Nomad RAF Limited Edition นักบินไขลานสเป็กคุ้มค่าตัว

0

สำหรับคนที่ชอบนาฬิกา Homage งานนี้มีเสียเงินอีกแล้วกับผลผลิตใหม่ของ Nomad ซึ่งเป็นกลุ่ม Homage Watch คนไทย กับรุ่น RAF ในสไตล์นักบินพร้อมกลไกไขลานและผลิตเพียง 99 เรือนเท่านั้น

- Advertisement -

Nomad RAF

Nomad RAF Limited Edition นักบินไขลานสเป็กคุ้มค่าตัว

  • ผลผลิตใหม่ของแบรนด์ Nomad ซึ่งเป็น Homage Watch ของคนไทย ซึ่งคราวนี้หันมาเจาะตลาดใหม่ด้วยนาฬิกานักบินในสไตล์วินเทจ

  • ตัวเรือนผลิตจาก Bronze มีขนาด 45 มิลลิเมตร และความกว้างขาสาย 24 มิลลิเมตร และใช้กลไกแบบไขลานของ Miyota

  • ผลิตเพียง 99 เรือน และราคาตอนที่รับจองอยู่ที่ประมาณ 8,500 บาท

ที่ผ่านมาของนาฬิกา Nomad ที่เป็น Homage Watch ของไทยนั้น เราคุ้นเคยกับโปรเจ็กต์ที่ผลิตโดยอ้างอิงพื้นฐานจากนาฬิกาดำน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งเมื่อสักต้นปีค่อนมาทางกลางปี 2019 แบรนด์ถึงได้เพิ่มทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจและคราวนี้เจาะกลุ่มผู้หลงใหลในนาฬิกานักบินทรงเม็ดมะยมอันโต และนั่นเป็นที่มาของ โนแมด ลาฟ ที่มีการผลิตจำกัดเพียง 99 เรือนเท่านั้น

แน่นอนว่า ผมพิมพ์ชื่อจองลงในกระทู้แทบจะทันทีหลังจากที่พี่โหน่ง Nirut Jeenyu โพสต์กระทู้รับจอง โนแมด ลาฟ ลงในกลุ่ม Homage Thai แม้ว่าก่อนหน้านี้สักปลายปี 2018 แกจะปล่อยภาพออกมาให้เห็นนิดๆ ซึ่งตอนนั้นสารภาพเลยว่ายังรู้สึกเฉยๆ อยู่ แถมการพิมพ์จองครั้งนี้ถือว่าเสี่ยงนิดๆ กับสภาพที่ใส่ขึ้นข้อแล้วอาจจะไม่สวย

เพราะตามสเป็กที่เผยออกมาตัวนาฬิกาแบบไร้ขอบตัวเรือนหรือ Bezel หนาๆ หมุนได้เหมือนนาฬิกาดำน้ำ แถมมีเส้นผ่านศนย์กลางระดับ 45 มิลลิเมตรจะสร้างความหวาดหวั่นให้กับผมนิดๆ เพราะเคยมีประสบการณ์ ‘ใหญ่เวอร์’ กับนาฬิกาสไตล์นี้ทั้งที่มีขนาดแค่ 44 มิลลิเมตรมาแล้ว

แต่สุดท้ายเมื่อ โนแมด ลาฟ เดินทางมาถึงมือ และแกะกล่องลองขึ้นข้อกลับพบว่า ไม่เจอกับปัญหาที่เคยเจอมาก่อนเลย เอาเป็นว่าสบายใจไปเปราะหนึ่ง ซึ่งเท่าที่นั่งดูน่าจะเป็นเพราะข้อแรกแม้ว่าจะไม่มีขอบตัวเรือนแบบหมุนเหมือนกับนาฬิกาดำน้ำ แต่ โนแมด ลาฟ ก็ถูกออกแบบให้มีขอบตัวเรือนที่ค่อนข้างหนานิดนึง ทำให้ช่วยลดทอนความใหญ่ของหน้าปัดลงไปได้

ข้อต่อมา มิติตัวเรือนของนาฬิกาถือว่าสัมพันธ์กับขนาดโดยรวม เพราะมีความหนาของตัวเรือนระดับ 13.6 มิลลิเมตรเข้ามาช่วยเลยทำให้ดูสมดุลกัน และสุดท้ายคือดีไซน์ของขาสาย ที่ไม่ยาวจนเกินไป แถมยังงุ้มลงเล็กน้อย ทำให้สอดรับกับข้อมือพอดี แม้ว่า Lug to Lug จะยาวถึง 53 มิลลิเมตร แต่ผมว่าคนขนาดข้อมือสัก 6.5 นิ้วขึ้นไปน่าจะรับมืออยู่ โดยรูปทรงของเคสที่มากับเม็ดมะยมขนาดใหญ่ทรง Diamond หรือบางคนเรียกว่าทรงหัวหอม หรือ Onion Shaped นั้นมีลักษณะที่ดูคล้ายกับ Zenith Type20 อยู่เหมือนกัน

ตอนที่มีการเปิดตัวออกมา รุ่นที่ต้องตาต้องใจผมคือ หน้าปัดน้ำเงิน แต่สุดท้ายผมเลือกเอาหน้าปัดดำ (แต่จริงๆ แล้วนาฬิกาค่ายนี้มักจะชอบมีอะไรแถมมาให้ด้วยเสมอ และคราวนี้คือหน้าปัดอีกสีที่แตกต่างจากสีที่คุณสั่ง เผื่อจะเอาไปเปลี่ยนเล่นเอง)

สิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจคือ British Arrow หรือเครื่องหมายหัวลูกศรที่เป็นสิ่งที่แสดงถึงการเป็นสมบัติของอังกฤษ ซึ่งเครื่องหมายนี้จะถูกตีตราอยู่ในทุกอย่างโดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ของอังกฤษเพื่อระบุความเป็นเจ้าของ ส่วนตัวผมว่ามันมีส่วนที่ทำให้เข้ากันกับนาฬิกาซึ่งถูกจัดวางคอนเซ็ปต์ในแนววินเทจ ขณะที่หน้าปัดฟ้าไม่มีเครื่องหมายนี้ และผมค่อนข้างไม่ถูกใจกับคำว่าว่า Manual Winding บนหน้าปัดซึ่งส่วนตัวผมมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องใส่มา อีกทั้งเมื่อดูจากเข็มที่ออกแนวสี Blue Steel ด้วยแล้ว ผมว่าน่าจะลงตัวและเด่นกว่าถ้าเข็ม Blue Steel เดินกวาดอยู่บนหน้าปัดสีดำ…และผมก็คิดไม่ผิดจริงๆ

นอกจากนั้น ดีไซน์ของหน้าปัดที่ใช้หลักชั่วโมงทรงสามเหลี่ยมยังชวนนึกถึงกลิ่นอายของ Omega Seamaster รุ่นเก่าๆ เช่นเดียวกับรุ่น Railmaster แต่เพิ่มเอกลักษณ์ของ Nomad ด้วยการวางตัวเลขใน 4 หลักสำคัญ คือ 3-6-9-12 ขณะที่พื้นหน้าปัดมีการ Brushed ขัดเป็นลายแนวตามยาว ดูสวยสะดุดตาและเล่นกับแสงเมื่ออยู่กลางแดด ซึ่งจะออกในแนวสีเทา แต่เมื่ออยู่ในที่ร่มจะเป็นหน้าปัดสีเข้ม

ตัวนาฬิกามากับขาสาย 24 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าถูกใจมาก เพราะสต็อคสายไซส์นี้ของผมมีเพียบ ทำให้หาสายมาจับคู่กับตัว Nomad RAF ได้อย่างสนุกขึ้น แต่ถ้าไม่คิดมาก ผมว่าสายหนัง Horween ที่ติดมากับตัวเรือนก็ถือว่าสวยและมีคุณภาพดีเลยทีเดียว เพียงแต่ส่วนตัวผมชอบเปลี่ยนสายเพื่อสร้างความแตกต่าง (นิดๆ หน่อยๆ) ให้กับนาฬิกาของตัวเอง จะได้ดูแล้วไม่เหมือนใคร

Nomad RAF

ในแง่ของสเป็กเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่จ่ายไปประมาณ 8,500 บาทนั้นถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว นอกจากตัวเรือนจะมากับวัสดุอย่าง Bronze CuSn8 ที่คุ้นเคยแล้ว กระจกด้านหน้ายังมาในแบบ Sapphire แบบเรียบ ขณะที่ด้านหลังเป็นแบบฝาหลังใส ตัวฝาหลังทำจาก Stainless Steel และเจาะช่องสำหรับใส่กระจก Sapphire เพื่อให้มองเห็นกลไกที่อยู่ด้านในซึ่งเป็น Miyota 8N33 แบบไขลาน ซึ่งเรียกว่าหายากเหมือนกันที่เราจะได้เจอกับนาฬิกาไขลานในยุคนี้ เพราะทางเลือกของนาฬิกาจักรกลที่มีขายอยู่ในตลาดนั้น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นพวกอัตโนมัติทั้งนั้น เพราะใช้งานได้ง่ายกว่า และไม่ต้องมานั่งไขลานกันทุกวัน แต่ส่วนตัวผมชอบนะอารมณ์นั่งหมุนเม็ดมะยมเล่นเวลาว่างๆ ก็เลยไม่ติดขัดอะไรกับเรื่องนี้ และผมว่าทางแบรนด์เองก็เลือกใช้กลไกแบบไขลานเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ในสไตล์วินเทจของตัวนาฬิกา

Nomad RAF

และด้วยเหตุที่เป็นกลไกไขลาน ซึ่งบางคนอาจจะไม่คุ้นเคยทางแบรนด์ก็เลยต้องพิมพ์แมนนวลมาบอกวิธีใช้ให้ทราบกันสักหน่อย แต่สิ่งที่ผมคิดว่าต้องมีแมนนวลแผ่นนี้คือ เรื่องรูปแบบที่แตกต่างจากนาฬิกาไขลานทั่วไป เพราะ Nomad RAF มากับรูปแบบของเม็ดมะยมแบบขันเกลียว ในขณะที่นาฬิกาไขลานส่วนใหญ่ที่ผมมีประสบการณ์นั้นจะไม่ใช่แบบนี้ เรียกว่าหมุนขึ้นลานกันโดยไม่ต้องคลายเกลียวเลย

แต่สำหรับ Nomad RAF ต้องมีเทคนิคนิดหน่อย เพราะหลังจากที่คลายเกลียวแล้วก็หมุนขึ้นด้านบนเหมือนกับขึ้นลานมือ โดยหมุนสัก 30-40 รอบก็พอแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เวลากดเม็ดมะยมลงเพื่อขันเกลียวจะมีเสียงดังแปลกๆ จนตอนแรกนึกว่าผมไปทำอะไรพังเข้าให้แล้วตั้งแต่วันแรกที่ได้มา เพราะตอนแรกดันลืมอ่านแมนนวลก่อน และไขลานจนตึงมือเลย

ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมขัดใจเล็กน้อย และไม่เข้าใจว่าในเมื่อต้องการทำนาฬิกาในแนวนักบิน แล้วทำไมจะต้องมาสนใจหรือกังวลใจด้วยว่าจะต้องทำให้มันมีความสามารถในการกันน้ำระดับ 200 เมตร และเลือกใช้รูปแบบเม็ดมะยมแบบขันเกลียวเพื่อการนี้ ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกว่าไม่สะดวกเอาซะเลย และค่อนข้างเสียอรรถรสในการหมุนขึ้นลานเล็กน้อย เพราะขั้นตอนและข้อจำกัดที่มีจากการทำเช่นนี้

Nomad RAF

จากการที่เริ่มเป็นแฟนและติดตามผลงานมาตลอด ผมมองเห็นพัฒนาการของงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของความประณีตของงาน การดีไซน์ที่มีการปรับและทำให้ดูลงตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่า Nomad RAF เป็นนาฬิกาอีกเรือนที่ไม่น่าพลาด และงานนี้มีผลิตออกมา 99 เรือน แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูกจับจองหมดไปแล้วหรือยัง ใครที่สนใจก็ลองเข้ากลุ่ม Homage Thai ใน Facebook แล้วลองติดต่อทาง Nirut Jeenyu ดูครับ

รายละเอียดทางเทคนิค : Nomad RAF

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 45 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 53 มิลลิเมตร
  • หนา : 13.6 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 24 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : Bronze  CuSn8
  • กระจก : Sapphire
  • ฝาหลัง : Stainless Steel พร้อมกระจก Sapphire
  • กลไก : Miyota 8N33 แบบไขลาน
  • จำนวนทับทิม : 17 เม็ด
  • ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
  • สำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
  • ความคลาดเคลื่อน : -20 ถึง +40 วินาทีต่อวัน
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : คุณภาพ ดีไซน์ หน้าปัด และสเป็กที่คุ้มค่ากับราคา
  • ไม่ประทับใจ : นาฬิกาไขลานแต่ใช้รูปแบบเม็ดมะยมขันเกลียว