นอกจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว เชื่อว่ากลไกแบบ Kinetic ซึ่งในปัจจุบันมีใช้กับนาฬิกาของแบรนด์ Seiko นั้นมักจะเป็นหัวข้อที่สงสัยในแง่ของระบบการทำงาน ความต่างจากนาฬิกาควอตซ์ทั่วไป และความน่าสนใจในการซื้อมาใช้งาน วันนี้เรามาทำความรู้จักและเข้าใจการใข้งานของ Seiko Kinetic กัน
Seiko Kinetic : ทำความรู้จักและเข้าใจการใช้งาน
เชื่อว่าคนที่ชอบนาฬิกา โดยเฉพาะแฟนๆ Seiko ที่กำลังมองหานาฬิกาควอตซ์ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่านาฬิกาควอตซ์แบบใส่ถ่านปกติน่าจะเคยได้ยินชื่อของระบบ Kinetic กันมาไม่มากก็น้อย และเราก็เชื่ออีกเช่นกันว่า หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจหลักการ หรือการดูแลรักษานาฬิกาที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งคนที่มีเรือนเดียว แต่ใส่ตลอดเวลา อันนี้คงไม่ใช่ปัญหาที่น่าหนักใจ แต่พวกที่ชอบสะสม หรือซื้อมาสลับใส่หลายๆ เรือน เรียกว่าเก็บมากกว่าใส่ อันนี้อาจจะต้องมาทำความเข้าใจหลักการดูแลรักษากันสักหน่อย
จุดเริ่มต้นของระบบ Kinetic อาจจะต้องหมุนเข็มนาฬิกาย้อนหลังกันไปไกลสักหน่อย โดยเริ่มจากปี 1986 ซึ่ง Seiko ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ของนาฬิกาควอตซ์ที่กำลังเบ่งบานอย่างต่อเรื่องด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า AGM และจากนั้นอีก 2 ปีก็ได้รับการพัฒนาเพื่อขายในตลาดยุโรปเพียงแต่ยังใช้ชื่อว่า Auto-Quartz ซึ่งมีความเที่ยงตรงระดับ +/-15 วินาทีต่อเดือน และใช้ชิ้นส่วนที่เรียกว่าซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโรเตอร์ในนาฬิกาอัตโนมัติ ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุ โดยอาศัยการขยับของมือและแขนเป็นตัวทำให้ชิ้นส่วนที่คล้ายกับโรเตอร์มีการเคลื่อนที่หรือหมุน เมื่อมีการสะสมพลังงานจนเต็มในแบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 75 ชั่วโมง
ในช่วงนั้น ไม่ได้มีแค่ Seiko เท่านั้นที่สนใจแนวคิดนี้ แต่ผู้ผลิตนาฬิกาหรือกลไกรายอื่นๆ เช่น Ventura, Citizen หรือแม้แต่ ETA ก็สนใจกับแนวคิดนี้ ซึ่งนั่นทำให้เทคโนโลยีของกลไก Automatic-Quartz ถูกเรียกรวมๆ ว่า AGS-Automatic Generating System แต่สุดท้ายก็มีแค่ Seiko เท่านั้นที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนากลไกประเภทนี้ และในปี 1991 พวกเขาก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น Kinetic
ในปัจจุบัน Seiko มีกลไก Kinetic ติดตั้งอยู่ในนาฬิกาหลากรุ่นหลายแบบ และหลายระดับราคาตั้งแต่หลักพัน จนถึงหลัก 2-3 หมื่นบาท แถมยังมีเทคโนโลยีใหม่ติดตั้งเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับนาฬิกาประเภทนี้ ซึ่งคุณสามารถสังเกตได้จากคำที่ถูกใช้อยู่ในระบบของนาฬิกาเรือนนั้นหรือดูได้จากคู่มือก็ได้
ปกติแล้วถ้ามีแค่คำว่า Kinetic ก็จะเป็นระบบที่ใช้ตัวชิ้นส่วนในการเคลื่อนที่จากการแกว่งแขนตอนสวมใส่นาฬิกา เพื่อเปลี่ยนพลังงานจลน์มาเป็นกระแสไฟฟ้าเก็บเข้ามาอยู่ในตัวเก็บประตู ซึ่งถ้าแกว่งชนิดที่ชาร์จจนเต็มก็สามารถอยู่ได้นานถึง 6 เดือนเลยทีเดียวแบบที่คุณไม่ต้องเอาออกมาสวมใส่เลย
แต่ถ้ามีคำว่า Auto Relay เพิ่มเข้ามา ก็หมายความว่าจะมีระบบที่คล้ายๆ กับ PS หรือ Power Saving ในนาฬิกา Solar คือ เข็มวินาทีจะหยุดเดินเหมือนกับนาฬิกาจำศีล ตอนที่คุณไม่ได้เอาออกมาใส่ เรียกว่าวางนอนกล่องอย่างเดียว ทำให้การกินไฟต่ำลงและยืดอายุในการใช้กระแสไฟฟ้าในตัวเก็บประจุออกไปได้อีก โดยระบบนี้เปิดตัวออกมาในปี 1998 และทาง Seiko เคลมว่าเมื่อชาร์จจนเต็มสามารถอยู่ได้นานถึง 4 ปี และเมื่อดึงออกจากกล่องมาคาดบนข้อมือ ระบบจะปรับเวลาให้เป็นปัจจุบันเหมือนเดิม
ในปี 2005 พวกเขาสร้างมิติใหม่ให้กับนาฬิกา Kinetic อีกครั้งกับการนำระบบปฏิทิน 100 ปี หรือ Perpetual มาใช้อย่างกลไก 7D48 ซึ่งทำให้คุณไม่ต้องปรับวันที่ด้วยตัวเอง ระบบจะจัดการเองในการเปลี่ยนวันที่ของเดือนที่มี 28 หรือ 30 วัน และตัวระบบถูกปรับเซ็ตปฏิทินอัตโนมัติเอาไว้ยาวถึงปี 2100
อีก 2 ปีต่อมาพวกเขาเปิดตัว Direct Drive ซึ่งนั่นทำให้คุณมีความสะดวกมากขึ้นในการสร้างกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในตัวเก็บประจุด้วยการไขลานเหมือนกับการขึ้นลานมือในกลไกอัตโนมัติ แถมยังมีแถบ Power Reserve สำหรับแสดงพลังงานที่สะสมอยู่ในตัวเก็บประจุด้วย โดยการหมุนเม็ดมะยมในระดับปกติอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 วินาทีจะสามารถเพิ่มกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานได้ 6 ชั่วโมงโดยประมาณ
คราวนี้มาถึงคำถามสำคัญว่า แล้วเราจะดูแลนาฬิกาประเภทนี้อย่างไร ?
คำตอบคือ ไม่ต้องกังวลมาก ก็แค่สวมใส่ตามปกติ ซึ่งถ้าคุณมีนาฬิกาเพียงเรือนหรือสองเรือน เราไม่ค่อยห่วงมาก เพราะอย่างไรคุณก็สลับใส่ ทำให้การนำออกมาใช้และแกว่งแขนเพื่อสะสมพลังงานไฟฟ้ามีเข้ามาทดแทนเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องได้อยู่แล้ว
แต่ที่เราจะห่วง คือ พวกมีนาฬิกาหลายเรือน และมัวแต่นั่งสลับกันใส่ไปมาจนครบกันทั้งกรุ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้กว่าจะมาถึงคิวอีกรอบของพวก Kinetic ก็อาจจะนานเกินไปละ จนทำให้ระดับพลังงานในระบบลดต่ำลงมาก ตรงนี้คุณสามารถสังเกตได้จากการเดินของเข็มวินาที ถ้ากระตุกหรือกระโดดทีละ 2 วินาที แสดงว่าระดับพลังงานในตัวเก็บประจุเริ่มลดต่ำลงแล้ว และมีกระแสไฟฟ้าเหลืออยู่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง หรือ 1 วันในตัวเก็บประจุ
นั่นหมายความว่าถึงเวลาที่คุณควรจะนำมันออกมาใส่ หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจับนาฬิกาให้ขนาดกับพื้น แล้วแกว่งช้าๆ ไปทางซ้าย-ขวารวมกันสัก 250 ครั้งก็จะได้พลังงานสำหรับหล่อเลี้ยงระบบนาน 1 วัน แล้วจากนั้นแนะนำให้ใส่ติดข้ออีกสัก 2-3 วันเพื่อให้ระบบชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บชดเชยที่สูญเสียไป อันนี้คือในระบบ Kinetic แบบธรรมดาที่ไม่มี Direct Drive โดยข้อแนะนำคือ คุณควรจะใส่ปกติต่อเนื่องอีกสัก 10 ชั่วโมงเพื่อให้การชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในระบบมากขึ้นจะได้ไม่ต้องมานั่งห่วงกันเวลาจับนอนกล่องยาวๆ
ปกติแล้วในระบบ Kinetic ธรรมดา จะมีปุ่มติดตั้งอยู่ตรงตำแหน่ง 2 นาฬิกาติดตั้งมาให้ด้วย นั่นคือ ปุ่มสำหรับกดเช็คระดับพลังงานที่เหลืออยู่ในตัวเก็บประจุ แค่คุณรอให้เข็มวินาทีกระดิกมาอยู่ตรง 12 นาฬิกาแล้วกด เข็มวินาทีจะวิ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่ากระแสไฟฟ้าเหลืออยู่เท่าไร ซึ่งอันนี้ต้องเช็คที่แมนนวลของแต่ละกลไกด้วย เพราะอย่างกลไก 5M85 จะบ่งบอกตามนี้
-ถ้าเข็มชี้ไปที่เลข 1 แสดงว่ามีระดับพลังงานเหลืออยู่ 1 วัน
-เลข 2 ประมาณ 7 วัน
-เลข 4 ประมาณ 1 เดือน
-เลข 6 ประมาณ 6 เดือน
ส่วนรุ่นที่เหลือก็จะลดหลั่นกันลงไปขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการสำรองพลังงานของแต่ละกลไกมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางที่ดีคุณควรจะอ่านแมนนวลที่มีอยู่จะดีที่สุด เพราะกลไกแต่ละแบบอาจจะมีถังของตัวเก็บประจุที่ไม่เท่ากันซึ่งจะส่งผลต่อระดับปริมาณการเก็บกระแสไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากการดูแลรักษาที่คุณสามารถทำได้แล้ว ทาง Seiko เองยังมีบริการเครื่องชาร์จกระแสไฟฟ้าให้กับนาฬิกาที่ใช้กลไก Kinetic ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณสามารถลองสอบถามทางตัวแทนจำหน่ายของ Seiko ได้ หรือถ้าคิดจะซื้อเข้ามาใช้เป็นของตัวเองก็ลองเสิร์ชตาม ebay ดู แต่บอกเลยว่า ราคาไม่ธรรมดา และไม่น่าจะหาได้ง่ายๆ
ทางที่ดีก็หมั่นเอาออกมาใช้งาน อย่าปล่อยจนกระทั่งตัวเก็บประจุไม่มีกระแสไฟฟ้าเพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการเสื่อมและอาจจะทำให้ไม่สามารถเก็บกระแสไฟฟ้าได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งค่าเปลี่ยนตัวเก็บประจุก็อยู่ในระดับหลักพันบาทขึ้นอยู่กับรุ่นของกลไก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/