การกลับมาของหน้าปัดแบบ Porcelain ที่เคยเปิดตัวครั้งแรกในคอลเล็กชั่น Presage เมื่อปี 2019 ซึ่งในรุ่นใหม่จะมีการทำตลาดด้วยกัน 2 รุ่นย่อยสำหรับตลาดทั่วโลก แต่ในญี่ปุ่นจะมีเพียงแค่รุ่นย่อยเดียวเท่านั้น

Seiko Presage Craftsmanship series เด่นบนหน้าปัด Arita Porcelain Dial
-
การกลับมาของหน้าปัดแบบ Porcelain ที่เคยสร้างชื่อมาแล้วเมื่อปี 2019
-
จำหน่าย 2 รุ่นย่อยบนตัวเรือน 40.5 มิลลิเมตร ซึ่งหน้าปัดแต่ละรุ่นจะมีสีสันที่แตกต่างออกไป
-
เริ่มจำหน่ายในเดือนมิถุนายนกับราคา 1,750 ยูโร
คอลเล็กชั่น Presage ของ Seiko ขึ้นชื่อในเรื่องของความสวยงามและประณีต โดยเฉพาะรายละเอียดจากหน้าปัดที่ผลิตด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญในด้านงานฝีมือ และในปีนี้ Presage Craftsmanship series ของ Seiko มากับความสวยงามและลงตัวของหน้าปัดแบบ Arita Porcelain Dial ที่จะมีจำหน่ายด้วยกัน 2 รุ่นคือ SPB293J1 และ SPB319J1

นับจากปี 2016 เป็นต้นมา คอลเล็กชั่น Presage ของ Seiko ถือเป็นจุดศูนย์รวมของงานฝีมือจากช่างในประเทศญี่ปุ่นที่ถูกสะท้อนผ่านหน้าปัดภายใต้ชื่อคอลเล็กชั่นย่อยอย่าง Craftsmanship series ซึ่งนาฬิกาที่เปิดตัวออกมาในช่วงนั้นก็มีทั้งหน้าปัดแบบ Enamel , Shippo Enamel, Urushi และ Porcelain โดยเป็นการสร้างสรรค์ด้วยฝีมือช่างผ่านทางการทำหน้าปัดเพื่อเชื่อมต่อรากฐานของการผลิตหน้าปัดเหล่านี้เข้ากับเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคนิคเหล่านี้ และ Arita คือ ตัวแทนของหน้าปัดแบบ Porcelain
สำหรับหน้าปัดแบบ Porcelain ของ Arita นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่ต้องย้อนกลับไปในปี 2019 เมื่อ Seiko เริ่มต้นผลิตรุ่น Limited Edition ออกมาในรหัส SPB267J1 ในชื่อ Presage Blue Porcelain และจากนั้นก็ถึงคิวของรุ่นใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวออกมาในตอนนี้กับรุ่น SPB293J1 และ SPB319J1
Arita คือ เมืองที่อยู่ในเกาะ Kyushu ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 และอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น โดยมีชื่อเสียงในการผลิตกระเบื้องเคลือบแบบ Porcelain มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 เพราะดินเหนียวที่นี่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสมในการผลิตกระเบื้องเคลือบ และช่างฝีมือที่นี่ได้สั่งสมความชำนาญในการผลิตงานศิลป์เหล่านี้มาตั้งแต่สมัยนั้นและมีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นกันอย่างต่อเนื่อง และทาง Seiko ได้นำความชำนาญนี้มาถ่ายทอดลงบนนาฬิการุ่น Presage ของพวกเขา โดยที่มีช่างฝีมืออย่าง Hiroyuki Hashiguchi เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม การผลิตหน้าปัดประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ตัวหน้าปัดที่ผลิตด้วยกรรมวิธีโบราณมีความทนทานและแข็งแกร่ง เหมาะสมกับการใช้ในนาฬิกาข้อมือ โดยจะต้องมีความแข็งแกร่งมากกว่ากระเบื้องเคลือบ Porcelain แบบเดียวกันถึง 4 เท่า และการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ หมายความว่า ตัวชิ้นงานจะต้องถูกขึ้นรูปจากแม่พิมพ์ที่มีความเที่ยงตรงในแง่ของขนาด และใช้ความร้อนในการอบถึง 1,300 องศาเซลเซียสหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่น่าพอใจ
![]() |
![]() |
สำหรับ SPB293J1 และ SPB319J1 จะมากับตัวเรือนที่ผลิตจากสแตนเลสสตีลซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40.5 มิลลิเมตร โดยในรุ่นแรกจะมากับสายสแตนเลส และอีกรุ่นเป็นสายหนัง ซึ่งแม้ว่าหน้าปัดจะผลิตด้วยกรรมวิธีของการผลิต Porcelain แต่สีหน้าปัดที่ได้ก็แตกต่างกัน โดยในรุ่น SPB293J1 จะออกสีขาว และรุ่น SPB319J1 จะเป็นสีครามแบบอมฟ้านิดๆ ซึ่งเป็นการผลิตด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า Ruri Zome
การขับเคลื่อนจะเป็นหน้าที่ของกลไกอัตโนมัติในรหัส 6R31 ที่มีกำลังสำรอง 70 ชั่วโมง และสามารถมองเห็นรายละเอียดของชุดกลไกผ่านทางฝาหลังแบบใส
ทั้ง 2 รุ่นจะทำตลาดในต่างประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยราคาทั้ง 2 รุ่นจะเท่ากันที่ 1,750 ยูโร แต่สำหรับตลาดญี่ปุ่นจะมีเพียงรุ่นเดียวคือ SPB293J1 ที่จะเปลี่ยนมาเป็นรหัส SARX095 และเริ่มทำตลาดตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนเป็นต้นไป
รายละเอียดทางเทคนิค : Seiko Presage Craftsmanship series
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 40.5 มิลลิเมตร
- ความหนา : 12.8 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 48.8 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
- กระจก : Sapphire ทรงโค้ง เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : รหัส 6R31 แบบอัตโนมัติ
- ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
- ความเที่ยงตรง : -15 ถึง +25 วินาทีต่อวัน
- กำลังสำรอง : 70 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 100 เมตร
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline