Seiko Prospex SBDB009 เป็น Tuna Can แต่ไหงมีฝาหลัง

0

เมื่อพูดถึงนาฬิกาในกลุ่ม Tuna Can ของ Seiko มีข้อกำหนดอยู่ 3 อย่างที่ผมใช้อ้างอิงในการบอกว่านี่ความเป็นของแท้สอดคล้องตามสายพันธุ์ แต่เมื่อรับเจ้า Seiko Prospex SBDB009 มา มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นแม้ว่าจะมีหน้าตาและรูปร่างที่สอดคล้องตามข้อกำหนดในการเป็น Tuna Can แต่สุดท้ายก็ต้องหลับตา 2 ข้างและท่องในใจว่า มันสวยดี แถมกลไกก็ดีด้วย

- Advertisement -

Seiko Prospex SBDB009 เป็น Tuna Can แต่ไหงมีฝาหลัง

นอกจากกลไกอัตโนมัติอย่าง 8L35 และควอตซ์ในรหัส 7C46 แล้ว

เจ้า Tuna Can หรือปลากระป๋องน้ำลึกที่ดำดิ่งลงในรหัส 1,000 เมตรของ Seiko ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่ถูกส่งลงตลาด

และถือเป็นทางเลือกที่แปลกใหม่ น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการอะไรที่แตกต่างจากกลไก 2 รุ่นนี้ และจากการที่เป็นแค่ Limited Edition ที่ผลิตออกขายในปี 2013 สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า Seiko จะเดาทางถูก และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าจนกระทั่งนำไปสู่การขายในเชิงพาณิชย์ในที่สุด ใช่แล้วผมกำลังพูดถึงเจ้า Spring Drive Tuna หรือ Seiko Prospex SBDB009 หรือในปัจจุบันปรับปรุงและเปลี่ยนรหัสมาเป็น SBDB013

ถ้าเรายึดกรอบในแง่ของเอกลักษณ์ทางด้านรูปทรงที่นำไปสู่ชื่อรุ่นในที่สุด คงยากที่จะนับเจ้า Spring Drive Tuna หรือ SBDB009/013 ให้อยู่ร่วมกับสายพันธุ์ เพราะอย่างน้อย 3 สิ่งที่เป็น Must have ซึ่งนาฬิกาในกลุ่ม Tuna Can จะต้องมี เจ้านี่กลับมาแค่ 2 สิ่งเท่านั้น นั่นคือ ตัวเรือนทรงกลมและการมีเกราะหรือ Shroud แต่สิ่งที่ขาดหายไป นั่นคือ การใช้ตัวเรือนปกติที่ไม่ใช่ Monocase

ใช่แล้ว…ผมถือว่าตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญยิ่งเลยก็ว่าได้ (ในมุมของผมนะ) เพราะชื่อของ Tuna Can ไม่ใช่แค่รูปทรงกลมเป็นกระป๋อง (ซึ่งบางทีฝรั่งเรียกนาฬิกาทรงนี้ว่า Hockey Puck) แต่มันจะต้องเหมือนกับปลากระป๋องแบบเด๊ะๆ นั่นคือ เปิดเอาเนื้อออกจากทางฝาหน้า ซึ่งก็เหมือนกับที่เวลาจะต้องเซอร์วิส Tuna Can จะต้องทำจากด้านหน้า งัด Bezel ออก เอากระจกออก และยกออกทั้งชุดหน้าปัด

แต่กับเจ้า Spring Drive Tuna มันไม่ใช่

ตอนแรกผมก็คิดว่า Seiko จะยกเคสของพวก Emperor Tuna มาใช้ แต่ที่ไหนได้ เจ้านี่กลับมากับเคสที่มีฝาหลังแบบขันเกลียวและเปิดออกจากทางด้านหลังเหมือนกับนาฬิกาทั่วไป…แต่ถ้าไม่คิดอะไรมากก็ช่างมันเถอะ

จริงๆ แล้วก่อนที่จะมีการผลิตขายเป็นรหัส SBDB009 นั้น ทาง Seiko เคยผลิต Spring Drive Tuna ออกมาขายในแบบ Limited Edition ในรหัส SBDB008 ผลิตเพียง 300 เรือนก่อนเมื่อปี 2013 ในวาระของการฉลองครบรอบ 100 ปีของแบรนด์ Seiko และในตอนนั้นเอง Spring Drive Tuna รุ่นปกติก็ยังไม่ได้มีขายเป็นกิจลักษณะแต่อย่างใด จนกระทั่งต้องรอหลังจากนั้นอีก 1 ปี 009 ถึงจะเปิดตัวออกมา และถือว่าได้รับความนิยมจากแฟนๆ เอาเรื่อง อาจจะด้วยเพราะเป็น Tuna Can ที่ใช้กลไกต่างจากรุ่นทั่วไป และอีกอย่างน่าจะเป็นคำว่า Spring Drive ที่ติดมาด้วย ซึ่งอย่างที่ทราบกัน คำนี้มักจะถูกใช้ในซับแบรนด์ที่ไฮเอนด์อย่าง Grand Seiko

และอาจจะเพราะการใช้กลไกรุ่นนี้ที่มี Power Reserve Indicator ติดมาด้วยนั้น ถือเป็นสิ่งที่ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนมามใช้ตัวเคสแบบมีฝาหลัง เพราะการเซอร์วิสคงยากขึ้นกว่าการถอดแค่ 3 เข็มที่มีอยู่ในรุ่นปกติ…นี่ผมเดาเอา แต่คิดว่าน่าจะมีส่วน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ (อีกเรื่องที่เดาเอาเหมือนกัน) คือ ทำให้ความสามารถในการกันน้ำลดลงมาอยู่แค่ 600 เมตร ไม่ใช่ 1,000 เมตรเหมือนกับรุ่นที่มีฝาหลัง

นอกจากนั้น อีกสิ่งที่สำคัญและเป็นตัวกำหนดรูปลักษณ์ของนาฬิกาในกลุ่ม Tuna Can ที่เปิดตัวตามหลัง คือ Tuna Spring Drive เป็นนาฬิการุ่นแรกที่ใช้ชุดเข็มแบบใหม่ ก่อนที่ Seiko จะนำมาใช้กับนาฬิกา Tuna Can รุ่นอื่นๆ ทั้ง 300m Quartz และ 1,000m ซึ่งดูไปดูมา ผมกลับชอบเข็มทรงนี้มากกว่าเข็มเดิมๆ ที่อยู่ในพวก Tuna Can รุ่นก่อนหน้านี้

ในแง่ของรูปลักษณ์โดยรวม SBDB009 มาพร้อมกับอัตลักษณ์ของ Tuna Can ทั้งตัวเรือนและเกราะที่ผลิตจากไทเทเนียม พร้อมกับเคลือบ DLC หรือ Diamond Like Carbon ทำให้มีความทนทานต่อการขีดข่วนมากขึ้น โดยที่ตัวเกราะมีลูกเล่นนิดหน่อยตรงที่ขัดเงาตรงขอบด้านบนที่เป็นหน้าตัด และตัวด้านข้างเป็นแบบขัดหยาบ ดูลงตัวมากขึ้น ขณะที่ตัว Bezel ใช้ไทเทเนียมในการผลิต แต่ตัว Insert ไม่มีการบอกว่า Seiko ใช้เซรามิคหรือเปล่า ซึ่งดูเหมือนว่า ในโลกออนไลน์ก็มีคนสงสัยในประเด็นนี้เหมือนกับผมหลายคนเหมือนกัน เพราะดูจากตาเปล่ามันแวววาวเหมือนกับเซรามิก แต่ดันไม่มีระบุอยู่ในข้อมูล

ขนาดตัวเรือนที่มาพร้อมกับเส้นผ่านศูนย์กลาง 49.6 มิลลิเมตรและมีขายื่นมานิดๆ ทำให้มี Lug-to-Lug อยู่ที่  50.7 มิลลิเมตร ถือว่าไม่สร้างความลำบากใจอะไรให้กับคนข้อมือปานกลางจนถึงข้อมือใหญ่ อย่างผมข้อมือ 7 นิ้วถือว่ารับมือกับนาฬิกา Tuna Can ไซส์นี้ได้อย่างสบายๆ และจากการที่เป็นนาฬิกาแบบไม่มีขา งานนี้ก็เลยหมดห่วงเรื่องอาการกางเมื่ออยู่บนข้อ ส่วนความหนาในระดับ 16.2 มิลลิเมตรผมถือว่ารับได้นะ แต่สำหรับใครที่ไม่ชอบนาฬิกาหนาๆ คงต้องบอกลานาฬิกาตระกูลนี้ไป เพราะนี่คือผลต่อเนื่องมาจากการออกแบบในสไตล์ Tuna Can ที่เป็นทรงกระป๋อง

ส่วนสายยางออกแบบในสไตล์คล้ายกันไปหมดสำหรับนาฬิกาตระกูลดำน้ำของ Seiko Prospex และผลิตจากซิลิโคน โพลียูรีเทน ให้ความนุ่มแต่ไม่ย้วย แม้ว่าจะต้องรับน้ำหนักของตัวนาฬิกาที่น่าอยู่ราวๆ ขีดนิดๆ ดังนั้น ตอนขึ้นข้อมือก็เลยใส่สบายๆ ได้ ไม่ต้องรัดจนแน่นเพื่อป้องกันไม่ให้นาฬิกาดิ้นไปมา

ประเด็นที่ขัดใจผมเกี่ยวกับนาฬิกาของ Seiko ที่มีพวก Power Reserve Indicator และจะต้องมีช่องหน้าต่างวันที่ หรือ Date วางอยู่ด้วยนั้น คือ Seiko ออกแบบได้ไม่ถูกใจเอาเสียเลย อย่าง Landmaster ซึ่งผมเคย Review ไปก่อนหน้านั้น ก็เป็นอีกตัวอย่าง และเจ้านี่ก็เกือบจะดูดีแล้ว แต่ก็ยังขัดๆ ใจยังไงพิกล ผมมีความรู้สึกว่าพวกเขาวางรายละเอียดบนหนาปัดไม่ค่อยสมดุลกันสักเท่าไร ก็แค่คิดในใจว่าถ้าย้ายช่องหน้าต่างจากเดิมตำแหน่ง 4 นาฬิกาโดยประมาณไปอยู่ที่ 3 นาฬิกาผมว่าน่าจะดีกว่านี้นะ…อันนี้มุมมองส่วนตัวล้วนๆ

สำหรับกลไก 5R65 นั้นถือเป็นไฮไลต์ของตัวนาฬิกาเลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะพวกที่หลงการเดินของเข็มสุดเนียน เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง ดังนั้น งานนี้ใครที่รักกลไกคงหนียากหน่อยละ ซึ่งเทคโนโลยี Spring Drive มีจุดเด่นในเรื่องของความเนียนในการเดินถึงกับได้รับฉายาว่าเข็มสะกดวิญญาณ มาพร้อมกับความเที่ยงตรงที่อยู่ในระดับ+/- 15 วินาทีต่อเดือน และถังพลังงานสำรองที่ใหญ่ ในระดับความจุ 72 ชั่วโมง เมื่อมองจากภาพรวมของสิ่งที่อยู่ใต้หน้าปัดแล้ว ตรงนี้ถือเป็นอีกสิ่งที่ทำให้ SBDB009 ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่น่ารักในด้านราคากลับมาด้วย เพราะแน่นอนว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Emperor Tuna ที่ใช้กลไก 8L35 แล้ว ค่าตัวของ SBDB009 พุ่งฉิวตามสไตล์นาฬิกาที่มาพร้อมกับกลไก SpringDrive ซึ่งถ้าจำไม่ผิดราคาป้ายในบ้านเราอยู่ที่ 150,000 บาทโดยประมาณ ขณะที่ Emperor Tuna จะถูกกว่าราวๆ 20,000 บาท

ใครที่อยากจะสอยตอนนี้ กับรุ่น SBDB009 คงยากแล้ว น่าจะต้องเล็งตามบอร์ดซื้อ-ขายของมือสองเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ถ้าไม่แคร์ตัว X ที่โผล่อยู่บนหน้าปัดเม็ดมะยม ก็ขยับไปหา SBDB013 ที่เป็นรุ่นใหม่กว่าได้เลย ซึ่งถ้าเป็นของใหม่ ราคาในบ้านเราไม่หนีกันมาก แต่ราคาป้ายในญี่ปุ่นยังเท่ากันที่ 380,000 เยน

ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex SBDB009/013

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 49.6 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 50.7 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 16.2 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กลไก : 5R65 Spring Drive
  • จำนวนทับทิม : 30 เม็ด
  • สำรองพลังงาน : 72 ชั่วโมง
  • ระดับการกันน้ำ : 600 เมตร
  • ประทับใจ : กลไก รูปทรงในสไตล์ Tuna Can
  • ไม่ประทับใจ : ดีไซน์บนหน้าปัด ตัวเรือนไม่เป็น Monocase และราคา