Hamilton PSR แค่ดีไซน์กับสตอรี่ก็คุ้มค่าแล้ว

0

ผมเล็งเจ้า Hamilton PSR ตั้งแต่ตอนเปิดตัวแล้ว แต่ด้วยขนาดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 40 มิลลิเมตร ก็เลยเลือกเมินนาฬิกาเรือนนี้ไปจนกระทั่งเสียงในหัวเรียกร้องให้ไปลองขึ้นข้อ และนำไปสู่การปิดดีลในที่สุด

- Advertisement -

Hamilton PSR

Hamilton PSR แค่ดีไซน์กับสตอรี่ก็คุ้มค่าแล้ว

  • นาฬิกาสุดไฮเทคเมื่อ 50 ปีที่แล้วซึ่งถูกนำกลับมาทำใหม่พร้อมใช้เทคโนโลยีหน้าจอแบบ Hybrid ที่มีความทันสมัย
  • ตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Pulsar P2 ที่เปิดตัวในปี 1972
  • ราคาป้ายอยู่ที่ 27,900 บาท

นับตั้งแต่ Hamilton ประกาศ Re-Issue ให้กับนาฬิการุ่น Pulsar ในชื่อใหม่อย่าง PSR นี่คือ นาฬิกาที่ถูกใจผมสุดๆ แต่มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ต้องใช้เวลาในการช่วยจัดการให้หมดไป นั่นคือ ความยึดติดที่ฝังหัวตัวเองอย่างแน่นหนาว่า ‘นาฬิกาไซส์ 40 มิลลิเมตรมันจะไปเหมาะกับข้อมือทรงแบนๆ ของตัวเองได้อย่างไร ?’ และความคิดนี้เองทำให้ผมเลือกเมิน Hamilton PSR ไปนานถึง 2 ปีเต็มๆ ก่อนที่จะมีความอยากแบบชวนเสียเงินโผล่เข้ามาในหัวแบบปัจจุบันทันด่วน ชนิดนั่งอ่านรีวิวดูภาพอย่างไม่รู้เหนื่อย ถึงขนาดวัดไซส์จริงและตัดเป็นกระดาษมาลองทาบบนข้อมือ ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้นจะบึ่งรถไปที่งานนาฬิกาแถวห้างดังย่านรามอินทรา และปิดดีลลงอย่างรวดเร็ว (อีกแล้ว)

ทำไมนาฬิกาเรือนนี้ทำให้ผมคลั่งได้ถึงขนาดนี้ ?

ผมไม่รู้ว่าเป้าประสงค์ในการกระโจนเข้าสู่โลกแห่งเรือนเวลาของแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ส่วนของตัวผมคือ ความหลงใหลและคลั่งไคล้ ซึ่งผมก็มักจะใช้ประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขแรกในการซื้อนาฬิกาแต่ละเรือนอยู่เสมอ ฟังดูเหมือนชวนให้กระเป๋าพัง แต่ไม่รู้สิ…ถ้าให้ใส่นาฬิกาที่ราคาดี อนาคตสวย แต่ตัวเองไม่ชอบ ผมคงทำใจลำบาก เพราะสุดท้ายถึงยอมซื้อมาก็จริง แต่ก็ไม่ได้ใส่เพราะกลัวโน่นกลัวนี่ และบทสรุปคงรู้กันดีว่าต้องแยกจากกันในที่สุด

ดังนั้น ผมจึงเลือกซื้อนาฬิกาสักเรือนด้วยเหตุผลที่มีจุดเริ่มต้นจากตัวเองมาก่อนเสมอ แล้วค่อนวนออกไปดูว่า นาฬิกาเรือนนั้นมีอะไรดีที่จะได้เอาไว้คุยกับเพื่อนๆ เวลาที่มันหยิบข้อมือผมขึ้นมาดูและถามว่า ‘นาฬิกาอะไรวะ แปลกดี?’ พร้อมกับยกแขนขึ้นมาอย่างภูมิใจ ก่อนที่พรั่งหรูข้อมูลและเรื่องราวของนาฬิกาเรือนนั้นให้ฟัง…ส่วนมันจะฟังหรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับ Hamilton เรื่องราวของพวกเขาค่อนข้างเยอะและมากมาย แต่คนส่วนใหญ่มักรับรู้จาก Field Watch ซึ่งเป็นนาฬิกาสำหรับทหารราบเอาไว้ใส่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายเป็น Iconic ของแบรนด์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะ Hamilton เป็นแบรนด์ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักและในยุคที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อนาฬิกาเพราะการลงทุน ก็เลยถูกเมิน หรือว่าเป็นเพราะทางแบรนด์เองไม่เลือกที่จะสื่อสาร ‘ของดี’ ที่ตัวเองมีออกมาให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณได้อ่านเรื่องราวของพวกเขาจะพบว่า Hamilton มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในแง่ของแบรนด์ และเข้าไปมีส่วนในประวัติศาสตร์ในโลกแห่งเรือนเวลาหลายครั้งด้วยเช่นกัน รวมถึงยังเป็นแบรนด์แถวหน้าที่ ‘กล้า’ จะฉีกขนบธรรมเนียมแบบเดิมๆ ของโลกแห่งเรือนเวลา

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่นำไปสู่นาฬิการุ่น Ventura ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ของ Richard Arbib หรือการเป็นหนึ่งใน 4 แบรนด์ที่เป็นผู้บุกเบิกกลไกจับเวลา Chronograph แบบอัตโนมัติในปลายทศวรรษที่ 1960 และก่อนเข้ายุคทศวรรษที่ 1970 เพียงปีเดียว พวกเขาเปิดตลาดด้วยนาฬิกาสุดล้ำที่เรียกว่า Pulsar Time Computer ซึ่งแสดงผลด้วยหน้าจอดิจิตอล และได้กลายมาเป็นความล้ำสมัยในยุคนั้นกันเลยทีเดียว ก่อนที่จะมีการผลิตรุ่น P1 ด้วยตัวเรือนสีทองออกมาในปี 1972 และเปิดตัวรุ่น P2 ที่เป็นตัวเรือนซึ่งส่งแรงบันดาลใจมายัง PSR Re-Issue ในอีก 1 ปีต่อมา

ว่ากันว่าราคาป้ายแดงของ Hamilton Pulsar P1 ตัวเรือนทองที่เป็น Limited Edition ที่มีการผลิตออกมา 400 เรือนอยู่ที่ 2,100 เหรียญสหรัฐฯ แพงกว่า Rolex Submariner ที่มีราคาแค่เรือนละ 200 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น หรือแพงกว่ารถเก๋งในสมัยนั้นเสียอีก

ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนะ ในยุคนั้น ดิจิตอลเป็นของที่เพิ่งเกิดและมีราคาสูง ไม่ได้โดนผลิตในเชิงพาณิชย์เหมือนกับในปัจจุบัน ดังนั้น การเปิดตัวของ Hamilton Pulsar ถือว่าพลิกโฉมหน้าวงการนาฬิกาเลย และแม้ว่าจะมีราคาสูง กลับกลายเป็นว่านาฬิกาดันขายดี เพราะถูกใจบรรดาเซเลบในยุคนั้น

สำหรับชื่อ Pulsar ถูกตั้งขึ้นตามชื่อดาวนิวตรอนที่แพร่รังสีออกมาเป็นช่วงๆ โดยดาวดวงนี้จะปล่อยรังสีด้วยความถี่ที่มีความแม่นยำมากเป็นพิเศษ Pulsar เป็นเหมือนกับวัตถุที่หลุดออกมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีชิ้นส่วนใดเลยที่เคลื่อนที่ ไม่มีเสียงติ๊ก แต่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติด้านความทนทานและความเที่ยงตรงสูงสุด

นั่นคือเรื่องราวของ Pulsar ที่ในอีก 50 ปีต่อมา Hamilton ฉลองช่วงพิเศษนี้ด้วยการเปิดตัวเวอร์ชัน Re-Issue ออกมาด้วยกัน 2 เรือนในปี 2020 ด้วยชื่อ Hamilton PSR เรือนแรกเป็นรุ่นปกติตัวเรือนสีเงิน ส่วนอีกมากับตัวเรือนเคลือบ PVD สีทอง และเป็น Limited Edition ที่ผลิตเพียง 1,970 เรือน จากนั้นก็มีรุ่นที่จับมือกับภาพยนตร์เรื่อง The Matrix : Resurrections และรุ่นล่าสุดคือตัวเรือนดำ PVD หน้าจอแดง

ตอนที่เปิดตัวแรกๆ บอกเลยว่าผมหลงเจ้า PSR อย่างมาก แต่ก็ติดอย่างเดียวที่ทำให้ไม่ตัดสินใจซื้อก็คือขนาดตัวเรือนอย่างที่บอกแต่แรก และจนแล้วจนรอด ตัวเองก็ยังไม่มีโอกาสเดินไปที่เคาน์เตอร์และทดลองขึ้นข้อเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสักที จนกระทั่ง 2 ปีผ่านไป

ส่วนตัวผมค่อนข้างแฮปปี้นะที่ Hamilton เลือกหยิบรุ่น P2 ของ Pulsar มาทำการ Re-Issue เพราะตัวเรือนแบบทรงเหลี่ยมยาวในแนวนอนเหมือนกับสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดูแล้วน่าจะใส่ง่ายและเข้าข้อมากกว่ารุ่น P1 ที่เป็นแบบทรงเหลี่ยมตั้งสูง ประเด็นในแง่ของเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือ Diameter ของตัวนาฬิกานั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมห่วง เพราะแม้ว่าจะมีตัวเลขแค่ 40 มิลลิเมตร แต่ด้วยรูปทรงที่เป็นสี่เหลี่ยมแบน นาฬิกาสไตล์นี้จะไม่สร้างปัญหาให้กับผมเท่าไรในแง่ของความลงตัวเมื่ออยู่บนข้อมือ สิ่งเดียวที่ติดใจคือความสูงหรือ Lug to Lug ที่มีตัวเลขแค่ 34.8 มิลลิเมตร เพราะตรงนี้จะมีผลโดยตรงต่อความ ‘เต็ม’ ของนาฬิกาเมื่ออยู่บนข้อมือ

Hamilton PSR Hamilton PSR
Hamilton PSR Hamilton PSR

อย่างไรก็ตาม พอเอาเข้าจริงๆ ตัวเรือนของ Hamilton PSR กลับมีตัวเลข Lug to Lug มากว่านั้น เพราะมีการออกแบบให้มีชิ้นส่วนด้านบนและล่างยาวยื่นออกมาจากตัวเรือนอีกนิด แต่ด้วยเหตุที่ตรงส่วนนี้มีรูปทรงและลายแบบเดียวกับข้อสาย มันก็เลยดูกลมกลืนไปกับสายและไม่ทำให้เกิดความรู้ว่าตัวเรือนมันมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งที่เมื่อวัดรวมส่วนนี้ทั้งด้านบนและด้านล่างลงไปด้วยแล้ว Lug to Lug น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 มิลลิเมตร และเมื่อบวกกับความหนาที่ทำให้ตัวเรือนดูนูนขึ้น ถือว่าช่วยกลบจุดที่ผมไม่ถูกใจลงไปได้ โดยหลังจากที่ลองทาบและให้น้องพนักงานตัดสายขึ้นข้อแล้ว ผมถึงกับถอนหายใจว่า ‘ทำไม่มาลองขึ้นข้อตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ววะ’

การที่เป็นนาฬิกาเรือนเหลี่ยมถือว่าเป็นการนำรูปทรงมากลบข้อด้อยในเรื่องตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์กลางที่มีขนาดไม่ใหญ่ออกไป เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่านาฬิกาเรือนเหลี่ยมมีพื้นที่ซึ่งเป็นตัวเรือนทางด้านข้างมากกว่านาฬิกาเรือนกลม ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันต้องบอกว่านาฬิกาเรือนเหลี่ยมจะดูใหญ่กว่าเวลาขึ้นข้อเสมอ ซึ่ง Hamilton PSR ก็อยู่ในข้อได้เปรียบตรงนี้ เพียงแต่ด้วยความที่นาฬิกาทรงเหลี่ยมที่ผมอยู่ในกรุมีส่วนใหญ่จะมีขนาด 42 มิลลิเมตรขึ้นไป ก็เลยมีอาการกังวล เพราะส่วนต่างแค่ 2 มิลลิเมตร แม้จะไม่มาก แต่ก็สามารถสร้างความกังวลในเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ จนกว่าจะได้ลองของจริงบนข้อมือตัวเอง

จริงๆ ในเรื่องของความรู้สึกแบบไม่เต็มข้อก็ยังมีอยู่ แต่ไม่มากเท่าไร เนื่องด้วยข้อมือผมมีลักษณะด้านบนแบน ก็เลยทำให้เหมาะกับนาฬิกาที่มี Lug to Lug ยาว แต่ด้วยเหตุที่รูปทรง ความหนาของตัวเรือนและการเป็นนาฬิกาแบบ Intergrated Strap เชื่อมกับตัวเรือนทำให้ไม่มีช่องว่างและตัวเรือนกับสายดูกลมกลืนกันนั้น ทำให้สามารถกลบความรู้สึกด้านลบในส่วนนี้ไปได้เกือบหมด อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างแต่ก็ไม่มาก ซึ่งส่วนตัวผมว่าคนที่มีข้อมือระดับ 6-6.5 นิ้วน่าจะใส่นาฬิกาเรือนนี้แล้วสวยดูเต็มข้อ ส่วนข้อมือ 7 นิ้วอย่างผมถือว่าพอถูไถได้

Hamilton PSR Hamilton PSR Hamilton PSR
Hamilton PSR Hamilton PSR Hamilton PSR
Hamilton PSR Hamilton PSR Hamilton PSR
Hamilton PSR Hamilton PSR Hamilton PSR

แม้ว่าจะอ้างอิงจากนาฬิกาในสไตล์ Retro-Futurism ที่ถือกำเนิดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ทว่า Hamilton จัดการนำความทันสมัยของหน้าจอที่สอดรับกับยุคสมัยเข้ามาใช้กับ PSR ใหม่ โดยหน้าจอของนาฬิการุ่นนี้เป็นแบบ Hybrid ด้วยการผสมผสานระหว่างหน้าจอ LCD (Liquid Crystal Display) แบบสะท้อนแสงและ OLED (Organic Light Emitting Diodes) แบบลดแสง อีกทั้งยังสามารถกดปุ่มเพื่อให้ตัวเลข OLED สีแดงสว่างขึ้น มีลักษณะเป็นจุดเหมือนกับหน้าจอแบบ LED ของ Pulsar รุ่นแรก โดยปุ่มด้านข้างเมื่อกดครั้งเดียวจะสลับเป็น OLED แต่เมื่อกด 2 ครั้งติดๆ กันจะแสดงวินาที

ข้อดีของหน้าจอใหม่นี้ใช้พลังงานต่ำ สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงตัวเลขบนหน้าจอให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งในกรณีที่มีแสงต่ำ สามารถกดปุ่มเพื่อให้ OLED ทำงานสว่างขึ้นมา แต่เมื่ออยู่ในสภาพที่มีแสง หรือสว่าง ก็สามารถมองเห็นตัวเลขที่อยู่บนหน้าจอได้อย่างชัดเจน โดยเทคโนโลยีนี้มีส่วนช่วยลดข้อด้อยของเทคโนโลยี LED คือ มีอัตราการกินกระแสไฟฟ้าค่อนข้างสูง ดังนั้น ในรุ่นใหม่ LED (ที่มาในรูปแบบ OLED) จึงจะทำหน้าที่เฉพาะเมื่อถูกกดปุ่มเปิดไฟเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นงานของ LCD ที่กินไฟต่ำแทน เลยสามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของแบตเตอรี่หมดเร็วไปได้

อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยและหาคำตอบไม่ได้คือ เวลาดูท่ามกลางแสง ทำไมบนหน้าจอของ Hamilton PSR ถึงมีแถบดำขนาดเล็กโผล่อยู่ตรงมุมล่างขวา โดยแถบสีดำนี้มีขนาดราวๆ 3 มิลลิเมตร ซึ่งตอนแรกผมนึกว่าเป็นเพราะหน้าจอเสื่อม และถามไปยังพนักงานขายว่านาฬิกาเรือนที่ซื้อมีปัญหาหรือเปล่า

พนักงานก็ใจดีมาก โทรเช็คให้ทั่วเลย เรียกว่าเกือบทุกเคาน์เตอร์ที่ Hamilton วางขายนาฬิกาเพื่อเช็คดูว่ามีรอยแบบนี้หรือไม่ สรุปคือ มีทุกเรือน และข้อสรุปคือ Light Sensor สำหรับช่วยตรวจจับแสงและปรับหน้าจอให้เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อความประหยัดพลังงาน

Hamilton PSR Hamilton PSR

มุมขวาล่างของหน้าจอจะมีแถบดำๆ ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นจุดของ Light Sensor

อ่านมาถึงตรงนี้มีแต่คำชม แล้วข้อควรระวังหรือสิ่งที่ไม่ถูกใจผมมีบ้างไหม คำตอบคือ มี แต่ก็แค่จุดเดียวเท่านั้น คือ สาย

อย่างแรกตัวสายเป็นแบบบานพับปีกผีเสื้อ ใส่ค่อนข้างลำบากนิดนึงในการล็อกทั้ง 2 จุด และชวนให้นาฬิกาหล่นจากข้อมือมาก แต่ถ้าใช้ไปนานๆ ฝึกบ่อยๆ ปัญหานี้น่าจะหมดไป แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือ พอเป็นบานพับแบบนี้ มันเลยไม่มีตัวปรับละเอียดในแง่ของการปรับไซส์ของนาฬิกาให้เหมาะกับข้อมือ

บางคนหลังตัดสายไปแล้ว อาจจะต้องเจอปัญหา ไม่แน่นไป ก็หลวมไป ซึ่งในกรณีของผมออกอาการหลวมไปนิดนึง และจะเจอปัญหานาฬิกาหล่นไปกองอยู่หลังมือคือ ตอนนั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ แล้วผิวหนังหดตัว ครั้นจะตัดอีกข้อก็ดูแล้วแน่นไปแน่ๆ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ผมแค่รู้สึกว่าปลายสายลู่ลงมากไปหน่อย พูดง่ายๆ คือ ในช่วงปลายสายน่าจะทำให้กว้างกว่านี้อีกหน่อย คิดว่าน่าจะดูเข้ากันและสอดคล้องกับรูปทรงโดยรวมของตัวนาฬิกา

จริงๆ ตอนที่ซื้อ ตัวเลือกมีอยู่ 2 รุ่นคือ สีเงินธรรมดาที่เปิดตัวมา 2 ปีแล้ว กับอีกเรือนคือรุ่นใหม่ที่เป็นสีดำเคลือบ PVD ส่วนตัวสีทองและ MTX เวอร์ชัน The Metrix : Resurrections ไม่ต้องพูดถึงกันละ เพราะหมดไปตั้งนาน สุดท้ายผมเลือกเอาเรือนสีเงินที่แม้ว่าจะเปิดตัวออกมานานแล้ว แต่เป็นเพราะสีตัวเรือนที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Pulsar รุ่นแรก

ราคาป้ายของ Hamilton PSR อยู่ที่ 27,900 บาท แน่นอนว่าถือว่าค่อนข้างสูงเอาเรื่องถ้ามองในแง่การเป็นนาฬิกาควอตซ์ แต่ส่วนตัวผมไม่แคร์เรื่องฟังก์ชั่นกับสิ่งที่นาฬิกาเรือนนี้มีสักเท่าไรเลย ที่ซื้อและชอบเพราะดีไซน์และสตอรี่ของตัวนาฬิกา ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อขึ้นข้อมือแล้ว เจ้า Hamilton PSR ดันยิ้มแฉ่งเลย อันนี้แหละที่ทำให้ผมต้องตอบตกลงรับนาฬิกาเรือนนี้เข้ากรุ

รายละเอียดทางเทคนิค : Hamilton PSR

  • ตัวเรือน :สแตนเลสสตีล ขนาด 40.8 x 34.7 มม.  
  • ความหนา : 13.30 มม.
  • ความกว้างสายนาฬิกา : 24 มม.
  • วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
  • หน้าปัด : จอแสดงผลไฮบริด LCD สีแดงและ OLED
  • กลไก : ระบบควอตซ์ดิจิตอล
  • สายนาฬิกา : สแตนเลสสตีล
  • กระจก : คริสตัลแซฟไฟร์พร้อมเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน
  • ระดับการกันน้ำ : 10 บาร์ (100 ม.)
  •  ประทับใจ : ความเป็นมา ดีไซน์ และหน้าจอแบบไฮเทค
  • ไม่ประทับใจ : บานพับสายที่ไม่สามารถปรับความยาวแบบละเอียดได้