Longines Ultra-Chron งานรีเมคสุดเจ๋งที่พลาดไม่ได้

0

ภายใต้งบประมาณแสนต้นๆ คุณคิดว่าเราจะได้นาฬิกาอะไรบ้าง ทางเลือกมีหลากหลาย แต่ที่คุ้มสุดๆ เห็นจะหนีไม่พ้นงานรีเมคของ Longines อย่างรุ่น Ultra-Chron เพราะนอกจากสตอรี่ของนาฬิกาและตัวแบรนด์เองที่จะช่วยบิลด์คุณในการเข้าถึงนาฬิกาเรือนนี้แล้ว สเป็กที่อยู่กับตัวนาฬิกาก็ถือว่าคุ้มค่าไม่แพ้กัน เรียกว่าภายใต้วงเงินระดับนี้ หาคู่แข่งที่จะเทียบเท่าได้ยากมาก

- Advertisement -

Longines Ultra-Chron

Longines Ultra-Chron งานรีเมคสุดเจ๋งที่พลาดไม่ได้

  • Longines นำความยอดเยี่ยมของกลไกความถี่สูงในชื่อ Ultra-Chron ที่เปิดตัวเมื่อปลายทศวรรษที่ 1960 กลับมาอีกครั้ง

  • รุ่นใหม่มากับตัวเรือนขนาด 43 มิลลิเมตร พกกลไกแบบ Hi-Beat พร้อมความสามารถในการกันน้ำ 300 เมตร

  • มีจำหน่ายด้วยกัน 2 รุ่นในไทย คือ สายหนัง และสายสตีลที่ทุกรุ่นมาพร้อมกับสาย NATO และอุปกรณ์เปลี่ยนสายในเซ็ต

จำได้ว่าผมรู้จักกับ Longines ครั้งแรกผ่านทางนาฬิกา Re-Issue ซึ่งเป็นการนำผลงานรุ่นดังในอดีตอย่าง Legend Diver กลับมาทำใหม่อีกครั้ง ยอมรับครับว่านาฬิการุ่นเก่าๆ ของ Longines มีความคลาสสิคและมี ‘อะไร’ บางอย่างอยู่ในนั้น ดังนั้นผมจึงค่อนข้างชอบงาน Re-Issue

หลายๆ รุ่นของพวกเขาอยู่เสมอ และหลังจากที่ทราบว่าพวกเขาจะนำความรุ่งเรืองของกลไกความถี่สูงที่เปิดตัวในช่วงทศวรรษที่ 1960 กลับมาอีกครั้ง ผมเฝ้ารอดูเลยว่า ผลงานที่ว่าจะเป็นอย่างไร และแน่นอนว่าหลังจากที่ได้เห็นหน้าตาของ Ultra-Chron ในงานเปิดตัว Longines Novelties 2022 เมื่อเดือนมีนาคม สิ่งที่เกิดขึ้นในใจคือ ‘งานนี้ได้เสียเงินอีกแน่ๆ’

หลายคนอาจจะสงสัยว่าคำว่า ‘อะไร’ ที่ผมเกริ่นอยู่ข้างบนนั้น หมายถึงอะไรกันแน่ ? ผมกำลังจะบอกอย่างนี้ว่า นอกจากการออกแบบที่สวยและลงตัวแล้ว Longines ยังถือว่าเป็นแบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ที่เรียกว่าอยู่ในแถวหน้าของแวดวงอุตสาหกรรมนาฬิกาเลยก็ว่าได้ โดยฉพาะในช่วงต้นๆ จนถึงตอนกลางของศตวรรษที่ 20 ยุคก่อนที่จะถูกรวมเข้าสู่ร่มเงาของ The Swatch Group

ยกตัวอย่างเช่น Legend Diver รุ่นแรกที่เปิดตัวในทศวรรษที่ 1960 นอกจากหน้าตาที่สวยงามแล้ว ยังมากับตัวเรือนแบบ Super Compressor ซึ่งเป็นรูปแบบตัวเรือนที่ถูกออกแบบมาเพื่อความทนทานต่อแรงกดใต้น้ำ และสามารถกันน้ำได้ โดยที่มีปุ่มสำหรับใช้ในการหมุนสเกลที่เปรียบเสมือนกับขอบตัวเรือนเพื่อใช้ในการจับเวลา ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ล้ำมากเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว

Longines Ultra-Chron

ขณะที่ Ultra-Chon ใหม่ที่เป็นงาน Re-Issue คือ การสะท้อนถึงความเหนือชั้นในด้านการพัฒนากลไกที่สามารถเดินด้วยความถี่สูงในระดับ 5Hz หรือ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมงโดยอาศัยองค์ความรู้ในด้านการพัฒนากลไกจับเวลาที่ Longines เป็นผู้บุกเบิกมาตั้งแต่ปี 1919 และได้นำมาสู่การผลิตกลไกที่เดินด้วยความถี่สูงและมีความเที่ยงตรง ซึ่งพวกเขาเปิดตัวออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1966 ด้วยกลไก Calibre 341

ตอนนั้นเปิดตัวในแนวนาฬิกาเดรสส์ที่ชื่อว่า Ultra-Chron แต่อีก 2 ปีต่อมากลไกรุ่นนี้ถูกยกมาวางในนาฬิกาดำน้ำรุ่น Ultra-Chron Diver ซึ่ง Longines การันตีความแม่นยำระดับสูงถึงหนึ่งนาทีต่อเดือน ซึ่งเฉลี่ยได้เป็น 2 วินาทีต่อวัน และเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อนำมาสู่นาฬิกา Re-Issue ผลงานในปี 1968 ของพวกเขา พร้อมกับกลไกความถี่สูงรุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมกับเปิดตัวในช่วงกลางปี 2022 โดยมีชื่อว่า Longines Ultra-Chron

สำหรับชื่อ Ultra-Chron หลายคนอาจจะสงสัยว่ามาจากไหน นี่คือ การย่อมาจากคำว่า Ultra-Chronometer ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1960 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเที่ยงตรงของกลไกความถี่สูงอย่าง Calibre 431 ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนในระดับ 1 นาทีต่อเดือนหรือ 2 วินาทีต่อวันและทางแบรนด์ได้ถ่ายทอดแนวคิดนี้มายังนาฬิการุ่นใหม่ของพวกเขาด้วย

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่พูดถึงในวงกว้างคือ การเข้ามาอยู่ในร่มเงาของ The Swatch Group ได้ทำให้พวกเขาเลิกพัฒนากลไกที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของตัวเองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และพึ่งพากลไกอัตโนมัติที่ถูกผลิตและพัฒนาขึ้นมาจากทาง ETA ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกลไกที่อยู่ในเครือ The Swatch Group เช่นเดียวกัน

แต่นับจากการเปิดตัวของรุ่น GMT ที่มีชื่อว่า Spirit Zulu Time เมื่อต้นปี 2022 นั้น ทำให้หลายคนเริ่มกันมามอง Longines และกลไกใหม่ของพวกเขากันมากขึ้น จริงอยู่ที่กลไกเหล่านี้ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ร่มเงาของ Longines เองตามแบบอย่างที่นิยามดั้งเดิมของกลไก In-House ควรจะเป็น แต่การถูกพัฒนาและผลิตภายใต้บริษัทในเครือ The Swatch Group แถมยังถูกดัดแปลงอย่าง Exclusive เพื่อให้ Longines ได้ใช้เพียงแบรนด์เดียว อันนี้ก็ถือว่าพอยอมรับกันได้

Longines Ultra-Chron Longines Ultra-Chron

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่พูดถึงในวงกว้างคือ การเข้ามาอยู่ในร่มเงาของ The Swatch Group ได้ทำให้พวกเขาเลิกพัฒนากลไกที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของตัวเองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และพึ่งพากลไกอัตโนมัติที่ถูกผลิตและพัฒนาขึ้นมาจากทาง ETA ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกลไกที่อยู่ในเครือ The Swatch Group เช่นเดียวกัน แต่นับจากการเปิดตัวของรุ่น GMT ที่มีชื่อว่า Spirit Zulu Time เมื่อต้นปี 2022 นั้น

ทำให้หลายคนเริ่มกันมามอง Longines และกลไกใหม่ของพวกเขากันมากขึ้น จริงอยู่ที่กลไกเหล่านี้ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ร่มเงาของ Longines เองตามแบบอย่างที่นิยามดั้งเดิมของกลไก In-House ควรจะเป็น แต่การถูกพัฒนาและผลิตภายใต้บริษัทในเครือ The Swatch Group แถมยังถูกดัดแปลงอย่าง Exclusive เพื่อให้ Longines ได้ใช้เพียงแบรนด์เดียว อันนี้ก็ถือว่าพอยอมรับกันได้

สำหรับกลไกรหัส L836.6 แม้ว่าจะไม่ใช่ In-House ตามแบบนิยามดั้งเดิม แต่ทาง ETA ซึ่งเป็นบริษัทร่วมเครือก็พัฒนากลไกความถี่สูงนี้ขึ้นมาเพื่อ Longines โดยเฉพาะและในระหว่างขั้นตอนของการพัฒนานั้น ทาง Longines เองก็มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ในแง่ของรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับตัวกลไกนั้น ทาง Longines ไม่ได้เปิดเผยออกมามากมาย แต่ระบุแค่ว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนาแบบแทบจะยกชุดจากกลไกพื้นฐานที่มาจาก ETA เริ่มตั้งแต่การเพิ่มระดับความถี่ในการเดินของจักรกรอกที่อยู่ในระดับ 5Hz หรือ 36,000 รอบ/ชั่วโมง การใช้ใยนาฬิกาหรือ Balance Spring ที่มาจากซิลิคอนเพื่อเพิ่มความทนทาน และลดปัญหาผลกระทบที่มาจากสนามแม่เหล็ก แม้ว่ากำลังสำรองจะอยู่ที่ 52 ชั่วโมง ซึ่งดูแล้วน้อยกว่าบรรดากลไกรุ่นอื่นๆ ที่มีอยู่ของ Longines แต่ก็แลกมาด้วยความเนียนตาในการเดินของเข็มวินาทีขณะที่กำลังกวาดไปบนหน้าปัดที่สำคัญคือ กลไกชุดนี้มีความเที่ยงตรงเทียบเท่ากับระดับ Chronometer

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะไม่มีคำว่า Chronometer เหมือนกับนาฬิกาทั่วไปที่ผ่านมาตรฐาน C.O.S.C. ซึ่งก็นั่นแหละที่กำลังจะบอกว่า Longines Ultra-Chron มีความเที่ยงตรงจากการทดสอบโดย Timelab สถาบันอิสระใน Geneva ที่มีมาตรฐานแตกต่างออกไปโดยอ้างอิงมาตรฐาน ISO 3159:2009 ซึ่งที่นี่จะมีรูปแบบการทดสอบคล้ายกับ METAS คือเป็นการทดสอบความเที่ยงตรงของกลไกที่ถูกประกอบเข้าไปอยู่ในตัวเรือน โดยใช้เวลา 15 วันในการทดสอบ 3 ระดับอุณหภูมิ คือ 8 23 และ 38 องศาเซลเซียส พร้อมค่าความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดขึ้นจะต้องอยู่ในช่วง +6 ถึง -4 วินาทีต่อวัน และ Longines Ultra-Chron ผ่านมาตรฐานนี้เพียงแต่ไม่พิมพ์คำยืนยันเอาไว้บนหน้าปัด แต่เลือกไปสลักอยู่บนฝาหลังแทนที่ ซึ่งถ้าคุณพลิกตัวนาฬิกาเพื่อดูด้านหลังก็จะพบกับคำว่า “Ultra – Chronometer Officially Certified” อยู่บนนั้น และเป็นเครื่องยืนยันถึงความเที่ยงตรงที่มีอยู่ในนาฬิการุ่นนี้

นั่นคือ สิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการเป็นนาฬิกาความถี่สูงของ Longines Ultra-Chron ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ต้องบอกว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกที่แม้ว่าจะอ้างอิงสไตล์และดีไซน์ของรุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวในปี 1968 แต่ทว่า Longines ก็มีการปรับปรุงในหลายจุดด้วยกันเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและสวมใส่ได้อย่างสะดวกสบาย

Longines Ultra-Chron Longines Ultra-Chron

ตัวเรือนทรงเหลี่ยมลบมนทั้ง 4 ด้านที่หลายคนเรียกว่า Cushion ยังถือเป็นแนวทางหลักของการออกแบบแต่มีการปรับให้เข้ากับรสนิยมของคนรุ่นนี้ ตัวนาฬิกาถูกยืดเพื่อให้ Lug to Lug ยาวขึ้นแทนที่จะแบนออกทางด้านกว้างเหมือนกับรุ่นดั้งเดิม แต่แม้ว่าจะมี Lug to Lug ในระดับ 48 มิลลิเมตรบวกกับเส้นผ่านศูนย์กลาง 43 มิลลิเมตร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าสวมใส่ยากแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการที่มีขาสายแบบสั้นไม่ได้ยาวยื่นออกมา

ผมค่อนข้างชอบสิ่งที่ Longines ทำกับนาฬิกาเรือนนี้คือ ความพยายามในการรักษาความเป็น Ultra-Chron Diver เอาไว้ด้วยการคงหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยมีอยู่ในรุ่นดั้งเดิมให้มาอยู่ในรุ่นใหม่นี้ แต่ก็ไม่ลืมที่จะปรับมันให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไปของยุคสมัยใหม่ ซึ่งพวกเขาทำได้ดีและลงตัวอย่างมาก

Longines Ultra-Chron Longines Ultra-Chron
Longines Ultra-Chron Longines Ultra-Chron

หน้าปัดสีดำแต่ดูมีมิติและให้ความสวยงามอย่างไม่น่าเชื่อกับแนวคิดของการทำให้เป็นพื้นผิวขรุขระหรือ Grained Dial หลักชั่วโมงแบบนูนสูงมีเฉพาะหลักสำคัญๆ เท่านั้น ซึ่งคือ 3-6-9-12 ที่เหลือเป็นแบบพิมพ์ลงไปบนพื้นผิว พร้อมสัญลักษณ์ของ Ultra-Chron ที่อยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา และทั้งหมดทั้งมวลตัดกับเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีทรง Baton โดยที่เข็มนาทีจะเคลือบด้วยสีแดงเพื่อความแตกต่าง และความสะดวกในการใช้งานสำหรับการจับเวลา ขอบตัวเรือนเลือกใช้โทนสีแดงและดำบนสเกลในการจับเวลาและเป็นอินเสิร์ตแบบแซฟไฟร์ซึ่งมีความแวววาวและดูสวยงาม เหนืออื่นใด นาฬิกาเรือนนี้ไม่มีช่องวันที่ (Date) ให้กวนใจ ซึ่งบางคนอาจจะขัดใจเพราะฟังก์ชั่นไม่ครบ แต่ส่วนตัวผมชอบแบบ Nodate มากกว่า ซึ่งตรงนี้จะต่างจากรุ่นดั้งเดิมที่มีช่อง Date ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา

Longines Ultra-Chron

อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ผมกังวลค่อนข้างมากเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนี้เมื่อเห็นครั้งแรกคือ ลายของสายสแตนเลสสตีล ซึ่งเป็นแบบ 7 แถวมีข้อใหญ่และข้อย่อยแทรกสลับกันไป ประเด็นคือ สายประเภทนี้กับผมมักจะมีปัญหาในเรื่องของการหาจุดลงตัวในเรื่องขนาดที่เหมาะสมเมื่อต้องสวมนาฬิกา เท่าที่มีประสบการณ์คือ ถ้าไม่หลวมก็แน่นไปเลย ซึ่งนั่นเป็นเพราะในนาฬิการุ่นที่ผมมีประสบการณ์ไม่ได้มีการเพิ่มช่องสำหรับปรับละเอียด (Micro-Adjustment) ให้กับบานพับสาย แต่สำหรับ Longines Ultra-Chron ตรงนี้ไม่เป็นปัญหา หลังจากตัดสายแล้ว และถ้ายังพบปัญหาเรื่องแน่นหรือหลวมไป คุณสามารถปรับระดับได้ผ่านทางช่องต่างๆ ที่อยู่บนบานพับได้

Longines Ultra-Chron Longines Ultra-Chron

Longines Ultra-Chron

นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ชอบ คือ การออกแบบหัวสายให้เป็นลักษณะตรงไม่ต้องมี End Link แบบโค้งเพื่อให้รับกับตัวเรือน ทำให้ง่ายต่อการใส่และถอดออกจากตัวเรือนโดยที่ไม่ต้องกังวลาเรื่องรอย เพราะหัวสายออกแบบให้เหมือนกับพวกหัวสายของ Milanese Strap หรือสายสแตนเลสถัก แถมด้านหลังของข้อที่ใช้ร้อยสปริงบาร์ยังมีการบากร่องเล็กๆ เอาไว้สำหรับใช้ในการกดสปริงบาร์สำหรับเปลี่ยนสาย ก็เลยสะดวกในกรณีรุ่นที่คุณซื้อมาเป็นรุ่นที่มีสาย NATO แถมมาด้วย

Longines Ultra-Chron Longines Ultra-Chron

สัมผัสที่ได้รับเวลาสวม Longines Ultra-Chron อยู่บนข้อมือคงต้องบอกว่าลงตัวและสวมใส่สบายอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวเรือนมีขนาดกำลังดีกับข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผม ซึ่งเมื่อดูจากรูปทรงแล้ว คิดว่าคนที่มีข้อมือไซส์ 6.5 นิ้วขึ้นไปสามารถ ใส่นาฬิการุ่นนี้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะล้นหรือกางออกมาหรือเปล่า

นาฬิการุ่นนี้มีทั้งรุ่นธรรมดา ที่มีทั้งสายหนังและสตีล พร้อมสาย NATO กับเครื่องมือสำหรับเปลี่ยนสายแถมมาให้ด้วย โดยราคาจะอยู่ที่ 128,700 บาทสำหรับรุ่นสายหนังซึ่งถูกกว่ารุ่นสายสตีลที่ 7,800 บาท และคุณถามผมว่าควรจะซื้อรุ่นไหนดี คำตอบไม่ยากครับ กับส่วนต่างเท่านี้ยังไงผมก็เชียร์ให้คุณจ่ายแพงเพื่อซื้อรุ่นสายสตีล แล้วค่อยไปหาสายหนังมาทดแทนในอนาคตก็ได้ เพราะถ้าซื้อสายสตีลแยกต่างหากในอนาคต ผมว่าส่วนต่างไม่ใช่ราคานี้อย่างแน่นอน

รายละเอียดทางเทคนิค Longines Ultra-Chron

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 13.6 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
  • กระจก : Sapphire แบบ Boxed-Shape
  • กลไก : อัตโนมัติ L836.6 แบบ Hi-Beat เดินด้วยความถี่สูง
  • ความถี่ : 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง
  • กำลังสำรอง : 52 ชั่วโมง
  • การกันน้ำ : 300 เมตร
  • ประทับใจ : สตอรี่ ดีไซน์ กลไกความถี่สูง ความคุ้มค่าของราคากับสิ่งที่ได้มา
  • ไม่ประทับใจ : ไม่มี