ถ้าคุณต้องการนาฬิกาจักรกลสักเรือนภายใต้เงื่อนไขที่เยอะทั้งเรื่องของวัสดุ กลไก แบรนด์จากสวิสส์ที่มีตำนาน และความสวยของตัวนาฬิกา แต่บอกมาแค่ว่ามีเงินอยู่ในงบบวกลบ 30,000 บาท บางคนอาจจะบอกว่าให้ลืมๆ ไปเถอะ เพราะตัวเลือกแบบนี้ไม่น่าจะมีอยู่ในตลาด ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ตอนนี้คำตอบคือ Mido Ocean Star Captain 80 Titanium
Mido Ocean Star Captain 80 Titanium สวยเรียบในราคาสุดคุ้มค่า
- แบรนด์ดี งานเนียนตามแบบฉบับ Swiss Made
- ขนาดกำลังพอเหมาะ ไซส์ 42 มิลลิเมตร และหนาในระดับไม่ถึง 12 มิลลิเมตร
- ราคาป้ายอยู่ในระดับที่น่าสนใจ 36,500 บาท
เชื่อเลยว่าถ้าคุณมีงบประมาณอยู่ในมือบวกลบ 25000-35,000 บาท และต้องการนาฬิกาอัตโนมัติสักเรือน แบบว่าไม่เอามือสองแต่ต้องเป็นของใหม่ป้ายแดงเท่านั้น รายชื่อที่ปรากฏขึ้นมา อาจจะมีหลากหลาย แต่เราก็เชื่อว่าคงมีไม่มาก โดยหนึ่งในนั้นจะต้องมี Mido Ocean Star Captain 80 Titanium รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน…เพราะเราก็มีนาฬิกาเรือนนี้อยู่ในลิสต์ตัวเลือกเหมือนกับหลายๆ คนที่มีความต้องการเช่นนี้
สำหรับชื่อ Mido ในมุมของใครบางคน อาจจะดูแก่หรือเก่า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะนี่คือแบรนด์ที่ดังมากสมัยคุณพ่อ แต่ในอีกมุมหนึ่งนี่คือเสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำในสมัยเด็ก ยุคที่ยังนุ่งขาสั้นและมักจะรบเร้าคุณพ่อขอนาฬิกาอัตโนมัติสักเรือนเอาไว้ใส่ไปโรงเรียน ซึ่งผมและเพื่อนๆ ร่วมรุ่นหลายคนเป็นอย่างนั้น และส่วนใหญ่ก็มักจะมี Mido Commander ติดข้อมือมาโรงเรียนอยู่เป็นประจำ
เรียกว่าในยุคนั้นเป็นการขยับจากนาฬิกาดิจิตอลอย่าง Casio แบบมีเกม มาสู่ Swatch และย้ายมาที่ Mido ในฐานะนาฬิกาอัตโนมัติเรือนแรกในชีวิต ก่อนที่จะขยับไปคบกับ Tag Heuer เมื่อตอนขึ้นมัธยมปลาย
ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่า Mido จะมีคอลเล็กชั่นออกสู่ตลาดมากมายหลายรุ่น แต่ดูเหมือนว่าก็ยังไม่เด่นพอที่จะดึงดูดความสนใจสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งการมาถึงของคอลเล็กชั่นอย่าง Ocean Star Captain ที่ดูเหมือนว่าชื่อของ Mido จะถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในกลุ่มคนที่กำลังมองหานาฬิกกลไกสักเรือนภายใต้งบฯ ที่เรากล่าวถึงข้างบน
เราไม่ได้เขียนถึงเรื่องนี้แบบลอยๆ เพราะหลายครั้งที่บรรดาแฟนๆ ของเว็บ Ana-Digi.com มักจะส่ง Message มาช่วยให้ตัดสินใจอยู่เสมอกับทางเลือกที่พวกเขามีภายใต้วงเงินระดับนี้ และตัวเลือกที่ส่งมาก็มักจะเป็นการจับคู่ระหว่างนาฬิกาดำน้ำในตระกูล 6R ของ Seiko อย่าง Shogun กับ Mido Ocean Star Captain เพราะหลังจากหักส่วนลดแล้ว ทั้งคู่มีช่วงราคาที่สูสีกัน ต่างกันไม่มาก
สำหรับ Ocean Star Captain ที่วางขายอยู่ในบ้านเรานั้นมี 7 แบบ โดยหน้าดำตัวเรือนสตีล หน้าดำตัวเรือนสตีลสายและขอบ Bezel เคลือบ PVD สีโรสโกลด์ และเทาตัวเรือนไทเทเนียม มีทางเลือกของสายยางขายควบคู่กันด้วย ยกเว้นเทาไทเทเนียมที่พิเศษกว่าตรงที่ใช้สายยางส้ม ที่เหลือเป็นสีดำ ขณะที่อีกรุ่นคือหน้าน้ำเงินมีเฉพาะสายเหล็กเท่านั้น
แน่นอนว่าตัวผมเล็งไปที่รุ่นไทเทเนียมอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าคนที่เล็งรุ่นนี้เอาไว้น่าจะคิดไม่ตกเหมือนกับผม เพราะด้วยวงเงินเท่ากันกับราคาป้าย 36,500 บาท เป็นคุณจะเลือกอะไรระหว่างสายไทเทเนียมกับสายยางสีสันสดใส ซึ่งเป็นสีส้มที่เป็นสีประจำแบรนด์ของ Mido
บอกเลยว่าตัวผมเองก็นั่งคิดเรื่องนี้และตัดสินใจไม่ได้สักที เพราะในเมื่อจ่ายเท่ากัน และมองในด้านความคุ้มค่าแล้ว ยังไงก็ต้องสายไทเทเนียม แต่ถ้ามองในแง่ความสะดุดตาและถูกใจ สายยางสีส้มก็สวยและเข้ากับสีหน้าปัดอย่างลงตัว แต่สุดท้ายถ้าไม่อยากจะจ่ายหลายต่อก็คงต้องเลือกเอาสายที่ตัวเองชอบและต้องการจะดีที่สุด…ผมคิดอย่างนั้นนะ
ถ้าจะเอาให้จบ ส่วนตัวผมก็ต้องจบที่สายยางสีส้ม เพราะข้อแรกผมเลิกใส่สายโลหะมานานแล้ว และข้อต่อมาคือ ความลงตัวและเข้ากับตัวเรือนสีเทาเข้มๆ ด้านๆ Ocean Star Captain Titanium หรือถ้าเบื่อก็หาสายหนังขนาด 22 มิลลิเมตรมาจับคู่เปลี่ยนอารมณ์ ก็ดูสวยไม่หยอก เพราะถ้าผมซื้อสายไทเทเนียม สุดท้ายก็ต้องจบตรงที่ ซื้อสายส้มมาเข้าคู่อยู่ดี…ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไร ?
อ่อ…ในเรื่องของการเปลี่ยนสาย ต้องขอบอกเอาไว้ก่อนว่าไหนๆ จะเปลี่ยนแล้วก็หาสปริงบาร์ขนาด 22 มิลลิเมตรชุดใหม่มาเตรียมเปลี่ยนเอาไว้ด้วย เพราะของเดิมติดจากโรงงาน ถอดยากถึงยากมาก เนื่องจากหัวสปริงบาร์ถูกออกแบบให้ค่อนข้างยาวกว่าปกติ เลยต้องใช้แรงกดค่อนข้างมากและมีความเสี่ยงต่อการรขูดหรือทำให้เกิดรอยที่ขาสายด้านหลังสำหรับคนที่ไม่ชำนาญ
กลับมาที่ตัวนาฬิกากันบ้าง สารภาพเลยว่า หน้าตาของ Mido Ocean Star Captain ในมุมของผมไม่ได้มีความโดดเด่นในแง่ของดีไซน์รูปทรงที่แตกต่างจากนาฬิกาดำน้ำปกติสักเท่าไร เรียบๆ ไม่หวือหวา แต่ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะนั่นเท่ากับว่าจะมีความง่ายในการเข้าถึงความต้องการของคนกลุ่มใหญ่ได้ ยิ่งออกแบบพิสดารเท่าไร ความสอดคล้องกันในด้านรสนิยมของกลุ่มลูกค้าก็อาจจะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆ และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนสนใจก็น่าจะมาจากเรื่องนี้ด้วยส่วนหนึ่ง
ตัวเรือนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 42 มิลลิเมตร แถม Lug-to-Lug หรือความยาวขาสายก็ไม่ได้ยาวมากอยู่ในระดับไม่เกิน 50 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าสามารถสอดรับกับข้อมือขนาด 6 นิ้วนิดๆ ไปจนถึง 7 นิ้วได้อย่างสบายๆ เมื่อบวกกับความหนาในระดับไม่เกิน 12 มิลลิเมตร ทำให้ค่อนข้างลงตัวในการเป็นนาฬิกาที่รองรับกับทุกโอกาส เรียกว่าจะใส่แบบสปอร์ตก็ได้ หรือทางการก็ดี แค่หาสายหนังสวยๆ มาสลับใส่เท่านั้นก็จบ
สิ่งที่อาจจะทำให้ดูแล้วแปลกๆ สักหน่อยในช่วงแรก คือ น้ำหนัก เพราะจากไทเทเนียมนั้นเบาอยู่แล้ว แต่เมื่อมาจับคู่กับสายยางด้วยแล้วเรียกว่าเบาโหวงเลย และถ้าดูตามสเป็กในหน้าเว็บจะพบว่ามีตัวเลขแค่ 105 กรัมเท่านั้น ขณะที่สายไทเทเนียมอยู่ที่ 123 กรัม เรือนสตีลสายยาง 132 กรัม และเรือนสตีลสายเหล็ก 187 กรัม เรียกว่าเบาข้ออย่างมาก เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบมีอะไรหนักๆ มาหน่วงข้อมือ หรือสำหรับคนที่อาจจะแพ้สตีล
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างชอบ Ocean Star Captain Titanium สายสีส้มคือ สีสัน เพราะส่วนตัวผมไม่ชอบอะไรที่ดูจืดๆ จนเกินไป ซึ่งการที่ Mido นำสีส้มที่เป็นสีประจำแบรนด์มาเล่นกับจุดต่างๆ บนตัวเรือน ทั้งคำว่า Calibre 80 บนหน้าปัด ปลายเข็มวินาที สเกลแสดงเวลาบนขอบ Bezel และก็รวมถึงสายในรุ่นสายยางนั้น เป็นอะไรที่สวยและสะดุดตามาก ที่สำคัญคือไม่ทางการจนน่าเบื่อ และช่วยทำให้ความเรียบง่ายของตัวนาฬิกามีความโดดเด่นขึ้นมา
นอกจากนั้น ตัวสายยางแม้ว่าจะมาแบบตัดให้พอดีข้อเหมือนกับสายยางทั่วไปซึ่งสารภาพเลยว่าผมไม่ค่อยชอบ เพราะขาดความยืดหยุ่นในการใช้งาน (รวมถึงสำหรับคนที่อาจจะขายต่อในตอนหลัง) เมื่อเปรียบเทียบกับสายยางรุ่นใหม่ของ Oris ที่สามารถขยับรูได้ แต่ Mido ก็หาทางออกให้กับคนที่อาจจะอ้วนแบบปัจจุบันทันด่วนได้ด้วยการออกแบบให้ตัวล็อกสายมี Extension Link แบบปรับระดับได้ค่อนข้างละเอียดเลย เพื่อขยายขนาดของสายให้พอดีกับข้อมือที่ใหญ่ขึ้น และดูไม่แปลกแยกเมื่อเปรียบเทียบกับพวก Extension Link บนสายเหล็กของนาฬิกาดำน้ำที่หลายๆ ท่านๆ อาจจะเจอมา และตัวล็อกสายแบบนี้ก็มีใช้กับรุ่นที่เป็นสายเหล็กและไทเทเนียมด้
แล้วสิ่งที่ไม่ประทับใจในนาฬิการุ่นนี้มีบ้างไหม ? เห็นมีแต่ชม
คำตอบคือ มี อย่างแรก คือ ฝาหลังแบบไขน็อต ผมไม่ได้ติดขัดอะไรกับการใช้น็อตไขฝาหลังแม้ว่าจะเป็นนาฬิกาดำน้ำ ซึ่งใครต่อใครมักจะบอกว่าต้องเป็นแบบฝาหลังขันเกลียวเท่านั้น แต่ที่ไม่ชอบคงเหมือนกับเหตุผลที่เคยบอกตามรีวิวที่เคยทำมาก่อนหน้านี้คือ มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายเวลาที่จะต้องไขน็อตเพื่อทำการเซอร์วิส ถ้าคุณได้ช่างดีก็โอเค แต่ถ้าเจอช่างที่ไม่ประณีตและขันน็อตคุณเสียรูเยิน แม้ว่าจะอยู่ด้านหลังและมองไม่เห็นเวลาสวมใส่ แต่เชื่อผมสิ พวกบ้านาฬิกาเค้าก็ยังซีเรียสกับเรื่องนี้ถึงขั้นนอนไม่หลับกันเลย
ประการที่ 2 คือ สปริงบาร์ที่ปลายหัวทั้ง 2 ฝั่งสำหรับกดเข้าล็อกกับขาสายค่อนข้างยาวมาก ทำให้เอาออกลำบากมาก และเสี่ยงต่อการเกิดรอย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องทำมาให้ยาวซะขนาดนี้ ทั้งที่นาฬิการุ่นอื่นๆ ก็ใช้สปริงบาร์แบบปกติ
ประการสุดท้าย เม็ดมะยมและคราวน์การ์ดที่ดูจะค่อนข้างกลมกลืนกัน ซึ่งในแง่ของการมองอาจจะดูแล้วโอเค แต่เมื่อต้องใช้งานดูเหมือนว่าจะหมุนค่อนข้างยากและลำบากสักหน่อย เรียกว่าต้องจิกนิ้วลงมาเลยถึงจะหมุนคลายเกลียวออกมาได้
อีกจุดเด่นคือ กลไก ซึ่งในรุ่นนี้ใช้ Caliber 80 หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ETA C07.621 ซึ่งเป็นการปรับปรุงมาจาก ETA 2824/2836 โดยเฉพาะการปรับปรุงถังจุกำลังสำรองที่ขยับมาอยู่ในระดับ 80 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว โดยจุดที่มีการปรับปรุงนั้นอยู่ที่ตัวเมนสปริงที่เปลี่ยนมาเป็นแบบ Nivaflex NM พร้อมกับบาลานซ์สปริงแบบ Elinchron II ซึ่งช่วยในเรื่องของการปรับปรุงด้านกำลังสำรองและประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งตัวกลไกยังมีการขัดแต่งด้วยลวดลาย Elaboree ที่สวย เพียงแต่รุ่นนี้ฝาหลังทึบ
สิ่งที่น่าสนใจคือ Mido เป็นแบรนด์ที่อยู่ในเครือ Swatch Group ซึ่งพวกเขาได้นำแนวคิดใหม่ของการผลิตนาฬิกาในเชิง Mass Production ที่เรียกว่าพลิกรูปแบบเดิมๆ ในการทำงานตามแบบฉบับแบรนด์สวิสส์ โดยเฉพาะการผลิตกลไกด้วยหุ่นยนต์ไม่ใช่การประกอบมืออีกต่อไป โดยกลไกในตระกูล 80 ชั่วโมงนี้ก็แชร์ร่วมกันกับแบรนด์ในเครืออย่าง Hamilton, Tissot, Longines, Certina เพียงแต่จะมีการขัดแต่งและปรับเปลี่ยนรายละเอียดของชิ้นส่วนภายในให้แตกต่างกันออกไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์
เรียกว่าเป็นวิธีที่สามารถลดต้นทุนทั้งในเรื่องของเวลาและทรัพยากร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นแบบเดียวกับที่อุตสาหกรรมรถยนต์นำมาใช้กัน
บทสรุปของความน่าสนใจของ Mido Ocean Star Captain 80 Titanium ถ้าตัดเรื่องความจู้จี้ส่วนตัวของผมที่บ่นๆ อยู่บนพารากราฟข้างบน ผมคิดว่านี่คืออีกตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับคนที่กำลังมองหานาฬิกาจักรกล ที่คุ้มค่าและราคาสามารถจับต้องได้โดยที่ยังเป็นแบรนด์จากสวิสส์ หน้าตาดูดี สเปกแจ่ม ซึ่งกับราคา 36,500 บาทที่เป็นราคาป้าย ถ้าเจอโปรโมชั่นดีๆ บางทีคุณอาจจะสามารถเป็นเจ้าของนาฬิกาเรือนนี้ในระดับที่ต่ำกว่า 30,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่า คุณสามารถหาได้ไม่ยากในโลกยุคนี้ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อได้ทางออนไลน์
รายละเอียดทางเทคนิค Mido Ocean Star Captain 80 Titanium
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
ความหนา : 11.8 มิลลิเมตร
Lug-to-Lug : 49 มิลลิเมตร
ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม
กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
กลไก : Caliber 80
สำรองพลังงาน : 80 ชั่วโมง
ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ ความคุ้มค่าราคา หน้าตาเรียบๆ แต่ดูดี กลไกที่สำรองพลังงานถึง 80 ชั่วโมง
- ไม่ประทับใจ ฝาหลังแบบขันน็อต เม็ดมะยมเล็กและกลืนไปคราวน์การ์ดทำให้หมุนคลายเกลียวยาก สปริงบาร์ถอดยาก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/