ถือเป็นอีกครั้งที่เราต้องใช้ Passion นำหน้าในการตัดสินใจ เพราะถ้าเอาความคุ้มค่าจริงๆ แม้ว่า Tool Watch เรือนนี้จะเจ๋งขนาดไหน แต่ด้วยการจ่ายในระดับ 6 หลักเพื่อแลกกับฟังก์ชั่นที่เราๆ ท่านๆ แทบไม่ได้ใช้งาน มันก็เลยทำให้ความคุ้มค่ามีอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น
Oris Aquis Depth Gauge ใช้ Passion นำแล้วจะดีเอง
-
เปิดตัวปลายปี 2013 และมาพร้อมแพ็คเกจสุดอลังการ
-
เป็นนาฬิกาดำน้ำแบบกลไกที่มีฟังก์ชั่นวัดระดับความลึก
-
กันน้ำได้ 500 เมตร
ความสามารถเพิ่มเติมของนาฬิกานอกเหนือจากการบอกเวลาแล้ว สำหรับพวกควอตซ์ หรือดิจิตอล มองในแง่ส่วนตัว ผมคิดว่ามันไม่มีความน่าตื่นตาตื่นใจสักเท่าไร เพราะสามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความสามารถได้ง่ายและสะดวก แต่สำหรับสายอนุรักษ์นิยมอย่างพวกนาฬิกากลไกนี่สิ ถ้ามีฟังก์ชั่นอะไรที่แปลกใหม่เพิ่มเติมจากการบอกเวลาหรือระบบจับเวลา สิ่งเหล่านี้มักจะดึงดูดความสนใจผมได้เสมอ ส่วนจะได้ใช้หรือไม่นั้น อันนั้นเป็นประเด็นรองลงไปแล้ว เหมือนอย่างตอนที่ Oris เปิดตัว Aquis Depth Gauge ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว ผมถึงกับครางหงิงๆ แล้วตั้งปณิธานว่าจะต้องสอยเข้ามาอยู่ในกรุให้ได้
ถามว่าระบบวัดความลึกของการดำน้ำเป็นเรื่องใหม่หรือ ? คำตอบคือไม่ได้ใหม่อะไรเลย เพราะมันมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยยุคทศวรรษที่ 1970 เพียงแต่ในช่วง 5 ปีที่แล้วตลาดตรงนี้ขาดแคลนของใหม่ และของที่มีอยู่อย่าง IWC Aqautimer Deep Three ก็เป็นอะไรที่เกินเอื้อมคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างผม ดังนั้น ตอนที่ Oris เปิดตัว Aquis Depth Gauge ออกมา มันถึงได้กระตุ้นต่อมอยากผมให้ทำงานได้ดีนักแล
ถาม (ต่ออีก) ว่า ผมได้ใช้ระบบนี้ไหม ? ตอบเลยว่าไม่เคย และคงไม่มีทาง เพราะผมไม่ใช่นักดำน้ำ หรือคนที่มีใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดแถวทะเล แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผมจะต้องปฏิเสธนาฬิกาดำน้ำไม่ใช่หรือ ? ผมชอบก็เพราะความสวย ส่วนฟังก์ชั่นก็เอาไว้คุยกับเพื่อน ดังนั้นงานนี้เหมือนกับหัวล้านได้หวีกลายๆ เพราะเท่ากับว่าผมกำลังจ่ายเงินจำนวนเฉียด 110,000 บาทตามราคาป้ายเพื่อการใช้งานในแบบ Aquis 3 เข็มรุ่นธรรมดาที่มีราคาถูกกว่าเกือบเท่าตัว
รุ่นที่ผมได้มาครอบครองเป็น Aquis Depth Gauge รุ่นแรกที่มี Ref. 7337675415442634EB โดยหลังจากนั้นไม่นานพวกเขาก็เปิดตัวทางเลือกที่ 2 ในแบบตัวเรือนรมดำและสายยางสีเหลืองออกมาขาย ซึ่งผมว่ามันก็สวยดีนะ แต่แค่ติดใจตรงที่ทำไมดันให้สายยางมา 2 เส้นแค่นั้นเองก็เลยดูแล้วไม่ค่อยคุ้มเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นแรกที่เป็นสายเหล็ก และแถมสายยางเอาไว้ใส่สลับ ส่วนอีกรุ่นที่ตามมาคือ Chronograph
สิ่งที่ทำให้ผมชอบและหลงใหล แน่นอนว่ามันคือเรื่องของฟังก์ชั่นวัดความลึก หรือ Depth Gauge ที่มีหลักง่ายๆ คือ การใช้แรงดันน้ำเป็นตัวทำหน้าที่ โดยเป็นการนำกฎ Boyle Mariotte Law เข้ามาปรับใช้ด้วยการให้แรงดันใต้น้ำวิ่งเข้าสู่ช่องที่เจาะเอาไว้บริเวณกลางกระจกหน้าปัดตรงตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยแรงดันของน้ำจะเข้าไปดันอากาศที่อยู่ภายในช่องซึ่งจะแสดงความลึกให้เห็นได้จากจุดบรรจบของแถบสีเทาอ่อนกับแถบสีเทาเข้มบริเวณช่องรอบหน้าปัดโดยอ่านค่าจากสเกลบนขอบหน้าปัด ซึ่งสามารถวัดได้ลึกสุดถึง 100 เมตร และอาจจะเรียกว่ามากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในตลาด เพราะขนาด Casio Frogman GWF-D1000 ยังวัดได้แค่ 80 เมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ไอ้เจ้าระบบที่ผมชอบแต่ไม่ได้ใช้ก็เหมือนกับเป็นดาบสองคมในตัว เพราะดูเหมือนว่ารูที่ปรากฏอยู่บนกระจกและเปิดแบบเสรีตลอดเวลา เมื่อไม่ได้ใช้นานๆ อาจจะทำให้เกิดการหลุดเข้าไปของฝุ่นหรืออะไรที่มีขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการทำงานของระบบได้ เพราะฟังก์ชั่นนี้ไม่มีการเอาฝามาปิด ซึ่งดูเหมือนว่าทาง Oris เองก็อาจจะคิดมาแล้วในแง่ของความกังวลของลูกค้า พวกเขาก็เลยมีชุดทำความสะอาดที่เป็นกระบอกฉีดยาขนาดเล็กพร้อมกับสายยางที่เอาไว้ใช้แหย่ลงไปที่รู แต่เท่าที่ได้มาก็ยังไม่เคยลองตรงนี้เลยนะ
เอาละถ้าตัดเรื่องฟังก์ชั่นที่ดูเทพ แต่ผมแทบไม่ได้ใช้ออกไปแล้ว Oris Aquis Depth Meter ก็เหมือนกับนาฬิกา 3 เข็มทั่วไป ตัวเรือนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 46 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug ในระดับ 54 มิลลิเมตร อาจจะดูยาว แต่ด้วยการออกแบบขาสายที่งุ้มลง ทำให้ผมรู้สึกสวมใส่แล้วค่อนข้างเข้าและกระชับกับข้อมือ
บนหน้าปัดเด่นกับขอบนอกที่เป็นตัวมาตรวัดระดับความลึกที่ถูกออกแบบให้เป็นสีเหลืองตัดกับพื้นหน้าปัดสีดำออกด้านๆ ซึ่งว่ากันว่าช่วยลดแสงสะท้อน ขณะที่ชุดเข็มทรงดาบแม้ว่าจะดูคล้ายกับ Aquis รุ่นปกติ แต่ก็ย่อขนาดลงมา ทำให้ดูแล้วลงตัวกว่าเยอะ โดยที่ช่อง Date ยังอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
ตัวกระจกแบบแซฟไฟร์เคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่งมากับขนาดที่หนากว่าปกติ ซึ่ง Oris บอกว่าหนากว่ากระจกที่ใช้อยู่กับนาฬิกาดำน้ำรุ่นปกติอยู่ 50% เลยทีเดียว ซึ่งเหตุผลก็น่าจะมาจากการที่จะต้องเซาะร่องเพื่อเป็นรูให้แรงดันใต้น้ำสามารถไหลเข้ามาก็เลยต้องการอะไรที่แข็งแรงเป็นพิเศษ ขณะที่บนหน้าปัดแม้ว่าจะบอกว่ากันน้ำได้ 500 เมตร แต่รุ่นนี้ไม่มี Helium Valve แต่อย่างใด
เรื่องของขาสายและสายยางของ Oris เป็นอะไรที่ถูกใจและขัดใจผมมาตลอด เพราะจากการออกแบบให้ขาสายมีรูปแบบเฉพาะทำให้ผมหมดสนุกกับการหาสายหนังสวยๆ มาเปลี่ยน ขณะที่สายยางแบบใหม่ที่สามารถปรับละเอียดได้นั้นถือว่ามีความสะดวกอย่างมากในการปรับให้เหมาะกับข้อมือโดยที่ไม่ต้องตัดสายเหมือนกับสายยางรุ่นเก่าๆ ที่แฟน Oris บ่นกันฮึม แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบคือ สายด้านในมักจะยาวและปลิ้นออกมาเสมอเวลาที่รัดแน่นๆ โดยตัวสายยางยังมีกลิ่น Oreo อันเป็นเอกลักษณ์ของ Oris เหมือนเดิม
สำหรับตัวกลไกของรุ่นนี้เป็น Oris 733 ที่พัฒนาอยู่บนพื้นฐานของ Selitta 200 ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจาก ETA2824 อีกทีหนึ่ง ดังนั้นหมดห่วงในเรื่องของการดูแลรักษา และความทนทานในการใช้งาน เพียงแต่กลไกนี้มีระดับการสำรองพลังงานต่ำไปสักหน่อย เพียงแค่ 38 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
มีอยู่ 2 สิ่งที่ขัดใจผมสำหรับนาฬิการุ่นนี้คือ การออกแบบให้การเปลี่ยนสายยุ่งยากและเสี่ยงต่อการเกิดรอย เพราะว่าใช้น็อตหัวแบนทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งถ้าคุณต้องการเปลี่ยนสายก็ต้องใช้ไขขวง 2 ตัวแหย่เข้าไปและหมุนไปคนละทาง เพื่อคลายเกลียว หรือไม่ก็ต้องใช้ชุดคิตของการเปลี่ยนสายให้เป็น เพราะเท่าที่ได้มาผมลองพยายามเล่นกับเจ้าชุดคิตนี้แล้ว ผมว่ายากกว่าการใช้ไขขวงไข 2 ฝั่งเสียอีก
อีกเรื่องคือ น้ำหนักตัวที่ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากตัวเรือนผลิตจากสแตนเลสและค่อนข้างใหญ่ บอกเลยว่าถ้าจับคู่กับสายเหล็กเนี่ย มีสิทธิ์เมื่อยข้อมือแน่ๆ หลังใส่ไปได้สักระยะ ถ้าคุณเคยชินก็จบ แต่ถ้ายังรู้สึกเป็นภาระข้อ ความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนสายถือเป็นอะไรที่เป็นข้อด้อยสุดๆ ของนาฬิกาในกลุ่มดำน้ำจาก Oris ซึ่งก็ยังดีที่ Aquis Depth Gauge มีสายยางมาให้ในเซ็ต เพราะถ้าซื้อเพิ่มเติมตอนหลัง บอกได้คำเดียวว่ามีจุกกับราคาแบบ 5 หลักที่แม้ว่าจะนำหน้าด้วยเลข 1 แต่ก็ยังทำเอาสะดุ้งได้ (เพราะผมเคยโดนมาแล้ว) ครั้นจะลองเปลี่ยนเป็นสายหนังแบบบังคับช่างให้ตัดให้ ผมลองเห็นหลายเรือนละ บอกได้คำเดียวว่า กลับไปเมื่อยข้อใส่สายเหล็กเหมือนเดิมดีกว่า
มาถึงบรรทัดสุดท้ายกับค่าตัวในระดับ 109,900 บาท (ซึ่งผมเชื่อว่าแฟนๆ Oris สามารถหาส่วนลดและดีลดีๆ ได้ไม่ยาก) บอกได้คำเดียวเลยว่า ไม่คุ้มอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ เพราะราคาที่แพงคือ การจ่ายเพื่อฟังก์ชั่นที่คุณไม่ได้ใช้ ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะทำให้ดีลนี้สร้างความสบายใจให้คุณคือ ต้องใช้ Passion นำหน้าสถานเดียวเท่านั้น
รายละเอียดทางเทคนิค : Oris Aquis Depth Gauge
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 46 มิลลิเมตร
- หนา : 13 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 54 มิลลิเมตร
- ระดับการกันน้ำ : 500 เมตร
- กลไก : Oris 733 บนพื้นฐาน Selitta SW200
- สำรองพลังงาน : 38 ชั่วโมง
- กระจก : แซฟไฟร์เคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน
- จุดที่ประทับใจ : ฟังก์ชั่น แพ็คเกจ หน้าตาโดยรวม
- จุดที่ไม่ประทับใจ : น้ำหนัก ความยุ่งยากในการเปลี่ยนสาย และราคา
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/