Seiko Fieldmaster SBDC035 เป็นการปรับจากรุ่นเดิมในรหัส SBCD0011 พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอีกเล็กๆ น้อยๆ มากับตัวถังแบบมีเกราะเหมือนกับพวกตระกูลดำน้ำอย่าง Tuna
Seiko Fieldmaster SBDC035 : เมื่อ Tuna ขึ้นบก
ในยุคที่ของดีน่าสนใจจาก Seiko ยังเป็นพวก JDM ที่มีขายอยู่ในญี่ปุ่น จำได้ว่าผมตราตรึงใจอย่างมากกับนาฬิการุ่นหนึ่งของพวกเขา ชื่อเล่นของมันคือ Fieldmaster แต่มีรหัสเรียกขานว่า SBDC011 ผ่านมา 5 ปีให้หลัง จากเดิมที่เป็นแค่สายมอง ในตอนนี้ผมมีโอกาสได้เป็นสายครอบครองกับเขาบ้างละ แม้ว่าจะเป็นรหัสใหม่ SBCD035 ที่มีตัว X คาดอยู่ตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกาก็เถอะ
ตอนแรกก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย ผมมีคำถามเกิดขึ้นในใจ เพราะลังเลและตัดสินใจไม่ถูก คือ ระหว่างรุ่น SBCD011 กับ SBCD035 ที่เป็นรุ่นเก่า คุณจะเลือกแบบไหนดี ? ซึ่งแน่นอนว่าแฟนๆ ของ Seiko ที่อยู่ในกลุ่ม SMT มาสักระยะอาจจะเกิดคำถามในลักษณะนี้ขึ้นมาเมื่อตอนที่ซื้อ Sumo ระหว่างตัวหน้าเก่า กับหน้าใหม่ที่มีโลโก้ X
หลายคนอาจจะคิดว่า รุ่นเก่าเริ่มหายาก อีกไม่นานก็น่าจะมีราคาขึ้น ดังนั้นสอยรุ่นเก่าดีกว่า ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ผิดหรอก เพราะคุณมีเหตุผลในการเลือกอยู่แล้ว เนื่องจากมีหลายรุ่นเหมือนกันที่ราคาถูกดันขึ้นหลังจากที่ Discontinued ไป แต่สำหรับผม หลังคิดไปคิดมา สุดท้ายความคิดก็ได้บทสรุปตรงที่ก็เหมือนกับซื้อรถใหม่นั่นแหละ ของใหม่ต้องมีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา แล้วคุณจะจ่ายเงินด้วยตัวเลขที่เท่ากันเพื่อเอาของเก่าทำไม เพราะในมุมของผม ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตจะมีการปรับกรุกันอีกครั้งต่อกี่ครั้ง แล้วเจ้านี่จะได้ติดตัวไปด้วยกันนานขนาดไหน รวมถึงโอกาสที่จะกลายเป็น The Grail ของมันในอนาคต…อืมมม์ ดูแล้วคงเป็นเรื่องยากถึงยากมาก และดีไม่ดีอาจจะต้องเป็นการส่งต่อไปให้กับรุ่นลูกกันแล้วละ
กลับมาที่ตัวนาฬิกา สำหรับแฟนๆ ของ Seiko อาจจะเคยเห็นหน้าตาของมันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งสำหรับตัวผมเองนั้นเห็นมาก่อนตามบอร์ดซื้อขายชื่อดังที่วนเวียนมาตลอดช่วง 5 ปี แต่ในยุคนั้นที่ทางเลือกในการซื้อขายมีไม่มาก ก็เลยทำให้นานๆ จะเห็นสักที แล้วมันก็รีบไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเจอเป้า แต่ดันระดมกระสุนไม่ทันก็มี
จะว่าไปแล้วนาฬิการุ่นนี้คือส่วนผสมของ Tuna กับ Sumo ที่ลงตัวในการนำเสนอทางเลือกใหม่ออกมา ด้วยรูปทรงที่ถอดแบบมาจาก Tuna กับนาฬิกาแบบมีเกราะ ขณะที่กลไกก็ยกของ Sumo อย่าง 6R15 มาใช้ พร้อมฟังก์ชันสำหรับการใช้งานแบบ Outdoor เช่น ฝาหลังมีสลักสัญลักษณ์สำหรับสื่อสารกับทีมกู้ภัยในกรณีที่คุณเจอปัญหา และต้องการขอความช่วยเหลือ หรือ Ground to air emergency signal code รวมถึง Bezel ที่สามารถหมุนได้ 2 ทางแบบมีเข็มทิศ
ตัวเรือนมีการหุ้มเกราะที่มีการขัดแต่งให้ขอบโดยรอบมีลักษณะที่โค้ง และเป็นแบบขัดด้าน ไม่เงาเหมือนกับเกราะพวก Tuna อย่าง SBDN031 และมีอยู่ 2 สิ่งที่ผมชอบแบบไม่มีเหตุผลรองรับเท่าไร คือ การวางเม็ดมะยมอยู่ในตำแหน่ง 4 นาฬิกา ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นเพราะมันไม่เหมือนใคร และผมคุ้นชินกับตำแหน่งเม็ดมะยมซึ่งอยู่ที่ 3 นาฬิกา พออะไรผิดเพี้ยนไป ก็เลยรู้สึกว่ามันพิเศษ กับอีกเรื่องคือ ตัวเรือนมาพร้อมกับ Date ไม่มี Day มาให้วุ่นหรือดูเกะกะบนหน้าปัด ขณะที่รูปทรงของเข็มเป็นแบบทรงหนาขนาดใหญ่ ซึ่งดูๆ ไปแล้วได้รับอิทธิพลมาจาก Emperor Tuna ตัวเก่าอย่างชัดเจน
ส่วนระดับการกันน้ำ แม้ว่าจะมากับเกราะเหมือน Tuna จนได้ชื่อว่า Field Tuna แต่มันก็ไม่ได้เกิดมาเป็นนาฬิกาดำน้ำ ดังนั้นระดับความสามารถก็เลยเทียบเท่ากันแรงดัน 200 เมตร เป็นการทดสอบการกันน้ำในแบบปกติ ไม่ใช่อีกมาตรฐานหนึ่งที่ใช้ในการทดสอบนาฬิกาดำน้ำจริงๆ
ตอนที่ได้เจอกับราคาป้าย 33,660 บาท แต่ช่วงนั้นโปรมันเร้าใจ ทั้งส่วนลดและ 0% ของบัตร จริงอยู่ที่อาจจะไม่ได้ถูกเหมือนกับของหิ้วมือ 1 ที่ขายอยู่ใน FB แต่ผมก็เลือกเอาความมั่นใจและสบายเป็นที่ตั้งก็แล้วกัน และที่สำคัญ หล่อก่อน ผ่อนทีหลังตามสไตล์
สัมผัสแรกที่ได้รับจาก Fieldmaster คือ อารมณ์เดียวกับ Tuna พวกตระกูล Quartz 300m งานเนียนประณีต รวมถึงรูปทรงในแบบกระป๋องที่ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่ามันแกะเอาบอดี้ของพวก Marine Master 300 ควอตซ์มาใส่กลไก Sumo หรือเปล่า ?
อย่างไรก็ตามตรงนี้ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน เพราะแม้ว่าจะเช็คจากความกว้างขาสายไม่ตรงกัน คือ 21 และ 22 มิลลิเมตร ส่วนขนาดความกว้างตัวเรือนแบบไม่รวมเม็ดมะยมแม้ว่าจะเท่ากันที่ 48 มิลลิเมตร แต่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นการวัดรวมเกราะด้วย แค่เปลี่ยนเกราะที่มีความหนาเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ปั้นตัวเลขให้เท่ากันได้อยู่แล้ว
ส่วนขาสายแม้ว่าจะมากับขนาดแปลกๆ 21 มิลลิเมตร แต่คุณก็สามารถยัดสาย 22 ลงไปได้แบบโอเคและลงตัว ไม่มีรอยย่นหรือยับให้เห็นแบบน่ารำคาญใจ…อันนี้ในกรณีที่ไม่ชอบอะไรแบบเดิมๆ และชอบการเปลี่ยนสาย
เมื่ออยู่บนข้อมือ กับความหนาเพียง 13 มิลลิเมตรนิดๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ความรู้สึกว่ามันใหญ่ หรือเป็นส่วนเกินที่เกิดขึ้นบนข้อมือแต่อย่างใด โดยขนาดตัวเรือนที่เกือบจะเป็นแบบไม่มีขา เพราะขาสั้นมากนั้น ทำให้ไซส์ 48 มิลลิเมตรที่เป็นขนาดโดยรวมไม่ได้ส่งผลหรือทำให้เกิดอาการใหญ่เกินเหมือนกับนาฬิกาบางรุ่นที่ขาค่อนข้างยาว เรียกว่าข้อมือขนาด 6 นิ้วครึ่งใส่ได้อย่างสบายๆ ไม่รู้สึกว่าล้นข้อแต่อย่างใด
สำหรับใครที่สนใจ เอาเป็นว่าตัดตัวเลือกการซื้อตามเคาน์เตอร์ไปก่อน เพราะถึงจะได้หักส่วนลด 15-20% ตามงานนาฬิกา บวกกับออนท็อปของบัตรอีกนิดหน่อย เชื่อว่าสุดท้ายแล้วราคาก็ต่ำกว่า 27,000 บาทไปไม่เท่าไร แต่ตามคลับหรือตามกลุ่มใน FB บางทีจะมีหลุดออกมาในระดับราคา 20K ต้นๆ สำหรับมือสอง หรือ 23-24K สำหรับของใหม่แบบหิ้ว
กับราคานี้ถ้าไม่มองพวกแบรนด์สวิสส์ ผมยังมองไม่เห็นคู่แข่งที่จะมาชิงความเด่นไปจาก Seiko Fieldmaster หรือแม้แต่เพื่อนร่วมค่ายอย่าง Shogun ที่มากับไทเทเนียมทั้งเรือนบวกกับกลไก 6R15 ก็ยังไม่ค่อยโอเคเท่าไรในมุมของการออกแบบที่ดูแล้วไม่สะดุดตาหรือโดดเด่นขึ้นมา อีกทั้งยังใช้กระจกแบบ Hardlex แทนที่จะเป็น Sapphire เหมือนกับ Fieldmaster ซึ่งมีการเคลือบสารกันสะเทือนที่กระจกด้านใน ก็ได้อย่างเสียอย่างกันไป
แต่สำหรับผม ตัวเลือกที่โผล่ในใจคือ Fieldmaster มันมาก่อนที่จะเดินทางไปถึงเคาน์เตอร์ Seiko ใน The Mall บางกะปิเสียอีก ดังนั้น ถ้าเอาผมเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ (แทน) ผมเลือก Fieldmaster แทนที่จะเป็นนาฬิกาเรียบๆ แบบไม่มีอะไรโดดเด่นอย่าง Shogun
ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผม เพราะ Passion ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ถ้ายังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปทางไหนดี ไปลองทาบที่เคาน์เตอร์ดูก่อน แล้วลองพิจารณาว่ามันยิ้มให้คุณหรือเปล่า ซึ่งสำหรับผม เจ้านี่ยิ้มกว้างมาก ชนิดน้องๆ Joker เลย
คุณสมบัติของ : Seiko Fieldmaster SBDC035
- เส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือน : 48 มิลลิเมตร
- ความหนา : 13.7 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : 126 กรัม
- กระจก : Sapphire พร้อม AR ลดการสะท้อนแสงด้านในกระจก
- กลไก : 6R15 จำนวนทับทิม 23 เม็ด
- สำรองพลังงาน : 50 ชั่วโมง
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- จุดเด่น : สวย ดัดแปลง Tuna ให้มีความแตกต่างจาก Marinemaster กลไกโอเค
- จุดด้อย : ราคาค่อนข้างสูง ความกว้างขาสายขนาดแปลกๆ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/