Longines 1832 Moonphase ตอบทุกความต้องการในเรือนเดียว

0

สำหรับคนที่ชอบนาฬิกาที่ใช้งานได้หลากหลายทั้งแบบสปอร์ต หรือทางการ แถมยังมากับแบรนด์ที่มีความเป็นมายาวนาน เชื่อว่า ลองจิ้นส์ (Longines 1832)จะสามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้อย่างลงตัว

- Advertisement -

Longines 1832

Longines 1832 Moonphase ตอบทุกความต้องการในเรือนเดียว

  • Longines 1832 Moonphase นาฬิกาดีไซน์สวยที่สามารถรองรับทั้งการใช้งานอย่างเป็นทางการและกึ่งสปอร์ตด้วยขนาดตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร

  • กลไก L899.2 ที่ได้รับการพัฒนาโดยอยู่บนพื้นฐานของ ETA ที่เป็นอีกบริษัทในเครือโดยมใช้กลไกรหัส A31 L91 ตัวนาฬิกามีฟังก์ชั่นแสดงวันที่ และเวลา เสริมด้วยข้างขึ้นข้างแรมหรือ Moonphase

  • ราคาในการจำหน่ายอยู่ที่ 79,200 บาท

เมื่อสักตอนต้นปี เคยมีคนถามผมเรื่องจะซื้อนาฬิกาสักเรือนด้วยเงื่อนไขสุดโหดเอาเรื่อง เพราะนอกจากงบประมาณที่ค่อนข้างบีบแต่อยากได้มือหนึ่งแล้ว สิ่งที่เขาต้องการนั้นถือว่าค่อนข้างหายากในกลุ่มระดับแบรนด์หรูจากสวิสส์ ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์แบบเอาไปคุยกับคนอื่นได้ด้วย ขนาดกำลังดีเรียกว่าใส่ได้ทั้งลำลองออก Sport นิดๆ และทางการก็ได้ด้วย ใช้กลไกอัตโนมัติ และที่สำคัญ คือ จะต้องมีฟังก์ชั่น Moonphase แบบข้างขึ้นข้างแรม (ไม่ใช่ AM/PM เหมือนกับ Moonphase หลอกๆ) ตอนนั้น ผมยังไม่มีคำตอบให้ เพราะส่วนใหญ่แล้วตัวเลือกที่จะแนะนำได้นั้นราคาแสนกว่าบาททั้งนั้น แต่ถ้าถามตอนนี้ ผมคิดว่าตัวเลือกที่จะแนะนำมีอยู่ในใจแล้วนะ นั่นคือLongines 1832

Longines 1832

แน่นอนว่าในเรื่องของแบรนด์ ไม่มีใครปฏิเสธถึงความเป็นมาที่ยาวนาน จุดในการก่อกำเนิดของแบรนด์ และสิ่งที่ ลองจิ้นส์ (Longines) มีส่วนร่วมในไทม์ไลน์ของโลกแห่งเรือนเวลามาโดยตลอด เพราะแบรนด์ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1832 (ซึ่งก็คือชื่อรุ่นนี้) และพวกเขาสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกแห่งเรือนเวลาออกมามากมาย ดังนั้น ปัจจัยแรกบนเช็คลิสต์ข้อนี้ สามารถติ๊กผ่านได้เลย

ในเรื่องของขนาด หลังจากที่ได้ลองสัมผัสกับLongines 1832 Moonphase แล้ว ผมว่านี่คือ ตัวเลือกที่ลงตัวมาก เพราะตัวเรือนถูกออกแบบเหมือนกับจะรู้ใจบรรดาคนซื้อนาฬิกาที่ตั้งเงื่อนไขในการซื้อแต่ละครั้งแบบเยอะสิ่ง คือ สามารถตอบสนองในแบบเดรสส์ก็ได้ หรือจะแนวสปอร์ตก็ดี เรียกว่าเป็นการผสมผสานที่ลงตัวอย่างมากผ่านทางหารออกแบบตัวเรือนทรงกลมพร้อมขาสายที่ค่อนข้างยาวและตรง

ตรงนี้ผมว่ามีส่วนช่วยทำให้ตัวนาฬิกาสามารถเข้ากับข้อมือที่หลากหลายขนาดและรูปทรงได้อย่างลงตัว จริงอยู่ที่แม้ว่าตัวเรือนจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 40 มิลลิเมตร แต่ด้วยการออกแบบขาสายให้ค่อนข้างยาวนั้น ทำให้ตัวเลขในส่วนของ Lug to Lug ยาวตามไปด้วยอยู่ในระดับ 48 มิลลิเมตร และเมื่อบวกกับการที่ตัวนาฬิกาไม่มีขอบ Bezel หน้าเหมือนกับนาฬิกาทั่วไป ทำให้พื้นที่ในส่วนของหน้าปัดสามารถขยายได้อย่างเต็มที่ และเมื่ออยู่บนข้อมือในระดับ 6-7 นิ้ว ผมว่าค่อนข้างลงตัวและกำลังดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป

จริงๆ แล้วในรุ่นนี้จะมีขายด้วยกัน 2 เวอร์ชันคือ 40 มิลลิเมตรสำหรับผู้ชาย (รุ่นที่เราได้มาสัมผัสในการเขียนรีวิว) และอีกรุ่นจะเป็นไซส์ 30 มิลลิเมตรสำหรับผู้หญิง และถ้าคุณเบื่อสายหนังจระเข้สีน้ำตาลเข้มที่ติดมากับตัวเรือนและต้องการปรับลุ๊คให้กับตัวนาฬิกาเพื่อสำหรับอีกโอกาสที่อาจจะไม่ทางการมากนัก ก็สามารถหาสายหนังวัวที่มีความกว้าง 20 มิลลิเมตร มาจับคู่กับตัวLongines 1832 Moonphase ผมว่าก็เปลี่ยนบุคลิกของตัวนาฬิกาได้

Longines 1832ในแง่ของการขัดแต่งและความประณีตที่สามารถสัมผัสได้จากบนตัวเรือนนั้นต้องบอกว่า เนื้องานของนาฬิกาจากค่ายLongines ได้รับการยอมรับอยู่แล้วในเรื่องของความใส่ใจในการขัดแต่งและสร้างความสวยและลงตัวให้กับตัวเรือน ซึ่งคุณจะได้เห็นจากการขัดบนตัวเรือนระหว่างเงาสลับด้านที่ทำได้อย่างโดดเด่น ฝาหลังใสใช้กระจก Sapphire เช่นเดียวกับด้านหน้าทำให้เราได้เห็นความสวยงามในการตกแต่งของชิ้นส่วนกลไกรหัส L899.2

นอกจากนั้น บนหน้าปัดสีเบจที่มีการตกแต่งให้มีเมล็ดหยาบๆ หรือ Grain ยังทำให้ช่วยเพิ่มมิติที่อยู่บนหน้าปัดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเวลาที่เล่นกับแสง และสอดรับกับการจัดวางทั้งสัญลักษณ์Longines และคำต่างๆ ที่จำเป็นที่ถูกวางอยู่บนหน้าปัดแบบไม่เยอะจนเกินงามเหมือนกับนาฬิกาบางรุ่น

ที่สำคัญตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะมากับหน้าปัดย่อยสำหรับแสดงพระจันทร์ หรือ Moonphase ในแบบข้างขึ้นข้างแรมพร้อมกับเข็มวันที่ ตัวหลักชั่วโมง และบนเข็มทรง Dauphine แบบปลายหอกได้รับการแต้มสารสะท้อนแสง Super-Luminova แม้ว่าจะไม่ได้เยอะมากมายอะไร แต่ก็ช่วยทำให้สามารถมองเห็นได้ยามค่ำคืน

การที่Longines อยู่ในเครือ The Swatch Group ทำให้พวกเขาได้เปรียบในแง่ของการมีวัตถุดิบตั้งต้นในการนำไปต่อยอดและพัฒนานาฬิกาของตัวเอง เหมือนอย่างกลไก L899.2 ที่ได้รับการพัฒนาโดยอยู่บนพื้นฐานของ ETA ที่เป็นอีกบริษัทในเครือโดยมใช้กลไกรหัส A31 L91 ตัวนาฬิกามีฟังก์ชั่นแสดงวันที่ และเวลา เสริมด้วยข้างขึ้นข้างแรมหรือ Moonphase โดยกลไกชุดนี้เดินด้วยความถี่ 25,200 ครั้งต่อชั่วโมง และสามารถสำรองพลังงานได้ 64 ชั่วโมง โดยที่จานเหวี่ยงและชิ้นส่วนของตัวกลไกได้รับการตกแต่งเพื่อความสวยงามทั้งลาย Cote de Geneva และลาย Geneva Stripes โดยกลไกชุดนี้อยู่ในนาฬิกาทุกรุ่นของLongines ที่มากับ Moonphase ที่จัดวางช่องย่อยในตำแหน่ง 6 นาฬิกาบนหน้าปัด

79,200 บาทคือราคาของ Longines 1832ถ้าถามผมว่าแพงไหม ? คงต้องย้อนกลับไปถามคุณว่า สิ่งที่ต้องการนั้นในนาฬิกา 1 เรือนมีมากขนาดไหน และถ้ามากสิ่งอย่างที่เกริ่นในตอนต้นของบทความ ผมว่าราคานี้ถือว่าคุ้มค่า เพราะสามารถตอบทุกความต้องการที่คุณระบุมาเลยก็ว่าได้

Longines 1832 Moonphase Longines 1832 Moonphase
Longines 1832 Moonphase Longines 1832 Moonphase
Longines 1832 Moonphase Longines 1832 Moonphase

รายละเอียดทางเทคนิค : Longines 1832 Moonphase

Ref . : L4.826.4.92.2

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 40 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 48 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 11 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
  • กระจกหน้า-หลัง : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสงสำหรับกระจกหน้า
  • การกันน้ำ : 30 เมตร
  • กลไก : L899.2
  • ความถี่ในการเดิน : 25,200 ครั้งต่อชั่วโมง
  • จำนวนทับทิม : 21 เม็ด
  • การสำรองพลังงาน : 64 ชั่วโมง
  • ประทับใจ : ดีไซน์ ความประณีต กลไกที่สำรองพลังงานได้เยอะ ฟังก์ชั่น Moonphase และความเป็นมาของแบรนด์
  • ไม่ประทับใจ : –