ทำความรู้จักกับ Hamilton Ventura กัน

0

นาฬิกาสุดคลาสสิคขอวง Hamilton ยัง Ventura กลับมาอีกครั้งในการเป็นส่วนหนึ่งของ MIB ตอนใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว Ventura อยู่ในตลาดมานานแล้ว และถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 1957 หรือเมื่อ 62 ปีที่แล้วกันเลยทีเดียว แต่รูปทรงก็ยังดูสวยล้ำสมัย

ทำความรู้จักกับ Hamilton Ventura กัน

- Advertisement -

จะมีใครเชื่อไหมว่า Ventura นาฬิกาคลาสสิกแต่รูปทรงสุดล้ำสมัยของ Hamilton นั้น

มีอายุมากกว่า 60 ปีแล้ว และพวกเขาเพิ่งจัดงานฉลองแซยิดไปเมื่อปี 2016 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ซึ่งแน่นอนว่า Ventura กลับมาเป็นหัวข้อสนทนาอีกครั้งและเราก็เริ่มคุ้นเคยกับหน้าตาทรงสามเหลี่ยมของมัน

ผ่านทางการโฆษณาของ Hamilton ซึ่ง Ventura ได้กลายมาเป็นนาฬิกาของ Agent

ในหน่วยงานพิทักษ์โลกจากมนุษย์ต่างดาวอย่าง MIB หรือ Men In Black

ซึ่งภาคใหมล่าสุดกำลังจะเข้าฉายในบ้านเราเร็วๆ นี้

ในเมื่อเป็นเช่นนี้เรามาทำความรู้จักกับความเป็นมาแล้วประวัติของ Hamilton Ventura กัน

Hamilton แบรนด์นาฬิกาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แม้ในปัจจุบันจะเป็นแบรนด์ตีตรา “SWISS MADE” จากค่ายนาฬิกา Swatch Group หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการนาฬิกาสวิส แต่จุดกำเนิดของ Hamilton เป็นนาฬิกาจากทางฝั่งสหรัฐอเมริกา โดย Hamilton Watch Company ได้ก่อตั้งขึ้นที่เมืองแลงคาสเตอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย ในปี 1892 โดยเริ่มจากการผลิตนาฬิกาพกคุณภาพสูงในจำนวนน้อย ๆ และต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา รวมถึงการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนาฬิกามาตรฐานของการทางรถไฟของสหรัฐอเมริกาในฐานะ “Watch of Railroad Accuracy” และ “The Railroad Timekeeper of America”

Hamilton Ventura
โรงงานของ Hamilton Watch Company ที่ Lancaster, Pennsylvania ในอดีต | “Watch of the Future” by Rene Rondeau

ด้วยเส้นทางที่ยาวนานกว่า 125 ปี Hamilton ได้นำเสนอเรื่องราวในอดีตผ่านรหัสพันธุกรรมในคอลเล็กชันปัจจุบัน เช่น การตีแผ่ความเป็นฮีโร่อเมริกันผ่านรูปแบบของนาฬิกาสำหรับกองทัพสหรัฐฯที่ Hamilton ผลิตในช่วงปี 1940 (ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2) ของรุ่น Khaki Field หรือคอลเล็กชัน Broadway ที่นำชื่อมาจากนาฬิกาพกรุ่น Broadway ของ Hamilton ที่โด่งดังในอดีต แต่คอลเล็กชันที่เป็นหนึ่งเรือนเอกลักษณ์ของ Hamilton นั้นคือรุ่น Ventura นาฬิกาทรงสามเหลี่ยมแปลกตา ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการออกแบบที่สำคัญของ ริชาร์ด อาร์บิบ (Richard Arbib) นอกจากการออกแบบที่เปี่ยมด้วยอัตลักษณ์แล้ว Hamilton Ventura ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกในโลก ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่อีกด้วย

World’s First Electric Watch | “Watch of the Future” by Rene Rondeau

เทคโนโลยีที่ปฎิวัติวงการเรือนเวลา

ด้วยคำกล่าวที่ว่า “World’s First Electric Watch” จะดูสวยงาม แต่เส้นทางแห่งการเอาชนะขอบเขตแห่งวิศวกรรมเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โครงการของ Hamilton ในการผลิตนาฬิกาที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีจุดเริ่มต้นในปี 1946 เมื่ออดีตประธานบริษัท จอร์จ ลัคกี้ (George Luckey) ที่ในขณะนั้นยังคงเป็นหัวหน้าแผนกวิจัย ได้ตัดสินใจลองค้นคว้าความเป็นไปได้ในการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อนกลไกนาฬิกา ซึ่งจะต้องพัฒนา 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

  1. ขนาดกลไกต้องเล็กพอที่จะใส่เข้าไปในตัวเรือนของนาฬิกาข้อมือ
  2. แบตเตอรี่ที่จะสามารถทำให้นาฬิกาเดินได้เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือนหรือถึงปี
  3. ความเที่ยงตรงที่จะต้องเหนื่อกว่ากลไกปกติ

โปรเจคดังกล่าวนั้น ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลายปี จนได้นาฬิกาต้นแบบที่พัฒนาโดย เฟรด เคอห์เลอร์ (Fred Koehler) ช่างเทคนิคชาวเยอรมัน ที่เข้ามาร่วมงานกับ Hamilton ตั้งแต่ปี 1935 ซึ่งเขาได้แก้ไขจุดอ่อนหลักในเรื่องของกลไกที่ใช้การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า และจุดสัมผัสที่ทำให้เกิดประกายไฟสำเร็จ แต่ขนาดของกลไกนั้น ยังคงมีขนาดที่จะสร้างเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะเท่านั้น

Prototype of electric Koehier Clock | “Watch of the Future” by Rene Rondeau

ในปี 1952 ดร. จอห์น เอ. ฟาน ฮอร์น (Dr. John A. Van Horn) นักฟิสิกส์ของ Hamilton ได้ผลักดันให้โครงการดังกล่าว ได้รับการพิจารณาจากกรรมการบริษัท เพื่อให้ Hamilton เป็นบริษัทนาฬิกาแรกของโลกที่นำเสนอนาฬิกาข้อมือพลังไฟฟ้าออกสู่ประชาชน สถานการณ์ในขณะนั้น Hamilton ไม่ได้มีทางเลือกมากเท่าไร เพราะทางคู่แข่งอย่าง Elgin Watch Company ก็ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะสร้างระบบไฟฟ้าสำหรับกลไกด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ดร. ฟาน ฮอร์น จึงได้ร่วมงานกับ ฟิล บีมิลเลอร์ (Phil Biemiller) และ เจมส์ เอช. รีซ (James H. Reese) เป็นทีมพัฒนาที่แข็งแกร่งที่สุดของ Hamilton ที่จะสร้างนาฬิกาดังกล่าวให้เป็นจริง โดยเริ่มจากการสร้างกลไกต้นแบบหลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มจากกลไกที่ใช้แม่เหล็กถาวรรุ่น Permanent Magnet Model I (PM-1) ต่อด้วยการใช้แม่เหล็กไฟฟ้า Electromagnetic Model I (EM-01) และการปรับปรุงวัสดุที่ทำจักรกรอกจากโลหะ ไปสู่การใช้อีพ็อกซีเรซินแทนที่เพื่อลดการใช้พลังงานของกลไก ซึ่งการพัฒนานั้นล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกครั้งที่ล้มเหลว Hamilton ได้เรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้นและหาหนทางแก้ไขที่ชาญฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 1954 มาร์ติน วอลเมอร์ (Martin Walmer) วิศวกรโลหะการได้นำโลหะที่ทำจากแพลทินัม 77% และโคบอล์ต 23% มาใช้แทนจักรกรอก และทีมพัฒนาได้เปลี่ยนมาใช้แม่เหล็กแบบ cylindrical magnet ทำให้คาลิเบอร์ 500 ได้เกิดขึ้น และทาง Hamilton ได้เริ่มโปรแกรมการทดสอบ โดยผลิตนาฬิกาขึ้นมา 1,000 เรือน โดยแบ่งให้ทั้งคนในและคนนอกได้รับการทดสอบ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี Hamilton ก็พร้อมที่จะสร้างประวัติศาสตร์แห่งวงการนาฬิกา โดยนาฬิกาไฟฟ้าตามแบบของ Hamilton จัดได้ว่านั้นเป็นบรรพบุรุษของนาฬิกาควอตซ์ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

อัตลักษณ์ดีไซน์แห่งอนาคต

การออกแบบของนาฬิกา Hamilton Ventura ได้รับการรังสรรค์โดยริชาร์ด อาร์บิบ (Richard Arbib) นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ด้วยความที่เขามีประสบการณ์ในการออกแบบรถยนต์หลากหลายรุ่นให้กับ General Motors ออกแบบเรือให้กับ Century ออกแบบเครื่องดูดฝุ่นให้ Eureka และผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคอีกเกือบทุกประเภท Hamilton จึงมั่นใจในชื่อเสียงด้านการนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของเขา โดยริชาร์ด อาร์บิบ เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบนาฬิกาให้กับแบรนด์ตั้งแต่ต้น 1950s โดยเปิดอิสระให้เขาออกแบบอย่างเต็มที่  อาร์บิบจึงวาดภาพสเกทช์นาฬิกามาหลายร้อยดีไซน์ บ้างก็เก็บไว้ใช้ผลิตในเวลาต่อมา แต่รุ่นหนึ่งที่โดดเด่นคือ Ventura ซึ่งอาร์บิบวาดไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1956 และอาร์บิบเองได้เขียนชื่อกำกับไว้ว่า Ventura บนภาพ ด้วยตัวเรือนทรงสามเหลี่ยมรูปลักษณ์อสมมาตรเช่นนี้เป็นอะไรที่ไม่เคยมีใครได้พบเจอมาก่อนในโลกนาฬิกาและจิวเวลรี่ นำเสนอแนวคิดของนาฬิกาแห่งอนาคต จึงนับว่าเป็นตัวแทนแห่งสไตล์มิดเซนจูรี่โมเดิร์นของยุคศตวรรษที่ 20 ได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับการเป็นนาฬิกาข้อมือพลังงานไฟฟ้าเรือนแรกของโลก

Hamilton Ventura | Courtesy of Hamilton Watch

นาฬิกาไฟฟ้าของ Hamilton เปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา วันที่ 3 มกราคม 1957 และได้จารึกในประวัติศาสตร์ ว่านั้น เป็นนาฬิกาข้อมือเรือนที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เรือนแรกในโลกที่ขายสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ ด้วยคำโฆษณาที่ว่า

การปฏิวัติพื้นฐานของกลไกนาฬิกาครั้งแรกในรอบ 477 ปี ของประวัติศาสตร์แห่งเรือนเวลา

Ventura รุ่นแรกใช้ตัวเรือนเยลโล่วโกลด์ 14 กะรัต ได้ถูกวางขายเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ต่อมาในภายหลังจึงผลิตรุ่นเยลโล่วโกลด์ 18 กะรัต ที่เป็นรุ่นสำหรับส่งออกในเดือนตุลาคม 1958 สำหรับรายละเอียดบนหน้าปัดของ Ventura รุ่นแรก จะเห็นเส้นซิกแซกแทนสัญลักษณ์ของคำว่า “electric” สื่อถึงการเป็นนาฬิกาที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเรือนเวลาเหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยกลไกคาลิเบอร์ 500, 500A และ 505 มีการคาดการณ์ว่า Ventura เหล่านี้ มีจำนวนการผลิตประมาณ 11,750 เรือน จากข้อมูลของ เรเน รอนโด (René Rondeau) ในหนังสือเรื่อง “The Watch of the Future” และเรือนเวลาเหล่านั้น ยังคงมีการนำขึ้นมาประมูลของห้องประมูลระดับโลกอย่าง Christie’s เช่นรายการประมูล Important Watches วันที่ 24 เมษายน 2008 ที่มหานครนิวยอร์ค โดยจบการประมูลที่ 3,125 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาวางจำหน่ายในปี 1957 ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐ ถึง 10 เท่า

แต่เรือนที่คาดว่าเป็นนาฬิกาที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ Hamilton คือนาฬิกาของ ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ประธานธิบดีสหรัฐคนที่ 36 ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1963 ถึง 1969 ซึ่งนาฬิกาเรือนดังกล่าวเป็นเรือนที่อดีตประธานาธิบดีได้รับเป็นของขวัญจาก McDowell County Democratic Committee ในวันที่ 18 ตุลาคม 1958 ซึ่งหลังตัวเรือนจะสลักคำว่า

PRESENTED TO SENATOR LYNDON B. JOHNSON BY THE MCDOWELL COUNTY DEMOCRATS, WELCH. W. VA, OCT. 18-58

นาฬิกา Hamilton Ventura ของอดีตประธานาธิบดี ลินคอน บี. จอห์นสัน | www.christies.com

จากการประมูลของห้องประมูล Christie’s รายการ Rare Watches and Americans Icons ในวันที่ 21 มิถุนายน 2017 Hamilton เรือนดังกล่าว ได้จบการประมูลด้วยมูลค่าสูงถึง 18,750 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเทียบเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ประมาณ 630,000 บาท

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ลินคอน บี จอห์นสัน (คนกลาง) | Public Domain

Hamilton Ventura นาฬิกาเอลวิส

ตำแหน่งแฟนคลับตัวยงของ Hamilton Ventura ต้องยกให้เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) เอลวิสสวมนาฬิกา Ventura ของตนขณะที่รับราชการอยู่ในกองทัพบกและถูกส่งไปประจำอยู่ที่เยอรมัน ปรากฏเป็นภาพถ่ายเอลวิสในชุดเครื่องแบบและสวมนาฬิกา Ventura อยู่บนข้อมือซ้ายอย่างภาคภูมิใจ นำสมัย ในขณะที่พลทหารส่วนมากในเวลานั้นสวมนาฬิกาทหารสไตล์ Khaki เสียมากกว่า เอลวิสชื่นชอบ Ventura มากเสียจนเลือกซื้อเป็นของขวัญให้กับคนสนิทใกล้ชิดอยู่หลายครั้งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ทั้งนักสะสมนาฬิกาและบุคคลทั่วไปต่างก็เรียก Ventura ว่า “นาฬิกาเอลวิส” เพราะเขาสวมให้เห็นได้ชัดเจนในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii เมื่อปี ค.ศ. 1961 มีแม้กระทั่งฉากหนึ่งที่ซูมเข้านาฬิกาใกล้จนเต็มจอด้วย ซึ่งเป็นที่จดจำจากฉากในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii ในปี 1961

นาฬิกา Hamilton Ventura บนข้อมือของ เอลวิส เพรสลีย์ | Courtesy of Hamilton Watch

ราชาแห่งร็อคแอนด์โรลซื้อนาฬิกา Ventura เรือนที่สองในค่ำคืนคริสต์มาสอีฟของปี ค.ศ. 1965 ขณะเลือกซื้อของขวัญช่วงโค้งสุดท้ายอยู่ นาฬิกาเรือนนี้เป็นแบบไวท์โกลด์ มีหน้าปัดสีดำและอยู่กับเขาจนถึงวาระสุดท้าย บ้านเกรซแลนด์นำนาฬิกาเรือนนี้มาขายประมูลพร้อมกับของที่ระลึกอื่นๆ ในปี ค.ศ. 1999 ปัจจุบันนาฬิกาเรือนนี้พร้อมใบเสร็จตัวจริงจากร้านค้าอยู่ในครอบครองของพิพิธภัณฑ์แห่ง Hamilton Watch Company และเป็นนาฬิกา Ventura เพียงเรือนเดียวที่มีเอกสารยืนยันว่าเอลวิสเคยเป็นเจ้าของและเคยสวมใส่ นาฬิกาเรือนนี้ถูกนำไปจัดแสดงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนเป็นที่ตื่นเต้นและประทับใจของทุกคนที่ได้พบเห็นอยู่เสมอ

Hamilton Ventura

บทบาทไอคอนแห่งเรือนเวลา

ในปัจจุบัน Hamilton ยังคงยกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง เอลวิส และ Hamilton Ventura มานำเสนอเป็นคอลเล็กชันนาฬิกาหน้าปัดทรงโล่ห์ (หรือทรงสามเหลี่ยม) อีกทั้งได้มีการพัฒนาต่อยอดดีไซน์ตัวเรือนให้ออกมามีความร่วมสมัยบนรูปลักษณ์ที่ล้ำสมัยของ Ventura ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ประกอบกับกระแสของความนิยมนาฬิกาประเภทกลไก Hamilton ก็ได้นำกลไกนาฬิกาคุณภาพสูงเฉพาะของแบรนด์มาผสานกับตัวเรือนทรงสามเหลี่ยมได้อย่างลงตัว

ด้วยดีไซน์ที่ล้ำอนาคตของ Ventura และการก้าวเข้ามาเป็นนาฬิกาประจำภาพยนตร์จอเงิน ทำให้เรานั้นเห็น Hamilton Ventura อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องที่เด่นที่สุดคือ Men In Black ทั้งสามภาค ที่ Ventura เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ไฮเทคบนข้อมือสำหรับเหล่าบุรุษชุดดำที่คอยปกป้องโลกให้สงบสุข

Hamilton Ventura
Hamilton Ventura ในภาพยนตร์เรื่อง MIB3

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Men In Black 3 นั้น จะมีนาฬิกาในคอลเล็คชันปัจจุบันคือ Ventura Quartz และ Ventura XXL โดย Hamilton ได้ใช้คำโฆษณาว่า “The Official Timepiece of the Galaxy”

Hamilton Ventura
โปสเตอร์โปรโมทนาฬิกา Ventura พร้อมกับภาพยนตร์ MIB3

รุ่น Ventura Quartz นั้นเป็นนาฬิกาที่นำรูปแบบตัวเรือนของ Ventura รุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 1957 รวมถึงสัญลักษณ์รูปกระแสไฟฟ้า (ซิกแซ๊ก) บนหน้าปัดที่บ่งบอกถึงความเป็นนาฬิกาที่ใช้กลไกไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน้าปัดจากรุ่นต้นแบบเช่นกัน เพื่อเป็นการอิงกับประวัติศาสตร์ นาฬิกา Ventura รุ่นคลาสสิค จึงเป็นรุ่นที่ใช้กลไกแบบควอตซ์เท่านั้น (กลไก ETA 955.421)

Ventura Quartz H24211732 \ Courtesy of Hamilton Watch

ในส่วนของ Ventura XXL Auto เป็นรุ่นที่นำดีไซน์คลาสสิคของตัวเรือนทรงโล่ในอดีต มาตีความใหม่ให้มีความล้ำสมัยยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมาจับคู่กับสายยางสีดำสุดเข้ม ขับเคลื่อนด้วยกลไกขึ้นลานอัตโนมัติรุ่น ETA 2824-2 ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้กลไกขึ้นลานอัตโนมัติรหัส H-10 ที่มาพร้อมกำลังลานสำรองสูงสุดถึง 80 ชั่วโมง นับหนึ่งเรือนเวลาที่เป็นการผสมผสานและตีความอดีตและอนาคตเข้าด้วยกัน

Ventura XXL Auto H24655331 | Courtesy of Hamilton Watch

ในปี 2015 Hamilton ได้ทำการเปิดตัว Ventura รุ่นใหม่ภายใต้ชื่อว่า Ventura Elvis80 ที่ร่วมฉลองครบรอบอายุ 80 ของราชาร๊อคแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ ในวันที่ 8 มกราคม 2015 ถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่

Ventura Elvis80 นั้นมาด้วยดีไซน์ตัวเรือนแบบบใหม่ แต่ยังคงอัตลักษณ์แห่ง Ventura ได้อย่างร่วมสมัย มาพร้อมสองรุ่นด้วยกัน คือ Elvis80 Quartz ขับเคลื่อนด้วยกลไกแบบควอตซ์ (Caliber F06.111) และรุ่น Elvis80 Auto ที่ใช้กลไกขึ้นลานอัตโนมัติ (Caliber H-10) ทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับตัวเรือนสเตนเลสสตีล และความสามารถในการกันน้ำ 50 เมตร

นาฬิกา Ventura Elvis Auto และ Ventura Elvis Quartz | Courtesy of Hamilton Watch

การเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของ Ventura

สำหรับปี 2017 นับว่าเป็นการครบรอบ 60 ปีของ Hamilton Ventura จึงได้มีการเปิดตัวเรือนเวลาภายรุ่นใหม่ 3 รุ่นด้วยกัน โดยแต่ละเรือนจะนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกันทั้งสามกาล จากอดีต สู่ปัจจุบัน และก้าวไปในอนาคต ตอกย้ำจุดยืนของความงามไร้กาลเวลาของ Ventura ให้เด่นชัดขึ้น ซึ่งคอลเล็กชันใหม่ประกอบไปด้วยรุ่น Ventura Classic S&L ตัวเรือนสีทอง ที่อิงความคลาสสิคจาก Ventura ในปี 1957 รุ่นที่สองเป็นการตีความในสไตล์แฟชั่นที่เข้ากับยุคปัจจุบัน คือรุ่น Ventura Classic Jeans โดยนำเสนอรูปแบบของลายผ้าเดนิมที่ถือว่าเป็นหนึ่งในแฟชั่นไร้กาลเวลา และเรือนสุดท้ายคือ Ventura Elvis80 Skeleton ที่นำแนวคิดการออกแบบมาจากไมโครโฟนของเอลวิส และฉลุหน้าปัดเพื่อเปิดให้เห็นกลไก เพื่อทำให้เป็นรูปแบบแห่งอนาคต

Hamilton Ventura Classic S&L

รุ่นคลาสสิคเรือนใหม่ เป็นการนำดีไซน์ในอดีตมาออกแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน Hamilton Ventura Classic S&L มาพร้อมกับตัวเรือนสเตนเลสสตีลชุบทอง PVD ที่ให้สีทองนั้นติดทนนาน ในส่วนของกลไก Hamilton เลือกที่จะใช้กลไกแบบควอตซ์ เพื่อนำความรู้สึกของนาฬิกาข้อมือ ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เรือนแรกของโลก ให้กลับมาอยู่บนข้อมือของเหล่านักสะสมในปัจจุบันอีกครั้ง มีสองขนาดให้เลือก คือ ไซส์ S ตัวเรือนขนาด 24 x 36.5 มิลลิเมตร และไซส์ L ขนาด 32.3 x 50.3 มิลลิเมตร สนนราคาที่ 34,500 บาท

Hamilton Ventura Classic Jeans

การตีความของ Ventura ให้เข้ากับสไตล์ในปัจจุบัน ซึ่ง Hamilton ได้เลือกใช้ผ้าเดนิม วัสดุสิ่งทอที่นำมาใช้ทำยีนส์ ที่นิยมตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 50 จนถึงปัจจุบัน มาทำเป็นสายที่ให้อารมณ์ของการเป็นเรือนเวลาที่ไม่เคยล้าสมัย โดยจะใช้ตัวเรือนสเตนเลสสตีลขัดเงา ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอตซ์ หน้าปัดเป็นภาพพิมพ์ของลายผ้าเดนิมเช่นเดียวกับสาย มีสองขนาดให้เลือก คือ ไซส์ S ตัวเรือนขนาด 24 x 36.5 มิลลิเมตร และไซส์ L ขนาด 32.3 x 50.3 มิลลิเมตร สนนราคาที่ 33,500 บาท

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

สำหรับเรือน Ventura Elvis80 Skeleton ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากไมโครโฟนของ เอลวิส เพรสลีย์ ที่นำเสนอในรูปแบบของหน้าปัดแกะลายแบบ Skeleton จึงทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นการทำงานของกลไกขึ้นลานอัตโนมัติรุ่น H-10 ได้ สำหรับตัวเรือน Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ทำจากสเตนเลสสตีลขนาด 42.5 x 44.6 มิลลิเมตร สนนราคาที่ 61,000 บาท

ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เรือนเวลา Ventura แต่ละรุ่นยังคงเสน่ห์ตามแบบฉบับของคอลเลคชันนี้ และเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งอเมริกันชนของ Hamilton ที่ยังคงอุทิศและสรรค์สร้างผลงานเรือนเวลาไอคอนรุ่นนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ไปอีกตราบนานเท่านาน…