Oris ProDiver Chronograph ใหญ่ เทอะทะ แต่เท่สุดๆ

0

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยู่ในวังวนของการหลงใหลในนาฬิกากลไกหลังจากที่ได้เห็นเจ้า Oris ProDiver Chronograph เมื่อ 9 ปีที่แล้ว และแม้ว่าจะมีขนาดใหญ่จนหลายคนบอกว่าเทอะทะ แต่สุดท้ายแล้ว นี่คือ นาฬิกาที่ผมชอบมากจนกระทั่งอยู่คู่กันมาเกือบ 8 ปีแล้ว

- Advertisement -

Oris ProDiver Chronograph

Oris ProDiver Chronograph ใหญ่ เทอะทะ แต่เท่สุดๆ

  • นาฬิกาดำน้ำรุ่นท็อปของค่าย Oris

  • ขนาดตัวเรือนใหญ่ 51 มิลลิเมตร และใช้ระบบ RSS

  • เปิดตัวเมื่อปี 2010 กับราคา 155,000 บาท

ผมเชื่อว่าคนเราหลุดเข้ามาอยู่ในวังวนของความหลงใหลในโลกของนาฬิกาโดยจะต้องมีอะไรสักอย่างเป็นตัวจุดชนวน อย่างของผมอาจจะเริ่มต้นมานานแล้วกับ Casio G-Shock Frogman สำหรับโลกนาฬิกาแบบเบสิก แต่ถ้าเป็นโลกของการสัมผัสสาวจากสวิสส์และนาฬิกากลไกอัตโนมัติ มันเริ่มจากปี 2010 เมื่อผมได้เห็นหน้าตาของเจ้า Oris ProDiver Chronograph ที่พวกเขาเปิดตัวออกสู่ตลาดเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ผมยังจำได้ดีกับอาการอ้าปากค้างเมื่อเห็นนาฬิกาเรือนนี้ เช่นเดียวกับขนาดของตัวเรือนที่ถือว่า Oversize เอาเรื่องกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 51 มิลลิเมตร เช่นเดียวกับความบ้าในตัวเลขของความสามารถในการทนต่อแรงดันน้ำเทียบเท่ากับ 1,000 เมตรที่เอาไว้คุยกับเพื่อนๆ ได้

แน่นอนว่าตอนนั้นผมยังไม่ได้มีโอกาสครอบครองเจ้านี้หรอก เพราะด้วยราคาป้ายที่ค่อนข้างเอาเรื่อง ซึ่งมีตัวเลข 155,000 บาท ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดใจทุบกระปุกเพื่อดึงเข้ากรุ เพราะถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง และตัวเลือกในระดับราคานี้มีค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉพาะพวกมือสอง

แต่ว่ากันว่าเป็นเนื้อคู่กันแล้วไม่แคล้วกัน สุดท้ายหลังจากที่นั่งมองมานาน ในที่สุดก็ต้องกลั้นใจ และจัดการสอยเจ้า Oris ProDiver Chronographเข้ามาอยู่ในกรุจนได้ และไม่ผิดหวังกับแพ็คเกจที่เรียกว่าสุดอลังการ มาพร้อมอุปกรณ์ครบครันรวมถึงสายสำรองที่มีทั้งสายไทเทเนียมและสายยาง…นั่นคือเรื่องราวเมื่อสัก 8 ปีที่แล้ว แต่วันนี้ลองหยิบมาใส่ เลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอามา Review ลงเว็บสักหน่อย แม้ว่ารุ่นนี้จะตกรุ่นไปแล้วก็ตาม

Oris เริ่มต้นพัฒนานาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้เมื่อปี 2009 ซึ่งเป็นยุคที่พวกเขาเริ่มจริงจังกับการเพิ่มทางเลือกในกลุ่มนาฬิกาดำน้ำให้มากขึ้นจากเดิมที่มีแค่ตัว Diver Date และในปีนั้น Oris ได้ร่วมมือกับนักดำน้ำมืออาชีพและเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของพวกเขา (ดูได้จากภาพปกที่อยู่ในแพ็คเกจ) คือ Roman Frischknecht นักดำน้ำชาวสวิสส์ ในการพัฒนานาฬิกาดำน้ำที่มีระบบซึ่งสามารถช่วยเหลือในการใช้งานได้ และนั่นเป็นที่มาของระบบล็อก Bezel ที่เรียกว่า Rotating Safety System-RSS ซึ่งเป็นระบบกลไกที่ช่วยล็อกให้ Bezel ไม่สามารถหมุนได้หลังจากที่คุณหมุนจับเวลา ลดความเสี่ยงในการที่ Bezel หมุนเองหรือคุณไปโดนจนทำให้การจับเวลาในการดำน้ำผิดเพี้ยน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้

ตรงนี้ถือเป็นเทคโนโลยีที่ Oris มีการจดสิทธิบัตรเอาไว้ และวิธีใช้งานก็ไม่ยาก คือ หลังจากที่คุณหมุน Bezel ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ก็ดันวงแหวนขึ้นไปเท่านี้ก็ไม่สามารถหมุน Bezel ได้แล้ว

สำหรับรุ่นนี้ถือเป็น Gen แรกของ ProDiver Chronograph เพราะจากนั้นในปี 2016 พวกเขาก็เปิดตัวปรับโฉมที่มีการเปลี่ยนรายละเอียดบนหน้าปัดใหม่ ก่อนที่จะเปิดตัวรุ่น Dive Control ที่ผลิตจำกัดออกมาเมื่อต้นปี 2019

อย่างที่บอกว่าด้วยขนาดตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 51 มิลลิเมตร แน่นอนว่าย่อมทำให้ใครหลายคนลังเลใจ แต่ถ้าคุณเป็นแฟนนาฬิกาดำน้ำของ Oris มาก่อน จะพบว่าทีมออกแบบของพวกเขาสามารถทำให้นาฬิกาที่มีตัวเรือนใหญ่ขนาดนี้สามารถรัดกระชับข้อมือของคุณได้อย่างลงตัว

เพราะถ้าดูดีๆ แล้วตรงช่วงขาสายนาฬิกาของนาฬิกาดำน้ำจากค่ายนี้มักจะงุ้มลง และทำให้ Lug to Lug ของตัวนาฬิกาไม่เยอะจนเกินไป ซึ่ง ProDiver Chronograph ก็เช่นเดียวกัน มันจึงค่อนข้างรับกับข้อมือขนาด 7 นิ้วของผมอย่างลงตัว และไม่รู้สึกว่าใหญ่จนล้นแต่อย่างใด จะมีก็ตรงความหนานี่แหละกับตัวเลขอยู่ในระดับ 20.7 มิลลิเมตร ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเรือนจะใหญ่และหนา แต่ในเรื่องของน้ำหนักนั้นเบาหวิว เพราะตัวเรือนของ ProDiver Chronograph ผลิตจากไทเทเนียม เช่นเดียวกับสาย โดยด้านข้างตัวเรือนตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกานั้นจะมีการเจาะช่องสำหรับ Helium Escape Valve เอาไว้ ส่วน Bezel Ring ผลิตจากเซรามิก แถมยังใช้น็อตยึดไว้กับฐาน Bezel และเพื่อความกระชับมือในการหมุน โดยเฉพาะเมื่อต้องสวมถุงมือหนาๆ ในขณะทำงานตรงขอบ Bezel จึงมีการหุ้มยางเอาไว้และทำให้รูปทรงที่คล้ายๆ กับเฟือง ซึ่งขอบยางชุดนี้จะติดกับวงแหวนของระบบ RSS

ในเมื่อเป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ ดังนั้นปุ่มต่างๆ ที่ประกอบอยู่บนตัวเรือนก็เลยต้องใหญ่ตามไปด้วย ทั้งปุ่มกดในระบบ Chronograph ซึ่งจะต้องคลายเกลียวทั้งปุ่ม Start และ Stop ก่อนถึงจะสามารถกดให้ระบบจับเวลาทำงานหรือหยุด โดยตรงรอบต่อระหว่างเม็ดมะยมกับปุ่มของระบบ Chronograph จะมี Crown Guard ที่ใช้พลาสติกเป็นตัวกันเอาไว้ และใช้น็อตยึดติดเข้ากับตัวเรือน ซึ่งไอ้เจ้าชิ้นส่วนตรงนี้แหละที่ผมค่อนข้างกังวลว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ แล้ว มันจะเกิดอาการกรอบหรือแตกเพราะการทำร้ายของกาลเวลาหรือเปล่า แต่เท่าที่เจ้านี่อยู่กับผมมา 8 ปี มันก็ยังไม่มีอาการใดๆ ให้เห็น จะมีก็ตรงขอบยางตรง Bezel นี่แหละที่ผมรู้สึกว่าเริ่มเหนียวติดมือนิดหน่อย

สำหรับหน้าปัดของ ProDiver Chronograph จะมีการแบ่งวงย่อยสำหรับระบบจับเวลาเอาไว้ 3 ตำแหน่งคือ 12-6 และ 9 นาฬิกา โดยที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะมีการเจาะช่องเล็กๆ เอาไว้สำหรับแสดงวันที่ หรือ Date โดยตำแหน่ง 12 นาฬิกาแสดงเวลาในส่วน 30 นาที ตำแหน่ง 6 นาฬิกาสำหรับชั่วโมงซึ่งจับได้สูงสุด 12 ชั่วโมง ส่วนตำแหน่ง 9 นาฬิกาเป็นเข็มวินาทีย่อยของระบบแสดงเวลา ขณะที่หน้าปัดเป็นลายคลื่นตามสไตล์ของนาฬิกาดำน้ำของ Oris ช่วงทศวรรษที่ 2000 และ 2010 ต้นๆ

ในส่วนของกลไกไม่มีอะไรที่ซับซ้อน และเป็นกลไกอัตโนมัติที่พื้นฐานดีในแง่ของความทนทาน ไม่จุกจิก และดูแลรักษาง่าย ซึ่ง Caliber 674 ของ Oris ที่วางอยู่ใน ProDiver Chronograph นั้นเป็นการดัดแปลงจากพื้นฐานของ Valjoux 7750 ของ ETA มี 25 ทับทิม เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมงหรือ 4Hz และสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง ซึ่งในกลไก 674 ของ Oris ตัดฟังก์ชั่น Day ในการแสดงวันของสัปดาห์ออกไป

สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบในนาฬิการุ่นนี้คือ สายยางที่มีการปรับเปลี่ยนจากสายยางแบบเดิมๆ ของ Oris ที่จะต้องตัดทิ้งตามขนาดข้อมือ ซึ่งไม่สะดวกเอาเสียเลย แต่สำหรับ ProDiver Chronograph เป็นสายยางรุ่นใหม่ละ โดยจะเป็นบานพับที่สามารถปรับขนาดได้ตามรูที่เจาะอยู่บนสายคล้ายกับพวกบานพับของนาฬิกาสายหนัง ใส่ง่ายและปรับละเอียดได้ค่อนข้างดี เพราะว่าที่ตัวบานพับเองจะมีปุ่มปรับระดับที่ละเอียดลงไปอีกให้เลือก

อย่างไรก็ตาม เรื่องสายนี่แหละเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบเหมือนกับกับนาฬิกาดำน้ำของ Oris เพราะความวุ่นวายในการเปลี่ยนสายกับน็อตแบบ 2 หัวที่คุณจะต้องหาไขควงมาล็อกน็อตอีกฝั่งเอาไว้ไม่ให้หมุนตามเวลาที่จะต้องคลายเกลียวออกมาเพื่อเปลี่ยนสาย ความยุ่งยากก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ความเสี่ยงในการทำให้เกิดรอย และเป็นรอยที่คนรักนาฬิกาจะต้องร้องไห้กันเลยทีเดียว เพราะถ้าพลาดรอยจะเกิดขึ้นบนขาสายด้านนอก ต่างจากพวกการเปลี่ยนสายจากสปริงบาร์ที่รอยมันจะอยู่ตรงด้านในของขาสาย ใส่แล้วก็มองไม่เห็น แถมถ้าใช้ไขควงไม่ดี โอกาสที่หัวน็อตจะเยินก็มีสูง ส่วนไอ้เจ้าอุปกรณ์สำหรับช่วยเปลี่ยนสายที่ติดมาให้ในกล่องนั้น บอกเลยว่าใช้ยากมาก และไม่สะดวกเอาเสียเลย

สำหรับ Oris ProDiver Chronographน่าจะเป็นนาฬิกาที่ทำให้เกิดอาการเดียวกับ Seiko Prospex Marinemaster 1000m คือ ถ้าไม่ชอบก็เกลียดไปเลย นอกจากนั้นอีกสิ่งที่น่าจะทำให้มันกลายเป็นตัวเลือกท้ายๆ คือ ค่าตัวที่ค่อนข้างสูง ลองคิดดูว่ากับราคาป้าย 155,000 บาท แม้ว่า Oris จะขึ้นชื่อในเรื่องของส่วนลดที่ค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายราคาในระดับหลักแสน ทางเลือกมีเยอะแยะ และสุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็มักจะไปจบกับนาฬิกาที่ซื้อง่ายขายคล่องอย่างพวกแบรนด์ตลาดๆ มากกว่า

ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะกับขนาดที่ใหญ่โตและเทอะทะขนาดนี้ คงยากที่จะหาใครที่มีขนาดข้อมือที่ใหญ่และใจรักเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งตั้งแต่เปิดตัว ผมเคยเห็นคนใส่จริงๆ อยู่แค่คนเดียวเท่านั้น เรียกว่า Niche สุดๆ

รายละเอียดทางเทคนิค : Oris ProDiver Chronograph

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 51 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 56 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 20.7 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 26 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire ทรงโดม พร้อมเคลือบสารกันการสะท้อนแสงด้านใน
  • กลไก : Oris 674 อัตโนมัติ ขึ้นลานมือ แฮ็คเข็มวินาที
  • ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
  • ทับทิม : 25 เม็ด
  • สำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
  • การกันน้ำ : 1,000 เมตร
  • ประทับใจ : หน้าตา รูปทรง การกันน้ำ สายยาง
  • ไม่ประทับใจ : ราคา ความหนา และรูปแบบการเปลี่ยนสาย