หลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายกระชังปลาทูนาของตัวเองหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดเราก็ได้ Seiko Prospex SBBN033 Tuna Can Quartz มาอยู่ในการครอบครองจนได้ แม้จะช้าไปนิดเพราะว่านาฬิการุ่นนี้เลิกผลิตไปแล้วเพื่อเปิดทางให้กับรุ่นใหม่
Seiko Prospex SBBN033 Quartz จุดเริ่มต้นหากคิดจะรัก Tuna Can
-
นาฬิกาดำน้ำในกลุ่ม Tuna Can Quartz ที่ในตอนนี้ Discontuned ไปแล้ว
-
ตัวเรือนทรง Tuna Can ขับเคลื่อนด้วยกลไดควอตซ์ 7C46
-
มีความสามารถในการกันน้ำ 300 เมตร
นาฬิกาดำน้ำตระกูล 300 เมตรในคอลเล็กชั่น Marinemaster ของ ไซโก ดูเหมือนจะอยู่กับผมไม่ค่อยทนสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็น MM300 ทั้งรุ่น SBDX001 หรือ SBDX017 ไล่ไปจนถึง Tuna Can Quartz ตั้งแต่สมัยเข็มเก่า เพราะไม่ว่าจะมีกี่เรือนต่อกี่เรือน พวกมันก็มักจะต้องระเห็จออกจากกรุอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่เพราะผมเป็นพวกบ้าตัวเลขของระดับความสามารถในการกันน้ำ
แต่น่าจะเป็นเพราะความไม่ค่อยถูกโฉลกกับพวกมันมากกว่า ซึ่งถึงกระนั้นดูเหมือนจะเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ยังไม่เข็ด และต้องขอลองอีกครั้งกับ Seiko Prospex SBBN033 หรือ Tuna Can 300m ที่เป็นตัวเริ่มต้นของตระกูล
สารภาพก่อนว่ากับตัว SBBN033 นั้นผมยังไม่เคยมีโอกาสสัมผัสมาก่อน ซึ่งในช่วงที่ Tuna Can 300m มีการปรับโฉมเมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นวาระของการฉลองครบรอบ 50 ปีของนาฬิกาดำน้ำทางฝั่ง Seiko นั้น พวกเขาปรับไลน์อัพของนาฬิกาในกลุ่มนี้ใหม่หมดด้วยตัวใหม่ที่เข้ามาทดแทน ผมสอย SBBN035 ที่เรียกกันติดปากว่า Ninja Tuna เข้ามาเป็นเรือนแรก แต่ก็จากกันหลังจากนั้นไม่นาน และได้ SBBN031 มาดามหัวใจแทน แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยลงน้ำไปตามยถากรรม โดยก่อนหน้านั้นก็มีตัว SBBN015 ที่เป็นเข็มเก่าเข้ามาทดแทน แต่ก็อยู่ได้ไม่นานอีกเช่นกัน จนกระทั่งมาถึงคิวของ SBBN033 นี่แหละ
บอกก่อนว่าไม่ใช่นาฬิกาไม่ดี แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวผมเองนี่แหละที่ไม่ดีเองเสียมากกว่า เพราะค่าการปรับความรู้สึกของตัวเองของผมนั้นอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก และเคยเป็นแบบนี้มาอยู่พักหนึ่งในสมัยที่เคยเป็นแฟน Casio Frogman ไม่ใช่สวมของเทพมาก่อนแล้วเกิดอาการคันเมื่อใส่รุ่นที่ถูกกว่านะครับ แต่เพราะผมไม่สามารถปรับความรู้สึกในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในด้านขนาดตัวเรือนได้ดีเท่าไร
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะตามปกติแล้วผมใส่ Emperor Tuna อยู่เสมอ และต้องบอกว่ามันมีขนาดทั้งหนาและใหญ่ ซึ่งความรู้สึกตรงนี้แหละที่ถูกฝังลงไปในจิตใต้สำนึกของผม และมักจะมองนาฬิกาทุกเรือนว่าขนาดเล็กเกินไป ซึ่งไม่ใช่แค่เจ้า Tuna Can 300m เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ Tuna Can 1,000m ตัวควอตซ์ก็โดนด้วยเช่นกัน เพราะในรุ่นควอตซ์ของตัว 1,000 เมตรนั้นมีความบางกว่ารุ่นอัตโนมัติแบบสังเกตได้
จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็มีมูลนิดๆ เข้ามาประกอบด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อกางสเปกดูแล้วจะพบว่า Tuna Can 300m แม้จะมีขนาดตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 47 มิลลิเมตร แต่ด้วยรูปแบบของนาฬิกาที่มีขาสั้นมากจนดูเหมือนกับแทบจะไม่มีขาสายเลยนั้น ทำให้ปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นมาทันทีในมุมของผมที่มีข้อมือที่เป็นลักษณะแบน
เพราะนั่นเท่ากับว่าตัวนาฬิกาเองไม่มีขาสายหรือความยาวในส่วน Lug to Lug มาช่วยเติมเต็มให้เกิดความรู้สึกว่านาฬิกาเรือนนั้นเต็มข้อเมื่อถูกสวมใส่ลงไป…นี่คือสิ่งที่ผมฝังใจอยู่เสมอเมื่อต้องเปรียบเทียบกับพวก Tuna Can ในรุ่นต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้าตัดเรื่องปัญหาเฉพาะบุคคลอย่างที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นแล้ว ต้องบอกว่านี่คือ Beater Watch ที่ดีรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว
ดีในแง่ไหน ?
ราคาที่ลงตัวซึ่งราคาป้ายตอน ไซโก ไทยแลนด์ นำเข้ามาขายนั้นคือ 40,000 บาท หักส่วนลดกันตามความเหมาะสมแล้วคุณสามารถหาเจ้านี่ได้ที่สองหมื่นกลางๆ จนถึงปลายๆ แล้วแต่คะแนนสะสมของบัตรของคุณมีเหลืออยู่เท่าไรกับโปรโมชั่นของห้างที่คุณไปเดินเจอน้องเค้าว่าเป็นเช่นไร หรือถ้าจะเน้นสบายกระเป๋า ก็ตามหาของมือสองตามกลุ่มก็ได้ โดยสตาร์ทกันที่สองหมื่นต้นๆ เพียงแต่ของอย่างนี้ไม่ได้มากันบ่อยๆ และมักจะไปค่อนข้างเร็ว
คำว่า Marinemaster การกันน้ำ 300 เมตร และรูปทรงที่สุดคลาสสิคตามแบบฉบับของ Tuna Can คือ อีก 3ประการต่อมา ซึ่งคุณจะหานาฬิกาใหม่ป้ายแดงที่มีความสามารถในการกันน้ำ 300 เมตรภายใต้วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทในบ้านเรานั้นมีบ้างไหม ?
อาจจะมี แต่ก็มักจะเป็นแบรนด์สวิสส์ฯ ในระดับ Mid Range หรือ Entry-level และคำว่า Marinemaster สำหรับคนที่อินกับมันนั้นถือว่าเป็นคำที่คลาสสิคและบอกอะไรได้หลายอย่าง ทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นกว่า 50 ปีที่ถูกกลั่นและบ่มเพาะจนทำให้ ไซโก มีความแข็งแกร่งในตลาดนาฬิกาดำน้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และความสามารถในการเป็น Tool Watch ที่ใช้งานได้จริง
แต่ถ้าไม่อินกับเรื่องนี้ ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมโดยอ้างเหตุผลข้อแรกเพียงอย่างเดียว แม้หลายเสียงจะแย้งมาว่ามันก็แค่นาฬิกาควอตซ์ ซึ่งก็จริงอย่างที่พูดกัน แต่ส่วนตัวผมกลับไม่ยึดติดกับประเด็นนี้เท่าไร เพราะข้อดีของนาฬิกาควอตซ์มีเยอะแยะ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ต้องมานั่งปรับตั้งเวลาบ่อยๆ อยากจะใส่ก็หยิบมาสวมได้เลย จะมีขัดใจแค่เรื่องเดียวคือ การเดินกระตุกทีละวินาทีของเข็ม และการต้องเปลี่ยนถ่านตามอายุการใช้งาน
ซึ่งสำหรับ SBBN033 นั้น ผมบอกเลยว่ามีอย่างน้อยก็ 5 ปีแหละ เพราะกลไก 7C46 ของ ไซโก แม้จะมีอายุเยอะเพราะเปิดตัวมาหลายสิบปีแล้ว แต่ประสิทธิในการทำงานเหมือนกับออกแบบเผื่ออนาคต มีความเที่ยงตรง ไม่กินไฟ และที่สำคัญเชื่อใจได้ในการใช้งาน
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่าผมแม่งโคตรลำเอียงเลย คำตอบแบบแมนๆ ก็คือ ‘ใช่หนะสิวะ’ เพราะผมเป็นแฟน Tuna Can และหลงใหลนาฬิกาตระกูลนี้อย่างมาก แต่ก็เพิ่งจะได้มานั่งรีวิวนาฬิกาเรือนนี้ก็ตอนที่ SBBN033 เลิกทำตลาดไปแล้ว เพราะมีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ ส่วนเหตุผลที่ทำช้าหนะหรือ ? ก็เพราะเพิ่งเก็บเงินซื้อได้หนะสิ หลังจากที่ไล่ตามเก็บพวกรุ่นพี่อย่างตระกูล 1,000 เมตรจนแทบจะนั่งกินมาม่ามาหลายปี
ส่วนตัวผมยังไม่เห็นเรือนจริงของรุ่นใหม่ ที่ในตอนนี้มีการแบ่งออกเป็น 2 รหัสคือ SBBN045 สำหรับตลาดญี่ปุ่นหรือ JDM และ S23629J1 สำหรับตลาดต่างประเทศ ก็เลยยังไม่สามารถบอกจุดที่ประทับใจและไม่ประทับใจ
แต่ที่ไม่ประทับใจแน่ๆ คือ การแบ่ง 2 รหัสจะส่งผลกระทบต่อนาฬิกาควอตซ์โดยตรงของกลุ่มนี้คือ การที่เราจะไม่ได้เสพกับความไม่เหมือนใครของช่อง Day ในรูปแบบของตัวอักษรคันจิอีกต่อไป (ยกเว้นคุณจะจ่ายแพงแล้วบินไปซื้อที่ญี่ปุ่นแทน) ตรงนี้ผมโดนมาแล้วกับรุ่น Re-Issue ของ Golden Tuna ที่เคยรีวิวไป (อ่าน review) เพราะกลิ่นอายความเป็น Tuna Can ตามความคิดผมนั้น ส่วนหนึ่งก็คือ การเป็น JDM จากการนั่งมองช่อง Day ที่เป็นตัวอักษรคันจิ
ใครที่เป็นแฟนนาฬิกาดำน้ำของ ไซโก และต้องการอะไรที่มันสุดๆ แต่งบไม่ถึงกับ Emperor Tuna หรือ Darth Tuna ผมว่าเจ้านี่แหละที่คุ้มค่ามาก และเหนือกว่านาฬิกาดำน้ำในกลุ่ม Prospex รุ่นใหม่ๆ ที่ขายอยู่ในระดับราคาใกล้เคียงกันเสียอีก
และสำหรับครั้งนี้ หวังว่าผมกับ Tuna Can Quartz น่าจะลงตัวและไม่มีการเคลื่อนย้ายออกจากกรุอีกต่อไป
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/