ถ้าให้นึกถึงนาฬิกาที่มีผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมนาฬิกาโลก เชื่อว่าชื่อของ Astron น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะในปี 1969 นาฬิกาเรือนนี้คือจุดเริ่มต้นของ Quartz Crisis และในอีก 43 ปีต่อมา ก็พลิกโฉมหน้าของนาฬิกาสำหรับนักเดินทางด้วยการปรับเวลาด้วยสัญญาณ GPS
Seiko Astron จากควอตซ์หรูสู่ผู้นำด้านนวัตกรรม
-
การเดินทางที่เริ่มต้นกับการเป็นนาฬิกาควอตซ์ที่ถูกผลิตในเชิงพาณิชย์เรือนแรกของโลกเมื่อปี 1969
-
ในปี 2012 ชื่อของ Astron ได้พลิกโฉมหน้าของวงการนาฬิกาด้วยการเป็นนาฬิกาที่ปรับเวลาตามสัญญาณ GPS
-
ปี 2022 ฉลอง 10 ปีที่ชื่อ Astron GPS เปิดตัวขายในตลาด และทาง Seiko จะมีนาฬิการุ่นพิเศษตามออกมาจำหน่าย
ในปี 1969 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนาฬิกาควอตซ์ ที่ในเวลาต่อมาได้เขย่าบัลลังก์ของนาฬิกาจักรกลที่ถูกยึดครองโดยแบรนด์สัญชาติสวิสส์ และผู้นำในการเปลี่ยนแปลงที่ผลักดันให้โลกแห่งเรือนเวลาได้เดินหน้าสู่การผลิตนาฬิกาควอตซ์ในเชิงพาณิชย์ ก็คือ Seiko ซึ่งในปีนั้น พวกเขาได้เปิดตัวนาฬิกาควอตซ์เรือนแรกที่ถูกผลิตในเชิงพาณิชย์ของโลก ซึ่งมีชื่อว่า Astron ออกมา
นอกจาก Astron จะถูกจากรึกว่าเป็นนาฬิกาควอตซ์ผู้จุดประกายความเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่ยุค Quartz Crisis แล้ว ในอีก 40 ปีมาชื่อนี้สามารถเขย่าโลกแห่งนาฬิกาอีกครั้งด้วยการพลิกโฉมหน้ามาสู่ความเป็นผู้นำในยุคของนาฬิกาที่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยการอ้างอิงเวลาที่มาจากสัญญาณดาวเทียมของเครือข่าย GPS หรือ Global Positioning System ซึ่งได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของนาฬิกาสุดไฮเทคที่เกิดมาเพื่อนักเดินทางตัวจริง
และในวาระที่ Astron ที่มาพร้อมกับเป็นผู้นำในโลกนวัตกรรมได้มีโอกาสครบรอบ 10 ปีของการอยู่ในตลาดนาฬิกา วันนี้เรามาทำความรู้จักกับนาฬิกาเรือนนี้กัน
กำเนิดในฐานะนาฬิกาควอตซ์สุดหรู
ความเป็นมาของ Seiko คือเรื่องราวแห่งนวัตกรรม เป็นเพราะกระแสต่อเนื่องของนวัตกรรมชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมตลอดหลายทศวรรษที่ทำให้ Seiko สามารถสร้างและคงไว้ซึ่งตำแหน่งในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกมาโดยตลอด และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1969 Seiko เปิดตัวนาฬิการะบบควอตซ์รุ่นแรกของโลก นั่นคือ Seiko Quartz Astron หรือ Quartz Astron 35SQ หลังจากที่บริษัท Seiko ภายใต้ชื่อ Suwa Seikosha (ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนมาเป็นชื่อ Seiko Epson) ได้ใช้เวลานานถึง 10 ปีในการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาภายใต้ชื่อ 59A Project ซึ่งมี Tsuneya Nakamura เป็นหัวหน้าโปรเจ็กต์ (ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้รับการโปรโมทให้เป็นประธานบริษัท)
สิ่งที่น่าสนใจของการถือกำเนิดนาฬิกาเรือนนี้คือ การถูกผลิตและพัฒนาในยุคที่นาฬิกาจักรกลของ Seiko ได้รับการยอมรับจากตลาดและสามารถผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทเดินหน้าไปได้ แต่ทว่าทีมบริษัทกลับมองว่าช่วงจังหวะนี้แหละเหมาะสมที่บริษัทจะยกระดับขึ้นและมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และจะต้องเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต และนั่นได้นำไปสู่การพัฒนากลไกใหม่ขึ้นมาจนกลายมาเป็น Astron นาฬิกาข้อมือแบบควอตซ์เรือนแรกของโลก
นาฬิกาเรือนนี้เปิดตัวด้วยราคา 450,000 เยน ซึ่งถือว่าแพงมากในตอนนั้นเทียบเท่ากับราคาของรถยนต์ซีดานขนาดกลาง 1 คันเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่เพราะตัวเรือนขนาด 30 มิลลิเมตรถูกผลิตจากทองคำ แถมยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ และเพียงแค่สัปดาห์แรกก็มียอดขายร่วม 100 เรือน ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาเลยกับนาฬิกาควอตซ์ที่ยังไม่เคยมีใครผลิตออกสู่ตลาดในตอนนั้น
หายไปก่อนกลับมาอีกครั้งในอีก 40 ปีต่อมา
หลังจากที่ Astron เป็นตัวจุดประกายที่ทำให้เกิดคลื่นของนาฬิกาควอตซ์ปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลาต่อมา ได้หายไปจากตลาด ในที่สุด Seiko ก็นำชื่อนี้กลับมาอีกครั้งในอีก 40 ปีต่อมา และถือเป็นการกลับมาที่ไม่ธรรมดา ซึ่งดูเหมือนว่าชื่อของ Astron นั้นคือ ตัวแทนที่สื่อถึงนาฬิกาที่มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี
จริงอยู่ที่ในปี 2009 โลกของนาฬิกาควอตซ์จะเดินหน้าไปไกล และเรามีเทคโนโลยีของการปรับเวลาให้มีความเที่ยงตรงตามคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Controlled System) เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2004 แต่ทว่าการที่นาฬิกาจะถูกปรับเวลาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับ Local Time (เวลาท้องถิ่น) หลังจากที่นักเดินทางได้ออกจากจุดเริ่มต้นของทริป (Home Time) ยังเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่มีใครทำได้ในเชิงพาณิชย์
ตอนนั้น Seiko จึงได้เริ่มพัฒนานาฬิกาที่สามารถตอบสนองความแม่นยำได้ทุกที่ในโลก และความพยายามครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่นาฬิกาที่สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณเวลาที่ได้รับจากดาวเทียม GPS แทนที่จะใช้สัญญาณเวลามาตรฐานที่ส่งจากสถานีภาคพื้นดิน ทางบริษัทในเครืออย่าง Seiko Epson ได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับระบุตำแหน่งด้วย GPS แล้ว แต่การผสานการทำงานนี้เข้ากับนาฬิกาข้อมือเป็นเรื่องที่แทบจะไปไม่ได้ได้ การใช้พลังงานเมื่อรับสัญญาณจากดาวเทียม GPS อยู่ที่ประมาณ 200 เท่าของนาฬิกาที่ใช้การปรับเวลาด้วยคลื่นวิทยุหรือ Radio Controlled นอกจากนั้น ยังจะต้องมีเสาอากาศขนาดใหญ่สำหรับการรับสัญญาณที่แม่นยำ การรวมฟังก์ชันและชิ้นส่วนเหล่านี้เอาไว้ในนาฬิกาข้อมือจะต้องมีการลดขนาดลงและประหยัดพลังงานเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้คือ ความท้าทายเหมือนกับที่ทีมสร้าง Astron ดั้งเดิมต้องเผชิญทุกประการ แต่ในที่สุด Seiko ก็ประสบความสำเร็จ
ดังนั้นในปี 2012 ทาง Seiko เปิดตัวนาฬิกาที่ชื่อว่า Astron อีกครั้ง แน่นอนว่านาฬิกาเรือนนี้ยังมากับกลไกควอตซ์ แต่เป็นควอตซ์ที่ไม่ธรรมดา เพราะพ่วงเอาเทคโนโลยีของการปรับเวลาให้สอดคล้องกับ Local Time โดยอาศัยสัญญาณจากเครือข่ายดาวเทียมของระบบ GPS เป้าหมายของนาฬิก่าเรือนนี้คือ นักเดินทาง นักธุรกิจ หรือใครก็ตามที่จะต้องเดินทางข้ามเขตโซนเวลาอยู่บ่อยๆ ซึ่งการใช้นาฬิกาแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะควอตซ์ หรือจักรกลก็ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนและไม่สะดวกเท่าไร
Astron คือ ทางออกของเรื่องนี้ เพราะนอกจากตัวนาฬิกาจะมีการมองหาสัญญาณ GPS เพื่อปรับเวลาให้มีความเที่ยงตรงแล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถเปลี่ยนเวลาเมื่อเดินทางข้ามโซนเวลาเพียงแค่กดปุ่มเพียงครั้งเดียว ตัวนาฬิกาจะสามารถรับสัญญาณจากเครือข่ายดาวเทียม GPS พร้อมกับปรับเวลาจาก Home Time (เมืองที่เดินทางจากมา) มาเป็น Local Time (เวลาท้องถิ่นของเมืองที่เดินทางมาถึง)
นี่คือนวัตกรรมซึ่งเป็นที่สุดและคือนาฬิกาแห่งอุดมคติของนักเดินทางอย่างแท้จริง
ความยอดเยี่ยมแห่งนวัตกรรม
อย่างที่บอกตั้งแต่ตอนแรก ในยุคที่ Astron เจนเนอเรชั่นที่ 2 เปิดตัวออกมาในฐานะ GPS Solar Watch เป็นช่วงที่นวัตกรรมในด้านการผลิตนาฬิกาข้อมือที่นำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในโลกเข้ามาช่วยเหลือในการปรับเวลานั้นยังไม่มี ระบบ Radio Controlled Watch หรือที่เรารู้จักกับเทคโนโลยี Multiband ของ Casio ในการปรับเวลาให้มีความเที่ยงตรงผ่านทางคลื่นวิทยุ ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานเพราะใช้ได้เฉพาะประเทศที่มีเสาวิทยุตั้งอยู่ (หรือคลื่นวิทยุนั้นเดินทางไปถึง) ซึ่งทั่วโลก เสาวิทยุนี้มีอยู่ 6 เสาใน 5 ประเทศ ขณะที่พวกสมาร์ทวอทช์ก็ยังไม่แจ้งเกิด
ดังนั้น การเข้ามาของ Seiko Astron พร้อมความสามารถในการปรับเวลาเมื่อเดินทางข้ามเขตเวลาจึงเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดา
ในตอนนั้น คู่แข่งในตลาดมีแค่ระบบ Sattlelite Wave ของ Citizen แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ Astron GPS กลับใช้งานยุ่งยากกว่า เพราะแม้ทั้งคู่จะหลักการของเป็นนาฬิกาที่ต้องอาศัยการปรับเวลาด้วยการรับสัญญาณจากดาวเทียมของระบบ GPS เหมือนกัน แต่ในระบบของ Seiko จะมีชิ้นส่วนในการทำหน้าที่ระบุตำแหน่งในเชิงพิกัด หรือ GPS Geo-Location ทำให้สามารถเพิ่มความสามารถในการปรับเวลาได้โดยอัตโนมัติที่นาฬิกาสามารถรับสัญญาณได้หลังจากที่ผู้สวมใส่เดินทางข้ามเขตเวลา หรือจะปรับเวลาเองด้วยการกดปุ่มก็ได้ ในกรณีที่ระบบยังไม่สามารถรับสัญญาณ
เรียกว่านี่คือ นาฬิกาในฝันของนักเดินทางที่ข้ามเขตเวลาบ่อยๆ และไม่ต้องมานั่งกังวลใจ หรือถอดนาฬิกาออกจากข้อมือมานั่งหมุนเม็ดมะยมในการตั้งเวลาเมื่อถึงที่หมาย โดยระบบจะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที่ถึง 2 นาทีในการรับสัญญาณและปรับเวลา
ทำตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
นับจากการเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2012 ด้วยรหัส 7X Series ซึ่งมากับตัวเรือนขนาด 47 มิลลิเมตรพร้อมกลไก 7X52 ทาง Seiko ยังเดินหน้าพัฒนาและจับ Astron เข้าเป็นคอลเล็กชั่นหลักของแบรนด์ เช่นเดียวกับ Prospex, 5 Sports, Presage ฯลฯ
ข้อจำกัดที่ Seiko เคยเจอในตอนต้นของการพัฒนาอย่างเรื่องของเสาอากาสที่จะต้องรับสัญญาณ และการกินพลังงานเมื่อต้องปรับเวลาตามคลื่นสัญญาณของ GPS นั้น ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการลดสิ่งเหล่านี้ลง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเสาสัญญาณที่อยู่ในรุ่น 7X Series ซึ่งเปิดตัวในปี 2012 แล้ว ขนาดของเสาอากาศลดลงอย่างมาก จากเดิมที่เป็นวงแหวนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 38 มิลลิเมตรก็ลดลงมาอยู่ที่ 35.5 มิลลิเมตรในปี 2014 ของรุ่น 8X Series และเหลือเพียง 10X10 มิลลิเมตรในรุ่น 5X Series ที่เปิดตัวในปี 2018 ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบของการจัดวางเสาสัญญาณมาเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ใช่วงแหวนอีกต่อไปในรุ่น 3X Series เมื่อปี 2019
ส่วนในรุ่นของการใช้พลังงานนั้น ก็ลดลงเหลือแค่ 1 ใน 4 เมื่อเปรียบจากรุ่นแรก 7X Series ที่เปิดตัวในปี 2012 กับรุ่น 5X และ 3X Series แต่ทว่าได้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าโดยเป็นผลมาจากการพัฒนาชิ้นส่วนอย่างตัวรับสัญญาณให้ดีขึ้น จนนำไปสู่การผลิต Astron เรือนแรกสำหรับผู้หญิงอย่างรุ่น 3X Series ที่เปิดตัวในปี 2019
ไม่ได้มาแทน แค่รุ่นพิเศษสำหรับฉลองครบ 50 ปี
ในเดือนธันวาคม 2019 ชื่อของ Astron กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งสำหรับวาระของการฉลองครบรอบ 50 ปีในการผลิตนาฬิการุ่นนี้ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1969 ไม่ใช่นาฬิการุ่นใหม่ที่จะถูกบรรจุอยู่ในคอลเล็กชั่น Astron ซึ่งในตอนนี้ได้กลายเป็นนาฬิกาที่สร้างมาตรฐานให้กับวงการไปแล้ว แต่เป็นการเป็นรุ่นพิเศษที่เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการเปิดตัวรุ่น Astron ในฐานะนาฬิกาควอตซ์ที่ถูกผลิตในเชิงพาณิชย์เรือนแรกของโลก
สำหรับรุ่นใหม่มากับรหัส SBXD002 มีรูปทรงเหลี่ยมที่มีขนาดตัวเรือนกว้าง 40.9 มิลลิเมตร และ Lug to Lug 43.9 มิลลิเมตร โดยสิ่งที่ทำให้มันมีค่าตัวสูงถึง 3.8 ล้านเยน คือ วัสดุที่ใช้ในการผลิตตัวเรือน ซึ่งมาจากทองคำ 18K ที่มีการขัดแต่งและสลักลวดลายอย่างสวยสะดุดตาด้วยช่างฝีมือดี
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าตัวเรือนและรูปทรงจะมากับความคลาสสิค แต่สิ่งที่อยู่ในด้านในถือเป็นความทันสมัยกับกลไก 3X22 แบบควอตซ์ ที่ชาร์จกระแสไฟฟ้าผ่านทางแสงอาทิตย์ หรือ SOLAR พร้อมฟังก์ชั่นปรับเวลาตามโซนเวลาโดยยึดจาก GPS ในการระบุพิกัดที่ผู้สวมใส่ยืนอยู่ โดยการทำงานของระบบผู้สวมใส่สามารถดูจาก ขอบด้านในตัวเรือนที่จะมีตัวหนังสือ N Y ระบุเอาไว้ว่าการเชื่อมต่อกับสัญญาณ GPS ทำได้หรือไม่ และการผลิตมีเพียงแค่ 50 เรือนเท่านั้น
สู่ยุคใหม่ของ GPS บางลง เจ๋งขึ้น
แน่นอนว่าในเมื่อคำว่า Astron มีความเกี่ยวพันกับเรื่องของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ดังนั้น การเดินหน้าต่อไปของนาฬิกาในคอลเล็กชั่นนี้เป็นเรื่องของความล้ำสมัย ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและการออกแบบ
ในวาระครบรอบ 10 ปีที่ Astron ทำตลาดในฐานะนาฬิกา GPS ทาง Seiko ได้เปิดตัวผลผลิตใหม่ออกมาโดยจะมีทั้งรุ่นธรรมดาที่อยู่ในคอลเล็กชั่น 5X53 Dual-Time และรุ่นพิเศษที่เป็นการผลิตจำกัดในวาระพิเศษครั้งนี้
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนาฬิกาเรือนนี้คือ การออกแบบใหม่และเป็นตัวเรือนแบบรวมเป็นชุดเดียวกับสาย ซึ่งวัสดุตัวเรือนและสายจะผลิตจากไทเทเนียมที่มีน้ำหนักเบาขึ้นถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาขนาดเดียวกันแต่ผลิตจากสแตนเลสสตีล และทนทานต่อการขูดขีดเพราะได้รับการเคลือบในแบบ Super-Hard Coating
และกลไกในรหัส 5X53 ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่าวดาวเทียมเพื่อให้สามารถปรับเวลาเมื่อเดินทางข้ามเขตดเวลาผ่านทางสัญญาณ GPS และใช้งานสะดวกเพียงแค่กดปุ่มเพื่อรอรับสัญญาณ อีกทั้งยังไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เพราะว่าเป็นระบบ Solar ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วเก็บอยู่ในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุ โดยจะมี Power Save Mode ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับจำศีลของนาฬิกาเพื่อลดความสิ้นเปลืองพลังงาน ในกรณีที่นาฬิกาถอดเก็บเอาไว้และไม่โดยแสงอีกเลย และเมื่อนาฬิกาถูกชาร์จจนเต็ม ถ้าเป็นการใช้งานปกติ แต่ไม่มีการโดนแสง ก็จะอยู่ได้นานถึง 6 เดือน หรือถ้าเก็บแบบไม่โดนแสงใน Power Save Mode ก็จะอยู่ได้นานถึง 2 ปีเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้คือการเดินทางกว่า 50 ปีในฐานะชื่อ Astron ซึ่งเป็นนาฬิกาควอตซ์ที่ผลิตขายในเชิงพาณิชย์เรือนแรกของโลก และ 10 ปีสำหรับการเป็นนาฬิกาที่ล้ำสมัยด้วยเทคโนโลยีการปรับเวลาด้วยสัญญาณ GPS
บรรยายภาพ
1.Seiko Quartz Astron 35SQ นาฬิกาควอตซ์เรือนแรกที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ของโลก เปิดตัวในปี 1969 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นาฬิกาควอตซ์ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนเกิดเหตุการณ์ Quartz Crisis ในเวลาต่อมา
2.ชื่อของ Astron กลับมาอีกครั้งในปี 2012 แต่คราวนี้เป็นนาฬิกาที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยกับการปรับเวลาด้วยการใช้สัญญาณ GPS
3.สิ่งที่ทำให้ Astron สามารถกลายเป็นจริงได้คือ ความพยายามของทีมพัฒนาที่ลดขนาดของเสาสัญญาณลงเรื่อยๆ ในรุ่นใหม่ๆ จนกระทั่งเล็กและบางถึงกับใช้ในนาฬิกาสำหรับผู้หญิงได้
4. 5X53 Dual-Time นาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดของ Seiko Astron ที่จะผลิตออกขายในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
5.ในปี 2019 วาระของการฉลองครบรอบ 50 ปีของชื่อ Astron ทาง Seiko ผลิตนาฬิการุ่นพิเศษออกมาที่มีเพียงแค่ 50 เรือนเท่านั้น
6. Seiko 3x Series ที่เปิดตัวในปี 2019 ถือเป็นนาฬิกา Astron รุ่นแรกสำหรับสุภาพสตรีโดยมีขนาดเพียง 39.8 มิลลิเมตร
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline