Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

0

Commander เป็นนาฬิกาสุดคลาสสิคที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Mido เลยก็ว่าได้ และถึงแม้ว่าในตลาดจะมีทั้งรุ่นแรกที่ยังขายอยู่นับจากปี 1959 รวมถึงรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Commander II แต่ทาง Mido ก็เสริมทางเลือกด้วยรุ่นพิเศษกับหน้าตาที่ดูคล้ายกับตัวดั้งเดิม แต่ปรับปรุงสเป็กให้มีความโดดเด่น โดยเฉพาะกลไกที่ผ่านการรับรองในระดับ Chronometer

Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

  • ตัวเรือนมีกลิ่นอายของ Commander ที่ผลิตขายมาตั้งแต่ปี 1959 ขยายขนาดเป็น 42 มม.
  • กลไกลผ่านมาตรฐาน Chronometer สำรองพลังงาน 80 ชั่วโมง
  • ราคาป้าย 44,400 บาท
- Advertisement -

ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ผมเชื่อว่ามันจะต้องมีสินค้าสักรุ่นหนึ่งที่ถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ หรือ Iconic ของแบรนด์นั้นๆ เรียกว่าถ้าพูดถึงชื่อนี่ปุ๊บจะต้องนึกถึงแบรนด์นี้ปั๊บ เหมือนกับเวลาคุณนึกถึงเมืองปารีส หรือโรม สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ หอไอเฟล และโคลอสเซียมอะไรทำนองนั้น ซึ่งการที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่ก็มีหลายแบรนด์ทำได้ และหนึ่งในนั้นก็คือ Mido ซึ่งเมื่อเรานึกถึงแบรนด์นี้ทีไรชื่อของ Commander ต้องลอยเข้ามาในหัวทันที เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่มีรุ่น Commander Icone ถูกส่งออกมาทำตลาดเพื่อยืนยันถึงสิ่งที่ผมเขียนถึงในบรรทัดก่อนหน้านี้

ต้องยอมรับว่านับจากเปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1959 ชื่อของ Commander กลายเป็นสิ่งที่ติดปากของคนเล่นนาฬิกาทั่วโลก โดยเฉพาะชาวไทยที่ในช่วงหนึ่ง Mido สามารถครองใจคนรุ่นพ่อเราได้ จนนำไปสู่ยุคของ ‘เสื้อพี่ นาฬิกาพ่อ’ ในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่มัธยมต้น ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ Mido Commander ครองตลาดในยุคนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการเป็นแบรนด์สวิสส์ที่มีความคุ้มค่าในด้านราคา และอีกเรื่องหนึ่งคือดีไซน์ซึ่งต้องบอกว่า Commander มีเอกลักษณ์ชนิดที่เรียกว่าใครที่เคยมีประสบการณ์ร่วมจะนึกภาพหน้าตาของนาฬิการุ่นนี้ออกมาได้ทันทีเมื่อถูกพูดถึง

Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

หลักฐานที่ยืนยันความสำเร็จของ Commander คงไม่มีอะไรดีไปกว่า มันยังถูกผลิตขายอยู่จนถึงตอนนี้ ควบคู่ไปกับรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Commander II ซึ่งในรุ่นใหม่เองแม้ว่าจะต้องมีหน้าที่เข้ามาแทนที่ แต่ผมก็เชื่อว่าทีมออกแบบคงต้องมีความกดดันอย่างมากในการที่จะทำอย่างไรให้รุ่นใหม่ยังคงเอกลักษณ์ของรุ่นเดิมเอาไว้ แต่ให้ความรู้สึกว่า ‘มันคือรุ่นใหม่นะ’ ผมว่า อารมณ์เดียวกับตอนที่ Volkswagen จะต้องเปิดตัว New Beetle เมื่อปี 1998 เพื่อเป็นตัวแทนของ Beetle รถยนต์สุดคลาสสิคของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม นาฬิกาที่ผมจะเล่าถึงในครั้งนี้ไม่ใช่ Commander II รุ่นปกติ แต่เป็น Commander Icone ซึ่งเป็นการนำรูปทรงและดีไซน์ของ Commander แบบดั้งเดิมมาขยายร่างและเติมความทันสมัยเข้าไป เพื่อให้สมกับที่นาฬิกายุคใหม่ควรจะเป็น

ที่สำคัญคือ ดูเหมือนว่า Mido จะค่อนข้างรู้ใจแฟนๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือแฟนๆ ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในโลกของ Mido เพราะนี่คือ Commander II เรือนแรกและเรือนเดียวในตลาดที่มากับทรงดั้งเดิม แต่เบ่งร่างมาจนถึงระดับ 42 มิลลิเมตรได้ ขณะที่ Commander II แบบทรงไม่มีขา (รวมถึงรุ่นมีขา และไม่นับตัว Big Date ที่เพิ่งเปิดตัวออกมา) ส่วนใหญ่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 40 มิลลิเมตรเท่านั้น

ตรงนี้มีผลอย่างไร ?

Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

อย่างน้อยก็ทำให้ผม (ในฐานะตัวแทนของคนข้อมือใหญ่ระดับ 7 นิ้ว) ตัดสินใจง่ายขึ้นในการที่จะเลือกเป็นเจ้าของ เพราะนาฬิกาไซส์นี้แม้ว่าจะไม่มีขา แต่เมื่อบวกกับหน้าปัดที่ไม่มีขอบ Bezel หนาและเต็มไปด้วย Scale อะไรก็ไม่รู้ ก็ยังให้ความรู้สึกดูแล้วตัวนาฬิกามีขนาดใหญ่กว่าที่ควรจะเป็นและดูเต็มเวลาอยู่บนข้อมือ

เรียกว่าถ้าผมเป็นนักชอปออนไลน์ (ซึ่งหลายคนเล่นนาฬิกาในยุคนี้เป็น) ตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดนี้และหน้าตานาฬิกาประมาณนี้ เมื่อก้มลงไปดูที่ขนาดข้อมือตัวเอง ทำให้ผมตัดสินใจไม่ยากและไม่นานในการที่จะปล่อยเงินออกจากกระเป๋า ซึ่งโอกาสลักษณะนี้แทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยกับ Commander II แบบมีขาซึ่งมีตัวเลขแค่ 40 มิลลิเมตร หรือตัวคลาสสิคที่มีไซส์แค่ 37 มิลลิเมตรเท่านั้น

Commander Icone ตัวเรือนทรงกลมแบบไม่มีขาผลิตจากสแตนเลสสตีล 316L ขัดแบบซาตินออกเป็นลายๆ ขวางๆ ขณะที่ขอบหน้าปัดเป็นวงเงาถือว่าเป็นการผสมผสานที่เข้ากันอย่างลงตัว สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือ การได้กระจก Sapphire ใหญ่ๆ ตามขนาดหน้าปัดและหนานูนขึ้นมาเหนืออยู่ขอบหน้าปัด  สวยและเด่นมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใส่ที่ต้องระมัดระวังข้อมือ อย่าไปแกว่งมาก ถ้าไปฟาดกับอะไรที่แข็งกว่า Sapphire งานนี้มีเสียทรัพย์ก้อนโตแน่ ส่วนอีกจุดคือ ฝาหลังแบบใสด้วยกระจกแบบ Sapphire และขันเกลียวซึ่งเปลือยให้เห็นกลไก Caliber 80Si ที่ถูกปรับแต่งสำหรับผ่านมาตรฐานการทดสอบของ C.O.S.C.

Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

สิ่งที่อยู่บนหน้าปัดของ Commander Icone เป็นอีกประเด็นที่ผมค่อนข้างชอบ เพราะพวกเขาสามารถผสมผสานความคลาสสิคให้เข้ากับยุคสมัยได้ จริงอยู่ที่แม้ว่า Mido จะไม่ได้ยกรูปแบบของหน้าปัดของ Commander รุ่นเดิมมาใช้แบบโต้งๆ เพื่อบอกให้รู้ว่านี่คือความคลาสสิค (ซึ่งผมเห็นด้วยที่พวกเขาไม่ทำอย่างนั้น) แต่ก็มีการดีไซน์ให้มีความทันสมัยการใช้สเกลจับเวลาที่แยกออกมาเป็นขอบวงด้านใน หลักชั่วโมงก็เป็นทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่มีการแต้มสารเรืองแสง SuperLuminova เอาไว้ตรงปลายนั้น ทำให้ดูลงตัวมาก แล้วให้การให้สีบนหน้าปัดเป็นตัวนำเสนอในเรื่องความคลาสสิคแทน ซึ่งการใช้หน้าปัดขัดลายซาตินและใช้โทนสีแอนธราไซต์แบบซันเรย์ที่มีการเหลื่อมและเล่นแสงเงาตามการตกกระทบของแสงนั้นเป็นอะไรที่ดูคลาสสิคสุดๆ และชวนให้นึกถึงนาฬิกาแบบวินเทจเสมอ

แน่นอนว่าสายสแตนเลสถักที่เราเรียกกันอีกชื่อว่า Milanese Strap คือ อีกสิ่งที่น่าจะเข้าเค้ากับคำว่าวินเทจ จริงๆ ผมไม่ชอบสายเหล็กอยู่แล้ว เพราะหนัก และเทอะทะ ดูเป็นทางการ ส่วนสายถักแบบนี้ สารภาพเลยว่าในตอนแรกไม่ชอบเอาเสียเลย แต่หลังจากที่ได้ลองแล้ว มุมมองผมเปลี่ยนเลยนะ เพราะทั้งเบาและสบายเหมือนกับใส่สายผ้า แต่แข็งกว่า ที่สำคัญไม่ต้องตัดสายให้วุ่นวายเพราะตัวล็อคสายของ Mido สามารถปรับได้ละเอียดชนิดที่คุณสามารถหาจุดล็อคเพื่อให้สวมนาฬิกาพอดีกับความต้องการของคุณได้เลย

Mido Commander Icone ถึงจะคลาสสิคแต่สเป็กเทพ

ถ้าคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของกลไก เราเชื่อว่า Commander Icone น่าจะเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะพวกเขามากับกลไกอัตโนมัติในรหัส Caliber 80Si ที่สำรองพลังงานได้ถึง 80 ชั่วโมง

หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า มันเด่นตรงไหน ? เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า Mido คือหนึ่งในแบรนด์ของเครือ Swatch Group ที่มีนโยบายนำแนวคิดในการผลิตเชิงพาณิชย์มาใช้กับโลกแห่งเรือนเวลา ซึ่งกลไกรุ่นนี้ก็อ้างอิงพื้นฐานมาจาก ETA C07.821 (ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือเช่นเดียวกัน) และยังมีการผลิตเพื่อส่งให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่น Tissot และHamilton

ประเด็นก็คือ จริงอยู่ที่กลไกเหล่านี้ถูกผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อต้องส่งไปประจำการอยู่ในตัวเรือนของแบรนด์ไหนก็จะได้รับการขัดแต่งและปรับปรุงให้สอดคล้องกับแบรนด์นั้นๆ ซึ่ง Caliber 80Si ถูกปรับปรุงและขัดแต่ง ซึ่งสำหรับ Mido พวกเขาต้องการกลไกที่ผ่านมาตรฐานความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer ของสถาบัน C.O.S.C.หรือ Official Swiss Chronometer Testing Institute ซึ่งในระดับราคาป้าย 44,400 บาท คุณเคยเห็นนาฬิกาสัญชาติสวิสส์ระดับราคาไม่เกิน 50,000 บาท ที่มาพร้อมกับคำว่า Chronometer แปะหราอยู่บนหน้าปัดบ้างหรือเปล่า ? โอเค Tissot มี…แต่นอกเหนือจากนี้ละ ?

ว่ากันว่า Mido เป็นแบรนด์ Swiss ราคาไม่แรงที่มีจำนวนรุ่นของนาฬิกาที่ใช้กลไกซึ่งผ่านการรับรองระดับ Chronometer วางขายในตู้มากกว่าใครเพื่อน และอยู่ในอันดับที่ 3 ถ้านับรวมทุกระดับราคา โดยเป็นรองแค่ Rolex และ Omega เท่านั้น

นอกจากเรื่องของ Chronometer แล้ว ในกลไกรุ่นนี้ยังมีการใช้บาลานซ์สปริงแบบซิลิคอน มีความเสถียรในการสิ่งหนึ่งที่ผมและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในการเล่นนาฬิกาแบบไม่ตามกระแสให้ความเห็นตรงกันเสมอ คือ เรื่องความประณีตและความเนียนในเชิงคุณภาพการผลิตของ Mido ที่ถือว่าอยู่ในระดับที่มั่นใจได้สมกับมีคำว่า Swiss Made อยู่บนหน้าปัด คุณภาพของวัสดุ การประกอบ และสเป็กที่อยู่ในตัวนาฬิกานั้นถือว่าคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป

ถ้าคุณเบื่อการซื้อนาฬิกาตามกระแส หรือจำใจต้องใส่เพราะคนนั้นบอกว่าดี หรือมานั่งห่วงว่ามันจะรักคุณมากจนไม่อยากจะไปอยู่กับใครในวันที่คุณไม่ต้องการแล้ว ผมว่า Commander Icone เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก

รายละเอียดทางเทคนิค : Mido Commader Icone

  • ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
  • หนา : 11.42 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก : 112 กรัม
  • กลไก : Caliber 80Si เมนสปริงผลิตจากซิลิคอน และผ่านมาตรฐานความเที่ยงตรงระดับ Chronometer
  • จำนวนทับทิม : 25 เม็ด
  • ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
  • สำรองพลังงาน : 80 ชั่วโมง
  • ประทับใจ : คุณภาพ ความประณีต รูปทรงที่คลาสสิค กลไกระดับ Chronometer ในราคาจับต้องได้
  • ไม่ประทับใจ : ไม่สามารถเปลี่ยนสายทดแทนได้