Longines Pilot Majetek ตำนานในอดีตบนเรือนร่างร่วมสมัย

0

เรื่องราวของ Longines ในโลกนาฬิกามีมานานและหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้นคือ การเป็นส่วนหนึ่งในโลกของการบินยุคแรกเริ่ม และหนึ่งในนั้นคือ การผลิตนาฬิกาส่งให้กับกองทัพอากาศของเชคโกสโลวาเกียเมื่อปี 1935 จนเป็นที่มาของนาฬิกาที่มีชื่อเรียกว่า Longines Pilot Majetek

- Advertisement -

Longines Pilot Majetek,Longines

Longines Pilot Majetek ตำนานในอดีตบนเรือนร่างร่วมสมัย

  • นาฬิกานักบินรุ่นใหม่ที่มีต้นกำเนิดจากการผลิตนาฬิกาให้กับกองทัพอากาศเชคโกสโลวาเกียเมื่อปี 1935

  • ตัวเรือนทรง Cushion มีขนาด 43 มิลลิเมตรพร้อมกลไกที่มีความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer

  • เด่นด้วย Starting time indicator”ขอบตัวเรือนแบบหยัก สามารถหมุนได้ 2 ทิศทาง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้แบรนด์นาฬิกาซึ่งมีอายุยาวนานอย่าง Longines แตกต่างอยู่ในโลกของอุตสาหกรรมนาฬิกาคือ เรื่องราวและเรื่องเล่าของพวกเขาที่มีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ ของโลก ถ้ายังจำกันได้ Longines เปิดตัวคอลเล็กชั่น Spirit ในปี 2020

เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ในการบุกเบิกโลก และนับจากนั้นเป็นต้นมา นาฬิการุ่นใหม่ๆ ของ Longines ก็มักจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจสอดแทรกเข้ามาอยู่เสมอ เช่นเดียวกับนาฬิการุ่นล่าสุด นั่นคือ Longines Pilot Majetek

Longines Pilot Majetek,Longines

ในเรื่องของยุคแรกเริ่มของโลกการบิน ต้องบอกว่า Longines คือ หนึ่งในแบรนด์นาฬิกาที่ได้รับการยอมรับจากบรรดานักบินหรือนักเดินทางในยุคบุกเบิกอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น Amelia Earhart (เอมิเลีย แอร์ฮาร์ต), Paul–Emile Victor (ปอล-เอมีล วิกตอร์), Elinor Smith (เอลินอร์ สมิธ) และ Howard Hughes(ฮาวาร์ด ฮิวจ์) บุคคลเหล่านี้คือ นักบินและนักผจญภับทางอากาศที่ให้ความเชื่อมั่นและใช้นาฬิกาของ Longines ในฐานะเครื่องบอกเวลาที่มีความเที่ยงในระหว่างที่พวกเขาออกปฏิบัติการทางอากาศ หรือออกเดินทาง

จากชื่อเสียงและการได้รับการยอมรับจากนักบินชื่อดัง ถือเป็นแรงผลักดันให้ชื่อของ Longines เป็นที่รู้จักจนนำไปสู่ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก ที่ต้องการเครื่องบอกเวลาที่มีความเที่ยงตรงและทนทาน ซึ่งกองทัพอากาศของประเทศเชคโกสโลวาเกียก็คือหนึ่งในนั้น กับการมอบหมายให้ Longines ผลิตนาฬิกาเพื่อใช้ในกลุ่มนักบินของกองทัพ และเป็นที่มาของ Longines Pilot Majetek

เชื่อว่าหลายที่ได้เห็นอาจจะคิดว่านี่หรือคือนาฬิกานักบิน เพราะดูแล้วแทบจะไม่เหมือนกับสิ่งที่คุ้นตาจากนาฬิกานักบินรุ่นใหม่ๆ คงต้องบอกก่อนว่า นี่คือ งาน Re-Interpretation ในการนำนาฬิกานักบินรุ่นเก่าที่ถูกผลิตและส่งมอบในปี 1935 มาใช้เป็นร่างต้นแบบในการตีความใหม่เพื่อให้เกิดความร่วมสมัย แต่เหนืออื่นใด ในด้านของดีไซน์ตัวเรือนและรายละเอียดที่อยู่บนนาฬิกาเรือนนี้คือ การสร้างสรรค์ที่อ้างอิงจากนาฬิการุ่นที่เก่ากว่านั้นอีก

Longines Pilot Majetek,Longines Longines Pilot Majetek,Longines

เรื่องของเรื่องก็คือ ตอนที่ Longines รับงานในการผลิตนาฬิกาให้กับกองทัพอากาศของเชคโกสโลวาเกียนั้น สิ่งที่พวกเขาทำคือ การนำนาฬิกานักบินที่กองทัพอากาศนี้ใช้อยู่แล้วมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 มาเป็นร่างต้นแบบในการสร้างสารรค์นาฬิกาเรือนนี้ขึ้นมา เรียกว่าการออกแบบมีที่มาที่ไป

และสามารถทำออกมาได้อย่างโดดเด่นและยอดเยี่ยม ตอนแรกนาฬิกาเรือนใหม่นี้ไม่มีชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการ แต่บนตัวเรือนมีคำระบุว่า “Majetek Vojenske Spravy” ในภาษาเชคหรือแปลว่าproperty of military administration” ซึ่งก็คือ ทรัพย์สินของกองทัพ บรรดาคนเล่นนาฬิกาที่ตามหาและสะสมนาฬิกาเรือนนี้ก็เลยตั้งชื่อให้ว่า Longines Majetek โดยนาฬิกาเรือนนี้มีการผลิตออกมาเพียง 1,700 เรือนเท่านั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

Longines Pilot Majetek,Longines Longines Pilot Majetek,Longines
Longines Pilot Majetek,Longines Longines Pilot Majetek,Longines

สิ่งที่น่าสนใจคือ นาฬิกาเรือนนี้มีดีไซน์และหน้าตาที่ถือว่าแตกต่างจากนาฬิกาซึ่งมาจากยุคเดียวกันที่มักจะมากับตัวเรือนทรงกลมและมีขาสาย แต่สำหรับ Longines Majetek หรือ Longines Pilot Majetek ในปัจจุบัน มากับตัวเรือนทรงเหลี่ยมแบบมีขา หรือที่เรียกว่า Cushion ทำให้นาฬิกาดูสวยและลงตัวเวลาสวมอยู่บนข้อมือ

ในรุ่นใหม่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 43 มิลลิเมตรพร้อมความหนาในระดับ 13.3 มิลลิเมตร เรียกว่าคนที่มีข้อมือในระดับ 6.5 ขึ้นไปถือว่าใส่ได้สวยและลงตัวเลย โดยรายละเอียดที่อยู่บนตัวนาฬิกาได้รับการสร้างสรรค์และถอดแบบมาจากรุ่นดั้งเดิมในปี 1935 ซึ่งมีขนาด 41 มิลลิเมตร (ถือว่าใหญ่มากสำหรับนาฬิกาในยุคนั้น) และทาง Longines เองก็ได้จดสิทธิบัตรในเรื่องของดีไซน์เอาไว้ที่ออฟฟิศของ IPO ที่กรุง Bern เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1935

Longines Pilot Majetek,Longines

ถ้าไม่นับการเปลี่ยนเข็มจากทรง Catherdaral มาเป็นทรงปลายแหลมหรือ Board Sword Hand ในรุ่นใหม่แล้ว รายละเอียดหลักๆ ของรุ่นดั้งเดิมยังถูกคงเอาไว้ครบถ้วน และสิ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างแปลกใจคือ ความคิดที่สุดล้ำและซับซ้อนของคนในยุคนั้นกับการผลิตขอบตัวเรือนแบบหมุนได้โดยทำงานร่วมกับหลักชั่วโมง หรือสเกลเวลาที่อยู่ด้านใน

ถ้าคุณสังเกตดีๆ จะพบว่าบนขอบตัวเรือนนั้นจะมีเครื่องหมายสามเหลี่ยมที่เป็นตัวบ่งชี้ หรือ Indicator วางอยู่ด้านในหน้าปัด นั่นแหละคือ เครื่องหมายที่จะใช้ในการทำงานร่วมกับเข็มต่างๆ ในการจับเวลาถอยหลัง

เรื่องเล่าของขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยจากนาฬิกาดำน้ำนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องราวบนอากาศโดยเป็นฟังก์ชั่นที่ถูกเรียกร้องโดยนักบินและนักเดินเรืออย่าง Phillip Weems แห่งกองทัพเรืออเมริกา และ Charles Lindberg นักบินที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแบบเดี่ยวเป็นคนแรก ในการสร้างเครื่องมือสักอย่างขึ้นมาในการช่วยในการนำทางหรือคำนวนให้กับพวกเขาในระหว่างนักทาง ซึ่งจะต้องเป็นเครื่องมือที่เที่ยงตรงและแม่นยำด้วย Longines จึงนำมาผนวกเข้ากับนาฬิกาและออกแบบจนเป็นนาฬิกา Lindbergh Hour Angle ขึ้นมา ด้วยขอบตัวเรือนที่มีสเกลสามารถหมุนเพื่อดูทิศทางหรือใช้ในการจับเวลาได้…ทุกอย่างเกิดขึ้นในปี 1927

นั่นคือเรื่องราวที่ถูกนำมาผสานเข้ากับการพัฒนานาฬิกานักบินอย่าง Majetek ให้มีขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ ซึ่งในรุ่นใหม่ทาง Longines เรียกว่า “Starting time indicator” ขอบตัวเรือนแบบหยัก สามารถหมุนได้ 2 ทิศทางเพื่อช่วยในเรื่องของการจับเวลามาพร้อมมาร์เกอร์ทรงสามเหลี่ยมเรืองแสงภายในหน้าปัด โดยสิ่งที่แตกต่างจากรุ่นแรกคือ ในรุ่นใหม่สามารถหมุนได้เฉพาะขอบตัวเรือนและตัว Indicator ที่อยู่ด้านใน กระจกหมุนไม่ได้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของการกันน้ำ

Longines Pilot Majetek,Longines

ตัวนาฬิกามาพร้อมหน้าปัดสีดำด้าน เพื่อการอ่านค่าเวลาที่ง่ายดายซึ่งเป็นคุณสมบัติสำหรับนาฬิกานักบิน ตัวเลขอาระบิกสีขาวถูกเคลือบด้วยสารเรืองแสง  Super-LumiNova® ชุบโรเดียมเป็นตัวบ่งบอกชั่วโมงและเสริมความโดดเด่นด้วยเส้นรางรถไฟบอกนาทีรอบตัวเรือน ตกแต่งด้วยเข็มนาฬิกาทรงบาตงปลายชุบโรเดียมเคลือบสารเรืองแสง SLN ซึ่งช่วยให้สามารถอ่านค่าเวลาได้ง่ายในความมืด หน้าปัดวินาทีย่อยขนาดโอเวอร์ไซส์ถูกออกแบบไว้ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา

Longines Pilot Majetek,LonginesLongines Pilot Majetek,Longines

พลิกมาที่ด้านข้างจะพบกับการตกแต่งด้วยเพลทที่สลักตัวเลข “1935” ซึ่งหมายถึงปีแรกของการผลิตนาฬิการุ่นดั้งเดิมนี้ ส่วนด้านหลังออกแบบให้ฝาหลังเป็นแบบเพลทเรียบและยึดด้วยน็อตทั้ง 4 มุมพร้อมกับข้อความสลักเอาไว้เพื่อบ่งบอกรุ่นนาฬิกา และคุณสมบัติของตัวนาฬิกาที่ถูกย้ายจากการเป็นข้อความบนหน้าปัดมาอยู่ที่ตรงนี้แทน นั่นคือ ความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer ซึ่งส่วนตัวผมว่าแจ่มมากกว่าการวางไว้บนหน้าปัด เพราะการทำเช่นนี้ช่วยทำให้หน้าปัดดูเรียบและมีความคลาสสิค

สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบกับความพิเศษที่ได้รับจาก Longines คือ ถ้าเป็นนาฬิการุ่นพิเศษที่ผลิตจากการ Re-Interpreatation จากนาฬิการุ่นเก่าๆ ในอดีต พวกเขามักจะจัดเต็มในเรื่องแพ็คเกจ มากับกล่องไม้ขนาดใหญ่ ข้างในมีเครื่องมือสำหรับช่วยในการเปลี่ยนสาย พร้อมกับสาย NATO อีกเส้นแถมมาให้ในชุด หลายคนอาจจะสงสัยว่าในขณะที่นาฬิกาส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้สปริงบาร์ที่เป็นระบบ Quick Strap Change กันหมดแล้ว แต่ในรุ่นนี้ยังเป็นนาฬิกาที่แยกสปริงบาร์ ก็เพราะต้องนำสปริงบาร์ไปใช้เวลาเปลี่ยนเป็นสาย NATO นั่นเอง

Longines Pilot Majetek,Longines

ขณะที่ตัวกลไกเป็นรหัส L893.6 อัตโนมัติที่เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 4Hz มีการแยกชุดเข็มวินาทีออกจากตรงกลางหน้าปัดมาเป็น Small Second โดยวางอยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา โดยพื้นที่ของหน้าปัดย่อยของเข็มวินาทีแยกค่อนข้างใหญ่และมีขอบสเกลแบบ Railway Track

พร้อมตัวเลขกำกับช่วยให้ดูง่ายและสะดวกขึ้น ในแง่ความเที่ยงตรงนั้นไม่ต้องกังวล เพราะกลไกชุดนี้ได้ผ่านการทดสอบโดย C.O.S.C. และได้การรับรองมาตรฐาน Chronometer  ส่วนกำลังสำรองถือว่าหายห่วง และเป็นพวกประเภทถอดทิ้งคืนวันศุกร์ใส่ต่อเช้าวันจันทร์ได้เลย เพราะมีกำลังสำรองถึง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน

Longines Pilot Majetek ถือเป็นนาฬิกาอีกรุ่นของ Longines ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตได้อย่างครบถ้วน แถมยังมีการปรับปรุงรูปทรงโดยรวมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างลงตัว เรียกว่าเป็นทางเลือกที่ครบเครื่องทั้งดีไซน์ สเป็ก และสตอรี่ ในระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสนใจชมได้ที่ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป หรือทางออนไลน์ที่ Longines Official Store @Lazada และ @Shopee โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.longines.co.th และ http://www.facebook.com/LonginesTH รวมทั้ง Line official : @Longines_th

รายละเอียดทางเทคนิค : Longines Pilot Majetek

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง: 43 มิลลิเมตร
  • ความหนา: 13.3 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน: สแตนเลสสตีล
  • กระจก :Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
  • กลไก: อัตโนมัติ L893.6 มีความเที่ยงตรงระดับ Chronometer
  • ความถี่: 25,200 ครั้งต่อชั่วโมง
  • กำลังสำรอง: 72 ชั่วโมง
  • การกันน้ำ: 100 เมตร
  • ประทับใจ : เรื่องราว ดีไซน์ตัวนาฬิกา แพ็คเกจ และกลไกที่มีความเที่ยงตรง
  • ไม่ประทับใจ : ไม่มี