย่อย และขอบสเกล Pepsi ในสไตล์ดำน้ำก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทุกรุ่นจะใช้รหัสนำหน้าว่า SBEP ต่างกันแค่ตัวเลข 3 หลักที่ต่อท้าย โดยที่มี 2 รุ่นผลิตจำกัดเพียง 300 เรือนก็คือ SBEP007 และ 600 เรือนในรหัส SBEP009
แน่นอนว่างานนี้ Lowercase ยังมีเอี่ยวในการออกแบบเหมือนกับที่ผมบอกตั้งแต่แรก และเรารู้ได้ทันทีกับกล่องกระดาษไซส์เล็กที่เป็นแพ็คเกจของนาฬิการุ่นนี้ที่คล้ายกับของรุ่นก่อนหน้าคือ SBDN025J อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ข้างสับสน ซึ่งก็คือคอลเล็กชั่นของตัวนาฬิกากับงานดีไซน์ที่ดูเหมือนว่า Yuki Kajiwara ซึ่งเป็น Creative Director ของ Lowercase จะจับมาผสมแบบข้ามสายพันธุ์ เพราะอย่างที่บอกว่าตัวนาฬิกาอยู่ในคอลเล็กชั่น Fieldmaster ซึ่งเป็นกลุ่มนาฬิกาที่ใช้บนบก แต่กลับนำดีไซน์ของ Tuna Can ที่เป็นนาฬิกาดำน้ำมาใช้ แถมยังมีคำว่าการกันน้ำแบบ 200m ติดมาด้วยบนหน้าปัด แต่เมื่อพลิกตัวเรือนจะเจอกับฝาหลังแบบไขน็อต และไม่มีสัญลักษณ์เกลียวคลื่นที่เป็นตัวบ่งบอกความเป็น Air Diver’s หรือนาฬิกาที่เกิดมาเพื่อการดำน้ำมาด้วย
เอาละไขข้อข้องใจทีละประเด็นก็แล้วกันนะครับ ในเรื่องของการดีไซน์ มันไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย เพราะถ้ายังจำได้ เราเคยมี Fieldmaster ที่เกิดจากการนำรูปทรงของ Tuna Can มาใช้กันแล้ว นั่นคือ SBDC011 ที่ใช้กลไก 6R15 ดังนั้น นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยในแง่ของการจับมาข้ามสายพันธุ์
ประการที่ 2 ในแง่ของการกันน้ำ พอมีการออกแบบที่เหมือนกับ Tuna Can ในมุมมองของแฟน Seiko คงคิดว่ามันน่าจะเหมือนกับนาฬิกา Tuna Can ทั่วไปที่เกิดมาเพื่อการดำน้ำ แต่เอาเถอะ มันก็เหมือนกับ Casio G-Shock รุ่นทั่วไปที่บอกตัวเองว่ามีสามารถในการกันน้ำ 200 เมตร แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมีแค่ Frogman เท่านั้นที่เป็นนาฬิกาดำน้ำตั้งแต่เกิด ที่เหลือถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนบกเป็นหลัก ดังนั้น เราก็คงบอกว่า มันคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำจากปกติ และคงดำน้ำได้ในระดับ Snorkel และที่สำคัญไม่ควรอุตริไปกดปุ่มตอนอยู่ในน้ำ เพราะนาฬิกามันไม่ได้แกร่งขนาดนั้น
มันก็แค่ดีไซน์ แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนาฬิกาดำน้ำ…นี่คือข้อสรุปของผม
ในเรื่องของการผลิตนาฬิกาแบบดิจิตอลล้วนนั้น จริงแล้ว Seiko มีประสบการณ์มาพอสมควรเพราะก่อนหน้านี้ก็มีอยู่ในผลิตทั้งตัวที่เป็น Dive Computer และนาฬิกาสำหรับใช้ในการวิ่ง ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องของ Know How เช่นเดียวกับการใช้ระบบชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุผ่านทางแสงอาทิตย์ ซึ่ง Seiko มีระบบที่เรียกว่า Solar วางขายอยู่นานแล้วเช่นกัน
ในส่วนของกลไกที่ติดตั้งอยู่ใน SBEP003 เป็นรหัส S802 ซึ่งในประเด็นของการชาร์จไฟ ถ้าพอมีประสบการณ์กับนาฬิกากินแสงมาก่อนแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพียงแค่เอามันออกมาใช้งานบ้าง ให้โดนแสงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟบ้าง สักสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง หรือหมั่นนำออกมาสลับใส่บ้าง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว กระแสไฟฟ้าในระบบเกิดหมดขึ้นมาแล้วจะต้องมานั่งชาร์จกันเหนื่อย
เนื่องจากเมื่อดูตามคู่มือแล้ว ถ้าเอาแบบแสงแดดจัดๆ ที่มีค่า Lux สูงๆ อย่างน้อยก็มี 1 ชั่วโมงเต็มๆ กว่าที่จะขยับขึ้นมามีระดับพลังงาน 1 ขีด ส่วนถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ก็ลืมไปเลย มี 200 ชั่วโมง ซึ่งการทิ้งนาฬิกาเอาไว้กลางแดดจัดๆ ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวค่อนข้างสูงนั้น ก็เสี่ยงต่อความเสียหายของชิ้นส่วนภายใน ดังนั้น ถ้ารักที่จะใช้นาฬิกาประเภทนี้ ต้องหมั่นอ่านคู่มือและขยันนำออกมาใช้งานสักหน่อย
สำหรับกลไก S802 เมื่อชาร์จจนเต็มและเปิดระบบ PS หรือ Power Saving ที่จะดับหน้าจอเมื่ออยู่ในพื้นที่ซึ่งมืดสนิทเพื่อประหยัดพลังงาน ก่อนที่จะตัดเข้าสู่โหมด SL หรือ Sleeping Function เมื่อตัวนาฬิกาไม่มีการถูกสัมผัสหรือนำออกมาโดนแสงนานต่อเนื่องถึง 72 ชั่วโมงแล้ว นาฬิกาจะสามารถอยู่ได้นานถึง 5 เดือน ซึ่งเราก็คงแนะนำให้เอาออกไปใช้บ้าง อย่าทิ้งไว้จนกระทั่งกระแสไฟฟ้าหมด
ประเด็นที่ค่อนข้างน่ากังวล สำหรับ Seiko Prospex SBEP003
คือ ผมต้องกางแมนนวลมานั่งอ่านอย่างละเอียด เพราะแม้ว่าจะพอมีพื้นฐานจากที่สัมผัสในระบบดิจิตอลของ Casio G-Shock แต่รูปแบบของปุ่มและการทำงานค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มาก เพียงแต่ฟังก์ชั่นของ Caliber S802 จะค่อนข้างยุ่งขึ้นนิดหน่อย เพราะนอกเหนือจากการจับเวลา การเลือก 2 เวลา และการเซ็ตวันและวันที่แล้ว กลไกรุ่นนี้ยังมีเรื่องของการปรับเซ็ตความสว่างของหน้าจอ การดูระดับพลังงานที่สะสม และการปรับความไวของ BackLight ในการทำงาน ซึ่งถือว่าไฮเทคนิดหน่อย เพราะแทนที่จะมีปุ่มกดไฟเหมือนกับพวก G-Shock คุณก็แค่ตั้งความไวในการทำงานของ Backlight เอาไว้ แค่เคาะนิ้วไปบนหน้าปัดเบาๆ ไฟก็สว่างขึ้นมาแล้ว
สำหรับคนที่ไม่ชอบอะไรหนักๆ อยู่บนข้อมือต้องบอกเลยว่า SBEP003 และพวกเหมาะข้อมือมาก มีน้ำหนักเพียง 80 กรัม สายยางซิลิโคนออกแบบให้ลงตัวและนุ่มมาก ตัวเรือนผลิตจากพลาสติกที่ทนต่อการขูดขีดและออกผิวด้านๆ ที่จะมีผิดหวังนิดหน่อยก็คิอ ปุ่มกดที่ผมลองแล้วน้ำหนักกับความรู้สึกยังแปลกๆ อยู่ไม่ค่อยแน่นหนาหรือให้ความมั่นใจเหมือนกับเวลากดปุ่มของพวก G-Shock
ขณะที่การออกแบบให้มีหลักรอบๆ หน้าปัดที่จะสว่างขึ้นในทุกนาทีนั้น และจะทำงานร่วมกับการจับเวลาพร้อม Bezel ที่หมุนแบบ 2 ทาง อาจจะมีประโยชน์ตรงนั้น แต่ส่วนตัวผมกลับไม่ค่อยชอบเลย เพราะมันทำให้ดูรกไปหน่อย น่าจะปิดการแสดงในส่วนนี้ได้เมื่ออยู่ในโหมดแสดงเวลาปกติ
ส่วนอีกเรื่องคือ ปีของกลไก S802 ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ยาวนานเหมือนกับกลไกรุ่นใหม่ๆ ของ G-Shock ซึ่งดเปลี่ยนเป็นปี 2099 กันหมดแล้ว แต่สำหรับของ S802 สิ้นสุดแค่ปี 2067 โอเค..ที่ผมยังไม่รู้ว่าจะอยู่ถึงหรือเปล่า แต่การที่นาฬิการุ่นนี้จะเป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกและหลานคงเป็นเรื่องยากหน่อยละ เพราะเหลืออีกแค่ 48 ปีเท่านั้นเอง
เอาละถ้าไม่คิดมากเหมือนอย่างที่ผมคิด นี่คือ นาฬิกาดิจิตอลอีกรุ่นที่น่าสนใจ สำหรับแฟน Seiko ที่อาจจะเบื่อการใส่นาฬิกาแบบเข็มและอยากได้อะไรที่เป็นดิจิตอลบ้างแทนที่จะต้องเสียเงินไปซื้อสินค้าของคู่แข่ง กับค่าตัว 30,000 เยน ถือว่าไม่แพงจนเกินไป และน่าสนใจสำหรับคนที่ชอบอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าจะเทียบกับนาฬิกาคู่แข่งในระดับราคาใกล้เคียงกันอย่าง Casio G-shock Rangeman GW9400 ผมว่ายังไงก็ยังเทียบไม่ได้ในแง่ความหลากหลายของฟังก์ชั่น
และอีกครั้งที่เกิดความรู้สึกว่า ‘ฝรั่งแ-งก็พูดเกินไป
รายละเอียดทางเทคนิค : Seiko Prospex SBEP003
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 49.5 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 49.9 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14.1 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- กระจก : Glass
- ตัวเรือนและฝาหลัง : พลาสติก-สแตนเลส
- สาย : ซิลิโคน
- กลไก : S802 ชาร์จพลังผ่านทางแสงอาทิตย์
- สำรองพลังงาน : 5 เดือนเมื่อชาร์จจนเต็ม
- ฟังก์ชั่น : แสดง 2 เวลา / จับเวลา / ตั้งปลุก
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ความเบา ใส่สบาย ดีไซน์ และระบบ BackLight
- ไม่ประทับใจ : แถบแสดงนาทีรอบๆ หน้าปัด กลไกที่เซ็ตได้แค่ปี 2067
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline