ถือเป็นสุดยอดนาฬิกาดำน้ำรุ่นหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้สำหรับ Seiko Marinemaster 1000m SBDX014 ซึ่งในตอนนี้มีดีลดีๆ ที่น่าสนสำหรับใครที่อยากจะเป็นเจ้าของ
Seiko Marinemaster 1000m SBDX014 ถ้าใจรักคงยากที่จะปฏิเสธ
-
SBDX014 เปิดตัวในปี 2015 โดยเป็นสีใหม่ในกลุ่ม Emperor Tuna
-
ตัวเรือนทรง Monocase ไม่มีฝาหลังผลิตจากไทเทเนียม และเกราะผลิตจากเซรามิก
-
ใช้กลไก 8L35 เหมือนกับ MM300
พอดีช่วงนี้เห็นข่าว Seiko กำลังนำนาฬิกาน่าสนใจหลายรุ่นมาลดราคา แล้วเผอิญได้เห็นเจ้า Tuna Can 1000M ในรหัส SDBX014 ติดมาด้วย บอกเลยว่า จี๊ดมาก เพราะในช่วงที่กำลังอยากได้ ไฉนถึงไม่มีดีลดีๆ เช่นนี้ เพราะในตอนนั้น การจ่ายเงินในระดับ 120,000 บาทพร้อมกับส่วนลดอันน้อยนิดเพื่อแลกกับการได้ครอบครองเจ้านี่ ถือเป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะตัดสินใจได้ยากถึงยากมาก แต่ ณ วินาทีนั้น บอกเลยว่า อารมณ์มันอยู่เหนือเหตุผลไปแล้ว
ผมกับเจ้า Tuna Can เป็นอะไรที่ถูกอกถูกใจกันมานาน นับตั้งแต่ได้เห็นมันประดับอยู่บนข้อมือของเพื่อนสนิทเมื่อสัก 7-8 ปีที่แล้ว แต่ด้วยงบฯ ที่มีอยู่ในมืออันน้อยนิดบวกกับค่าเงินเยนในสมัยนั้นอยู่ในระดับ 100 เยน 40 บาทบวกลบ การไปถึง Emperor Tuna ในรหัส SBDX011 จึงเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม และความอยากของผมในตอนนั้นก็ไปจบลงที่ Darth Tuna ตัวควอตซ์ในรหัส SBBN013 ที่มีราคาย่อมเยาว์ (แต่กระเป๋าแทบพัง) แทน
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Seiko ปรับไลน์อัพนาฬิกาดำน้ำในตระกูล Marinemaster เมื่อปี 2015 เจ้า Tuna Can ก็โดนไปกับเค้าด้วย กับการปรับเข็ม เปลี่ยนสาย และเพิ่มรุ่นใหม่ๆ เข้ามา โดยในรุ่นอัตโนมัตินอกจาก Emperor Tuna ที่เปลี่ยนรหัสมาเป็น SBDX013 แล้ว ก็ยังมีการเพิ่มรุ่นดำทองแบบ Rose Gold ออกมาในรหัส SBDX014 ด้วย ถามว่าสวยไหม ตอบเลยว่าในตอนแรกเฉยๆ เพราะใจจริงพุ่งเป้าไปที่ SBDX013 มากกว่า
แต่สุดท้ายแล้ว แผนก็เปลี่ยน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำจนเมียต้องมานั่งถามว่าบ้าขนาดนั้นเชียว ก็เลยจัดการแบ่งงบฯ ออกเป็น 2 ก้อน ตัวดำล้วนก็หันไปสอย SBDX011 หรือ Emperor Tuna รุ่นดั้งเดิมแทน และอีกก้อนก็ตกเป็นของเจ้า SBDX014 แทน
Tuna Can หรือ Hockey Puck ถือฉายาของนาฬิกาตระกูลนี้ ซึ่งถูกสืบสานเรื่องราวมาจากรุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า Grandfather Tuna ในหรัส 6159-7010 ที่เปิดตัวในปี 1975 และถือเป็นการเปิดตำนานนาฬิกาดำน้ำทรง Monocase ทรงกระป๋อง และมีเกราะหรือ Shroud หุ้มอยู่ข้างนอกจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สืบสานกันมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ SBDX014 หรือ 8L35-00H0 เป็นรุ่นย่อยที่ถูกเพิ่มเข้ามาในสารบบของนาฬิกาอัตโนมัติ 1000m หลังจากที่มีการปรับโฉม Emperor Tuna และ Darth Tuna ที่เปิดตัวขายมาตั้งแต่ปี 2009 โดยในช่วงที่เปิดตัวออกมานั้นคือปี 2015 ซึ่ง Seiko ฉลองครบรอบ 50 ปีของการบุกเบิกตลาดนาฬิกาดำน้ำพอดี โดยข้อมูลบางกระแสระบุว่าเหตุและผลที่มีการเพิ่มรุ่นดำทองออกมานั้นก็เพราะเป็นการฉลองอีกตัวแทนของนาฬิกาในกลุ่ม Tuna Can ที่เป็นรุ่นดังอย่าง Golden Tuna หรือ 7549-7009 ที่เปิดตัวในปี 1978 โดยแฟนๆ ต่างเรียกขานมันให้เป็น New Golden Tuna ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกันโดยตรงสักเท่าไร
เพราะเท่าที่เช็คดู Golden Tuna ส่วนใหญ่จะใช้กลไกควอตซ์ทั้งนั้น ทั้งตัว 7C46-7008 หรือ SBDS018 ที่เปิดตัวในปี 1986 และเป็นควอตซ์ 1,000 เมตรรุ่นแรก หรือตัว Re-Issue ที่ผลิตขายในไต้หวันอย่าง 7C46-70091 หรือ SSBS018 เมื่อปี 1999 แต่บางคนก็เรียกมันว่าเป็น New Emperor Tuna เหมือนกับ SDBX013 ไปเลย แถมทองที่อยู่บนตัวเรือนของ SBDX014 มันก็ออกแนวสี Rose Gold ไม่ใช่ทองอร่ามโทนเดียวกับ Golden Tuna
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมว่ามันเป็นนาฬิกาที่สวยเรือนหนึ่งเลยทีเดียว และต้องมี Passion อันแรงกล้าอย่างมากเช่นเดียวกับเงินในบัญชี ถึงจะตัดใจสอยเข้ามาอยู่ในกรุได้อย่างไม่ลังเล เพราะด้วยราคาระดับนี้ เราสามารถไปเดินเล่นที่สวิตเซอร์แลนด์กับแบรนด์ดังๆ ได้มากมาย แม้ว่าจะเป็นมือสองก็เถอะ
SBDX014 ได้รับการถ่ายทอดแนวทางในการออกแบบนาฬิกาดำน้ำทรงกระป๋องมาจากรุ่นดั้งเดิมในปี 1975 และผมเคยเขียนหลายครั้งแล้วว่า พวกมันเป็นนาฬิกาที่ไม่มีคำว่าอยู่ตรงกลาง เรียกว่าถ้าไม่หลงกันแบบหัวปักหัวปำ ก็จะมองข้ามไปเลย อาจจะเพราะด้วยความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปซึ่งดูแล้วน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ใช้งานจริง และการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของมันที่หลายคนบอกว่าเหมือนกับเอากระป๋องมาคาดข้อมือ ทำให้หลายคนเลือกที่จะไปคบกับทางเลือกอื่นๆ ดีกว่า เพราะมันเป็นการจ่ายที่ไม่คุ้มค่ากับการใช้งานเลย…แต่อย่าลืมว่า บ่อยครั้งที่เราก็เลือกสอยนาฬิกากันโดยไม่สนใจกับประเด็นนี้กันไม่ใช่หรือ ?
วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตตัวเรือนของ SBDX014 นั้นก็ไม่ต่างจาก Emperor Tuna รุ่นอื่นๆ คือ ใช้ไทเทเนียมเป็นวัสดุหลักในการผลิตตัวเรือน และเกราะผลิตจากเซรามิก โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของตัวนาฬิกาอยู่ที่ 52.4 มิลลิเมตร และ Lug to Lug 53.5 มิลลิเมตรเพราะมีขายื่นออกมาเล็กน้อย ส่วนความหนาอยู่ที่ 17.2 มิลลิเมตร เรียกว่าใหญ่ระดับหนึ่งเลย แต่กำลังดีสำหรับข้อมือ 7 นิ้ว ซึ่งถ้าต่ำกว่านี้อาจจะต้องใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นตัวตัดสินแล้วครับว่า โอเคไหม
สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบในตัวปรับโฉมของ Emperor Tuna คือ การใช้ชุดเข็งชั่วโมงและนาทีแบบใหม่ ซึ่งในตอนแรกก็ดูขัดๆ แต่หลังจากนั่งเพ่งไปสักระยะแล้ว ผมกลับหลงใหลในเข็มชั่วโมงหัวลูกศรทรงทื่อๆ ที่มีขนาดใหญ่ของมัน ดูแล้วเท่มาก และชอบกว่าชุดเข็มของ SDBX011 เสียอีก
ขณะที่การตกแต่งด้วยอะไรที่เป็นสีทองบนตัวนาฬิกา ทำได้อย่างพอดีๆ ไม่ล้นจนเกินไป โดยเลือกใช้เฉพาะบางจุดบนตัวนาฬิกา เช่น ขอบ Bezel เม็ดมะยม หมุดยึดเกราะ และตัวรัดสายกับหัวเข็มขัดของสาย ขณะที่ตัวเกราะแม้ว่าจะเป็นเซรามิกเหมือนกับ SBDX011 แต่ผมมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ดำสนิทเหมือนกับรุ่นก่อนหน้า แต่ออกสีเทานิดๆ และจุดเดียวที่หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นข้อด้อยของมัน เพราะเป็นนาฬิกาค่าตัวระดับแสนเสียเปล่า แต่ Bezel Ring ดันเป็นฟิล์ม น่าจะเป็นเซรามิก ซึ่งก็อาจจะจริงสำหรับบางคน แต่สำหรับผมไม่ค่อยได้ซีเรียสเรื่องตรงนี้มากเท่าไร เพราะการเป็นขอบฟิล์มมันก็ช่วยทำให้นาฬิกาดูไม่ออกแนวสำอาง แต่พร้อมลุย
ส่วนอีกสิ่งที่อาจจะขัดใจใครหลายคน ก็คือ การมีโลโก้ตัว X ของ Prospex ที่มาปรากฎอยู่บนหน้าตัดของเม็ดมะยม ซึ่งในรุ่น SBDX011 จะเป็นโลโก้ตัว S ซึ่งถ้าถามผม คำตอบก็ออกมาในแบบเดิมอีกนั่นแหละ คือ ผมไม่ค่อยแคร์เกี่ยวกับเรื่องโลโก้ตรงนี้สักเท่าไร
สำหรับสายยางซิลิโคนของนาฬิกาดำน้ำจาก Seiko รุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะราคาหลักหมื่นหรือหลักแสนผมว่าทำออกมาค่อนข้างดี คือ นุ่ม และเนื้อไม่หยาบ แต่ข้อเสียของมันคือ ออกแนวค่อนข้างย้วยนิดๆ เวลาคาดกับนาฬิกาเรือนใหญ่ หรือพวกที่ทีน้ำหนัก ทำให้ต้องรัดค่อนข้างแน่นกว่าปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้นาฬิกาดิ้นไปมาเวลาอยู่บนข้อมือ และสิ่งที่จะตามมามี 2 อย่างคือ อึดอัด และปลายสายโผล่ยาวสำหรับพวกข้อมือเล็ก ซึ่งในกรณีของ SBDX014 ผมว่าอาจจะต้องเจอแน่ๆ เพราะส่วนตัวผมว่าปลายสายยังโผล่ออกมาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
ในเรื่องของกลไกนั้น SBDX014 ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่ารุ่นอื่นๆ เพราะถ้าเป็นแฟนของ Seiko คงทราบดีว่า พวกเขาแชร์กลไกเหล่านี้ร่วมกับนาฬิกาที่อยู่ในคลาสเดียวกันอยู่เสมอ ซึ่ง SBDX014 ใช้กลไกรหัส 8L35 เหมือนกับ MM300 โดยเป็นกลไกพื้นฐานเดียวกับ 9S55 ของ Grand Seiko แต่เป็นรุ่นที่ไม่ได้ผ่านการขัดแต่ง การสำรองพลังงานถือว่าเหลือเฟือกับตัวเลข 50 ชั่วโมง และความเนียนในการเดินของเข็มวินาทีถือว่าแจ่ม ดูเพลินตา เพราะตัวกลไกมีความถี่ในระดับ 4Hz หรือ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และมีความสามารถในการกันสนามแม่เหล็กในระดับ 4,800 A/m ส่วนความเที่ยงตรงก็อยู่ในระดับ +5 ถึง -7 ต่อวัน
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วมันน่าครอบครองหรือไม่ ? ถ้าถามผม คำตอบคือ แน่นอนที่สุด เพราะบอกเลยว่าผมค่อนข้างลำเอียงเข้าหา Tuna Can อยู่เสมอ และคิดว่านี่คือเอกลักษณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์นาฬิกาดำน้ำของพวกเขา แต่อย่าถามความคุ้มค่านะครับ เพราะแม้ว่าจะดำได้ 1,000 เมตร (ซึ่งจากการทดสอบจริง หยุดเดินหลังจากดำดิ่งลงไปประมาณ 3.4 กิโลเมตร) แต่เอาเข้าจริงๆ ในชีวิตปกติ เราคงไม่ได้ไปกันไกลถึงขนาดนั้นอย่างแน่นอน
เอาเป็นว่าถ้าชอบ อย่าลังเล แต่ถ้าซื้อมือหนึ่งที่ได้ส่วนลดตามเคาน์เตอร์แบบปกติ อาจจะต้องทำใจในเรื่องราคาที่หล่นวูบเวลาจะขายต่อ แต่ถ้ามีดีลดีๆ ในช่วงนี้อย่างที่ผมทราบ ผมว่าการตัดสินใจน่าจะง่ายขึ้น เพราะอย่างน้อยราคาสุดท้ายก็คงไม่ได้นำหน้าด้วย 8 อย่างที่ผมซื้อมาเมื่อสัก 2 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน
ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Marinemaster 1000m SBDX014
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 52.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 53.5 มิลลิเมตร
- หนา : 17.2 มิลลิเมตร
- หนัก : 158 กรัม
- กระจก : Sapphire พร้อมเคลือบสารป้องกันการเกิดฝ้าในขณะใช้งาน
- ระดับการกันน้ำ : 1,000 เมตร
- กลไก : 8L35 ทับทิม 26 เม็ด
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน : 50 ชั่วโมง
- ประทับใจ : ดีไซน์ Story และความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร
- ไม่ประทับใจ : ความยุ่งยากเมื่อต้องเซอร์วิส สายยางนุ่มไปหน่อย ราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/