Hamilton Pan Europ Chronograph : เจอดีลดี อย่ารีรอ

0

นาฬิกา Chronograph หน้าตาสวย แบรนด์ดี แถมราคายังไม่แรง ถ้าเจอดีลดีๆ ตามบอร์ดไม่ว่ามือหนึ่งหรือมือไหนๆ ก็อย่ารีรอ เพราะไม่ใช่มีคุณแค่คนเดียวที่เล็งเอาไว้

Hamilton Pan Europ Chronograph : เจอดีลดี อย่ารีรอ
Hamilton Pan Europ Chronograph : เจอดีลดี อย่ารีรอ

Hamilton Pan Europ Chronograph : เจอดีลดี อย่ารีรอ

- Advertisement -

ผมชื่นชอบนาฬิกาจับเวลาหรือพวก Chronograph มากเป็นพิเศษ เหตุผลไม่มีอะไรมากนอกจากดูแล้วเท่ดี และจะชอบมาเป็นพิเศษสำหรับพวกจับเวลาแบบ 2 วง ซึ่งดูแล้วมีเสน่ห์กว่าแบบ 3 วง ดังนั้น เจ้า Hamilton Pan Europ Chronograph จึงมีรายชื่ออยู่ใน Wish List ของผมเสมอมา นับจากได้เจอหน้าตาครั้งแรกเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว และเพิ่งจะมาประสบผลสำเร็จในการคบหาเอาเมื่อสัก 3 ปีที่แล้วนี่เอง

Pan Europ Chronograph เป็นโปรเจ็กต์ที่ Hamilton เปิดตัวออกมาเพื่อสานต่อนาฬิกา Chronograph คลาสสิคของพวกเขาที่เปิดตัวในปี 1971 และในตอนแรกก็เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2011 เป็นแบบ Limited Edition ที่มีจำนวนผลิตเพียง 1,971 เรือน และมีหน้าปัดสีฟ้า แต่ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับจากลูกค้าที่มีต่อนาฬิการุ่นนี้ค่อนข้างดี ในปี 2012 พวกเขาจึงผลิตเวอร์ชันธรรมดาออกมาขายด้วยกัน 2 รุ่นคือ หน้าเงิน และหน้าดำที่เห็นอยู่นี้

จริงๆ แล้วในยุคที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวถึง 100 เยนต่อ 27 บาท ผมเคยมีโอกาสสอยเจ้านี่มาประดับอยู่ในกรุจากร้านดังที่ญี่ปุ่นที่นำของใหม่ออกมาหั่นราคาแบบสะท้านใจ เหลือไม่ถึง 100,000 เยน มันคือข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าเรือนเดียวที่เหลืออยู่ในร้านจะเป็นสีเงินที่คุณชอบน้อยกว่าอีกสีก็ตาม

สุดท้ายแล้ว มันก็นอนตาไม่หลับ แม้จะได้มา แต่ในเมื่อไม่ใช่เป้าที่แท้จริง Pan Europ Chronograph หน้าสีเงินของผมก็ถูกเทรดออกไป และผมต้องกลับมาเริ่มปฏิบัติการค้นหากันต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาร่วมปีกว่าๆ

ประเด็นที่รอกันนานมีอยู่เงื่อนไขเดียวคือ ‘เงิน’

เพราะถ้าเงินพอและเหลือ ผมก็แค่เดินไปที่ชอปแล้วสอยออกมาได้เลยกับราคาป้ายร่วมๆ 70,000 บาทแบบยังไม่หักส่วนลด หรือหาจากร้านขายออนไลน์แบบมีส่วนลดแล้วก็ได้ แต่ราคาก็ต่ำกว่า 50,000 บาทนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ถ้ากระสุนจำกัด ก็เป็นธรรมดาที่คุณจะต้องรอโอกาส และมองหาดีลดีๆ ตามบอร์ดซื้อขายซึ่งจะมีทั้งแบบของใหม่ และมือสองออกมาให้เลือก แต่ปัญหาที่ตามมาคือ หน้าดำหายากกว่าหน้าสีเงิน และบางครั้งที่หลุดมาให้เห็นก็ดันเป็นดีลที่ทำร้ายกระเป๋ามากไปหน่อยสำหรับการเป็นของหิ้ว ซึ่งคุณก็ต้องยอมรับสภาพเรื่องของการรับประกัน

แต่สุดท้ายชัยชนะก็เป็นของคนที่อดทนเสมอ ผมได้เจ้า Pan Europ Chronograph หน้าดำเข้ามาอยู่ในกรุสมใจ กับดีลที่ไม่ถึงกับดีมาก แต่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น เพราะหลังจากที่ผมปิดจ็อบนี้ไปไม่นาน ปรากฏว่ามีดีลใหม่โผล่มาในราคาที่สุดสวย ทั้งหน้าดำ ref. H35756735 และเงิน ref. H35756755 ราคาเรือนละ 27,000 บาท เป็นของใหม่ทั้งคู่ และรุ่นพี่ที่ผมนับถือก็จัดการปิดดีลอันนี้ไปเรียบร้อย

Pan Europ Chronograph เป็นนาฬิกา Chronograph ทรงถังเบียร์ หรือ Tonneau-Shaped ที่ออกแนวอ้วนป้อม และขาสั้น ซึ่งเป็นทรงที่ยอดฮิตสำหรับนาฬิกาในยุคทศวรรษที่ 1970 ตัวเรือนผลิตจาก Stainless Steel และมีขนาด 45 มิลลิเมตรแบบไม่รวมเม็ดมะยม มีความหนา 15 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug 48.5 มิลลิเมตร ซึ่งจะว่าไปแล้วอาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่มีข้อมือเล็กกว่า 6.75 นิ้ว เพราะขนาดผมข้อมือ 7 นิ้ว ยังดูแล้วเต็มๆ มือไปหน่อย ไม่เหลือพื้นที่ให้สายได้โค้งตามแนวข้อมือสักเท่าไร

ตัวหน้าปัดเป็นแบบทูโทนสีดำ-ขาวออกแนว Panda และใช้เข็มสีแดงทั้งเข็มวินาทีจับเวลา และเข็มในวงย่อย เพื่อความโดดเด่นและการตัดสีกันอย่างลงตัว Scale Tachymeter ที่ตามปกติแล้วพวกนาฬิกา Chronograph จะอยู่ที่ขอบ Bezel แต่งานนี้มีย้ายเข้ามาอยู่ที่วงด้านหน้าหน้าปัด และมีคำว่า Tachymeter สีแดงบนพื้นขาวโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงช่องระหว่างหลัก 12 และ 1 น. ขณะที่ขอบ Bezel หลักสามารถหมุนได้แบบทิศทางเดียว และมีตัวเลขบอกเหมือนกับนาฬิกาดำน้ำเพื่อใช้ในการนับเวลาถอยหลัง

สำหรับฝาหลังเป็นแบบใส่เพื่อแสดงให้เห็นกลไก H-31 ซึ่งใหม่ ณ ตอนที่เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส่วนการยึดฝาหลังเป็นแบบใช้น็อตสกรูขัน ไม่ใช่เป็นแบบขันเกลียว ซึ่งบางคนอาจจะไม่ค่อยชอบรูปแบบนี้เพราะทำให้มีประสิทธิภาพในการกันน้ำและความชื้นได้ไม่ดี แต่สำหรับผมไม่ใช่ปัญหา เพราะนี่คือนาฬิกาจับเวลาที่คุณคงไม่ใส่ลงน้ำกันอยู่แล้ว คราวนี้ก็แค่ดูแลเรื่องของซีลยางให้ดีในการป้องกันความชื้นจากเหงื่อบนข้อมือเท่านั้นเอง กับอีกเรื่องคือ เวลาจะเปิดฝาหลังก็หาช่างที่มีความประณีตหน่อย เพราะไม่อย่างนั้น ใช้ไขควงไม่ดีขันมีสิทธิ์หัวน็อตเยินอย่างแน่นอน

ทางด้านกลไกแม้ว่าจะเป็น In-House และใช้รหัส H-31 แต่จริงๆ แล้วเป็นการดัดแปลงและต่อยอดในการปรับปรุงมาจากกไก 7750/7753 ของ Valjoux ของ ETA (บริษัทในกลุ่ม Swatch Group ทั้งคู่) ที่ช่างไทยคุ้นเคยกันดี แต่สำหรับที่วางใน Pan Europ Chronograph มีการดัดแปลง ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือ การติดตั้งปุ่ม Quick Set สำหรับกดวันที่ (Date) เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เอาไว้ตรงตำแหน่ง 10 นาฬิกา และหลังจากที่คุณขันเกลียวเม็ดมะยมแล้ว ดึงแค่ทีเดียวก็เข้าโหมดตั้งเวลาได้เลย ส่วนอีกเรื่องคือการขยับการสำรองพลังงานจากเดิมในกลไก 7750 อยู่ที่ 42 ชั่วโมงเท่านั้น แต่สำหรับ H-31 เพิ่มขึ้นเป็น 60 ชั่วโมง

โดยรวมผมค่อนข้างโอเคกับนาฬิกาเรือนนี้เพราะยังไงมันก็คือ Wish List ของผม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะพอใจไปเสียทุกอย่าง ส่วนที่ไม่ค่อยโอเคเห็นจะเป็นคุณภาพของสายหนังที่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยโอเคเท่าไรกับความนุ่มและดันเป็นหนังแบบมันเงา สุดท้ายก็ต้องลงทุนอีกสักหน่อยหาสายหนังสวยๆ ที่เป็นพวก Aftermarket มาจับคู่ดีกว่า

ในเรื่องการเปลี่ยนสายไม่ได้หมายความว่ามันจะจบแบบง่ายๆ นะครับ เพราะจากการออกแบบตัวเรือนที่มีขาสายสั้น แถมรูยึด Spring bar ยังค่อนข้างล้ำขึ้นไปชิดกับตัวเรือน (อาจจะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างตัวเรือนกับหัวสายมากไป) ทำให้การเลือกซื้อสายต้องพิจารณาให้ดี หาสายที่หนังตรงช่วงหัวสายไม่หนา เพราะไม่เช่นนั้นคุณจับใส่ไม่ลงอย่างแน่นอน หรืออาจจะทำให้นาฬิกาเป็นรอยครูดได้ เพราะใส่ลำบากแบบฝืนๆ ยัดลงไป

ที่ผมอยากแนะนำคือ เอาไปลองที่ร้านเลย ส่วนสปริงบาร์ที่เป็นแบบโค้ง จริงๆ มันคือ การเอาสปริงบาร์แบบตรงมาดัดให้โค้งเท่านั้นเอง เพื่อให้แนวของสายโค้งไปตามขอบของหน้าปัด ก็ระวังแค่เรื่องอยากให้สปริงบาร์ของเดิมหายหรือพัง เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะต้องมานั่งดัดกันใหม่

ส่วนใครที่ลงตัวและพอใจกับสายหนังเดิม ก็ขอแสดงความยินดีด้วย

ถ้ากำเงิน 30,000 บาทแล้วอยากได้นาฬิกา Chronograph แบบอัตโนมัติ แบรนด์ดี มีเรื่องเล่าและความเป็นมา ขายต่อราคาไม่ตก (ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ นะ อย่างน้อยก็กำไรใส่) ถ้าถามผม คำตอบคือ Hamilton Pan Europ Chronograph เรือนนี้แหละ

ปัญหาที่จะเจอตามมาคือ ดีลตามวงเงินของคุณกับของใหม่ มันไม่ได้มากันทุกวันหนะสิ เพราะนับจากแพ็คคู่ที่รุ่นพี่ผมสอยไป ตอนนี้ยังไม่เจออีกเลยกับราคาที้ทำให้ตาลุกวาวขนาดนี้ ส่วนของมือสองก็พอที่จะหาได้ แต่ก็นานๆ มาที

แต่ไม่ว่าดีลนั้นจะเป็นมือไหน กับราคา 2 หมื่นปลายไปจนถึง 3 หมื่นส่วนใหญ่แล้วจะไปอย่างรวดเร็ว

นอกเสียจากว่าคุณไม่แคร์กับราคา และอยากได้การรับประกันจากศูนย์ที่ให้ความมั่นใจมากกว่าของหิ้ว อันนี้ก็เดินเข้าชอปได้เลย

คุณสมบัติของ : Hamilton Pan Europ Chronograph

  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 45 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 15 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 48.5 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กลไก : อัตโนมัติ H-31 in-House
  • สำรองพลังงาน : 60 ชั่วโมง
  • จำนวนทับทิม : 27 เม็ด
  • เดินด้วยความถี่ : 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง
  • กันน้ำ : 100 เมตร
  • จุดเด่น : ราคาของหิ้วไม่แรง หน้าตาดูมีเอกลักษณ์
  • จุดด้อย : สายหนังดูไม่สมค่าตัว ขาสายสั้น และรูยึดสปริงบาร์อยู่ติดขอบหน้าปัด หาสายเปลี่ยนยาก