นาฬิกาดำน้ำอีกรุ่นหนึ่งจาก Seiko ที่มีเอกลักษณ์ชวนให้หน้าหลงใหล ซึ่งต้องยอมรับว่า MarineMaster 300 หรือ MM300 SBDX001 เป็นนาฬิกาที่คุ้มค่ามากทั้งในเรื่องของคุณภาพการผลิต กลไกที่มั่นใจได้ และสมรรถนะในการใช้งาน จนกลายเป็น Tool Watch ที่ถูกจับไปเปรียบเทียบกับนาฬิกาดำน้ำสัญชาติสวิสส์อยู่เป็นประจำ
Seiko MarineMaster MM300 SBDX001 คุ้มค่าอย่างมีเอกลักษณ์
ผมเชื่อว่าเวลาที่คุณหลงใหลอะไรสักอย่างที่มีคำว่าแบรนด์พ่วงเข้ามาด้วย หลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้น เรามักจะมีการกำหนดจุดหมายปลายทางของการผจญภัยครั้งนั้นเอาไว้เสมอ ซึ่งนาฬิกาก็เช่นเดียวกัน ตอนที่ผมปวารณาตัวเองว่าจะขอเพิ่มไลน์ในการสะสมแตกออกมาอีกเพื่อเดินหน้าเข้าสู่โลกของ Seiko นั้น ผมก็มีการกำหนดจุดหมายปลายทางของตัวเองเอาไว้ว่าระหว่างทางจะต้องเจออะไรบ้าง และจะต้องเดินไปให้ถึงระดับที่ตัวเองเอื้อมมือไปแตะได้โดยที่ไม่เหนื่อย ซึ่งสิ่งที่อยู่ปลายทางสำหรับผมก็คือ SBDX001 หรือที่แฟนๆ Seiko บ้านเราชอบเรียกว่า MM300 ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า MarineMaster 300
นั่นคือ เป้าหมายของผมที่เกิดขึ้นเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว ในยุคที่แฟนๆ Seiko ในบ้านเรายังไม่ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกลุ่ม SMT-Seiko Mania Thailand ใน facebook และเป็นยุคที่ตัวเลือกรุ่นท็อปในเคาน์เตอร์ Seiko ในบ้านเรายังไม่มาก ซึ่ง MM300 คือ หนึ่งในนั้น โดยเหตุผลที่ผมชอบนาฬิการุ่นนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าความมีเอกลักษณ์ของมันกับตัวเรือนแบบ Monocase ไม่มีฝาหลัง ซึ่งในตอนนั้น สมัยที่การเซอร์วิสยังเน้นซัพพอร์ตไลน์อัพที่ขายในไทยเป็นหลัก และทาง Seiko Thailand ยังไม่ได้เข้ามาลุยอย่างเต็มตัว บอกเลยว่า ถ้าจะต้องทำอะไรกับ MM300 ในแง่ของกลไก ต้องส่งกลับไปบ้านเกิดเพียงสถานเดียว แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่บั่นทอนความตั้งใจของผมสักเท่าไร
ราคาป้ายในตอนนั้นถ้าผมจำไม่ผิดมีระดับ 70,000 บาทนิดๆ (แต่ปัจจุบันราคาป้ายของรุ่น SBDX017 ที่เป็นตัวแทนขยับขึ้นเป็น 83,000 บาทไปซะละ) และต้องสั่งจองกับเคาน์เตอร์ ซึ่งสำหรับนาฬิกาแบรนด์ Seiko กับบริบทตอนนั้นบอกได้เลยว่า ราคานี้…ต้องรักจริงสถานเดียว
แล้วทำไมผมถึงชอบ MM300 หรือ ?
โอเค ถ้าไม่นับเรื่องความชอบส่วนตัวในแง่เอกลักษณ์ของตัวนาฬิกาที่เป็น Monocase ซึ่งผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้ว นี่คือ Seiko ที่ผมเห็นแล้วชอบมากในเรื่องของดีไซน์ ตัวเรือนออกแบบให้โค้งรับกับข้อมือคล้ายๆ กับ Sumo มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป แค่เส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตร แต่หนา 15 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug แม้จะไม่ยาวมากแค่ 50 มิลลิเมตร แต่เมื่อคาดอยู่บนข้อมือขนาด 7 นิ้วของผมแล้วถือว่ายิ้มให้อย่างเห็นได้ชัด และผมชอบนาฬิกาที่มีความสมดุลของมิติตัวเรือน เล็กหน่อยไม่เป็นไร แต่ได้ลูกหนาเข้ามาเสริม
รายละเอียดบนตัวเรือนมีการขัดเงาสลับด้านดูแล้วลงตัวอย่างมาก และการเลือกใช้ขาสายแบบเจาะรูเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างโปรดปราน และน่าจะเรียกว่าเป็นอีกเอกลักษณ์ของนาฬิกาดำน้ำของ Seiko เช่นเดียวกับการวางเม็ดมะยมเอาไว้ที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกาเลยก็ว่าได้ และสะดวกอย่างมากในการสลับสายชนิดที่แทบไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลยแค่ไม้จิ้มฟันอันเดียว และเวลาจะใส่กลับ ก็แค่เอาเล็บกดปลายสปริงบาร์แล้วดันเข้าไปก็เป็นอันจบ
หน้าปัดและเข็มเป็นอีกจุดที่ทำให้ผมค่อนข้างหลงใหล MM300 ทั้งเรื่องการใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ ตัวหนังสือบนหน้าปัดอาจจะเยอะหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับรุงรังเหมือนบางแบรนด์ที่อย่างกับมีเรียงความย่อยๆ บนหน้าปัด การขัดลายบนชุดเข็ม รวมถึงการออกแบบรูปทรงของเข็มชั่วโมงและนาทีแบบทรงแท่งตรง แม้จะเรียบๆ แต่ดูดีมาก หรือหลักชั่วโมงทรงกลมและทำเบ้าโลหะเอาไว้รองรับกับพรายน้ำ เมื่อประกอบกันอยู่บนหน้าปัด บอกเลยว่ามองได้ไม่รู้เบื่อ
กลไกที่วางใน MM300 อาจจะเป็นสิ่งที่ผมให้ความสนใจไม่มากเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ท่าน เพราะส่วนตัวอาจจะไม่ใช่มาจากสายฮาร์ดคอร์ก็เลยไม่ค่อยเน้นหนักตรงนี้มาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า กลไก 8L35 ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ใช้อยู่ใน Emperor Tuna และอิงอยู่บนพื้นฐานเดียวกับกลไก 9S55 ที่ใช้อยู่ใน Grand Seiko หลายรุ่น เดินได้เนียนตามากกับความถี่ระดับ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และยังสำรองพลังงานได้ดี อยู่ที่ 50 ชั่วโมง และที่สำคัญคือเป็นพวก Date มีแต่วันที่ ซึ่งมีช่องแสดงอยู่ตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถูกจริตผมมาก
ทั้งหมดคือ จุดเด่นที่ MM300 มีในมุมของผม และถูกจับไปเปรียบเทียบกับนาฬิกาดำน้ำพิมพ์นิยมจากสวิสส์อย่าง Rolex Submariner และ Omega Seamaster Pro300 ซึ่งหลายค่ายฟันธงให้กับ MM300 ในแง่ความคุ้มค่า เพราะค่าตัวถูกกว่าเป็นเท่าตัว
แล้วที่ไม่ชอบละมีบ้างไหม ?
มีแน่นอน อย่างแรกคือ สาย ไม่ว่าสายเหล็กหรือสายยาง ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังเมื่อหันไปมองจำนวนเงินที่ควักจ่ายไป สายแบบแรกแม้ว่าจะดูแล้วมีคุณภาพที่สมกับค่าคัวที่จ่ายไป แต่ลายของสายและตัวรัดสายนั้นธรรมดามาก ดูผ่านๆ แล้วแทบไม่ต่างจากนาฬิการุ่นธรรมดาของ Seiko เลย ขณะที่สายยาง ด้วยเหตุที่พวกเขาชอบทำสายยางแบบย่นๆ เหมือนกับเป็นข้ออ่อนในตัวเพื่อความสะดวกในการคาดดับ Wet Suit แต่พอมากับลายวัฟเฟิลบนสาย ด้วยรูปแบบที่มีข้อย่นมันก็เลยทำให้ลายกระจายเป็นหย่อมๆ ดูแล้วขัดหูขัดตาไปหน่อย ถ้าจะทำน่าจะเลือกไปเลยว่าทำแบบสายเรียบๆ ไม่มีลาย หรือไม่ก็ไม่ต้องมีข้อย่นแต่ทำให้เป็นลายวัฟเฟิลตลอดทั้งเส้นเหมือนกับสายยางพวกวินเทจไปเลย ออกแนวรักพี่เสียดายน้อง มันก็เลยไปไม่สุดทางสักฝั่ง
คราวนี้ มาถึงคำถามพันล้านสำหรับคนที่ยังไม่มี MM300 อยู่ในมือว่า จะซื้อรุ่นไหนดี ระหว่าง SBDX001 กับ SBDX017 ที่เป็นตัวปรับโฉม ?
ผมว่าในเคสลักษณะนี้ให้คำตอบยากกว่าการเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อ Emperor Tuna รุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าดี เพราะจุดต่างๆ ของ MM300 ทั้ง 2 รุ่นนี้แทบไม่มีให้เห็นด้วยตาเปล่าเลย ยกเว้นการมีโลโก้ X บนหน้าตัดของเม็ดมะยม (ซึ่งหลายคนบอกว่าน่าเกลียด แต่ผมค่อนข้างเฉยๆ) หลายอย่างโดนพ่อค้าออนไลน์ปั่นกระแสโดยเฉพาะรหัสเก่าที่ Discontinued หรือเลิกผลิตไปแล้ว ว่าจะกลายเป็นของมีค่าในอนาคต (แต่จะเมื่อไรละ?)
เอาส่วนตัวผมเลยนะ ถ้ายังไม่มี แล้วในเมื่อความต่างในเชิงภาพลักษณ์ไม่ได้ต่างกันมากมาย ยังไงผมก็เลือกรุ่นใหม่ เหมือนกับซื้อรถยนต์บางรุ่นระหว่างรุ่นดั้งเดิมกับรุ่นปรับโฉมซึ่งหน้าตาแทบไม่ได้เปลี่ยน แต่สเป็กสูงกว่า แล้วอย่างนี้คุณจะจ่ายเงินในราคาใกล้เคียงกันเพื่อเอาของที่เก่ากว่าหรือ ? ถ้าบอกว่าเป็นการซื้ออนาคต ก็อาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ เพราะเรื่องมันยังไม่เกิด และเป็นการคาดการณ์ แต่ผมเลือกปัจจุบันก่อนดีกว่า เพราะมันคงไม่สดใสขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วนอย่างแน่นอนสำหรับนาฬิกาลักษณะนี้ ที่สำคัญผมว่าเรื่องนี้คงจะเป็นประเด็นในวงสนทนาสำหรับรุ่นลูกหรือรุ่นหลานของเราเสียมากกว่า แล้วอย่างนี้ทำไมผมจะต้องมาแคร์ด้วยละ
นั่นคือมุมมองของผมในฐานะการหาของใหม่ต่อของใหม่ด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันน่าจะหายาก เพราะ SBDX001 ยุติการผลิตไปแล้ว ซึ่งถ้าคุณคิดที่จะซื้อของใหม่มือ 1 ยังไงก็ต้องไป SBDX017 ที่หาง่ายกว่า ตัวเรือนเคลือบด้วยกรรมวิธี DiaShield ที่ช่วยลดการเกิดรอยบนตัวเรือนได้ดีขึ้น และความสว่างของพรายน้ำที่มากขึ้นจากรุ่นเดิม
สเป็กที่สูงขึ้นแต่หน้าตายังดูคล้ายเดิมเกือบ 100% เป็นคุณจะเลือกแบบไหนละ ?
รายละเอียดทางเทคนิค : Seiko MarineMaster300 SDBX001/SBDX017
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
- ความหนา : 15 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 50 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย : Stainless 316L
- กระจก : Hardlex แบบ Double Domed
- กลไก : 8L35
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน : 50 ชั่วโมง
- ความเที่ยงตรง : -10/+15 วินาทีต่อวัน
- ระดับการกันน้ำ : 300 เมตร
- ประทับใจ : หน้าตา ความประณีต ตัวเรือนแบบ Monocase กลไก
- ไม่ประทับใจ : น้ำหนัก รูปแบบของสาย ความยุ่งยากในการเซอร์วิส กระจกแบบ Hardlex
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/