น่าจะเป็นกระแสสำหรับช่วงนี้รับต้นปี 2021 เพราะ Omega เปิดตัว Speedmaster Professional รุ่นใหม่ออกมาแล้ว พร้อมกับหน้าตาที่หลายคนอาจจะบอกว่า ดูแล้วยังไงไม่เห้นจะต่างเลย แต่เชื่อเถอะว่ามีหลายจุดที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ
5 สิ่งที่ Omega Speedmaster รุ่นใหม่ ต่างจากของเดิม
แน่นอนว่าการเปิดตัว Omega Speedmaster Professional หรือที่เราเรียกกันว่า Moonwatch นั้น สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับบรรดาแฟนๆ อย่างมากหลังจากที่เฝ้ารอข่าวกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ถ้าคุณเป็นสาวกของ Moonwatch ที่รู้ในทุกรายละเอียดของตัวนาฬิกา ประเด็นในการมองหาความต่างนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะดูแป๊บเดียวก็พอจะทราบแล้ว แต่สำหรับคนที่เพิ่งกระโดดเข้าสู่วงการหรืออาจจะชอบแต่ไม่ได้ศึกษาแบบลงลึกมาอาจจะมองสักแวบ แล้วก็บ่นออกมาว่า ‘มันใหม่ตรงไหน ?’
ตรงนี้จะว่าไปแล้วทำเอาแฟนๆ เสียงแตกกันมาหลายต่อหลายรอบว่า สุดท้ายแล้วคำว่า New Moonwatch มันไม่ได้ Modelchange อย่างที่หลายคนคาดคิด แต่เป็น Minorchange เสียมากกว่า แต่ก็ยังดีที่เป็น Big Minorchange ที่ไม่ได้แต่ปรับนิดนี่หน่อย เพราะเอาเข้าจริงๆ แม้ว่ารูปทรง และหน้าตาโดยรวมของ New Moonwatch อาจจะยังดูคล้ายรุ่นก่อนหน้านี้ก็จริง แต่สุดท้ายแล้วเปลี่ยนเยอะเหมือนกัน…ถ้าคุณสังเกตกันให้ดีๆ
1.หน้าปัด : สิ่งแรกเลยที่หลายคนอาจจะมองไม่ออกว่า New Moonwatch เปลี่ยนตรงไหนบนหน้าปัด เรากำลังจะบอกว่าก็ตรงขอบนอกไง เพราะจากเดิมที่เป็นพื้นหน้าปัดที่ดูแบบเรียบๆ ยกเว้นตรงที่เป็นหน้าปัดย่อย หรือ Subdial ที่จะมีการเว้าลงไปเป็นหลุมนั้น ในตอนนี้ขอบนอกติดกับหลักชั่วโมงนั้นทาง Omega มีการออกแบบให้เล่นระดับจนทำให้หน้าปัดเหมือนกับมีมิติมากขึ้น โดย Step Dial จะมีความสูงในการเล่นระดับอยู่ที่ 0.05 มิลลิเมตร นอกจากนั้นโลโก้ในตำแหน่ง 12 นาฬิกาสำหรับรุ่นกระจก Sapphire (หรือ 1863 เดิม) ก็จะนูนขึ้นมา และจะขัดเงาโดยใช้ผงเพชร หรือ Diamond Polishing
2.Dot Over 90 : ถ้ายังจำกันได้เราพูดเรื่องนี้กันมาแล้วกับเวอร์ชันฉลอง 50 ปีที่ Omega ได้รับรางวัล Silver Snoopy Award ซึ่งก็คือ Dot Over 90 หรือเรียกสั้นๆ ว่า DON ซึ่งตรงนี้เป็นการสร้างความเชื่อมโยงในอดีตกับนาฬิกาเรือนนี้ โดยย้อนกลับไปสู่ความคลาสสิคด้วยการใช้ขอบตัวเรือนที่มีสเกลแบบเดียวกับ Speedmaster ในยุคก่อนบินไปดวงจันทร์จนถึงปี 1970 ซึ่งอันแรกมีอยู่แล้วมาตั้งแต่ก่อหน้านั้นคือ การใช้คำว่า Tachymeter ซึ่งในรุ่นแรกจนถึงปี 1970 จะมี Accent aigu ´ หรือ อักซองเต กวี อยู่บนตัว E ส่วนอีกเรื่องเพิ่งนำมาใช้ใน New Moonwatch ก็คือ Dot Over Ninety ตรงจุดสำหรับมาร์คตำแหน่งสำคัญของแต่ละช่วงความเร็ว ซึ่งในนาฬิการุ่นแรกจนถึงปี 1970 จุดนี้จะอยู่เหนือตัวเลข 90 แต่รุ่นหลังจากนั้นจะเป็น Dot Next Ninety หรืออยู่ข้างเลข 90
3.การขัดแต่งตัวเรือน ฝาหลัง และสาย : ต้องบอกว่าบนตัวเรือนขนาด 42 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นไซส์เดิมนั้น ตัวเรือนมีการขัดแต่งในแบบลายซาตินเหมือนกับ Seamaster ด้วยความเนียนที่เพิ่มขึ้น ส่วนสายจะเหมือนกับรุ่น 1116/575 ที่ขายในระหว่างปี 1968-1972 ส่วนฝาหลัง ในรุ่นฝาหลังทึบ หรือ 1861 เดิม นอกจากจะเปลี่ยนใหม่ด้วยฝาหลังแบบมีเล่นระดับความนูนของพื้นผิว และมีการเพิ่มตัวหนังสือเข้าไปในบางจุด โดยเฉพาะคำว่า Master Chronometer เพื่อบ่งบอกถึงความเที่ยงตรงของกลไก ส่วนรุ่นที่เป็นแซฟไฟร์ทั้งด้านหน้าและหลังนั้นจะมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการป้องกันสนามแม่เหล็กในระดับ 15,000 เกาส์ ตรงนี้ส่งผลต่อความหนาของตัวเรือนที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่บางลงด้วย ซึ่งในรุ่นฝาหลังทึบมีความหนา 13.58 มิลลิเมตร และรุ่นฝาหลังใสมีความหนา 13.18 มิลลิเมตร
4.กระจก : แม้ว่าจะยังมีจำหน่ายเหมือนเดิมทั้งรุ่น Hesalite Glass หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ 1861 และกระจก Sapphire ในรุ่น 1863 แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ในรุ่นกระจก Sapphire จะมีการเคลือบสารกันการสะท้อนแสงที่ด้านใน ส่วนรุ่นกระจก Hesalite Glass จะยังมีโลโก้ของ Omega อยู่ตรงกลางเหมือนเดิม
5.กลไก : น่าจะเป็นจุกที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างอย่างชัดเจนสำหรับ New Moonwatch ด้วยการใช้กลไก Co-Axial Master Chronometer Calibre 3861 เป็นแบบไขลานที่มีการขัดแต่งชิ้นส่วนอย่างสวยงามด้วยลวดลาย Geneva Wave พร้อมกับความสามารถในการสำรองพลังงานเพิ่มเป็น 50 ชั่วโมง เดินด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง และความเที่ยงตรงในระดับ master Chronometer ที่ผ่านการรับรองโดย METAS
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/