นาฬิกาที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นเทพในการวัดระดับความสูงด้วยกลไกในเชิงเมคานิค ซึ่ง Oris เปิดตัวออกมาในปี 2014 และ Big Crown Pro Pilot Altimeter ไม่ใช่นาฬิกาที่เกิดมาเพื่อทุกคน แม้ว่าคุณจะมีใจรักหรือมีงบฯ ประมาณที่มากพอในการซื้อมาครอบครอง แต่ถ้าขนาดข้อมือไม่ใหญ่พอ ก็หมดสิทธิ์ที่จะใส่นาฬิกาเรือนนี้ได้อย่างสวยงามเมื่อถูกคาดอยู่บนข้อมือ
Oris Big Crown Pro Pilot Altimeter นอกจากจะต้องมีใจให้แล้ว ข้อมือก็ต้องรองรับได้ด้วย
-
นาฬิกานักบินที่ได้รับการเพิ่มฟังก์ชั่นด้วยการติดตั้งระบบวัดความสูงในแบบเมคานิคตามหลักการของบารอมิเตอร์
-
ตัวเรือนขนาด 47 มิลลิเมตรมาพร้อมกับการออกแบบตามสไตล์นาฬิกานักบินรุ่นใหม่ของ Oris
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ Oris 733 ที่อยู่บนพื้นฐานของ Sellita SW-200 มีกำลังสำรอง 38 ชั่วโมง
ในช่วงทศวรรษที่ 2010 กับสโลแกน ‘Real Watches for Real People’ ผมว่านั่นคือส่วนหนึ่งในการกำหนดแนวทางในการพัฒนานาฬิกาของ Oris ณ ช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน และถ้าคุณเป็นสาวกของแบรนด์ในช่วงนั้นจะพบว่า นาฬิกาของพวกเขาเป็นประเภทขาโหดที่เกิดมาเพื่อคนใช้งานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในกลุ่มดำน้ำ รถแข่ง และนักบิน ซึ่งBig Crown Pro Pilot Altimeter ก็คือหนึ่งในนั้น และถือเป็นนาฬิกาที่อยู่ใน Wish List ผมมานาน จนกระทั่งสามารถสานฝันให้เป็นจริงได้ในที่สุด
จริงๆ ผมตั้งใจจะเขียน Review นี้ตั้งนานตั้งแต่สมัยได้นาฬิกามาใหม่ๆ เมื่อหลายปีที่แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เริ่มสักทีจนกระทั่ง Oris เปิดตัว Big Crown Pro Pilot Altimeter Carbon ออกมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สุดท้ายก็เลยตั้งใจว่าเขียนเลยดีกว่าก่อนที่ดินจะพอกหางหมูไปมากกว่านี้
อย่างที่เกริ่นในพารากราฟต้นๆ ถ้าคุณติดตาม Oris ในช่วงเวลานั้นจะพบว่าพวกเขาเปิดตัวนาฬิกาที่เป็นมากกว่านาฬิกาออกมาอย่างมากมาย Pro Diver Chronograph คือ หนึ่งในนั้นและเป็นนาฬิกาที่ดึงผมเข้าสู่วังวนของโลกแห่งเรือนเวลา จากนั้นในปี 2013 เป็นเรื่องของการวัดระดับความลึกตามกฎของ Boyle Mariotte ผ่านทางนาฬิกาที่ชื่อว่า Aquis Depth Meter และอีก 1 ปีต่อมาก็ถึงคิวของเรื่องราวบนท้องฟ้า กับ Big Crown Pro Pilot Altimeter
ไม่ต่างจากบรรดาลูกค้านาฬิการะดับหรูหลายต่อหลายคน ผมมักจะชอบนาฬิกาที่มีเรื่องเล่า ตำนาน และมีความเชื่อมโยงกับอะไรสักอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ แต่ที่อาจจะมีเพิ่มมากกว่านั้นคือ ผมเป็นพวกบ้าฟังก์ชั่น และชอบนาฬิกาที่มีอะไรมากกว่าการบอกเวลา ดังนั้น นาฬิกาของ Oris ทั้ง 3 เรือนจึงเข้าข่ายข้อหลัง และได้ใจผมไปเต็มๆ
ถามว่าได้ใช้ไหม ? แน่นอนว่า ‘ไม่’ และไม่ต้องถามต่อนะครับว่า แล้วจะซื้อมาทำแมวอะไร ?
Big Crown Pro Pilot Altimeter ถือเป็นผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ Oris ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในการออกแบบของนาฬิกาในกลุ่มนักบินของพวกเขา หลังจากที่มีแต่รุ่น Big Crown และรุ่น BC3 ทั้งแบบธรรมดาและ Advanced (เปิดตัวตั้งแต่ปี 1999) รวมถึงรุ่น BC4 (เปิดตัวในปี 2008) แบบต่างๆ แน่นอนว่า Oris คงคอลเล็กชั่น Big Crown เอาไว้ในฐานะ Core Collection ในฐานะที่เป็น Iconic ของแบรนด์
แต่ตัวเสริมที่จะมาแทนที่ BC3 และ BC4 ก็คือ Pro Pilot ที่ถูกออกแบบให้มีความสวยและความทันสมัยมากขึ้นและเปิดตัวในปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่มีความสำคัญ ในฐานะครบรอบ 110 ปีของการก่อตั้งแบรนด์
Big Crown Pro Pilot ถูกเปิดตัวออกมาหลากหลายตั้งแต่รุ่นพื้นฐาน คือ Date ไซส์ 41 มิลลิเมตร รวมถึง Day Date ไซส์ 43 มิลลิเมตร ตามด้วย GMT, Chronograph GMT และรุ่นใหญ่สุดของเวอร์ชันธรรมดาคือ Altimeter ที่มีขนาดตัวเรือน 47 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นพิเศษก็คือ Pro Pilot x Calibre 115
ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน ต่างก็มีดีไซน์หลักที่สอดรับกัน เช่น ขอบตัวเรือนแบบบางและขอบบนของเม็ดมะยมที่มีการสลักให้เป็นลายเกลียวเฉียง ที่เหมือนกับท่อไอพ่นของเครื่องยนต์เจ็ต ซึ่งดีไซน์นี้รวมไปถึงขอบของฝาหลังด้วย หน้าปัดมีการใช้ฟอนต์ตัวเลขอาระบิกจัดวางครบทุกตำแหน่งของหลักชั่วโมง และที่สำคัญคือ บานพับสายที่เป็นพิเศษ ซึ่งถูกออกแบบฟังก์ชั่นการทำงานเหมือนกับตัวรัดของเข็มขัดนิรภัยบนเครื่องบินโดยสาร แค่ยก (Lift) บานพับขึ้น ก็คลายล็ออกออกได้แล้ว
สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ในเชิงการออกแบบที่ถูกใช้ร่วมกับนาฬิกาในกลุ่ม Big Crown Pro Pilot ไม่ว่าจะเป็นรุ่นย่อยไหนก็ตาม ซึ่งก็รวมถึง Altimeter แต่สิ่งที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีความพิเศษกว่าใครเพื่อก็คือ ฟังก์ชั่นวัดความสูงโดยอาศัยแรงกดอากาศ และที่สำคัญคือทุกอย่างทำงานในแบบเมคานิก ไม่ใช่เซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์เหมือนกับนาฬิกาญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคย
ถ้าคุณมีโอกาสลองเสิร์ชคำนี้ใน Youtube จะพบกับคลิปที่เป็นช่วงเวลาของการเปิดตัวของนาฬิกาเรือนนี้ที่ผมว่าอลังฯ สุดๆ เพราะ Oris ลงทุนเชิญนักข่าวไปที่สนามบิน คาด Big Crown Pro Pilot Altimeter ที่ข้อมือ แล้วขึ้นเครื่องบินใบพัดไปทดสอบระบบกันเลย
บอกก่อนว่านาฬิกาเรือนนี้มีหลักการในเชิงแนวคิดคล้ายๆ กับ Depth Guage ด้วยการใช้แรงดันของบรรยากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงความสูงเป็นดันเข็มเพื่อบอกระดับความสูงที่เกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าในระหว่างการใช้งานจะต้องมีการคลายเม็ดมะยมในตำแหน่ง 4 นาฬิกา ซึ่งตรงหน้าตัดของชิ้นส่วนนี้จะมีการระคำว่า ALT-SET (Altimeter Setting) เอาไว้ นั่นหมายความว่านอกจากการคลายเกลียวปุ่มนี้ทิ้งเอาไว้เพื่อให้แรงดันของบรรยากาศแทรกเข้าไปแล้ว มันยังเป็นปุ่มที่คุณจะต้องใช้ในการ Calibrate ค่าความสูงก่อนที่จะเริ่มทำการบินในทุกครั้งอีกด้วย
วิธีการไม่ยุ่งยาก คือ จัดการคลายเกลียวออก และดึงเม็ดมะยมมาที่ตำแหน่งที่ 2 แล้วหมุนเพื่อให้ค่าความกดอากาศอ้างอิง (เช่น จากหอบังคับการบิน) อยู่ตรงกับสามเหลี่ยมสีแดงที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกากึ่งกลางของหน้าปัด ตอนนี้นาฬิกาจะแสดงระดับความสูงปัจจุบันด้วยตัวชี้วัดสีเหลือง และความดันอากาศสัมบูรณ์ปัจจุบันด้วยตัวชี้วัดสีแดง และเมื่อต้องใช้งานก็ดันเม็ดมะยมนี้กลับไปที่ตำแหน่ง 1 และปล่อยทิ้งเอาไว้ ซึ่งตรงขอบเกลียวของเม็ดมะยมจะมีวงแหวนสีแดงครอบเอาไว้เพื่อบอกว่าคุณกำลังเปิดใช้งานระบบวัดความสูงอยู่
ส่วนใครที่กังวลว่าจะมีความชื้นเข้าก็ไม่ต้องห่วง เพราะเป็นแค่การเปิดและปรับค่าเพียงแค่แป๊บเดียว แถม Oris ยังมีการออกแบบเม็ดมะยม เป็นพิเศษถึงขั้นมีการจดสิทธิบัตร และเม็ดมะยมนี้ก็ทำงานร่วมกับแผงกั้นไอน้ำ PTFE (คล้ายกับ Gore-Tex) จะป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าสู่ภายในตัวเรือนนาฬิกา มีแค่อากาศและแรงดันเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ ดังนั้น เบาใจได้ในเรื่องนี้
ส่วนระบบแสดงระบบความสูงนั้นเป็นการพัฒนาร่วมกับ Thommen ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Waldenburg ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ห่างจากสำนักงานใหญ่ของ Oris ในเมือง Hölstein เพียงไม่กี่ไมล์ เมื่อคว่ำนาฬิกาลงและเปิดฝาหลัง สิ่งแรที่จะเห็นคือ ชิ้นส่วนของระบบที่ใช้ในการวัดความสูงซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมและมีกระเปาะ และยึดเอาไว้ด้วยน็อต 3 ตัว และเมื่อคลายน็อตออก คุณถึงจะได้เห็นกลไก Oris 733 พร้อมโรเตอร์ของกลไกชุดนี้ โดยตัวกลไกพัฒนาบนพื้นฐานของ Sellita SW-200 และมีกำลังสำรอง 38 ชั่วโมง
นั่นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมนาฬิกาเรือนนี้ถึงได้มีความหนาในระดับ 17.7 มิลลิเมตรเลยทีเดียว เรียกว่านอกจากจะต้องมีข้อมือใหญ่ในระดับหนึ่ง (แนะนำว่าข้อมือเกิน 7 นิ้วขึ้นไปน่าจะเหมาะกับนาฬิกาเรือนนี้) แล้ว ยังจะต้องมีใจรักในเรื่องการสวมใส่นาฬิกาแบบหนาๆ ด้วย
ไหนๆ ก็เล่ามาถึงเรื่องกลไกแล้ว คงต้องบอกว่าในส่วนของกลไกอัตโนมัติและการปรับตั้งถือว่าแยกจากกันกับระบบวัดความสูง โดยการปรับเซ็ตเวลาจะเป็นหน้าที่ของเม็ดมะยมซึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกา เรียกว่า 2 ส่วนนี้แยกการปรับตั้งกันเพียงแต่ถูกจับมาวางอยู่ในตัวเรือนเดียวกันก็เท่านั้นเอง
ในเรื่องของการนำไปใช้วัดความสูงนั้น ต้องวัดบนเครื่องบินที่ไม่มีระบบปรับแรงดันภายในห้องโดยสาร ดังนั้นพวกเครื่องบินพาณิชย์ทั้งหลาย รวมถึงเจ็ตส่วนตัว บอกเลยว่าหมดสิทธิ์ วัดไม่ได้ ต้องเป็นเครื่องบินแบบ 2 หรือ 4 ที่นั่ง พวกเครื่องบินใบพัด หรือเครื่องบินเจ็ตเท่านั้น ระบบ Altimeter ถึงจะทำงานเพราะในคอกพิทไม่ได้มีการปรับแรงดัน
แต่ถึงกระนั้น พวกที่ไม่ใช่นักบินอย่างผม รวมถึงฝรั่งบางคนก็ยังหัวใสในการปรับแนวทางการใช้นาฬิกานักบินเรือนนี้ให้เป็นนาฬิกาสำหรับการใช้งาน Outdoor หรือสำหรับคนที่ชอบปืนเขาแทน เพราะสามารถนำไปใช้ในการวัดความสูง ขณะที่ไปเที่ยวเขา หรือที่สูงได้
ซึ่งจริงอยู่ที่แม้ว่าจะใช้วัดความสูงเพียงน้อยนิด (จากความสูงที่วัดได้ทั้งหมด 12,500 ฟุต หรือ 4,500 เมตรซึ่งในรุ่นที่มากับสเกลฟุตจะใช้รหัส ref. 733 7705 4134 TS และรหัส ref. 733 7705 4164 TS สำหรับรุ่นที่มีหน่วยเป็นเมตร) แต่อย่างน้อยนี่คือ ทางออกสำหรับคนที่ชอบนาฬิกาเรือนนี้ แต่ไม่มีโอกาสที่จะนั่งอยู่ในคอกพิทของเครื่องบินเพื่อใช้งานระบบนี้โดยตรง
ในแง่ของการสวมใส่นั้น ตัวเรือนไซส์ 47 มิลลิเมตรบวกกับความหนาทำให้นาฬิกาเรือนนี้ไม่ใช่สำหรับทุกคนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี่คือนาฬิกานักบินที่มีขอบตัวเรือนแบบบางและควรจะทำให้พื้นที่ของหน้าปัดมีมากจนเกิดความรู้สึกว่านาฬิกามีขนาดใหญ่มาก
แต่ยังโชคดีที่การออกแบบมีการแบ่งส่วนหนึ่งของขอบนอกหน้าปัดเป็นสเกลในการวัดความสูง ดังนั้น พื้นที่ในส่วนของหน้าปัดสำหรับใส่หลักชั่วโมงจึงไม่ใหญ่มาก และไม่ทำให้รู้สึกว่าหน้าปัดมีขนาดใหญ่อย่างที่คิด แต่สุดท้ายผมก็บอกได้แค่ว่า ถ้าข้อมือไม่ใหญ่ อย่าหือเลย เพราะถึงแม้จะชอบมาก แต่เมื่อขึ้นข้อแล้ว นาฬิกาอาจจะไม่ยิ้มให้อย่างที่ควรจะต้องเป็น
สายแคนวาสของตัวนาฬิกาบวกกับฟังก์ชั่นในการปรับสายเป็นอะไรที่ผมค่อนข้างชอบมาก สวมสบายเข้ากับรูปแบบของตัวนาฬิกา ใช้งานสะดวก ถอดออกเพียงแค่ยกขึ้น และยังสามารถปรับสายตามขนาดข้อมือได้ด้วย เพียงแต่อาจจะกังวลนิดๆ ว่า การใช้ส่วนหนึ่งของบานพับหักลงและเป็นตัวล็อกสายแคนวาสเอาไว้นั้น เมื่อผ่านเวลาและการใช้งานไปสักระยะ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายและการฉีกขาดของสายได้อย่างแน่นอน แต่ก็คงอีกนาน
ก่อนการตัดสินใจซื้อ ผมคงต้องบอกว่านี่คือนาฬิกาอีกรุ่นที่คุณจ่ายเต็มราคาแต่โอกาสได้ใช้งานแบบครบถ้วนนั้นแทบไม่มีถ้าไม่ได้อยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ตอนที่ผมาสอยเข้ากรุ เรื่องนี้แทบไม่ได้อยู่ในหัวเลย ครอบครองเพราะชอบ นั่นคือ สิ่งที่ผมคิดอยู่เสมอเมื่อต้องซื้อนาฬิกาในลักษณะนี้
ถ้าชอบและรัก ย่อมไม่มีเงื่อนไขใดๆ เข้ามาขวางทางอย่างแน่นอน
รายละเอียดทางเทคนิค : Oris Big Crown Pro Pilot Altimeter
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47 มิลลิเมตร
- ความหนา : 17.7 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 53 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 23 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
- กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- ฟังก์ชั่น : วัดความสูงโดยใช้ความกดอากาศ
- กลไก : Oris 733 อัตโนมัติ
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังสำรอง : 38 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 100 เมตร
- ประทับใจ : ฟังก์ชั่น ดีไซน์
- ไม่ประทับใจ : ขนาดที่ใหญ่และหนาไปหน่อย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline