Seiko Prospex SRPD27K Monster ใหม่ ปรับหน้าตาให้ดูลงตัวขึ้น

0

ในที่สุด Seiko Prospex SRPD27K Monster ใหม่ก็เปิดตัวในเมืองไทยแล้ว โดยมีขายด้วยกัน 2 รุ่นย่อย SRPD25K และ SRPD27K ซึ่งแน่นอนว่าเราจัดการสอยเข้ากรุแล้วจับมารีวิวเพื่อบิลด์อารมณ์ให้กับบรรดาแฟนๆ ช่วยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

- Advertisement -

Seiko Prospex SRPD27K Monster

Seiko Prospex SRPD27K Monster ใหม่ ปรับหน้าตาให้ดูลงตัวขึ้น

  • เปิดตัวในไทย 2 รุ่น SRPD25K และ SRPD27K

  • มีการปรับปรุงรายละเอียดหลายจุดจนดูลงตัวขึ้น

  • ราคาจำหน่าย 17,000 และ 18,500 บาท

แม้ว่าจะไม่ได้เป็นดาวเด่นในงาน Basel World 2019 ในแง่ของการนำเสนอผ่านทางแบรนด์เอง แต่ผมเชื่อนะครับว่านี่คือ 1 ใน 2 รุ่นของ ไซโก ที่แฟนทั่วโลกเฝ้ารอ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า Monster (และอีกเรือนคือ Sumo) ใหม่เป็นนาฬิกาที่ครองใจคนทั่วโลก และมีส่วนในการช่วยขยายฐานลูกค้าให้กับแบรนด์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น

การเปิดตัวรุ่นใหม่ที่มีขายกันในรหัส SRPD25K และ SRPD27K สำหรับเวอร์ชันตลาดโลกนั้นเป็นอะไรที่ลูกค้าชาวไทยเฝ้าติดตามข่าวมาตลอด และผมไม่ลังเลใจเลยที่จะเดินทางไปเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อทาง ไซโก ให้เกียรติกับทาง Ana-Digi.com โทรมาเชิญเข้าร่วมเปิดตัว พร้อมกับที่พนักงานขายขาประจำของผมก็โทรเรียกให้มารับของได้แล้วที่งานซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา

แม้ว่า Monster กับผมจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาและอยู่ไม่เคยติดกรุได้นานเลยก็ตาม แต่บอกก่อนว่าการไม่อยู่ติดกรุของผมไม่ได้หมายความว่านาฬิการุ่นนี้ไม่ดีหรือไม่น่าสนใจ เพียงแต่จังหวะและโอกาสที่บางครั้งมีใครสักคนในหมู่เพื่อนสนิทดันมาแซะซะงั้น แล้วผมก็ดันหลงคารมมันซะด้วย การปิดดีลก็เลยเกิดขึ้นโดยที่มีอารมณ์แอบเสียดายนิดๆ…ส่วนรุ่นใหม่นี้ออกตัวก่อนว่ายังอยู่ในช่วงของฮันนี่มูนพีเรียด คงจะแซะยากหน่อย (ถ้าคารมไม่ดีพอ)

อย่างที่หลายท่านทราบ จริงๆ แล้วนาฬิการุ่นนี้ไม่ได้มีชื่อว่า Monster มาตั้งแต่เกิด แต่เป็นชื่อที่นักสะสมและนักเล่น ไซโก เป็นคนตั้งฉายาให้ และก็กลายเป็นชื่อเล่นที่ถูกเรียกติดปากมาโดยตลอดเหมือนกับเต่า นินจา และซูโม่ ซึ่งถ้าจะให้พูดเหมือนกับคนเล่นพวก Big Boy’s Toy ทั้งหลาย Seiko Monster คือ ของสามัญประจำกรุ เรียกว่าถ้าคุณจะปวารณาตัวเองเป็นนักสะสม ไซโก ยังไงก็จะต้องมี Monster ติดเอาไว้ในกรุเช่นเดียวกับบรรดาชื่อเล่นที่ผมเกริ่นมาก่อนหน้านี้

ในรุ่นใหม่จะมีการแยกออกเป็น 2 รหัสตามสไตล์การแบ่งรหัสรุ่นของ ไซโก ยุคใหม่ (ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไร) คือ เวอร์ชัน JDM ของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีขายด้วยกัน 3 รุ่น คือ SBDY035 หน้าดำสายยาง SBDY033 หน้าน้ำเงินซันเรย์สายเหล็ก และ SBDY037 ตัวเรือนรมดำสายเหล็ก แต่ในตลาดโลกและเมืองไทยใช้รหัส รหัส SRPD25K ในรุ่นสายเหล็ก  SRPD27K ในรุ่นสายยาง และ SRPD29K สำหรับรุ่นรมดำ โดยในเมืองไทยช่วงแรกมีขายเพียง 2 รุ่นแรกเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ทราบทุกอย่างไม่ต่างกันในแง่จุดหลักๆ แต่ที่แน่ๆ ในรุ่น JDM จะใช้เพลทวันที่ซึ่งเป็นตัวคันจิ อันนี้สิค่อยดูแล้วพิเศษหน่อย

Seiko Prospex SRPD27K Monster ใหม่ ปรับหน้าตาให้ดูลงตัวขึ้น

Seiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K Monster

จะว่าไปแล้วการเปิดตัวรุ่นใหม่นี้ ซึ่งเป็นเจนเนเอรชั่นที่ 4 (เจน 1 คือรุ่นแรก เจนที่ 2 คือ รุ่น The Fang และเจน 3 คือ พวก Monster JDM ที่ใช้กลไก 6R15) ถือว่ามาถูกช่วงถูกเวลา เพราะเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีของ Monster ซึ่ง ไซโก เปิดตัวรุ่นแรกในรหัส SKX779 และ SKX781 เมื่อปี 2000 แต่ก็ถือเป็นการเปิดตัวรุ่นใหม่ที่สอดคล้องกับช่วงเวลาพิเศษที่ส่วนตัวแล้วผมว่าน่าผิดหวังไปสักนิดนึงตรงที่มันมีความต่างในแง่รูปลักษณ์หลักจากรุ่นที่ผ่านมาน้อยไปหน่อย ไหนๆ เป็นรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในช่วงฉลอง 2 ทศวรรษ น่าจะมีการพลิกโฉมให้ชัดเจนไปเลย

แต่ก็พอจะเข้านะครับว่ามันเป็นงานที่หินเหมือนกันกับการที่จะต้องรีดีไซน์ภายใต้แนวคิดการคงรูปแบบและสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Monster มันก็เลยทำให้ยากที่จะก้าวข้ามจากข้อจำกัดตรงนี้ในแง่ของการสร้างความต่างในมุมของภาพรวมของรูปลักษณ์ภายนอก

แต่ถึงกระนั้น ผมก็ถือว่าคือ Monster รุ่นหนึ่งที่ดูสะดุดตา เพราะการปรับปรุงในส่วนรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้นั่นแหละ เมื่อรวมกันเป็นตัวเรือนแล้วดูโดดเด่นมาก โดยเฉพาะชุดเข็มชั่วโมงและนาทีในสไตล์หัวลูกศร รวมถึงเข็มวินาที ซึ่งหลายคนอาจจะแย้งว่ามันก็ดูคล้ายกับหลายเจนที่ผ่านมานั่นแหละ แต่แค่การปรับบางส่วน เช่น การลบแนวเส้นที่ลากยาวบนหัวลูกศร หรือการปรับส่วนท้ายของเข็มวินาทีให้เป็นแบบยาวแทนที่มีรูปทรงเหมือนกับพัด หรือพื้นของเข็มที่เป็นแนวขัดด้าน ผมว่ามันช่วยทำให้ชุดเข็มลงตัวขึ้นนะ

นอกจากนั้น หลายคนอาจจะบอกว่ามองผ่านๆ เจ้า SRPD25K และ SRPD27K ยังดูคล้ายกับรุ่นเดิม แต่เอาเข้าจริงๆ ไซโก มีการปรับปรุงหลายจุด และค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ซึ่งนอกจากชุดเข็มที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีอีกจุดที่ผมแฮปปี้มากคือ ไม่มี Crown Guard

ในช่วง 3 เจนที่ผ่านมา บอกเลยว่าผมหงุดหงิดกับชิ้นส่วนนี้มากเวลาที่ต้องหมุนเม็ดมะยมเพื่อปรับเวลา เพราะเจ้า Crown Guard ชอบขูดกับนิ้ว อาจจะไม่ถึงกับเจ็บ แต่ก็ทำให้รู้สึกรำคาญ ส่วนเม็ดมะยมมีการเปลี่ยนลายจากรุ่น Gen 2 มาเป็นแบบเซาะร่องเหมือนกับรุ่นแรก และการเปลี่ยนขอบข้างของ Bezel จากเดิมที่มีการเซาะร่องมาเป็นแบบผิวเรียบ ซึ่งมองในแง่ของหน้าตาไม่เกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยแล้ว ผมว่ามันดูลงตัวขึ้น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนฟอนต์ตัวเลขให้ดูสวยขึ้น

ฝาหลังเปลี่ยนใหม่ และดูลงตัวขึ้น มีขนาดใหญ่กว่ารุ่นเดิม เพราะสิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบกับฝาหลังรุ่นเดิมคือ มันเป็นแบบขัดเงาที่มีโอกาสเกิดรอยได้ง่าย โดยเฉพาะพวกที่ใส่สายเหล็ก

อีกจุดคือ ในรุ่นมาตรฐานที่ออกมาขายช่วงแรกมีการปรับโทนสีของพรายน้ำได้ลงตัว ซึ่งเมื่อมองในยามกลางวัน คุณจะได้กลิ่นอายของความเป็นวินเทจจากพรายน้ำสีอมเหลืองนิดๆ แต่เมื่อกินแสงจนเต็มที่ และต้องทำงานเมื่ออยู่ในที่มืด พรายน้ำก็มากับโทนสีฟ้า ซึ่งเป็นอะไรที่ถูกใจมาก เพราะตามปกติแล้ว ไซโก มักจะเลือกใช้พรายน้ำสีเขียวมากกว่า มันก็เลยเป็นสิ่งแปลกใหม่

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้ขาดที่เป็นปัจจัยทำให้ผมตัดสินใจควักเงินซื้อ Monster ใหม่ โดยเฉพาะเจ้าตัวสายยาง หรือ SRPD27K คือ ดีไซน์ของสายยางเข้ากับตัวนาฬิกามาก บอกเลยว่าใน 2 Gen ที่แล้วผมไม่ไม่ถูกโฉลกกับสายยางจากโรงงานของ ไซโก อย่างมาก  โดยเฉพาะตรงข้อย่นที่ทำให้เป็นตัว V แต่สำหรับสายรุ่นใหม่ (ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะแชร์ร่วมกับนาฬิกาดำน้ำสายยางรุ่นอื่นๆ ที่มีความกว้างขาสาย 20 มิลลิเมตรอย่าง Mini Turtle) กลับมีดีไซน์ที่ลงตัว และเข้ากันได้ดีกับ Monster ใหม่

ตัวสายยางที่ใช้ในรุ่น SRPD27K นอกจากจะมีความนุ่มมือแล้ว ตรงข้อย่นที่ออกแบบให้เป็นแนวเส้นตรงนั้น ถูกจริตผมอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อวางอยู่เฉยๆ ไม่ได้ขึ้นข้อ ซึ่งดูแล้วสะดุดตามาก และเมื่อจับขึ้นข้อ ผมมีความรู้สึกว่าการออกแบบในเรื่องของการสอบเข้าของปลายสายนั้นมีระยะที่เหมาะสมและสอดรับกับตัวเรือนอย่างลงตัวมากกว่าสายยางของรุ่นเดิม และตัวข้อย่นเองก็ทำหน้าที่ให้นาฬิกาดูเต็มข้อมือ

หลังจากได้ลองทาบ ลองเปลี่ยนสายแบบต่างๆ แล้ว ผมคิดว่าได้ข้อสรุปคร่าวๆ คือ ถ้าคนข้อมือใหญ่ในระดับ 7 นิ้ว Monster อาจจะเป็นนาฬิกาที่เล็กไปหน่อยเพราะทั้ง Lug to Lug และเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ได้เยอะอะไร ดังนั้นการได้สายยางพร้อมข้อย่นจะช่วยเติมเต็มจุดนี้ได้เป็นอย่างดี อาจจะเป็นเพราะการโค้งและการเบ่งออกทางด้านข้างของข้อย่นบนสาย แต่พอเปลี่ยนมาเป็นสายอื่นๆ เช่น สายหนัง หรือสาย NATO ผมจะมีความรู้สึกว่านาฬิกาดูเล็กไปเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะตัวสายต้องโค้งและแนบไปตามข้อมือ

แต่ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหากับตรงนี้หรือคิดมากเหมือนผม…จุดนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร

ส่วนรุ่นสายเหล็กนั้น เท่าที่มีโอกาสสัมผัส ผมว่าสายเหล็กชุดใหม่ที่มีการปรับปรุงลวดลายและชุดด้านบนที่เป็นข้อต่อนั้น ผมว่าทำให้สายดูแน่นหนาขึ้นเมื่อประกอบอยู่บนตัวเรือน แต่ส่วนตัวผมว่าการเปิดตัวรุ่นย่อยมีน้อยไปหน่อย เพราะในแต่ละรุ่นย่อยที่ของ Seiko Monster ใหม่นั้น ความต่างของมันดันไม่ได้มีแค่สายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโทนสีของหน้าปัด ก็เลยเหมือนกับสภาวะจำยอมนิดๆ  เพราะบางคนอาจจะชอบหน้าปัดดำและสายเหล็กหรือหน้าปัดฟ้ากับสายยาง แต่สุดท้ายก็ซื้อไม่ได้ เพราะรุ่นย่อยที่มีขายไม่มีตัวเลือกนี้มาให้

ในแง่ของมิติตัวเรือนนั้น ทั้ง SRPD25K และ SRPD27K ไม่ได้มีมิติในเชิงตัวเลขที่ใหญ่ขึ้นจากรุ่นเดิมเท่าไร เช่น เส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือนระดับ 42.4 มิลลิเมตร และ Lug to Lug ที่ผมลองวัดแล้วอยู่ที่ประมาณ 49 มิลลิเมตรนิดๆ (ตามสเป็กคือ 49.4 มิลลิเมตร) ซึ่งก็เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกแค่ 2 มิลลิเมตรโดยประมาณเท่านั้น (เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลเดิมที่ผมมี)

ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นการปรับบนพื้นฐานของชิ้นส่วนตัวเรือนรอบนอกก็จบแล้ว ส่วนความกว้างขาสายก็ยังเท่าเดิม 20 มิลลิเมตร ขณะที่ขนาดหน้าปัดที่เป็นตัวกระจกผมว่าทาง ไซโก ไม่ได้ไปยุ่งอะไร และน่าจะมีขนาดใกล้เคียงหรือเท่ากับรุ่นเดิม น่าเสียดายที่ผมไม่ได้มีรุ่นเก่าๆ เอาไว้เปรียบเทียบละ

ส่วนในแง่ของสเป็กนั้นไม่ได้มีอะไรที่พิเศษหรือพิสดาร ซึ่งทั้ง SRPD25K และ SRPD27K มีราคาตั้งอยู่ในระดับเดียวกับนาฬิกา Prospex กลุ่ม Sea รุ่นกลางๆ อย่าง Samurai Baby Tuna และ Turtle คือมีราคาป้ายหมื่นกลางๆ ค่อนมาทางปลายๆ ดังนั้น กลไก 4R36 ที่ใช้อยู่ก็ไม่ใช่ของใหม่อะไรในนาฬิกากลุ่มนี้ อีกทั้ง ไซโก เปลี่ยนกลไกให้กับ Monster มาใช้รหัส 4R36 มาตั้งแต่ยุคของ The Fang แล้ว ซึ่งกลไกชุดนี้มั่นใจได้ในเรื่องความทนทาน และความสะดวกในการซ่อมบำรุง

4R36 มากับฟังก์ชั่นวันและวันที่ (Day/Date) สามารถ Hack เข็มวินาทีเพื่อความเที่ยงตรงในการตั้งเวลาหรือจับเวลาในระดับวินาที ขึ้นลานมือได้ ตัวกลไกมีทับทิมจำนวน 24 เม็ด เดินด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง และมีกำลังสำรองในระดับที่รับได้คือ 41 ชั่วโมง ตรงนี้ไม่มีอะไรติดขัด และเชื่อว่าแฟนๆ ไซโก คงคุ้นเคยกับกลไกนี้กันมาไม่มากก็น้อย เพราะถือเป็นกลไกมาตรฐานสำหรับนาฬิการุ่นกลางๆ ของพวกเขา

สำหรับค่าตัวของ SRPD25K และ SRPD27K ถูกตั้งเอาไว้ที่ 18,500 และ 17,000 บาทนะ ก็สอดคล้องกับราคาของนาฬิกาดำน้ำในกลุ่มนี้ซึ่งจะมีราคาป้ายอยู่ในช่วงราคาประมาณนี้ บางคนอาจเอาราคาของ Monster รุ่นเก่าๆ มาเปรียบเทียบ แน่นอนว่ามันแพงขึ้นอย่างแน่นอนตามกาลเวลา เพราะถ้าจำได้ Monster รุ่นแรกมีช่วงราคาอยู่เกือบหมื่นไปจนถึงหมื่นนิดๆ แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นราคาเมื่อ 20 ปีที่แล้วนะ

ส่วนที่เหลือคราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับส่วนลดที่คุณจะได้รับจากร้านค้ากันแล้ว ถ้าซื้ออย่างที่ผมซื้อ แน่นอนว่าส่วนลด 15% อาจจะดูน้อย แต่ก็แลกมาด้วยสายหนังอีกชุดที่ทาง ไซโก แถมมาให้ และสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์สุดคลาสสิคของผมและใครหลายคน ‘จ่ายก่อนหล่อก่อน…อย่าไปคิดมากแม้ว่าจะต้องอยู่บนดอยก็ตาม’

รายละเอียดทางเทคนิค

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42.4 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 49.4 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 13.4 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
  • กระจก : Hardlex พร้อม Cyclop
  • กลไก : 4R36 Day/Date แฮคเข็มวินาที และขึ้นลานมือได้
  • สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมง
  • จำนวนทับทิม : 24 เม็ด
  • ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
  • ความเที่ยงตรง : +/-15 วินาทีต่อวัน
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : ชุดเข็ม พรายน้ำ สายยาง
  • ไม่ประทับใจ : ดีไซน์ที่ดูแล้วเหมือนไม่ค่อยเปลี่ยน ตัวเลือกรุ่นย่อยมีน้อย

Seiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K MonsterSeiko Prospex SRPD27K Monster