หลายคนอาจจะอยากได้ Seiko Emperor Tuna ที่มากับกลไกอัตโนมัติ และความสามารถในการดำดิ่งระดับ 1,000 เมตร แต่อาจจะคิดไม่ตกว่าจะซื้อรุ่นเก่าในรรหัส SBDX011 ที่หลายคนบอกว่าคลาสสิค หรือว่าจะไปรุ่นใหม่ที่มีรหัส SBDX013/014 ดี วันนี้เราจะเปรียบเทียบให้เห็นจุดต่างกันเผื่อจะเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ
Seiko Emperor Tuna SBDX011 V SBDX013/14 เลือกใหม่หรือเก่าดี
เราเชื่อว่านาฬิกาเจ้าของฉายา Emperor Tuna ของ Seiko น่าจะเป็นอะไรที่ต้องตาต้องใจ และอาจจะเป็นอารมณ์ประมาณ ‘ขอให้สัมผัสสักครั้งในชีวิต’ สำหรับแฟนๆ ของ Seiko เพราะถ้าไม่นับในกลุ่ม GS หรือ Grand Seiko นี่ถือว่าเป็นนาฬิการะดับท็อปๆ ของกลุ่ม Prospex ที่บรรดานักดำน้ำ (หรืออาจจะไม่เคยดำน้ำ) ทั้งไทยและเทศต่างหมายปอง
เท่าที่จำความได้ ผมเคยอ่านตามเว็บบอร์ดของต่างประเทศ และมีคนหนึ่งในนิยามนาฬิการุ่นนี้ว่าเป็นอะไรที่ไม่มีคำว่าตรงกลางในแง่ของความชอบ คือ ถ้าไม่รัก ก็จะเกลียดไปเลย ซึ่งเราเข้าใจในแง่ของความพิเศษของนาฬิกาที่ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อการเป็นอะไรที่เป็นธรรมดา แต่จะต้องมีความพิเศษ และเท่าที่สัมผัสมาก็มีแนวโน้มว่าจริงถึงจริงที่สุด แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับผมค่อนข้างเอนเอียงไปทางด้านประการแรกมากกว่า ซึ่งถ้าจะให้วิเคราะห์ต่อก็อาจจะเป็นเรื่องของ ‘เอกลักษณ์’ ทั้งในแง่ของการออกแบบและในเชิงโครงสร้างของตัวนาฬิกานั่นเอง ส่วน Story หรือ Heritage สำหรับผม ตรงนี้มีแค่เรือนเดียวเท่านั้นที่มีผลต่อการตัดสินใจ นั่นคือ Moonwatch ส่วนที่เหลือไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างที่เราทราบกันดีว่านาฬิกาดำน้ำในสไตล์ทรงกระป๋องของ Seiko ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1975 และในปีนี้พวกมันจะมีอายุครบ 43 ปี ซึ่งจากภาพหลุดตามเว็บในช่วงปีใหม่ เราพบว่าพวกเขากำลังจะเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษ (ตรงไหน ?) และก็เชื่อว่าแฟนๆ ของ Tuna ได้เสียเงินแน่นอน เพราะมีภาพแพลมๆ ออกมาแล้วว่าจะมีด้วยกัน 2 รุ่นที่เป็น Limited Edition และหนึ่งในนั้นคือการผลิต Re-Issue รหัส 6519-7001 YAQ028 หรือ Grandpa Tuna ซึ่งเป็นต้นกำเนิดตัวถังทรง Tuna Can
นาฬิการุ่นนี้ถูกเรียกในกลุ่มแฟนๆ ว่า Emperor Tuna เพื่อยืนยันถึงความเป็นที่สุดของเจ้าปลากระป๋องในไลน์อัพปกติ เพราะตามปกติแล้วในกลุ่ม Tuna Can ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กแบบดำน้ำ 300 เมตร ตัวปานกลาง ดำน้ำ 600 เมตร หรือตัวเทพที่ดำน้ำ 1,000 เมตร ส่วนใหญ่จะใช้กลไกควอตซ์ 7C46 มาตั้งแต่ปี 1986 หรือไม่ก็ Kinetic และไม่มีกลไกอัตโนมัติจากไลน์ผลิตของ Seiko เลยจนกระทั่งถึงปี 2009 ซึ่งทาง Seiko เปิดตัวเจ้า SBDX011 ที่มีชื่อเล่นว่า Emperor Tuna ออกสู่ตลาด และถือเป็นรุ่นรุ่นท็อปสุดของกลุ่ม Tuna Can ในตอนนั้น
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
คำถามนี้อาจจะสร้างความสงสัยสำหรับคนชอบนาฬิกา แต่อาจจะไม่สร้างความน่าแปลกใจเลยสำหรับกลุ่มคนที่มองนาฬิกาเป็นแค่ Tool สำหรับรองรับในการทำกิจกรรมของพวกเขา ซึ่ง Tuna Can เกิดมาเพื่อใช้ในการดำน้ำ ดังนั้น พวกนักดำน้ำจะต้องมีความมั่นใจกับการทำงานของอุปกรณ์ทุกชิ้นที่พวกเขาเลือก และสำหรับนาฬิกา พวกเขามองว่านาฬิกาควอตซ์เป็นอะไรที่เหมาะสมที่สุดในแง่ของความน่าเชื่อถือและความเที่ยงตรงในการใช้งาน อีกทั้งที่ผ่านมากลไก 7C46 ก็ได้รับการยอมรับจากเรื่องนี้มาโดยตลอด
ตรงนี้ก็เลยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กว่าที่ Tuna Can จะมีกลไกอัตโนมัติมาเป็นทางเลือกต้องรอกันนานร่วม 20 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดตัวในปี 2009 ต้องบอกว่า 6 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก และ Seiko จัดการปรับโฉมเพื่อกระตุ้นตลาดให้กับนาฬิกาดำน้ำ Tuna Can ไม่ว่ากระป๋องเล็กหรือใหญ่ ซึ่งนั่นก็รวมถึง Emperor Tuna ด้วย โดยในเวอร์ชันใหม่มีการเปลี่ยนแปลงหลายจุด รวมถึงในตัวกลุ่ม Emperor Tuna ก็ไม่ได้มีแค่เรือนดำล้วนเพียงแบบเดียวเหมือนกับรุ่นแรกอีกต่อไป แต่เพิ่มอีกทางเลือกในสไตล์ดำ-ทองในรหัส SBDX014 ออกมา และแน่นอนว่าตรงนี้ถ้าคุณหลงรักเจ้า Tuna Can แล้ว คงไม่มีคำถามเกิดขึ้นว่า จะเลือกเรือนไหนดี เพราะยังไงก็ต้องเหมา 2 อยู่แล้วกับรุ่น SBDX011 และมี SBDX014 เอาไว้คู่กัน
แต่ในเมื่องบฯ ไม่ได้เยอะ และจำเป็นจะต้องมีเพียงเรือนเดียวเท่านั้นเอาไว้ประดับกรุ จะเอนเอียงไปทางไหนดี ? Emperor Tuna ทั้งคู่ แต่จะ SBDX011 หรือ SBDX014 ดี ?
หน้าปัด-เข็ม : แน่นอนว่างานนี้แล้วแต่ชอบเลย ส่วนตัวก่อนที่จะมี SBDX013/14 ออกสู่ตลาดนั้น ยอมรับว่าชอบ Emperor Tuna ตัวแรกมากในแง่ของความลงตัวบนหน้าปัด แต่หลังจากที่รุ่นใหม่เปิดตัวออกมา กลับรู้สึกว่า 013/014 ลงตัวกว่าในบางจุด แต่ก็ยังมีบางจุดที่รู้สึกขัดใจนิดๆ
ผมชอบหน้าปัดของ SBDX011 ตรงที่จานเพลทวันที่ (Date) ซึ่งเป็นสีเทาเข้มนิดๆ เพราะทำให้ไม่กลืนไปกับสีของหน้าปัด และหลักชั่วโมงตรงตำแหน่งสำคัญคือ 6 และ 9 ที่เป็นวงกลมขนาดใหญ่ แต่กลับไม่ค่อยถูกใจกับชุดเข็มสักเท่าไร เพราะดีเทลมันเยอะจนรู้สึกว่ารกไปหน่อย ต่างจากชุดเข็มใหม่ของ SBDX013/14 ที่แฟนๆ Seiko หลายคนไม่ชอบ แต่กลายเป็นว่าผมกลับชอบมาก โดยเฉพาะเข็มชั่วโมงที่เป็นหัวลูกศรขนาดใหญ่
ขณะที่สิ่งที่ผมไม่ชอบจากชุดหน้าปัดของ SBDX013/14 คือ การย้ายช่อง Date จากตำแหน่ง 3 นาฬิกามาอยู่ที่ตรงกลางระหว่างหลัก 4-5 นาฬิกา เพราะเหมือนกับทำให้น้ำหนักทุกอย่างมันไปกดทับอยู่ที่ตำแหน่งนั้น ซึ่งมีเม็ดมะยมวางอยู่ด้วย เพราะเมื่อเทียบกับนาฬิกาที่วางเม็ดมะยมเอาไว้ที่ตำแหน่งนี้และมีช่อง Date (เช่น MM300 หรือ Sumo) แล้ว พวกเขาเลือกวางช่อง Date เอาไว้ที่ 3 นาฬิกาหมดเลย ส่วนอีก 2 เรื่องที่ไม่ชอบเพิ่มเติม คือ การเป็นช่อง Date แบบไม่มีกรอบตี ทำให้ดูหน้าปัดมันแปลกๆ แต่นั่นยังไม่เท่ากับเรื่องที่ 2 คือ การใช้พื้นจานเพลท Date ที่เป็นสีดำ คราวนี้ยิ่งทำให้มันดูจมไปเลย
ถ้าเอา 2 อย่างมายำกันก็น่าจะดีไม่น้อย…ว่าแต่ใครจะทำดีละ
พรายน้ำ : นาฬิกาดำน้ำของ Seiko ขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องพรายน้ำ ซึ่งใน SBDX011 ทาง Seiko ใช้พรายน้ำแบบ Lumibrite ที่ให้ความสว่างยาวนาน 3-5 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรับแสง แต่สำหรับ SBDX013/014 มีการอัพเกรดขึ้นไปเป็น High Lumibrite ยืดระยะเวลาในการให้แสงเพิ่มขึ้นจากเดิม 60% ซึ่งนั่นเท่ากันว่า ตัวเลขน่าจะอยู่ในระดับ 5-7ชั่วโมงเลยทีเดียว
ตัวเรือน : แน่นอนว่าทั้ง 2 รุ่นยังใช้ Know-how ในด้านการผลิตนาฬิกาดำน้ำแบบไม่มีฝาหลังเหมือนกัน ส่วนวัสดุที่ใช้ในการผลิตตัวเรือนยังเป็นไทเทเนียมเหมือนเดิม แต่เกราะ หรือ Shroud มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในรุ่น SBDX014
สิ่งที่ต่างกันคือ เกราะ หรือ Shourd ไม่เพียงแค่เรื่องของวัสดุเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการออกแบบรูปทรงอีกด้วย โดยในรุ่นใหม่ SBDX013/014 มีการถอดเกราะไทเทเนียมในรุ่น SBDX011 ออก (พลิกดูฝาหลังของรุ่นนี้จะมีการระบุเอาไว้แค่ SS/Titanium) และแทนที่ด้วยเซรามิกที่ถูกออกแบบมาเพื่อความทนทานที่สูงขึ้น (พลิกดูฝาหลังของรุ่น SBDX013/014 จะมีการระบุเอาไว้แค่ SS+Ceramics+Ti) พร้อมกับการเคลือบแข็งแบบ Super Hard Coating ซึ่งตาม Video teaser ของพวกเขาบอกว่าสามารถทนทานต่อการหล่นในระดับความสูง 1 เมตรโดยไม่เกิดการบุบได้อย่างสบายๆ
นอกจากนั้นในเรื่องของการเปลี่ยนตัวเกราะแล้วยังส่งผลต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและน้ำหนักเล็กน้อย โดยมีขนาดเพิ่มขึ้นจาก 52 มิลลิเมตรในรุ่น SBDX011 มาเป็น 52.4 มิลลิเมตรในรุ่น SBDX014 และน้ำหนักเพิ่มจาก 147 กรัมมาเป็น 158 กรัมแต่ความหนาลดลงนิดหน่อย 0.2 มิลลิเมตรลงมาอยู่ที่ 17.2 มิลลิเมตร
ส่วนเม็ดมะยมก็เปลี่ยนไป ในรุ่น SBDX011 จะมากับสัญลักษณ์ตัว S ตรงหน้าตัดของเม็ดมะยม แต่ในรุ่นใหม่เปลี่ยนมาเป็นตัว X ของ Prospex ซึ่งบางคนอาจจะขัดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
กลไก : ไม่ต้องกังวลเพราะยังเป็น 8L35 เหมือนเดิม ซึ่งเป็นกลไกแบบเดียวกับที่ใช้ใน MM300 และเป็นพื้นฐานเดียวกับใน GS ซึ่งเป็นรหัส 9S55 ตัวกลไกมีทับทิม 26 เม็ด เดินด้วยความถี่ระดับ 28,000 ครั้ง/ชั่วโมง หรือ 4Hz และสามาราถสำรองพลังงานได้ 50 ชั่วโมงเหมือนกัน
สาย : แม้จะเป็น Silicone เหมือนกัน แต่รูปทรงของสายก็ต่างกัน จำรนวนข้อย่นด้านบนของสายก็ลดลงจาก 3 ในรุ่น SBDX011 มาเป็นแค่ 2 ในรุ่น SBDX013/14 และผมมีความรู้สึกว่าสายของรุ่นใหม่มีความนุ่มมือและใส่สบายกว่า อีกทั้งเมื่อวางนาฬิกาในแนวนอนบนพื้นที่เรียบๆ จะพบว่าในรุ่น SBDX013/014 จะวางได้เรียบจนแนบไปกับพื้นโต๊ะเลย ต่างจาก SBDX011 ที่ตัวเรือนนาฬิกาจะโป่งนูนขึ้นมา จนทำให้เปลี่ยนมาวางในแนวตะแคงดีกว่า เผื่อพลิกแล้วล้มไปกระแทกกับโต๊ะ
Seiko_Sbdx011-SBDX013-14_
ราคา : แน่นอนว่าราคาป้ายของใหม่สำหรับทั้งคู่ในตลาดญี่ปุ่นต่างกันไม่เยอะ แค่ 50,000 เยนเท่านั้น โดยใน Emperor Tuna รุ่นเก่าจะมีราคาป้ายอยู่ที่ 300,000 เยน (ในเมืองไทยราคาประมาณ 118,800 บาท) ส่วนตัวใหม่ไม่ว่าจะรหัส SBDX013 หรือ SBDX014 ราคาเท่ากันที่ 350,000 เยน ซึ่งของใหม่สำหรับ SBDX011 นั้น น่าจะเป็นเรื่องยากแล้ว เพราะหลายเว็บส่วนใหญ่จะ Sold Out
ส่วนการควานหาตามตลาดมือสองในบ้านเรา ตอนแรกในยุค 2-3 ปีที่แล้วที่ Emperor Tuna ตัวแรกยังมีให้เห็นตามท้องตลาด ราคากลางแบบมือสองจะอยู่ที่ 54,000-55,000 บาท ขณะที่ SBDX014 อาจจะด้วยเพราะความที่เป็นของใหม่สักหน่อย เลยไม่ค่อยมีของมือสองหลุดออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่ ราคาตั้งจะอยู่ที่ 65,000-75,000 บาทโดยประมาณ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจากการที่ SBDX011 หายหน้าไปจากตลาด แต่กลายเป็นกระแสที่ทำให้คนรักทูน่า แต่เพิ่งจะมีโอกาสงบถึงในการหามาครอบครอง ราคาก็เลยถูกขยับขึ้น จนล่าสุดเห็นมีการปิดไปในราคาถึง 65,000 บาท หรือแพงกว่าบางดีลของ SBDX014 มือสองที่ผมเจอด้วยซ้ำ
บทสรุป : ผมเอาความรู้สึกที่มี Passion ต่อ Tuna Can ออกไป และมองในแง่ของความคุ้มค่าเป็นหลัก ก่อน เพราะถ้ายังสวมหัวโขนตรงนี้ ผมคงต้องบอกให้เลือกทั้งคู่อย่างแน่นอน จริงๆ แล้วทั้งคู่มีความสวยในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งถ้าตัดตรงนี้ออกอีกข้อ และมองในเรื่องของราคาที่หาได้บวกกับสเป็กแล้ว ผมเชื่อว่ายังไงรุ่นใหม่ก็น่าสนใจกว่ารุ่นเก่า เพราะการปรับปรุงในเรื่องของวัสดุและส่วนประกอบหลายจุดที่อยู่ข้างใน เหมือนกับเวลาซื้อรถยนต์รุ่นเดิมกับรุ่นปรับโฉมนั่นแหละ แถมในตอนนี้อย่างที่บอกว่า ราคามือสองของ SBDX013/14 นั้นเห็นแล้วใจจะละลายเพราะขยับลงอย่างไม่น่าเชื่อ จนเรียกได้ว่าดูแล้วคุ้มกว่า SBDX011 ที่เป็นรุ่นเก่ากว่า
แต่อย่างว่าละครับ นาฬิกาบางครั้งเป็นเรื่องของ Passion มากกว่า ดังนั้นเลือกเรือนที่ถูกใจในแง่ความรู้สึก กับดีลที่เหมาะสม ซึ่งบางท่านอาจจะมองข้าม SBDX013/014 แล้วไปจบที่ SBDX011 ก็ได้ แต่ถ้าตัดเรื่องเหมาสองอย่างที่ผมกำลังจะเชียร์อยู่ออกไป และให้เลือกเพียงรุ่นเดียว ผมว่าคงจบที่ SBDX014 นั่นแหละครับ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/