Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 ฉลอง 40 ปีของทูน่าสีทอง

0

หลังจากเล็งอยู่นาน ในที่สุดโชควาสนาก็พาผมมาเสียเงินกับเจ้า Seiko Prospex Marinemaster SBBN040/S23626 จนได้ แต่ทว่าเรือนที่ได้มาหนะสิเป็นรหัสสำหรับขายทั่วโลก มันก็เลยมีเรื่องที่ไม่สบอารมณ์นิดหน่อย

Seiko Prospex Marinemaster SBBN040/S23626
Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626

Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 ฉลอง 40 ปีของทูน่าสีทอง

  • เวอร์ชันฉลอง 40 ปีของ Golden Tuna รุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวในปี 1978 โดยมีการผลิตออกขายเพียง 1,978 เรือนทั่วโลก

  • และมีขายด้วยกัน 2 รหัสคือ SBBN040 สำหรับตลาดญี่ปุ่น และ S23626 สำหรับตลาดต่างประเทศ

  • ตัวเรือนแบบ Monocase ผลิตจากไทเทเนียม

  • มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 49.4 มิลลิเมตร ถึงจะดูใหญ่แต่ตัวเรือนไร้ขาสายและใส่ได้อย่างลงตัว

  • กลไกควอตซ์ 7C46 ยังเชื่อมั่นได้ในความทนทาน

  • และมีแบตเตอรี่ขนาด 5 ปีประจำการอยู่ ทำให้ไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนแบตเตอรี่กันบ่อยๆ

- Advertisement -

ย้อนกลับไปในปี 2018 ผมตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่าในปีนั้น Wish List ที่จะต้องสอยเข้ากรุให้ได้ คือ รุ่น Re-Issue ของ Seiko Golden Tuna ที่ถูกเปิดตัวออกมาในงาน Basel World กับรหัส SBBN040

สำหรับตลาดญี่ปุ่นที่เป็น JDM ที่แต่ทำให้ผมแปลกใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เดี๋ยวนี้แนวคิดในการตั้งรหัสรุ่นแบบแยกตลาดลุกลามมาถึงนาฬิกาในกลุ่ม Top Line อย่าง Tuna Can ของ ไซโก้ (Seiko) แล้วหรือ เพราะในรุ่นนี้ยังมีอีกรหัสคือ S23626ซึ่งในบ้านเราที่มีการจำหน่ายอย่างเป็นทางการนั้นนำรหัสนี้เข้ามาขาย และมันทำให้ผมเจ็บปวดใจอย่างมาก หลังจากที่ดันสอยแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ

Seiko Prospex Marinemaster SBBN040/S23626

ที่ต้องบ่น ก็เพราะในกลุ่ม Tuna Can ที่เป็นรุ่นควอตซ์นั้น ผมค่อนข้างชอบกับเพลทของช่อง Day หรือวันที่ประจำสัปดาห์ที่มีตัวคันจิมาให้ด้วย และมักจะปรับให้เป็นอย่างนี้เสมอ คุณอาจจะบอกว่าบ้า อ่านออกด้วยหรือ ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น

เพราะอย่างน้อยด้วยความรู้ภาษาญี่ปุ่นสมัยเรียนมหาวิทยาลัยแบบข้ามคณะและต้องสู้กับเด็กเอกญี่ปุ่นจนคว้าเกรด D มาได้ ผมมั่นใจว่าความรู้ยังไม่ส่งกลับไปมหาวิทยาลัยทั้งหมดอย่างแน่นอน ถึงจะอ่านแบบงูๆ ปลาๆ แต่ผมมีความรู้สึกว่านี่เป็นความพิเศษที่แสดงให้เห็นความเป็น JDM ที่ Tuna Can เป็นมาตลอด และที่ผ่านมา ตามความเข้าใจผม Tuna Can ยังไงก็มีขายรหัสเดียว

แต่กับเจ้า Golden Tuna Re-Issue กลับทำให้ผมผิดหวังอย่างมาก เพราะพวกเขาเลือกที่จะผลิตออกมา 2 เวอร์ชันอย่างที่บอกข้างต้น เหมือนกับนาฬิกาบางรุ่นใหม่ๆ ของพวกเขาอย่างเช่น Sumo ใหม่เป็นต้น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ จะเพื่อสร้างความพิเศษให้โมเดลในประเทศญี่ปุ่นหรือ ? ผมว่ามันไม่น่าใช่นะ เพราะปกติทุกรุ่นที่เป็นอย่างนี้มักจะแทบไม่มีอะไรแตกต่างเลย และยิ่งทำให้นาฬิการุ่นเดียวมีความต่าง ผมว่าน่าจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และทำให้ไลน์ผลิตยุ่งยากเพิ่มขึ้นด้วย (ตามความเข้าใจของผม)

ถ้าในกรณีที่เป็นนาฬิกาแบบ Date หรือ No Date อันนี้ผมจะพยามยามทำตัวเฉยๆ แต่กับนาฬิกาแบบ Day/Date ผมซีเรียสนิดๆ แบบมีเหตุผลส่วนตัวอย่างที่อธิบายข้างต้น และคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยก็ได้ เพราะถ้าเป็นรุ่น JDM จริงๆ เพลทที่เป็นตัว Day จะต้องมีตัวอักษรคันจิมาให้ด้วยเสมอ

Seiko Prospex Marinemaster SBBN040

จริงๆ ทุกอย่างตรงเคาน์เตอร์ในวันนั้นน่าจะจบลงด้วยดีและเสียเงินอย่างมีความสุข แต่ผมเอะใจตั้งแต่ตอนที่น้องพนักงานเอาคู่มือลงกล่อง เพราะคู่มือของ Tuna Can ที่ผมมีความคุ้นเคย หน้าตามันไม่ใช่อย่างนี้ นี่มาเป็นหน้าปกเงินๆ เหมือนกับ Seiko รุ่นธรรมดาเลย แถมพอหยิบมาดูและพลิกอ่าน กลับกลายเป็นคู่มือกลไก 7C46 ที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งเท่าที่เคยเป็นเจ้าของ Tuna Can มา มันจะเป็นเล่มบางๆ หน้าปกสีฟ้า และเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วน

แต่ที่ชวนให้เจ็บใจมากที่สุดคือ การเปลี่ยนมาใช้รหัส S23626 สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นด้วยช่องแสดง Day ที่เป็นตัวอักษรคันจิมันหายไป เพราะถูกแทนที่ด้วยเพลทที่มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษแทน บางคนอาจจะเฉยๆ แต่กับผมค่อนข้างซีเรียสตรงจุดนี้ค่อนข้างมาก

แต่ซีลถูกแกะออกจากตัวเรือน และผมจับขึ้นทาบบนข้อเรียบร้อยแล้ว ครั้นจะเอ่ยปากไม่เอาก็กลัวน้องคนขายจะทุบเอา เพราะความมาแตกว่าเพลทของ Day ในรุ่นสำหรับขายตลาดต่างประเทศ มันเป็นภาษาอังกฤษและตัวเลขโรมัน ก็ตอนที่ผมกำลังจะตั้งเวลาและวันที่

แต่การที่ป้ายในตู้โชว์มากับคำว่า 40% Off ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวที่มีตั้งแต่ตอนลองนาฬิกาหายไป และยอมที่จะหลับตาข้างหนึ่ง (หรืออาจจะสองข้างเลยก็ได้) เพื่อจะได้ส่วนลดมโหฬารขนาดนี้กับการแลกอะไรที่ขัดใจแบบพอประมาณอย่างเช่นเรื่องนี้ได้

พาออกนอกเรื่องเข้ารกเข้าพงมาหลายบรรทัด มาดูกันว่า Seiko Prospex Marinemaster S23626 เป็นอย่างไร
ก็อย่างที่บอกว่าผมประทับใจนาฬิกาเรือนนี้มาตั้งแต่เปิดตัวใน Baselworld 2018 ในวาระของการฉลองครบ 40 ปีของ Golden Tuna ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1978 แต่กว่าจะลงตลาดและเริ่มขายได้ก็ต้องรอจนถึงเดือนตุลาคมกันเลยทีเดียว ตอนนั้นผมเปรยๆ กับเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ของ Seiko ที่คุ้นเคยว่าอยากได้เรือน และคุณน้องก็ใจดี๊ใจดี เก็บเอาไว้ให้ผมเรือนหนึ่ง แต่ด้วยความฝืดของวิตามิน M ในช่วงปลายปีนั้น ทำให้ต้องปฏิเสธไปก่อน…โปรเจ็กต์ก็เลยพับไป แต่ก็กลับมาหลังจากนั้นไม่นานในสไตล์ดวงคนมันจะเสียเงิน เพราะจำได้ว่า ผมแอบโดดงานไปเดินที่ห้างแห่งหนึ่ง เพราะหวังจะไปดู Sneaker ลดราคา แต่สุดท้ายรองเท้าก็ไม่ได้แถมเสียเงินเยอะกว่าค่ารองเท้าหลายสิบเท่า

อย่างที่เราทราบกันดีว่าเจ้า Golden Tuna ยุคแรกมากับรหัส 7549-7009 และถือเป็นนาฬิการุ่นดังในกลุ่ม Tuna Can ของพวกเขา ด้วยจุดเด่นกับตัวเรือนทรง Monocase และการตกแต่งเพิ่มสีสันให้ดูลงตัวด้วยโทนดำ-ทอง พร้อมกลไกควอตซ์และความสามารถในการกันน้ำระดับ 600 เมตร

โดยในปี 1983 ทาง Seiko เคยจับ Golden Tuna ลงไปเที่ยวใต้ท้องทะเลและปรากฏว่ามันลงไปได้ลึกสุดถึง 1,062 เมตร หรือมากกว่าสเป็กที่ระบุร่วมเท่าตัว
สำหรับตัว Re-Issue อย่าง SBBN040/S23626พยายามที่จะคงเอกลักษณ์หลายเรื่องเอาไว้ ทั้งสีทองที่ออกแนวหม่นๆ ไม่ค่อยสดใส ซึ่งผมว่าก็ดีแล้วละ ไม่อย่างนั้นจะ Bling Bling ไปหน่อย โดยตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียมเคลือบสีทองทั้งเรือน และเกราะ หรือ Shroud ผลิตจากเซรามิกเหมือนกับ Tuna Can Quartz 1000M ทั่วไป

สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบสำหรับ Tuna Can Quartz 1000M

คือ ขนาดที่ไม่เป็นภาระกับข้อมือและใส่ง่ายในทุกโอกาสมากกว่าพวกที่ใช้กลไกอัตโนมัติ หรือในกลุ่ม Emperor Tuna เพราะขนาดตัวเรือนแม้ว่าจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 49.4 มิลลิเมตร แต่ด้วยการที่ตัวนาฬิกาไม่มีขาสายและออกแนวเหมือนกับลูกฮ็อคกี้ ทำให้เรียกว่าพอดีกับข้อมือเลย ส่วนความหนาที่บางคนอาจจะมองแล้วว่าหนาเกินไป แต่เอาเข้าจริงๆ ตัวเลข 15.3 มิลลิเมตร ถือว่าลงตัวและไม่หนาจนเกินไป สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกใจผม และอาจจะรวมถึงแฟนๆ ของ Seiko ทั่วโลกคือ รุ่นนี้ไม่มีโลโก้ PS หรือ Prospex มาให้จุกจิกกวนใจทั้งบนหน้าปัดหรือบนหน้าตัดของเม็ดมะยม

Seiko Prospex Marinemaster SBBN040

ในแง่ของหน้าปัดและชุดเข็ม เรียกว่าเป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคดั้งเดิม เพราะทั้งหน้าปัดและเข็มถอดแบบมาจาก Golden Tuna รุ่นแรก รวมถึงตัวรัดขายแบบหนาและใหญ่ พร้อมกับเจาะรู เหมือนกับนาฬิกาดำน้ำรุ่นคลาสสิคของ Seiko

Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626
Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626

ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผมตัดสินใจไม่ยากในการเป็นเจ้าของ เพราะเป็นนาฬิกาที่ผลิตใหม่ แต่มีดีไซน์เฉพาะตัวที่คล้ายกับของเดิม แต่เพิ่มเติมคืออะไรที่สดใหม่กว่า ความรู้สึกยังเหมือนเดิมสำหรับนาฬิกาในกลุ่ม Tuna Can ไม่ว่า Quartz หรืออัตโนมัติ เป็นที่สวย มีเอกลักษณ์ และใส่ง่ายเพราะด้วยความที่เป็นทรงกลมก็เลยหมดปัญหาเรื่องล้นข้อสำหรับคนข้อมือเล็ก

เพราะอย่างน้อยผมว่าถ้าข้อมือไม่ต่ำกวา 6.5 นิ้วน่าจะรับมือกับขนาดของ Seiko Tuna Can 1000M ได้ นอกจากนั้น ยังใช้งานสะดวกเพราะเป็นกลไกควอตซ์ ไม่ต้องมานั่งตั้งเวลากันใหม่ให้เมื่อย
เหมือนกับ Tuna Quartz ทั้งหลาย ในรุ่น SBBN040/ S23626 ใช้กลไกควอตซ์ในรหัส 7C46 ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับนาฬิการุ่นนี้มานานหลายปี และถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานนาฬิกาในกลุ่ม Prospex ซึ่งใน Tuna Can เป็นกลไกที่ใส่อยู่ในทั้งรุ่น 300 และ 1,000 เมตร เป็นกลไกที่ Seiko พัฒนาขึ้นมาเอง มีแรงบิดยอดเยี่ยมชนิดที่ขับเคลื่อนเข็มชั่วโมงและนาทีที่มีขนาดใหญ่ของ Golden Tuna ได้ และได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกควอตซ์ที่ทนทานและเชื่อใจได้ในการทำงานระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยตัวแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้นานถึง 5 ปี ส่วนความเที่ยงตรงก็อยู่ราวๆ +/-15 วินาทีต่อเดือน และตั้งแต่รู้จักกับ Tuna Can Quartz มาราวๆ 10 กว่าปีเจ้านี่ไม่เคยงอแงเลย แถมในตอนนี้เปลี่ยนแบตเตอรี่ของ Tuna Can 1000M ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากชนิดที่ต้องกลับญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว ก็อย่าได้ไปกลัวอะไรในประเด็นนี้อีกต่อไปสำหรับใครที่สนใจเจ้าปลากระป๋อง
ราคาตามป้ายของ S23626 ในบ้านเราอยู่ที่ 91,000 บาทและมีการผลิต 1,978 เรือนตามปีที่ Golden Tuna รุ่นแรกเปิดตัวออกมา แน่นอนถ้าไม่รักกันจริงมีสะดุ้ง ส่วนคนที่รักจริงก็สะดุ้งนิดๆ แต่ก็ยอมกัดฟันเดินหน้าต่อไป เพราะอย่างที่ผมเคยบอกเสมอว่า ลงได้หลงรักเจ้า Tuna แล้ว ถ้ากำลังทรัพย์เอื้ออำนวย นาฬิการุ่นนี้มักจะเป็นตัวเลือกแรกที่ผมมักจะหาเรื่องเสียเงินให้ Seiko เสมอ

ข้อมูลทางเทคนิค

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 49.4 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 49.4 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 15.3 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • ตัวเรือน : Monocase ผลิตจากไทเทเนียม ไม่มีฝาหลังแยก
  • กระจก : แซฟไฟร์
  • กลไก : ควอตซ์ 7C46 พร้อมระบบ End Life Indicator
  • จำนวนทับทิม : 7 เม็ด
  • อายุแบตเตอรี่ : 5 ปี
  • การกันน้ำ : 1,000 เมตร
  • ประทับใจ : งานออกแบบที่ได้อย่างลงตัว กลไกที่ทนและเชื่อใจได้
  • ไม่ประทับใจ : รุ่นที่ได้มาเป็น International Version จานวันที่เป็นตัวภาษาอังกฤษ ไม่ใช่คันจิ
Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626
Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626
Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626 Seiko Prospex Marinemaster SBBN040 / S23626