ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับนาฬิกาดำน้ำตัวท็อปของ Rolex อย่าง Oyster Deepsea RLX Titanium ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นต้นแบบที่เปิดตัวและถูกนำมาใช้ในปี 2012 โดยรุ่นจำหน่ายจริงของนาฬิกาเรือนนี้มีความโดดเด่นอย่างจุดด้วยกัน ซึ่งในวันนี้เราจะมาดูกันว่ามีประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง
เจาะทีละจุด Rolex Oyster Deepsea RLX Titanium ยอดนาฬิกาดำน้ำแห่งยุค
การเปิดตัวนาฬิกาสุดพิเศษของ Rolex อย่างรุ่น Oyster Deepsea RLX Titanium ถือว่าค่อนข้างเซอร์ไพรส์อย่างมากสำหรับแฟนๆ ทั่วโลก เพราะตลอด 10 ปีนับจากที่นาฬิกาเรือนนี้ถูกเปิดตัวต้นแบบออกมาพร้อมกับการนำไปใช้งานในโปรเจ็กต์อย่าง Deepsea Challenge แล้ว หลายต่อหลายคนเฝ้าถามถึงโอกาสและเวลาที่นาฬิกาเรือนนี้จะถูกผลิตออกมาในพาณิชย์ จนกระทั่งต้องรอถึงปี 2022 หรือเมื่อโปรเจ็กต์นี้ผ่านล่วงเลยมาแล้วถึง 10 ปี
มาช้าดีกว่าไม่มา แน่นอนว่าแฟนๆ ส่วนใหญ่ที่เฝ้ารอต่างก็คิดเช่นนี้ และคงต้องบอกว่าสิ่งที่มีอยู่ใน Oyster Deepsea RLX Titanium รุ่นจำหน่ายจริงนั้นถือว่าไม่ธรรมดา และเป็นนวัตกรรมในด้านนาฬิกาดำน้ำที่เกิดจากองค์ความรู้ซึ่งถูกสะสมมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่ Rolex ให้ความสนใจในการผลิตนากาที่มีความสามารถในการกันน้ำ

ย้อนความกับ Deepsea Challenge
ในปี 2012 James Cameron ที่เราคุ้นเคยกันดีในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของโลก ได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยการดำดิ่งเพียงลำพังไปสู่จุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรหรือ Mariana Trench โดยการนำร่องยานสำรวจน้ำลึก Deepsea Challenge ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการดำดิ่งลงสู่ใต้น้ำที่ความลึก 10,908 เมตร (35,787 ฟุต) ซึ่งถือเป็นโปรเจ็กต์สุดท้าทายและเป็นการต่อยอดจากการเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1960 กับยาน Trieste
ย้อนกลับไปในวันที่ 23 มกราคม 1960 โปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Deep Sea Special ของนักสมุทรศาสตร์อย่าง Jacques Piccard และ Don Walsh นายทหารแห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้เริ่มขึ้นเพื่อสร้างสถิติในการสำรวจใต้ท้องทะเลในแง่ของความลึก และ Rolex เข้าไปเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์นี้ด้วยในฐานะผู้ผลิตเรือนเวลา
ทั้งคู่ได้นำยานใต้น้ำที่ชื่อว่า Trieste ดำดิ่งลงไปบริเวณ Marian Trench ด้วยความลึกสูงสุด 10,916 เมตรและถือเป็นความท้าทายที่มีความสำคัญต่อโลกแห่งความรู้เพราะเป็นการเปิดประตูที่นำไปสู่สิ่งที่วิทยาศาสตร์ในยุคนั้นไม่สามารถหาคำอธิบายได้โดยเฉพาะเรื่องของโลกใต้ท้องทะเลที่มนุษย์ยังมีความรู้อยู่น้อยมาก และแน่นอนว่าคำว่า Deepsea ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนาฬิกาดำน้ำที่เจ๋งที่สุดเรือนหนึ่งของ Rolex ในเวลาต่อมา
เวลาได้ล่วงเลยมาถึงวันที่ 26 มีนาคม 2012 เหมือนกับภาพจำในอดีตกลับมาอีกครั้ง และคราวนี้เป็นความพยายามในการท้าทายต่อโลกแห่งการสำรวจของ Cameron ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ Deepsea Challenge ซึ่งเขาต้องการเป็นมนุษย์คนแรกที่ลงไปสู่จุดที่ลึกที่สุดของโลกด้วยตัวเลขความลึกที่มากกว่าที่เคยทำเอาไว้ในปี 1960
Rolex ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอีกครั้งของเรื่องนี้กับการผลิตนาฬิกาเรือนพิเศษที่เป็นรุ่นต้นแบบเพื่อส่งให้ใช้ในงานโปรเจ็กต์นี้ พร้อมกับวัตถุประสงค์ที่ได้รับต่อเนื่องจากการทำงานคือ การพิสูจน์ให้เห็นถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่ใน Rolex ในการผลิตนาฬิกาที่มีความสามารถในการกันน้ำและแรงดันในระดับสูงสุด และในครั้งนั้น นาฬิกา Rolex Deepsea Challenge รุ่นทดลองได้ถูกติดตั้งไว้ด้านนอกของยาน และยังคงสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติสมบูรณ์ แม้อยู่ภายใต้แรงดันอันสุดขั้ว

10 ปีแห่งการรอคอย สู่การผลิตจริง
หลังจากที่มีการพูดถึงเรื่องราวแห่งความสำเร็จในการผลิตนาฬิกาเพื่อสำรวจโลกใต้ท้องทะเลไปแล้ว สิ่งที่แบรนด์ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำต่อเนื่องคือ การนำสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นมาตีความหรือแปรรูปให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้สำหรับลูกค้า หรืออาจจะเป็น Marketing Tool ในการช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงความยอดเยี่ยม
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ Rolex ผลิตรุ่นจำหน่ายจริงของนาฬิกา Deepsea Challenge แต่ทว่าก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ หลุดออกมาจนกระทั่งในปี 2022 เสียงเรียกร้องก็กลายเป็น และนี่คือ สุดยอดนาฬิกาดำน้ำแห่งยุคที่มีความสามารถในการกันน้ำถึง 11,000 เมตรเลยทีเดียว
แน่นอนว่าตัวนาฬิกาถูกปรับเสป็กเพื่อให้สอดรับกับการใช้งาน เช่นเดียวกับที่องค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนาฬิกาได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และนั่นทำให้ Rolex Oyster Deepsea RLX Titanium เป็นนาฬิกาดำน้ำที่น่าสนใจที่สุดรุ่นหนึ่งในตอนนี้เลยทีเดียว
และในวันนี้เรามาดูทีละจุดของตัวนาฬิกาเพื่อที่จะได้รับทราบถึงความยอดเยี่ยมที่มีอยู่ข้างใน
![]() |
![]() |
Manufacturing of the Oyster Perpetual Deepsea Challenge’s middle case crafted from RLX titanium | The middle case of the Oyster Perpetual Deepsea Challenge before the stamping process |
![]() |
![]() |
Oyster Perpetual Deepsea Challenge watches during waterproofness testing,carried out in a specially designed hyperbaric tank | Decorative plate atop the waterproofness testing tank for the Oyster Perpetual Deepsea Challenge. It features the same engravings as the case back of the watch |
-
ครั้งแรกกับไทเทเนียม
เราไม่เคยเห็นนาฬิกา Rolex ที่เป็นรุ่นจำหน่ายในตลาดมากับวัสดุอย่างไทเทเนียมแต่สำหรับ Rolex Oyster Deepsea RLX Titanium นี่เป็นครั้งแรก และ Rolex ได้ใช้ไทเทเนียมแบบพิเศษที่เรียกว่า RLX ที่พวกเขาคิดมาโดยเฉพาะ
ซึ่งมีคุณสมบัติเบาบางแต่ทานทน
ไทเทเนียม RLX คือไทเทเนียมอัลลอยเกรด 5 ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของ Rolex รังสรรค์ขึ้นเพื่อให้มีน้ำหนักที่เบาและมีความทนทานต่อการเปลี่ยนรูปทรงและการขึ้นสนิม แม้นาฬิการุ่นทดลองที่ James Cameron สวมในร่องลึกที่ Mariana จะผ่านการทดสอบใต้น้ำมาอย่างไร้ที่ติ หากแต่น้ำหนักที่มากของสแตนเลสสตีล 904L ทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีปัญหาในการสวมใส่ในระยะยาว ในขณะที่การใช้ไทเทเนียม RLX กับตัวเรือนและสายของ Deepsea Challenge ทำให้นาฬิกามีน้ำหนักที่เบาและเบาขึ้นจากรุ่นทดลองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และยังคงรายละเอียดความงดงามของการขัดแต่งบนตัวเรือนได้
-
Ringlock System
นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำทุกเรือนของ Rolex ได้ออกแบบมาเพื่อความลึกสูงสุดและติดตั้งระบบ Ringlock ที่ผ่านการจดสิทธิบัตรโดย Rolex การวิจัยที่อุทิศให้กับการกันน้ำของตัวเรือนแบบ Oyster ได้ขยายไปยังส่วนอื่นๆ รวมถึงระบบนี้ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่เสริมการทำงานของตัวเรือนให้มีความแน่นหนา โดยมีการประกอบด้วยคริสตัลแซฟไฟร์ทรงโดม แหวนอัดเหล็กไนโตรเจน-อัลลอย และตัวเรือนด้านหลังทำจากไทเทเนียม RLX โดยโครงสร้างการทำงานนี้ได้ทำให้ Deepsea Challenge สามารถรับประกันการกันน้ำและมีประสิทธิภาพในการทนทานต่อแรงดันภายใต้ความลึก 11,000 เมตร (36,090 ฟุต)
-
การกันน้ำที่มากกว่า 11,000 เมตร
ต่อเนื่องจากองค์ประกอบโดยรวมที่ถูกผลิตในนาฬิกาเรือนนี้ได้นำมาสู่ความสามารถที่เหนือกว่าที่ประกาศออกมา โดยจากความร่วมมือระหว่าง Rolex และ Comex (Compagnie Maritime d’Expertises) ทำให้สามารถพัฒนาถังแรงดันสูงพิเศษเพื่อทดสอบการกันน้ำของ Deepsea Challenge ได้สำเร็จ
ดังนั้น นาฬิกาแต่ละเรือนจึงได้รับการทดสอบตามมาตรฐานของนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำ โดยมีอัตราความปลอดภัยเพิ่มเติมที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง Rolex Oyster Deepsea RLX Titanium ก็เช่นกัน และนั่นหมายถึงนาฬิกาเรือนนี้จะมีประสิทธิภาพในการรองรับแรงดันภายใต้ความลึก 13,750 เมตร (45,112 ฟุต) เลยทีเดียว
-
Helium Escape Valve
ทาง Rolex ได้พัฒนาระบบ Helium Valve ขึ้นมาด้วยเป้าหมายก็เพื่อที่จะก้าวผ่านขีดจำกัดใหม่ๆ ของนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตรงตามความต้องการของนักดำน้ำมืออาชีพและผู้ที่มีอาชีพอยู่ใต้น้ำ และมีการจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1967
ตามปกติแล้วภายในห้องปรับบรรยากาศของ Chamber หรือ Bell ที่นักดำน้ำไปพักในระหว่างปฏิบัติงานใต้น้ำลึก อากาศสำหรับหายใจในนั้นจะได้รับการผสมกับก๊าซฮีเลียมและเมื่ออะตอมของฮีเลียมรวมกับลมหายใจของนักดำน้ำจะทำให้มันมีขนาดเล็กมากจนสามารถซึมผ่านชั้นเคลือบกันน้ำของนาฬิกาได้
ภายใต้แรงดันสูงปัญหาจะยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งเมื่อต้องขึ้นสู่ผิวน้ำและแรงดันลดลง ฮีเลียมที่อยู่ในตัวนาฬิกาจะขยายตัวขึ้นและอาจจะมีแรงมากพอจนดันให้กระจกนาฬิกาหลุดออกมา นั่นจึงทำให้มีการคิดคั้งระบบ Helium Valve ขึ้นมา ในการปล่อยก๊าซฮีเลียมที่อยู่ในตัวเรือนออกไปหลังกจากที่มีการขยายตัวในขณะที่ขึ้นสู่ผิวน้ำ
-
กลไกที่เที่ยงตรงและกำลังสำรองเพียงพอต่อการใช้งาน
กลไกอัตโนมัติคาลิเบอร์ 3230 ที่เปิดตัวในปี 2020 มีกำลังสำรองอยู่ในระดับ 70 ชั่วโมงและเปิดตัวครั้งแรกกับรุ่น Submariner ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการปรับปรุง 2 ส่วนด้วยกัน อย่างแรกคือความหนาของผนังกระปุกลานที่บางลงเพื่อการใส่สปริงที่ยาวขึ้นจึงสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บพลังงานให้มากขึ้นได้ และอีกเรื่องคือการทำงานของชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy โดยชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy ผลิตขึ้นจากนิกเกิล-ฟอสฟอรัสที่ผ่านการจดสิทธิบัตรแล้ว และเป็นการผนวกรวมกันของประสิทธิภาพด้านพลังงานอันยอดเยี่ยมและน่าเชื่อถือ เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง มีความเที่ยงตรงที่เรียกว่า Superlative Chronometer (ผ่านการทดสอบและรับรองทั้งจากของ COSC และ Rolex ) มีความคลาดเคลื่อน -2/+2 วินาทีต่อวัน
-
เม็ดมะยมแบบ Triplock
ถูกเปิดตัวในปี 1970 นั้นมาพร้อมกับการกันน้ำสองชั้นในส่วนก้านเม็ดมะยมและการเคลือบอีกชั้นในตัวเม็ดมะยมเอง ระบบกันน้ำสามชั้นทำให้นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำของ Rolex ทนต่อการซึมผ่านมากขึ้น นาฬิกาที่มีระบบนี้จะมีตราปรากฏอยู่สามจุดใต้รอยปั้มตราของ Rolex ใต้เม็ดมะยม การผลิตเม็ดมะยมอันก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราจำเป็นต้องใช้ทักษะการผลิตที่มีความชำนาญเฉพาะทาง
-
Glidelock และระบบปรับสายแบบ Fliplock
นวัตกรรมการปรับสายแบบละเอียด Rolex Glidelock และปรับขยายแบบ Fliplock นี้ถูกออกแบบให้ใช้งานอย่างสะดวก สายนาฬิกา Oyster ทั้งเส้นของ Deepsea Challenge ได้รับการผลิตจากไทเทเนียม RLX เหมือนกับตัวเรือน ทำให้การสวมใส่นาฬิกากับชุดประดาน้ำที่มีความหนาถึง 7 มิลลิเมตรทำได้อย่างสะดวกสบาย
The Oysterlock clasp fitted on the Oyster Perpetual Deepsea Challenge with the Rolex Glidelock extension system and Fliplock extension link
-
พรายน้ำแบบ Chromalight
หน้าปัด Chromalight ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Rolex ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2008 ส่วนที่ใช้อยู่ใน Rolex Deepsea โดดเด่นด้วยพรายน้ำเรืองแสงที่นำมาใช้กับเข็มนาฬิกา มาร์คเกอร์ชั่วโมง และใช้กับอินเสิร์ตที่อยู่บนขอบตัวเรือน โดยสารนี้ประกอบด้วยอะลูมิเนียม สตรอนเชียม ดิสโพรเซียม และยูโรเพียม ซึ่งได้มาจากกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและมีความละเอียดสูง โดยจะปล่อยแสงสีฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือมีความสว่างเป็นพิเศษและเปล่งแสงออกมาได้อย่างยาวนาน ซึ่งนับว่าเป็นประสิทธิภาพที่เหนือกว่ามาตรฐานการผลิตนาฬิกาทั่วไปอย่างมาก
![]() |
![]() |
The Oyster Perpetual Deepsea Challenge, made of RLX titanium | The Chromalight display of the Oyster Perpetual Deepsea Challenge, visible once the watch is plunged into darkness |
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline