กับชื่อรุ่นที่มีคำว่า Scuba บวกกับหน้าตาที่ถอดแบบนาฬิกาดำน้ำออกมา แม้ว่าตัวเลขการกันน้ำของ Khaki Navy Scuba จะอยู่ที่ 100 เมตร แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไรสำหรับผมในการที่จะตัดสินใจเลือกนาฬิการุ่นนี้เข้ามาอยู่ในกรุ
Hamilton Khaki Navy Scuba แบรนด์ดี หน้าตาสวย กลไก 80 ชั่วโมง
ถ้ากำงบประมาณสัก 25,000 บาทแล้วให้มองหานาฬิกาสักเรือนที่แม้จะไม่ใช่สัญชาติสวิสส์ แต่เป็น Swiss Made พร้อมกับมีคุณสมบัติติดตัวมาด้วย เช่น เป็นแบรนด์ที่ดีมีประวัติ หรืออาจจะมีตำนานให้พอพูดถึงกันได้บ้าง มีหน้าตาที่ดูดี (อันนี้สำคัญ) และอีกข้อคือ มีกลไกอัตโนมัติที่ดี แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมองไม่เห็นทางออกของคำถาม ซึ่งผมก็เช่นกัน จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเดินเตร่ในงาน Central International Watch Fair ที่เซ็นทรัล ชิดลม คำตอบของเรื่องนี้ก็ลอยมา เมื่อผมเดินผ่านบู๊ธของ Hamilton และไปเจอเข้ากับ Khaki Navy Scuba
สารภาพตามตรง ผมกับแบรนด์ Hamilton รู้จักกันพอประมาณหนึ่ง และเมื่อก่อนมีแค่นาฬิกา 2 รุ่นเท่านั้นที่ผมชอบพอเป็นพิเศษ คือ Pan Europ ที่ผมเคยทำรีวิวไปแล้ว กับอีกรุ่นคือ Khaki Field ที่เคยได้ครอบครองอยู่พัก แต่ทนแรงแซะของรุ่นน้องไม่ไหว ก็เลยใจอ่อนต้องปล่อยให้ไป แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้วก่อนที่ผมจะทำเว็บนี้ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ Hamilton ที่นาฬิกาที่น่าสนใจและน่าตื่นตาตื่นใจให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะตัว WorldTimer ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อนักบินแข่ง Air Race ซึ่งสามารถสลับฟังก์ชั่นด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว หรือการกลับมาของ Collection Khaki Navy Frogman ที่มีทั้งตัว 300 เมตร และตัว 1,000 เมตรที่ทำให้พวกบ้าตัวเลขในแนวดิ่งอย่างผมยืนเกาะตู้น้ำลายไหลมาอยู่พักหนึ่ง อีกรุ่นคือ Take Off Auto Chrono ที่ได้เห็นคลิปโปรโมทแล้วถึงกับจับใส่ให้เป็น Wish List ในอนาคต นี่ยังไม่รวม Limited Edition อีก 2 รุ่นอย่าง ODC-X03 และ Instra-Matic 68 และก็รวมถึง Khaki Navy Scuba ที่เพิ่งเปิดตัวใน Basel World 2017 และสุดท้ายเรือนนี้ก็ติดมือผมกลับมาบ้าน
จริงๆ แล้วผมไม่ได้เล็งเจ้านี่ตั้งแต่แรกหรอก เพราะคิดว่ากะจะคัมแบ็ค Khaki Field ด้วยการสอยหน้าปัดสีน้ำเงิน หรือไม่ก็สีน้ำตาลกลับมา แต่พอได้เห็นหน้าตา และด้วยความที่ชอบนาฬิกาดำน้ำเป็นทุนเดิมอยู่เลย ก็ทำให้โปรเจ็กต์คัมแบ็ค Khaki Field ยืดเวลาออกไปอีกหน่อย
ตอนที่ยืนคุยกับคนขาย และได้รับทราบสเป็กโดยเฉพาะขนาดที่มี Diameter เพียง 40 มิลลิเมตร ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงเดินหนีและไม่หันไปมอง เพราะที่ผ่านมาผมเคยมีนาฬิกาไซส์นี้หลายเรือน และซื้อเพราะชอบหน้าตาแต่ไม่มีโอกาสได้ลองทาบบนข้อมือ ดังนั้นเมื่อของเดินทางมาถึงมือ กลับรู้สึกเล็กไปเลยเมื่ออยู่บนข้อมือ 7 นิ้วของผม
แต่โชคยังดีที่ ณ ตอนนี้ ผมยืนอยู่หน้าเคาน์เตอร์ และมีโอกาสได้ลอง ก็เลยได้พบว่า ตัวเลขขนาดนี้สำหรับนาฬิกาบางเรือนบางรุ่นไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผมอีกต่อไปแล้ว ถ้ามีมิติในส่วนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สิ่งที่กำลังจะบอกคือ แม้ตัวเรือนจะไซส์ 40 มิลลิเมตร แต่ด้วย Lug-to-Lug ขนาด 51 มิลลิเมตร และความหนาที่ 13 มิลลิเมตร บวกกับรายละเอียดอื่นๆ เช่น การใช้สายนาโต้ ที่จะมีลักษณะบวกๆ พองๆ ออกมา ทำให้เมื่อคาดอยู่บนข้อมือแล้ว กลับไม่รู้สึกว่านาฬิกาเรือนนี้เล็ก แต่พอดีกับข้อมืออย่างไม่น่าเชื่อ
ดังนั้น ถ้าจะซื้อนาฬิกาสักเรือน ผมแนะนำให้ลองของจริงซะ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วคุณอาจจะพลาดนาฬิกาดีๆ ที่น่าสนใจเพียงเพราะดูแค่ตัวเลขของขนาดที่ไม่สอดคล้องกับข้อมือของคุณเพียงอย่างเดียว
สารภาพอีกเช่นกันว่า ตอนที่เห็น Khaki Navy Scuba ครั้งแรก สิ่งที่สะดุดตาผมมากที่สุดคือ เรื่องของรูปลักษณ์ ส่วนสเป็กแทบไม่ได้สนใจหรือใส่ใจอะไรมากนัก เพราะปกติ สิ่งแรกที่จะทำให้ผมตัดสินใจคบหากับนาฬิกาสักเรือน มักจะเป็นหน้าตาก่อน เรียกว่าถ้าไม่ต้องตาต้องใจกัน ต่อให้สเป็กดีขนาดไหนก็หมดสิทธิ์ที่จะทำให้มือขวาของผมล้วงประเป๋าเงิน
Khaki Navy Scuba มากับหน้าตาสไตล์นาฬิกาดำน้ำที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับหน้าตากันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นความพิเศษและแตกต่างซึ่งทำให้ผมชอบคือ การสร้างความต่างบนหน้าปัดด้วยการนำตัวเลขของชั่วโมงในแบบ 24h ของสไตล์ Field Watch มาใส่ บวกกับการเลือกใช้สีที่ตัดกันระหว่างดำ-ส้ม ซึ่งมีหลักย่อยในส่วนวินาทีที่มีขีดสีส้มแซมเข้าไป พร้อมกับชุดเข็มวินาทีสีเดียวกัน ช่วยทำให้ทั้งหมดดูโดดเด่นขึ้นมา
แต่อาจจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีช่อง Date ในตำแหน่งแทรกกลางระหว่าง 4 และ 5 นาฬิกา เพราะจากการที่หน้าปัดมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่นาฬิกา Diameter ค่อนข้างเล็ก ทำให้ทุกอย่างเหมือนกับถูกจับยัดใส่เข้ามา และทำให้บางรายละเอียดถูกกลืนหายไปเลย ถ้าให้เลือกตัดออก ผมคงเลือกเอาช่องนี้ออก ด้วยเหตุผลในเรื่องที่ว่า ผมสลับนาฬิกาใส่บ่อย และมักจะไม่ค่อยชอบตั้งวันที่ ดังนั้นจึงชอบนาฬิกาพวก No Date มากกว่า แต่นั่นคือ ความเห็นส่วนตัว
อีกสิ่งที่ผมค่อนข้างชอบคือ การใช้สายไนลอนในสไตล์นาโต้ แต่ไม่ใช่นาโต้ที่ผมคุ้นเคยและไม่ค่อยชอบ อย่าเพิ่งงง…เดี๋ยวอธิบายให้ฟัง โดยสายไนลอนที่ใช้ใน Khaki Navy Scuba มีลักษณะคล้ายกับสายนาโต้คือ ถูกออกแบบให้ตัวสายร้อยผ่านสปริงบาร์กับตัวเรือน และมีห่วงหัวและท้าย
แต่ที่ต่างออกไปคือ เมื่อรัดแล้วปลายสายไม่ยาว และไม่ต้องม้วนพับเก็บเหมือนกับนาโต้แท้ๆ แต่จะมีแถบเหล็กติดเอาไว้ที่ปลายสายด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ ป้องกันไม่ให้ปลายสายรุ่ยออกมาเวลาใช้ไปนานๆ และเป็นตัวถ่วงน้ำหนักเอาไว้ ดังนั้น การใส่ก็เลยไม่ยุ่งยาก ไม่เทอะทะ ไม่ต้องเจอกับสภาพปลายสายที่ถูกพับเก็บและชอบหลุดออกมาเป็นประจำเหมือนกับพวกนาโต้แบบเดิมๆ ที่มีอยู่ในตลาด นอกจากนั้น จากการที่ด้านในของสายมากับสีส้มตัดกับด้านนอกของสายที่เป็นสีดำ ก็เลยเข้ากับ Theme โดยรวมของตัวนาฬิกา และช่วยเสริมให้ดูเด่นขึ้นมา
และถ้าเบื่อกับสายประเภทนี้และอยากหาสายหนังสวยๆ มาจับคู่ ด้วยความกว้างขาสาย 20 มิลลิเมตร ก็ถือว่าหาตัวเลือกได้ไม่ยาก และมีขนาดพอเหมาะกับตัวเรือน
เอาละ ถ้าเป็นพวกที่ชอบดูกลไก เหมือนกับพวกบ้ารถที่ต้องเปิดฝากระโปรงหน้าดูเครื่องยนต์ก่อน ผมคิดว่าเจ้า Khaki Navy Scuba ก็ไม่น่าจะทำให้ผิดหวังแต่อย่างใด โดยเฉพาะในเรื่องของถังพลังงานสำรองที่ใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยตัวเลขการสำรองพลังงานถึง 80 ชั่วโมง !!! ผมพิมพ์ไม่ผิดหรอก
กลไกในรหัส H-10 กลายเป็นกลไกหลักของนาฬิกาในเครือนี้ไปแล้ว และถูกใช้อยู่ในหลายรุ่น โดยเป็นการต่อยอดมาจากกลไก ETA C07.111 (ซึ่งก็ต่อยอดมาจาก ETA-2824 มาอีกที จึงมั่นใจได้ในความทนทาน คุณภาพ และการซ่อมที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรงช่างไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Swatch Group โดยการปรับแต่งที่สำคัญ คือ การลดความถี่ในการเดินจาก 4Hz หรือ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมงมาเป็น 3Hz หรือ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง โรเตอร์ที่เปลี่ยนมาเป็นเอกลักษณ์ของ Hamilton (ต้องเปิดฝาหลังดูถึงจะเห็นเพราะรุ่นนี้ฝาหลังทึบ) และการเพิ่มตัวเลขของพลังงานสำรองที่นานถึง 80 ชั่วโมงหรือ 3 วันกว่าๆ ขณะที่นาฬิกาทั่วไปในระดับราคาใกล้เคียงกันตัวเลขป้วนเปี้ยนแค่ 40 ต้นๆ ด้วยซ้ำ
ผมจึงค่อนข้างประทับใจกับตรงนี้มาก และในที่สุดก็เจอกับนาฬิกาที่ผมไม่ต้องมาคอยตั้งเวลาใหม่เมื่อวางทิ้งไว้หลังจากกลับบ้านในวันศุกร์แล้วหยิบมาใส่ใหม่ในวันจันทร์สักที
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคิดว่าชวนสับสน คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างชื่อรุ่น หน้าตาของนาฬิกา กับความสามารถในการกันน้ำของนาฬิการุ่นนี้ เพราะการใช้คำว่า Scuba มาอยู่ในชื่อรุ่น แต่กลับมีระดับการกันน้ำแค่ 100 เมตร อาจจะไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นใจให้กับคนที่ซื้อไปแล้วเอาไปใช้งานในการดำน้ำจริงๆ ทั้งที่ตัวเลขระดับนี้ก็พอรองรับกับการว่ายน้ำ หรือดำน้ำแบบ Snorkeling หรือบนผิวน้ำได้
ตรงนี้ดูเหมือนว่าทาง Hamilton เองก็พยายามสื่อให้เห็นผ่านทางข้อมูลและเอกสารข่าวว่า Khaki Navy Scuba คือนาฬิกาในกลุ่มสปอร์ตมากกว่าจะบอกว่ามันเป็น Diving Watch แท้ๆ แม้ว่าหน้าตา Bezel แบบหมุนทางเดียว 120 คลิกและมีแถบสีส้มบนตัวเลข 15 นาทีแรก เม็ดมะยมแบบขันเกลียวแถมมีบ่ากันกระแทกหรือ Crown Guard และฝาหลังแบบขันเกลียว เหมือนกับนาฬิกาดำน้ำก็ตาม และผมเชื่อว่า Hamilton น่าจะออกแบบนาฬิการุ่นนี้โดยให้มีกลิ่นอายที่คล้ายกับนาฬิกาดำน้ำ แต่ไม่ใช่เกิดมาเพื่อให้ใช้ในการดำน้ำ
ถ้าถามผมกับตัวเลขการกันน้ำระดับนี้มีปัญหากับผมไหม คำตอบคือเฉยๆ เพราะแม้ผมจะชอบนาฬิกาดำน้ำ และบ้าตัวเลขความลึกบนหน้าปัด แต่ตรงนี้ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อนาฬิกาดำน้ำมากเท่ากับความชอบในเรื่องรูปลักษณ์
อ้อ…อีกอย่าง ผมไม่ดำน้ำอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เลยไม่เป็นปัญหา
มาดูที่ราคา สำหรับรุ่นสายนาโต้ ราคาตั้งเอาไว้ที่ 26,500 บาท (ส่วนสายสแตนเลสก็ขยับเป็น 29,500 บาท)ดังนั้นเมื่อหักส่วนลดในช่วงโปรโมชั่นของงานนาฬิกา ราคาก็เลยขยับลงมาอยู่ที่ 22,000 บาทนิดๆ
แน่นอนว่า กับตัวเลขขนาดนี้ เมื่อมองไปที่หน้าตา แบรนด์ และสเป็กของนาฬิกา คงมีน้อยคนละที่หนีออกไปได้ ซึ่งผมก็คือคนหนึ่งละที่ไม่รอด
คุณสมบัติของ : Hamilton Khaki Navy Scuba
Ref. : H82305931
- เส้นผ่าศูนย์กลาง : 40 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 51 มิลลิเมตร
- ความหนา : 13 มิลลิเมตร
- หน้าปัด : สีดำ พร้อมเข็มนาทีสีส้มหรือสีขาว หลักชั่วโมงเคลือบสารเรืองแสง Super-LumiNova®
- กระจก : แซฟไฟร์พร้อมเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน
- กลไก : H-10
- ความถี่ : 26,100 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน : 80 ชั่วโมง
- ประทับใจ: แบรนด์ดี กลไกมีพลังงานสำรองเยอะ หน้าตาสวย ขนาดกำลังเหมาะทั้งชายและหญิง ราคาพอเหมาะ พรายน้ำสีฟ้า สายนาโต้ใส่สบาย
- ไม่ค่อยประทับใจ : ชื่อรุ่นและสเปกในการกันน้ำที่ชวนสับสน หน้าปัดรายละเอียดเยอะจนแน่น
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/