Panda Dial (แพนด้า ไดอัล) คือ อะไร
เชื่อว่าเมื่อผ่านมาถึงจุดๆ หนึ่งหลายคนอาจจะสงสัยกับชื่อต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ตามสื่อที่พวกคุณกำลังตามอ่านเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกแห่งเรือนเวลากันมากขึ้นตามประสบการณ์ในด้านเวลาของการเข้ามาอยู่ในโลกใบนี้ คำหนึ่งที่ผมมักจะถูกถามเสมอจากเพื่อนๆ ที่อยู่รอบด้านคือ แพนด้า ไดอัล หรือ หน้าปัดแบบแพนด้า คืออะไร ? และทำไมถึงเรียกกันเช่นนั้น
โอเค…แพนด้า ไดอัล ถ้าแปลกันแบบตรงตัวคือหน้าปัดของหมีแพนด้า ซึ่งถ้าคุณไม่ถึงกับเถรตรงนักก็น่าจะพอเดาได้ว่าเรากำลังหมายถึงอะไรกัน ไม่ใช่ว่าหน้าปัดนั้นมีรูปทรงเป็นแบบหมีแพนด้า แต่มันคือ การใช้สีในแบบทูโทนเหมือนกับแพนด้าในป่าที่มี ขาว-ดำ
แต่เอาเข้าจริงๆ ในด้านนิยมของการเป็น แพนด้า ไดอัล นั้น ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็นสีขาว-ดำเท่านั้น พวกเขาเลือกใช้คำว่า พื้นหน้าปัดหลักที่ปูด้วยสีอ่อน และจะมีรายละเอียดที่อยู่บนหน้าปัดเป็นสีเข้ม ผมเชื่อว่าการเกิดหน้าปัดในสไตล์นี้มักจะเป็นนาฬิกาแบบจับเวลาหรือ Chronograph ที่มีอะไรให้เล่นในเชิงโทนสีมากกว่านาฬิกาแบบ 3 เข็มปกติ ดังนั้นคำว่า รายละเอียดที่อยู่บนหน้าปัด น่าจะสื่อถึงเรื่องของหน้าปัดวงย่อยมากกว่า
อย่างที่บอกว่า 2 สิ่งที่หน้าปัดแบบ แพนด้า ไดอัล จะต้องมีคือ พื้นหน้าปัดหลักสีอ่อน และพื้นหน้าปัดย่อยสีเข้ม แต่ส่วนใหญ่แล้วหน้าปัด แพนด้า ไดอัล ที่มีอยู่ในตลาดนั้นจะเป็นสีขาว-ดำตรงตามคอนเซ็ปต์ของชื่ออย่างชัดเจน แต่ก็มีบ้างที่บางเรือนเลือกใช้คำนี้โดยที่มีความเปลี่ยนแปลงของการจับคู่สี เช่น สีอ่อน อาจจะเป็นสีไข่ไก่ หรือ Old Rose แบบอ่อนๆ ส่วนสีเข้มมักจะเป็นสีน้ำเงินเข้มแทนก็ได้ไม่ถือว่าผิดปกติกาแต่ประการใด
แพนด้า ไดอัล ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ซึ่งมันก็มีที่มาที่ไป เพราะว่าในช่วงนั้นถือเป็นช่วงของการก่อกำเนิดและได้รับความนิยมของนาฬิกาจับเวลา Chronograph และสีดำและขาวคือคู่โทนสีที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องในโลกของนาฬิกามาอย่างช้านาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำมาจับผสมผสานกันบนหน้าปัด ด้วยเหตุผลที่มีการวิเคราะห์ขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ ความสะดวกในการอ่านค่าเวลา เพราะนาฬิกาในยุคนั้นเรือนไม่ใหญ่ และถ้าเป็นหน้าปัดจับเวลาด้วยแล้วรายละเอียดยิ่งเยอะ ทำให้ถ้าเป็นพื้นสีเดียวอาจจะทำให้ดูลำบาก
นอกจากเรื่องของสีแล้วอีกสิ่งที่ถือว่ามีความสำคัญสำหรับนาฬิกาในแบบ แพนด้า ไดอัล คือ การจัดวางของวงย่อยบนหน้าปัด ซึ่งจากบทความของ Tuen Van Heerebeek ที่เขียนเมื่อปี 2016 นั้น ได้นิยามเอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งการที่จะเป็น แพนด้า ไดอัล อย่างสมบูรณ์นั้น หมายความว่า หน้าปัดย่อยจะต้องจัดวางอยู่ในตำแหน่ง 3-6-9 นาฬิกา ซึ่งก็คือ 3-9 เป็นตา และ 6 เป็นปาก
แต่ทว่าผู้ผลิตบางรายมีการสลับตำแหน่งในการวางของชุดหน้าปัดย่อยตามการออกแบบ เช่นอยู่ในตำแหน่ง 6-9-12 หรือบางหน้าปัดมีแค่ 2 วง ก็จะถูกนิยามให้เป็น Semi-Panda Dial แทน
อย่างไรก็ตาม นอกจาก แพนด้า ไดอัล แล้ว อีกคำศัพท์ที่มีความเกี่ยวข้องกันคือ Reverse Panda Dial (รีเวอร์ส แพนด้า ไดอัล)นั่นคือ การสลับการใช้สีบนหน้าปัด ซึ่งใน รีเวอร์ส แพนด้า ไดอัล นั้น หน้าปัดหลักจะเป็นสีเข้ม และหน้าปัดย่อยจะเป็นสีอ่อนแทน
Panda Dial | Reverse Panda Dial | |
สีหน้าปัดหลัก | อ่อน | เข้ม |
สีหน้าปัดย่อย | เข้ม | อ่อน |
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/