วันนี้ใครๆ ก็อยากรู้จัก Richard Mille

0

ภาพๆ เดียวที่ปรากฏในโลกออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่ทำให้นาฬิการะดับไฮเอนด์แบรนด์หนึ่งกลายเป็นจุดสนใจของชาวไทย และทำให้วันนี้ใครๆ ก็อยากรู้จัก Richard Mille ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

- Advertisement -

วันนี้ใครๆ ก็อยากรู้จัก Richard Mille

อยู่ในตลาดมา 1ุ6 ปี แต่ดูเหมือนว่าชื่อของ Richard Mille หรือ ริชาร์ด มิลล์ จะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไร จนกระทั่งภาพๆ หนึ่งที่ทำให้ชื่อนี้กลายเป็นคีย์เวิร์ดที่ถูกเสิร์ชโดยชาวไทยมากเป็นประวัติการณ์ เอาละแม้ว่าแบรนด์จะอยู่ในระดับที่ไม่ใช่กลุ่มที่ ana-digi มองเอาไว้ แต่ในเมื่อเป็นกระแสและเกี่ยวข้องกับนาฬิกา วันนี้ก็เลยเอาประวัติของ Richard Mille มาให้รับทราบกัน เผื่อจะได้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

ริชาร์ด มิลล์ เป็นแบรนด์อิสระที่โดดเด่นด้วยดีไซน์ล้ำสมัยผสานความซับซ้อนของกลไกที่พัฒนาต่อยอดจากเทคนิคการประดิษฐ์กลไกดั้งเดิมที่สั่งสมยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ มักถูกเรียกขานว่าเป็นประดิษฐกรรมแห่งเวลาสไตล์ฟอร์มูล่าวัน อันเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าของแบรนด์ที่ใช้ชื่อของตนเองเป็นชื่อแบรนด์นาฬิกาแห่งศตวรรษที่ 21 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2001 ปีของการก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่อย่างเป็นทางการ

ริชาร์ด มิลล์ ไม่ใช่นักประดิษฐ์นาฬิกา ก็คงเหมือนกับ Enzo Ferrari ผู้ให้กำเนิดรถสปอร์ตพันธุ์หรูที่มีม้าผยองเป็นตราสัญลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นวิศวกรเครื่องยนต์ แต่ Mille ก็สามารถนำนวัตกรรมยานยนต์มาใช้แก้ปัญหาให้กับนาฬิกาได้อย่างเฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ทนทานเป็นเยี่ยม การลดปัญหาแรงเสียดสีของชิ้นส่วนกลไก ระบบกันกระเทือนที่ดีกว่า และพัฒนาชุดกลไกให้ง่ายต่อการซ่อมแซม ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่ทำให้การพัฒนาไร้ขีดจำกัด

ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของเครื่องประดับแบรนด์ดัง Mauboussin และออกมาเพื่อก่อตั้งบริษัทนาฬิกาของเขาเอง ประกอบกับความหลงใหลในเครื่องยนต์มาตั้งแต่เด็ก ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ทั้งยังเก็บไอเดียที่ได้จากสิ่งรอบตัว ไม่เฉพาะรถยนต์เท่านั้น มอเตอร์ไซค์ เครื่องบิน เรือยอช์ท และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับกลไกกับเทคโนโลยี ซึ่งมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น มาใช้ในการรังสรรค์นาฬิกา เมื่อไอเดียกับแนวคิดได้รับการถ่ายทอดสู่ภาพร่าง กระบวนการสร้างเรือนต้นแบบก็จะตามมา เพื่อตรวจสอบและปรับแต่งในขั้นต้น บางรุ่นใช้เวลาคิดค้นวิจัยและพัฒนานานถึง 2 ปี จากนั้นจึงมองหาผู้ผลิตแต่ละชิ้นส่วนที่ดีที่สุด เช่น Audemars Piguet Renaud & Papi ผลิตกลไกทูร์บิญองและกลไกซับซ้อนอย่างโครโนกราฟ สปลิท เซกัส กลไกที่สามารถจับเวลา 2 รายการพร้อมกัน เป็นต้น

ด้วยความรุ่มรวยทางศิลปะและวัฒนธรรมการประดิษฐ์นาฬิกาของสวิสที่พัฒนามาเป็นระบบแบบแผนมายาวนานกว่า 450 ปี ก่อเกิดผู้เชี่ยวชาญชำนาญการประดิษฐ์เครื่องบอกเวลาเฉพาะด้านในหมู่บ้านเล็กๆ แถบเทือกเขามากมาย ที่พร้อมจะรังสรรค์ชิ้นส่วนสำคัญที่มีบุคลิกเฉพาะตามแบบที่ขึ้นไว้ โดยไม่จำเป็นต้องมีโรงงานที่ทำทุกอย่างเอง เพียงแค่แสวงหาผู้ผลิตที่มีฝีมือดีที่สุด มีคุณภาพสูงสุด ให้กับแบรนด์ก็เพียงพอแล้ว นั่นคือการทำงานของ Mille และหลากรุ่นหลายคอลเลกชั่นก็เป็นบทพิสูจน์ที่ยอดเยี่ยมให้กับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะเรือนงามรุ่น RM012 ที่คว้ารางวัลมือทองคำ รางวัลเกียรติยศจาก The Geneva Watchmaking Grand Prix ในปี 2007 มาแล้ว

ในแต่ละปี Mille จะคิดค้นและออกแบบรุ่นใหม่สุดพิเศษ เพื่อเติมเต็มความฝันของนักสะสมและคนรักนาฬิกาทั่วโลก ในปีนี้ก็เช่นกัน หลากรุ่นใหม่ยกทัพเปิดตัวในที่จัดแสดงส่วนตัวบนพื้นที่ในโรงแรมหรูกลางกรุงเจนีวา รวมทั้งอีกครั้งที่เมืองบาเซิล ซึ่งก็จัดเป็นการส่วนตัว นอกเขตงาน Baselworld เช่นกัน โดยในปีนี้ ไม่เพียงแต่ตอกย้ำดีไซน์สุดเฉียบของคอลเลกชั่นยุคแรก สานต่อด้วย 4 รุ่นใหม่ RM002-V2, RM003-V2, RM004-V2 และ RM008-V2 ในคอลเลกชั่น All Gray ที่ยังเพิ่มความโดดเด่นด้วยวัสดุล้ำยุคอย่าง Carbon Nanofiber (คาร์บอน นาโนไฟเบอร์) หรือเส้นใยนาโนคาร์บอน โครงสร้างที่ประกอบขึ้นมาจากพื้นผิวคาร์บอนที่มีการผสมเส้นใยเล็กระดับนาโนเมตรฝังตัวลงไปไว้ภายในโครงสร้าง มีคุณสมบัติพิเศษคือแข็งแกร่งเป็นเยี่ยม อีกทั้งโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะตัวทางกายภาพและทางเคมีจึงทนต่อแรงดันได้ถึง 700 บาร์และที่อุณหภูมิสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส และ Mille นำวัสดุล้ำสมัยมาใช้ผลิตแท่นเครื่องให้กับชุดกลไกในโทนสีเทาตามชื่อคอลเลกชั่น

Richard Mille ยังออกแบบนาฬิกาสำหรับเพื่อผู้หญิงหลังจากที่ปล่อยให้รอมานานกับรุ่น RM019 Tourbillon Celtic Knot ‘Ladies’ (อาร์เอ็ม 019 ทูร์บิญอง เซลติก น็อท ‘เลดี้’) รังสรรค์สู่ความงามใหม่กับการประดับเพชรบนโครงสร้างของกลไกในลวดลายสัญลักษณ์ที่เป็นงานกราฟิกดังจากยุคศตวรรษที่ 5 ของเงื่อนปมที่ไม่รู้จบ สะท้อนความงามที่เป็นอมตะ แท่นเครื่องผลิตจากหินโมราสีดำ (Onyx) ประดับเพชรน้ำงามเรียงร้อยเป็นแนวโค้งสวยบนโครงสร้างในดีไซน์ Celtic Knot เชื่อมตลับลานที่ตำแหน่ง 10-11 นาฬิกาพร้อมการแสดงมาตรวัดพลังงานสำรองด้วยขีดสีแดง กับกลไกทูร์บิญองที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา เพิ่มความเก๋ด้วยเม็ดมะยมที่ทำด้วย Alcryn หรือพลาสติกเรซินดีไซน์ลายเก๋ พร้อมปลอกยางสีดำ

ยังมีอีกความโดดเด่นที่ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องยนต์ของอากาศยานความเร็วสูงด้วยรุ่น RM021 Tourbillon ‘Aerodyne’ (อาร์เอ็ม ทูร์บิญอง ‘แอโรไดน์’) ล้ำสมัยด้วยนวัตกรรมวัสดุศาสตร์ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาโดยองค์การนาซ่า และเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่ผสานวัสดุร่วมระหว่าง Titanium Aluminide (ไททาเนียม อลูมิไนด์) โลหะอวกาศ ที่ใช้ในการผลิตปีกของเครื่องบินที่มีความเร็วระดับซูเปอร์โซนิกของนาซ่า กับเส้นใยนาโนคาร์บอน ที่นอกจากจะสวยแล้วยังมีคุณสมบัติเพิ่มความแกร่งได้เป็นอย่างดี

Richard Mille ไม่ได้มีเพียงตัวเรือนทรงตอนโนหรือรูปทรงที่คล้ายถังเบียร์เท่านั้น ผลงานใหม่ยังนำเสนอรูปทรงกลมอมตะ แต่ซับซ้อนด้วยสุดๆ ทั้งกลไกที่ผสานทูร์บิญองกับจับเวลาโครโนกราฟเข้าด้วยกัน ขอบตัวเรือนที่ออกแบบมาสำหรับให้เป็นนาฬิกาดำน้ำ ซึ่งต้องหมุนได้ทิศทางเดียวเพื่อใช้ตั้งเวลา ส่วนมากตั้งเวลาในการใช้ถังอากาศ สำรองคู่ไปกับอุปกรณ์ดำน้ำสำคัญที่เรียกกันว่า Dive Computer ขอบตัวเรือน 3 ชั้น ยึดแน่นด้วยสกรู 24 ตัว ทั้งยังคงความโดดเด่นของวัสดุสุดล้ำอย่างเส้นใยนาโนคาร์บอน กับระบบป้องกันการกระเทือนที่เหนือชั้นยิ่งกว่า และความสามารถกันน้ำได้ลึกถึง 300 เมตร

คุณสมบัติเพียบขนาดนี้ ที่เหลือก็แค่ว่าจะกล้าใส่ลงดำน้ำหรือเปล่า เท่านั้นเอง