สำหรับคนที่ชื่นชอบนาฬิกดำน้ำของ Seiko ทรงกระป๋องที่เรียกว่า Tuna Can อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ รุ่นควอตซ์ ซึ่งนอกจากตัวเรือนที่ไม่หนา แล้วยังสบายในการหยิบมาใส่ด้วย
Seiko Prospex Marinemaster SBBN027 ลงตัวบนข้อมือแต่เปลี่ยนแบตฯ คงเหนื่อย
-
รุ่นใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในปี 2015
-
กลไกควอตซ์ 7C46 อายุแบตเตอรี่ 5 ปี
-
กันน้ำ 1,000 เมตร และต้องเซอร์วิสจากการเปิดกระจกหน้า
ผมเคยคิดเล่นๆ เหมือนกันนะครับว่า ความหลงของผมที่มีต่อเจ้า Seiko Tuna Can (นับเฉพาะพวก 1,000 เมตรเท่านั้นนะครับ) จะไปสิ้นสุดลงตรงไหน ถึงขนาดทำเป็นฟาร์มเหมือนกับที่เคยหลง Casio G-Shock Frogman หรือว่าจะมีแค่ติดกรุกันเรือนสองเรือนเท่านั้น
เอาเป็นว่าคงไม่ถึงกับมีจำนวนสองหลักเหมือนกับสมัย Frogman แน่ๆ แต่ก็คงไม่ได้มึภาพเหมือนกับข้อหลัง เพราะ Passion ของผมกับเจ้าปลากระป๋องยังไปได้เรื่อยๆ แม้ว่าบางช่วงจะมีอาการเบื่อๆ อยากๆ แต่สุดท้ายถ้าเห็นมีอะไรหลงเข้ามาแล้วทรัพยากร ณ วินาทีนั้นเอื้ออำนวย Seiko Tuna Can มักจะได้สิทธิ์ในการทำให้ผมเสียเงินก่อนเป้าหมายอื่นเสมอ เหมือนอย่างเจ้า SBBN027 หรือเจ้าของฉายา Yellow Tuna เรือนนี้
นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวเมื่อปี 2015 เมื่อครั้งที่ Seiko ฉลองครบรอบ 50 ปีของการผลิตนาฬิกาดำน้ำ และในกลุ่มของ Tuna Can ทั้งรุ่น 1,000 และ 300 เมตรมีการปรับไลน์อัพกันยกใหญ่สำหรับกลุ่มรุ่นปกติ (ส่วนรุ่น Limited ก็มีรุ่น Platinum Ocean และ Gold Ocean ออกมาขาย) สิ่งที่เห็นด้วยตาจากภายนอกคือ การเปลี่ยนชุดเข็มและหน้าปัดใหม่ ส่วนรุ่น 1,000 เมตร ในคลาส Emperor Tuna ก็มีการเพิ่มตัว Rose Gold ออกมา ส่วนรุ่นควอตซ์ ที่เมื่อก่อนมีแค่ตัวเรือนดำอย่าง Darth Tuna เพียงอย่างเดียว ก็มีทางเลือกใหม่อย่างรุ่น SBBN027 ที่มีความโดดเด่นกับขอบ Bezel และเข็มนาทีสีเหลืองมาเป็นอีกทางเลือก
ถามว่าชอบไหม…ตอนที่เห็นใหม่ๆ สารภาพเลยว่าเฉยๆ เพราะส่วนตัวในชุดที่ออกมาใหม่นั้นผมชอบเจ้า Rode Gold ในรหัส SBDX014 และเจ้า Ocean Platinum หรือ SBBN029 มากกว่า ดังนั้นงบฯ ตอนนั้นก็เลยเทไปที่เจ้า2 ตัวนี้แทน ส่วนเจ้านี่ต้องรอกันนานถึง 4 จึงมีโอกาสได้จัดการสอยเข้ากรุ แม้ว่าจะเป็นมือสองก็ตาม
สำหรับ SBBN027 กับข่าวที่ว่ามีการ Discontinued ไปแล้วนั้นจริงหรือเปล่า … อันนี้ผมคงให้คำตอบไม่ได้จนกว่าจะมีการตรวจสอบอย่างชัดเจน เพราะบางครั้งพวกพ่อค้าตามบอร์ดมักจะชอบใช้คำนี้เพื่อกระตุ้นการขายอยู่เสมอ เหมือนกับที่ผมเจอกับ Sumo ที่ได้ยินมานานร่วมๆ 5 ปีแต่สุดท้ายกว่าที่จะได้เห็นรุ่นใหม่ก็ต้องรอจนถึงปี 2019 โน่น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ เช็คจากเว็บอย่างเป็นทางการของ Seiko ซึ่ง SBBN027 ถูกถอดออกไปแล้ว เหลือแค่ SBBN025 ที่เป็น Darth Tuna ใหม่เท่านั้น คำตอบจึงน่าจะเป็นไปตามนั้น
และถ้าถามต่อว่าเลิกผลิตแล้วหากยากไหม ? คำตอบคือ ไม่ยากถ้ามี ‘เงิน’ เหตุที่ต้องเน้นคำว่าเงินเพราะของยังมีให้ชอปตามออนไลน์อีกเพียบทั้งจากร้านในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ร้านในไทย ซึ่งตอนช่วงสงกรานต์ ผมมีโอกาสแวบไปเยี่ยมร้านคุณต๋องที่ซีคอนสแควร์ ก็ยังเห็นเจ้า SBBN027 ของใหม่วางขายอยู่ แต่นั่นคือของใหม่ และถ้าอยากได้ ส่วนลดพอประมาณจากค่าตัวราวๆ 70,000 กว่าบาท ยังไงผมว่าราคาหลังหักส่วนลดแล้วก็ยังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ดี…สำหรับคนที่ได้ไม่ Passion กับมัน ส่วนการควานหาของมือสองในตลาด บอกเลยว่า หายากพอสมควร
อย่างที่สารภาพว่าตอนแรกที่ได้เห็นหน้าตาของมันแล้ว ผมค่อนข้างเฉยๆ นะ อาจจะเป็นเพราะสีสันที่เยอะเกินไป แต่เอาจริงๆ แล้วหลังจากที่ได้เสียเงินและของเดินทางมาอยู่กับมือ เหตุการณ์กลับตารปัด กลายเป็นว่า ผมชอบมาก แม้ว่าเจ้า Quartz Tuna 1,000 เมตร จะไม่ได้มีอะไรใหม่เลยจากที่ผมเคยสัมผัสมาก่อน และเมื่อสวมอยู่บนข้อมือแล้ว สีเหลืองตัดกับสีดำของตัวเรือนทำให้ดูค่อนข้างเด่นอย่างมาก บวกกับเกราะหรือ Shroud ที่ผลิตจากเซรามิกและมากับความเงาแวบ ทำให้ตัวเรือนดูสวยและลงตัวขึ้นอย่างมาก ส่วนคนที่เคยชอบความเข้มแบบดำด้านๆ ของ Darth Tuna ตั้งแต่ยุค SBBN011/SBBN013 อาจจะขัดใจกับความเงาของมันที่มีมากเกินไป…ซึ่งตอนแรกที่ผมได้เห็นก็มีอาการอย่างนี้เหมือนกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากโดยเฉพาะพวกนาฬิกาดำน้ำและเจ้า SBBN027 มีให้ก็คือ
การทำเข็มนาทีในแบบ Plongeur Hands คือ การทำให้เข็มที่จำเป็นต่อการจับเวลาร่วมกับสเกลบน Bezel มีความเด่นขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการใช้งานเวลาที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งคำว่า Plongeur เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่านักดำน้ำหรือ Diver นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เจ้า SBBN027 มีเพื่อนร่วมคอลเล็กชั่นอีกหลายเรือน และถูกล็อกโดยดีไซน์หลักของนาฬิการุ่นนี้คือ เข็มชั่วโมงเป็นทรง Arrow Hand ขนาดใหญ่ และเข็มนาทีเป็น Sword Hand ที่มีขนาดเล็กกว่า งานนี้ก็เลยทำให้เด่นแค่การใช้สีที่แตกต่างเท่านั้น แทนที่จะเข็มนาทีจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและสีที่แตกต่างเหมือนกับเข็มแบบ Plongeur Hand ที่ตรงตามตำราเป๊ะๆ
ขนาดตัวเรือนทรงกลมแบบ Hockey Pug ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 49.4 มิลลิเมตร (เช่นเดียวกับ Lug to Lug) และหนา 15.3 มิลลิเมตร หลายคนอาจจะเมินหน้าหนีเพราะดูจากแค่ตัวเลข แต่เอาจริงๆ แล้วผมว่า Tuna Can 1000m Quartz คือ นาฬิกาที่ลงตัวกับข้อมือเล็กและใหญ่ เพราะทั้งเส้นผ่านศูนย์กลาง Lug to Lug และความหนาอยู่ในระดับที่รองรับกับข้อมือตั้งแต่ระดับ 6.5 นิ้วขึ้นไปได้ไม่ยาก อย่างผมข้อมือ 7 นิ้ว ผมยังรู้สึกว่ามันเล็กไปหน่อยด้วยซ้ำ เพราะเคยชินกับการสวมเจ้า Emperor Tuna ที่ทั้งหนาและใหญ่กว่า แต่พอได้ลองคาดสัก 3-4 วันติดต่อกัน ผมว่ามันเป็นนาฬิกาที่ใส่แล้วลงตัวและคล่องตัวมาก ไม่เทอะทะจนเกินไปเหมือนกับตัวกลไกอัตโนมัติที่มีความหนากว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องยอมรับให้ได้ก่อนที่จะตกหลุมรักนาฬิกาตระกูล Tuna Can ตัว 1,000 เมตรที่เป็นทรง Monocase นั่นคือ ความยุ่งยากและวุ่นวายในการเซอร์วิส (ไม่ว่าจะเป็นควอตซ์ หรืออัตโนมัติก็ตาม) เพราะด้วยการที่เป็นนาฬิกาแบบไม่มีฝาหลังดังนั้นเวลาจะทำอะไรทุกอย่างต้องทำกันที่ด้านหน้าเท่านั้น นั่นคือ ถอดกระจกและหน้าปัดออกก่อน ดังนั้น ทุกครั้งที่จะต้องทำอะไร ก็ต้องไปที่ศูนย์ซ่อมของ Seiko เป็นดีที่สุด และตรงนี้คือเงื่อนไขแรกที่ต้องรับทราบก่อนที่จะชอบ
อย่าง SBBN027 เรือนที่ผมได้มานั้น คาดว่าปีหน้าน่าจะต้องถึงเวลาของการเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้ว เพราะนาฬิกาเป็นปี 2015 และอายุแบตเตอรี่ตามที่ระบุในสเป็กก็คือ 5 ปี ซึ่งเมื่อพลิกฝาหลังมาดู คุณจะพบกับสเกลที่มีการระบุตัวเลขเป็น 2 ตัวท้ายของค.ศ. เพื่อช่วยในการจำว่าคุณเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปเมื่อไร ซึ่งอย่าง SBBN027 ก็เริ่มต้นที่ปี 2020 ส่วนอีกวิธีการเตือนคือ ตัวกลไกจะมีฟังก์ชั่นการแจ้งเตือน คือ เข็มวินาทีเดินทีละ 2 วินาที เพื่อบอกว่าแบตเตอรี่เริ่มอ่อน และควรไปเปลี่ยนได้แล้ว
กลไก 7C46 ซึ่งเป็นระบบควอตซ์ของ Seiko นั้นถือว่ามีความยอดเยี่ยมในเรื่องความเที่ยงตรงระดับ +/-15 วินาทีต่อเดือน ทนทาน และประหยัดพลังงาน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาร่วม 5 ปีในการเปลี่ยนถ่านสักครั้งหนึ่ง ขณะที่ความถึกของมันก็เคยผ่านการพิสูจน์มาแล้วกับวิดีโอที่ Seiko นำไปทดสอบในการดำดิ่งลงใต้ท้องทะเล ซึ่งตัว Tuna Can ตัวควอตซ์หยุดการทำงานที่ความลึก 3.284 กิโลเมตร โดยกลไกรุ่นนี้วางอยู่ในนาฬิกาตระกูล Tuna Can ที่เป็นควอตซ์ทั้งรุ่น 1,000 เมตร และ 300 เมตร
อีกสิ่งที่ผมค่อนข้างชอบใน Tuna Can Quartz คือ การเป็น Day Date ก่อนที่จะไปถึงเหตุผล หลายคนที่อ่าน Review ผมมาหลายเรื่องอาจจะมีคำถามโผล่มาว่า ปกติผมจะบอกว่าชอบนาฬิกาที่ No Date หรือ Date มากกว่า Day Date แต่คราวนี้ทำไมกลับลำละ ? ใช่ ผมยังชอบ No Date กับ Date มากกว่าเหมือนเดิม แต่สำหรับกลไกอัตโนมัติ หรือไขลานเท่านั้น เพราะขี้เกียจมายุ่งยากตอนตั้งวันและวันที่ แต่ถ้าเป็นควอตซ์ผมจะชอบ Day Date มากกว่า เพราะไม่ต้องมานั่งวุ่นตั้งวันที่ยกเว้นตอนเดือน คม กับ ยน และกุมภาพันธ์เท่านั้น
ส่วนเรื่องความชอบที่มีต่อ Tuna Can Quartz โดยเฉพาะคือ เรื่องความเป็น JDM เพราะที่จานเพลทของช่อง Day นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว พวกเขายังมีตัวอักษรคันจิของวันประจำสัปดาห์มาให้ด้วย ตรงนี้ละถูกใจมากๆ เพราะมันคือความพิเศษที่ทำให้ Tuna Can มีทำให้กลิ่นของประเทศต้นกำเนิดโชยออกมาเลย และผมก็มักจะตั้งวันด้วยตัวอักษรคันจิเสมอ แม้ว่าภาษาญี่ปุ่นสมัยเรียนมหาวิทยาลัยจะได้เกรดไม่เกิน D ก็ตาม
ปกติแล้ว Tuna Can 1,000 เมตรที่เป็นตัว Quartz จะมีราคาตามป้ายหลังหักส่วนลดในญี่ปุ่นประมาณ 170,000-190,000 เยนขึ้นอยู่กับร้าน ส่วนบ้านเรา ราคาป้ายแดงก็ขยับขึ้นมาอยู่ราวๆ 70,000 บาท ซึ่งบางคนอาจจะเมินหน้าหนี เพราะความคิดว่าที่ว่านาฬิกากลไกควอตซ์ไม่ควรมีราคาสูงขนาดนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
แต่ถ้าคุณมี Passion ยังไงราคาระดับนี้ก็ยังพอกลั้นใจหลายๆ รอบเพื่อคว้าเข้ามาอยู่ในกรุให้ได้ และถ้าจะให้ดีก็รอช่วงที่มีการเซลส์กระหน่ำ ซึ่ง Tuna Can Quartz มักจะมีติดร่างแหตามมาด้วย เพราะอย่างน้อยก็ช่วยประหยัดไปได้อีกเยอะ
นาฬิกดำน้ำของ Seiko ทรงกระป๋องที่เรียกว่า Tuna Can
ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Marinemaster Prospex SBBN027
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง : 49.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 49.4 มิลลิเมตร
- หนา : 15.3 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- ตัวเรือน : ไทเทเนียม+เกราะเซรามิก
- กระจก : แซฟไฟร์ เคลือบสารกันแสงสะท้อน
- กลไก : ควอตซ์ 7C46
- ความคลาดเคลื่อน :+/- 15 วินาทีต่อเดือน
- แบตเตอรี่ : 5 ปี
- ระดับการกันน้ำ : 1,000 เมตร
- จุดเด่น : สวย ใช้วัสดุที่ดี ใช้งานง่าย เพลท Day มีตัวอักษรคันจิ
- จุดด้อย : การ Service ไม่ค่อยสะดวก ราคาค่อนข้างสูง
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/