Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

0

‘ควอตซ์ หรือ ออโต้?’ เราเชื่อว่าเป็นคำถามที่เกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะกับ Seiko Marinemaster 1000m ในกลุ่ม Tuna Can ซึ่งสิ่งที่แตกต่างไม่ได้มีแค่ความต่างของราคาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงขนาด การใช้งาน และไปจนถึงการบำรุงดูแลรักษา

Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

- Advertisement -

สำหรับคนที่หลงใหลใน Seiko Marinemaster Tuna Can ตัวท็อปที่มีระดับการลงน้ำเทียบเท่า 1,000 เมตร และใช้ตัวเรือนแบบ Monocase ไม่มีฝาหลัง

ผมว่าการลังเลใจที่ว่าจะเลือกซื้อรุ่นที่เป็นควอตซ์ หรือเป็นอัตโนมัตินั้น ไม่น่าจะมีอยู่ในหัวเพราะเชื่อว่าพวกคลั่งต้องเก็บหมดเท่าที่สินทรัพย์จะเอื้ออำนวย แต่สำหรับผู้ที่เป็นขาจร หรืออาจจะเพิ่งมาหลงใหลเอากับเจ้าปลากระป๋องรุ่นนี้ ผมคิดว่าคำถามในลักษณะ ‘ควอตซ์ หรือ ออโต้’ เป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัว และสร้างความลำบากใจในการตัดสินไม่มากก็น้อย เพราะผมเคยผ่านจุดนี้มาก่อน

ย้อนความกันสักนิดสำหรับคนที่อาจจะเพิ่งเคยอ่านบทความนี้ป็นครั้งแรก Tuna Can คือ นาฬิกาดำน้ำรูปแบบหนึ่งของ Seiko ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1975 และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแวดวงด้วยการใช้ตัวเรือนแบบโมโนเคส ไร้รอยต่อ และไม่มีฝาหลัง จนทำให้นักดำน้ำและนักสะสมนาฬิกาทั่วโลกต่างหลงใหลนาฬิการุ่นนี้ของ Seiko

จากการที่เป็น Tool Watch  ที่เกิดขึ้นมาเพื่อการใช้งานของนักดำน้ำ ดังนั้น ประเด็นในเรื่องความทนทาน และความเชื่อมั่นในการใช้งานว่าจะไม่ดับกลางทางจึงมีความสำคัญอย่างมาก ตรงนี้ส่งผลต่อการทำตลาดในช่วงแรกของ Tuna Can ที่จะมีแต่กลไกควอตซ์ หรือไม่ก็ Kinetic ในการทำตลาด ส่วนกลไกอัตโนมัติก็มีบ้างแต่ก็ไม่เยอะ

แน่นอนว่าในแง่ของคนซื้อที่เป็นนักสะสมนาฬิกา แต่ไม่ใช่นักดำน้ำ การใช้กลไกอัตโนมัติย่อมน่าสนใจกว่า ด้วยความคิดที่ว่า เข็มเดินเรียบ ไม่ต้องเปลี่ยนถ่านให้วุ่นวาย โดยเฉพาะกับเจ้า Tuna Can ที่เป็นโมโนเคสนั้น การเปลี่ยนถ่านแต่ละทีวุ่นวายและยุ่งยากมาก เพราะต้องเปิดกระจกเอากลไกออกจากทางด้านหน้า แต่ประเด็นคือ ราคาของรุ่นกลไกอัตโนมัติก็แพงกว่าเกือบเท่าตัว

เอาละ…สำหรับคนที่อยากจะเข้าสู่วังวนของ Tuna Can และอาจจะยังไม่ข้อมูลอยู่ในใจเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ วันนี้ เรามาดูความแตกต่างของ Tuna Can ตัว 1,000 เมตรระหว่างรุ่นควอตซ์ และอัตโนมัติกันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร  ไม่เกี่ยวกับ Tuna Can รุ่นเล็กที่เป็นตัว 300 เมตรนะครับ

ป.ล. งานนี้บอกก่อนว่าทรัพยากรในกรุมีจำกัด เพราะหลังจากขาย Darth Tuna กินไปแล้ว มันก็เลยแค่ตัวที่เป็น Limited อย่างเจ้า SBDN029 ซึ่งในแง่ของขนาดและรายละเอียดบางอย่างเหมือนกับพวกควอตซ์ตัวธรรมดา ยกเว้นวัสดุกับพรายน้ำ ก็เลยขอนำมาใช้เปรียบเทียบประกอบกับเจ้า SBDX014 นะครับ

Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

ขนาด : ดูจากสเป็กของทั้ง 2 แบบในเรื่องของขนาดตัวเรือนแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าความต่างของ 2  รุ่นนี้มีแค่เรื่องของกลไก อารมณ์ประมาณรถยนต์รุ่นเดียวกันแต่วางเครื่องยนต์ต่างกัน แต่บอกเลยว่า ‘ไม่ใช่’ เพราะขนาดตัวเรือนของทั้ง 2 รุ่นต่างกันด้วย และแน่นอนว่าตรงนี้ส่งผลต่ออารมณ์ในการสวมใส่เวลาอยู่บนข้อมือ โดยเฉพาะพวกที่มีข้อมือเล็กและมีความเซ็นซิทีฟกับเรื่องขนาดทั้งเส้นผ่านศูนย์กลางและความหนา

Tuna Quartz Tuna Automatic
เส้นผ่านศูนย์กลาง 49.4 52
Lug-to-Lug 49.4 52.8
ความหนา 15.3 17.2
น้ำหนัก (กรัม) 118 159
ความกว้างขาสาย 22 22

 

จะเห็นได้ว่า Tuna Can ที่เราเรียนกันว่า Emperor Tuna นั้นมีขนาดที่ใหญ่กว่าตัวควอตซ์ (ซึ่งถ้าเป็นรุ่นตัวเรือนสีดำล้วนอย่าง SBBN011/SBBN013 หรือรุ่นใหม่อย่าง SBBN025 จะเรียกว่า Darth Tuna) ในทุกมิติ เช่นเดียวกับน้ำหนักที่มากกว่า 41 กรัม

ขณะที่เรื่องของความกว้างขาสายของทั้งคู่เท่ากันที่ 22 มิลลิเมตร แต่สิ่งที่ต่างกันคือ รูปแบบของขาสาย ซึ่งในกลุ่มควอตซ์นั้น จะไม่ใช่ขาที่มีรู ต่างจากรุ่นกลไกอัตโนมัติที่ใช้แบบขามีรู ซึ่งให้ความสะดวกกว่าเพราะคุณสามารถใช้ไม้จิ้มฟันกดสปริงบาร์ได้จากทางด้านข้าง ดังนั้น ในรุ่นควอตซ์จะเปลี่ยนสายยากกว่านิดนึง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร

Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

วัสดุ  : คุณอาจจะคิดว่าน่าจะใช้เหมือนกันทั้งหมด เอาละ เราคงต้องบอกว่าไม่ใช่อย่างที่คิด และถ้าจะให้นั่งไล่สเป็กตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบันอาจจะเหนื่อย เอาเป็นว่าขอยึดรุ่นที่มีขายอยู่ในตลาดเป็นหลัก โดยวัสดุของ Tuna Can ที่มีการพูดถึงนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ  Case หรือตัวเรือน และ Shroud หรือ เกราะที่หุ้มอยู่รอบนอก

โดยปกติแล้วในรุ่นควอตซ์ที่เป็นตัว 1,000 เมตรจะใช้ไทเทเนียมเป็นวัสดุหลักในการผลิตตัวเรือน และจะใช้เกราะแบบเซรามิก ยกเว้นในรุ่นพิเศษอย่างตัว White Dolphin SBBN019 และ Blue Ocean SBBN021  ที่ใช้วัสดุเซรามิกแบบเคลือบสีในการผลิตเกราะ หรือในรุ่นใหม่อย่าง SBBN029 Platinum Ocean ที่เห็นในภาพก็จะเป็นตัวเรือนไทเทเนียม และใช้วัสดุใหม่ที่เรียกว่า Cermet ในการผลิตเกราะ ซึ่งเป็นการผสมระหว่าง Ceramic กับวัสดุชนิดพิเศษที่ทำให้เกราะมีความแวววาว

ส่วนในรุ่นอัตโนมัตินั้นจะเป็น ไทไทเนียมทั้งตัวเรือนและเคส (เกราะเป็น Coated PVD Titanium) มาตั้งแต่ Emperor Tuna ในรหัส SBDX011 ยกเว้นรุ่นพิเศษ SBDX016 หรือ Gold OCean ที่ผลิตออกมา 700 เรือน ซึ่งตัวเกราะจะเป็นแบบ Cermet ซึ่งผลิตจากเซรามิก

ขณะที่สายก็เป็นแบบซิลิโคนทั้งคู่ และใช้กระจกแบบแซฟไฟร์

พรายน้ำ : ต้องบอกว่านี่คือ สิ่งที่บรรดาแฟนๆ ของ Seiko เชื่อมั่นได้ในแง่ของความสว่าง และ Tuna Can ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง โดยในรุ่นใหม่ๆ อย่าง SBBN025/027 และ SBDX013/014 ทาง Seiko บอกความประสิทธิภาพของพรายน้ำจะสว่างขึ้นจากรุ่นเก่าๆ อีก 60% ดังนั้นมีแสบตาแน่นอน

ส่วนในรุ่นพิเศษอย่าง SBBN029 และ SBDX016 นอกจากพรายน้ำบนหน้าปัดแล้ว ยังมีการเคลือบพรายน้ำเอาไว้บน Bezel  ด้วยตรงตัวเลข 0-20 เพื่อความสะดวกในการจับเวลาเวลาอยู่ในที่มืด

ฟังก์ชั่น : เสน่ห์ของ Tuna Can ที่ใช้กลไกคอวตซ์ และทำให้ผมค่อนข้างหลงใหลมันคือ ฟังก์ชั่น Day/Date และเป็นครั้งแรกที่ผมชอบฟังก์ชั่นนี้ ทั้งที่เวลาอยู่ในกลไกอัตโนมัติผมจะไม่ค่อยชอบเลย นั่นเป็นเพราะว่า ในส่วนของตัว Day นั้น จะมีทั้งส่วนที่เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษ และตัวอักษรคันจิที่ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ทำให้พิเศษ และแปลกสุดๆ สำหรับคนที่ชอบอะไรที่เป็น JDM

นอกจากนั้นกลไก 7C46 ที่ใช้กันมาอย่างยาวนานนั้น แม้ว่า Seiko จะเคลมว่ากินแบตฯ น้อย และมีอายุแบตฯ ที่ขยายจาก 3 ปีในรุ่นเก่าๆ มาเป็น  5 ปีในรุ่นปัจจุบัน แต่ก็ยังมี Battery Indicator ติดตั้งมาด้วย โดยระบบนี้จะบอกว่าถึงเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้ว ด้วยการที่เข็มวินาทีจะเดินกระตุกทุกๆ 2 วินาที ซึ่งตรงนี้จะช่วยได้อย่างมากในการรับรู้ถึงเวลาเอาเข้าศูนย์ เพราะแบตเตอรี่ของ Tuna Can ไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ ต้องถอดกันเป็นเรื่องเป็นราว

ส่วนรุ่นกลไกอัตโนมัตินั้น มากับฟังก์ชั่น Date ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่โดดเด่นและแตกต่างจากนาฬิกาทั่วไป

Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

สมรรถนะในการดำน้ำ : แม้ว่าบนหน้าปัดจะบอกว่ามีความทนทานต่อแรงดันในระดับเทียบเท่า 1,000 เมตรเหมือกันทั้งคู่ แต่ความสามารถในการดำจริงๆ ของ Tuna Can ควอตซ์ และอัตโนมัตินั้นแตกต่างกันอย่างมาก โดยในช่วงที่ครบรอบ 50 ปีของการทำตลาดนาฬิกาดำน้ำของ Seiko พวกเขาเคยทำคลิปทดสอบตรงนี้กับรุ่น SBBN013 และ SDBX011 และพบว่ารุ่นควอตซ์หยุดทำงานที่ระดับความลึกประมาณ 3,284  เมตร หรือมากกว่าสเป็กถึง 3 เท่า และรุ่นอัตโนมัติ หยุดที่ความลึก 4,299 เมตร หรือมากกว่า 4 เท่า เป็นการยืนยันถึงความอึดที่แท้จริง ซึ่งเราๆ ท่านๆ คงไม่ได้ลงไป นอกจากจะเอาตัวเลขที่เขาทดสอบกันมาไว้โม้กับเพื่อนๆ

สมรรถนะในด้านอื่นๆ : ไม่ว่าจะเป็นรุ่นควอตซ์ หรืออัตโนมัติมีความทนทานต่อสนามแม่เหล็กในระดับ 4,800 A/m ส่วนเรื่องความทนทานต่อแรงกระแทกนั้นในรุ่นควอตซ์ไม่ได้ระบุเอาไว้ แต่ในรุ่นใหม่อย่าง SBDX013/014 ตามวีดีโอโปรโมทระบุว่ามีการทดสอบในการปล่อยให้หล่นจากระดับความสูง 1 เมตรและ Emperor Tuna สามารถผ่านได้โดยที่ไม่มีความเสียหายในเรื่องกลไก

Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?

กลไก : ในรุ่นควอตซ์ใช้กลไก 7C46 มาตั้งแต่ปี 1986 และเป็นกลไกที่ใช้กับทั้งรุ่น 300 และ 1,000 เมตร โดยมีอายุแบตเตอรี่นานถึง 5 ปี เดินด้วยความถี่ 3,600 ครั้งต่อชั่วโมง และมี Power Indicator ในการแจ้งเตือนว่าถึงเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ มีความเที่ยงตรงตามสเป็ก +/-15 วินาทีต่อวัน

ส่วนรุ่น Emperor Tuna นั้นใช้กลไก 8L35 แบบเดียวกับ MM300 เป็นกลไกอัตโนมัติที่มีพื้นฐานเดียวกับรุ่น 9S55 ของ Grand Seiko ตัวกลไกเดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และสามารถสำรองพลังงานได้ 50 ชั่วโมง มีความเที่ยงตรงระดับ +15 ถึง -10 วินาทีต่อวัน โดยสามารถแฮ็คเข็มวินาที และขึ้นลานมือได้

การเซอร์วิส : ไม่ว่าจะเป็นรุ่นควอตซ์ หรืออัตโนมัติ ยุ่งยากพอกัน เพราะต้องแงะกระจกและหน้าปัดเพื่อเอากลไกออกมาเหมือนกับเวลาคุณเปิดฝาปลากระป๋อง เพื่อนำเนื้อมันออกมารับประทาน หลายคนอาจจะบอกว่าตรงนี้คือ จุดด้อยของควอตซ์ เพราะต้องมีกำหนดเปลี่ยนอายุแบตเตอรี่ทุกๆ 5 ปี แต่ในแง่ของอัตโนมัติ ผมว่าก็ไม่ต่างกัน ถ้าคุณจำเป็นที่จะต้องเซอร์วิสตามระยะ อย่างไรก็ตามเข้าศูนย์จัดการอยู่ดี และก็ยุ่งยากพอกัน เพียงแต่ด้วยความที่เป็นอัตโนมัติ คนส่วนใหญ่มักจะนึกในใจว่า ถ้าไม่เสียก็ไม่ต้องซ่อม ดังนั้นส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยที่จะเซอร์วิสกันตามระยะ ยกเว้นจะพังคามือแล้วค่อยไปหาช่าง

ราคา : ถ้าไม่นับตัวที่เป็น Limited Edition แล้ว ราคาป้ายของ Tuna Can Quartz จะอยู่ที่ 237,600 เยน หรือประมาณ 71,000 บาท ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากเมืองไทยเท่าไร แต่ถ้าเป็นตัว Limited อย่าง SBBN029 ราคาจะขยับขึ้นเป็น 291,600 เยน หรือ 87,000  บาทโดยประมาณ ขณะที่รุ่นนี้ราคาขายในเมืองไทยอยู่ที่ 90,000 บาท

ส่วนในกลุ่มของ Tuna Can อัตโนมัติหรือที่เรียกกันว่า Emperor Tuna นั้น ราคาจะขยับขึ้นถึงครึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว อยู่ที่ 378,000 เยน หรือ 113,000 บาท ซึ่งก็พอๆ กับราคาในบ้านเราซึ่งตั้งเอาไว้ที่ 120,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อที่คนส่วนใหญ่เลือกเมินนาฬิกาควอตซ์ ทำให้หลายคนเมินรุ่นควอตซ์ และยอมกลั้นใจไปคบกับตัวอัตโนมัติมากกว่า

สรุป :

ควอตซ์

  • ข้อดี   ใส่ง่าย Day/Date ความทนทาน มีตัววันที่แบบคันจิ ราคาไม่แรงมาก
  • ข้อเสีย   เปลี่ยนถ่านทุก 5 ปี เข็มวินาทีเดินกระตุกไม่เนียนตา ตัวเรือนบางไปหน่อยไม่สะใจ

อัตโนมัติ

  • ข้อดี    กลไก ขนาดที่กำลังดีสำหรับคนข้อมือใหญ่
  • ข้อเสีย   ราคาแพง
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m
Seiko Marinemaster Tuna Can 1000m เลือกควอตซ์ หรือออโต้ดี ?