Hamilton Khaki Field Officer – Field Watch ตัวใหญ่กลไกเจ๋ง

0

Hamilton เป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการผลิตนาฬิกา Field Watch โดยเฉพาะรุ่น Khaki Field ที่ขึ้นชื่อของพวกเขา แต่ขนาด 42 มิลลิเมตรที่เคยสัมผัสกันมาในตอนนั้นยังไม่โดนใจในเรื่องของขนาด ทำให้ตัดใจลาจากกันและหันมาไซส์ 44 มิลลิเมตรในรุ่น Hamilton Khaki Field Officer Auto แทน ซึ่งสัมผัสที่ได้คือ ‘ความรู้สึกที่ว่ามันใหญ่มาก’

- Advertisement -

Hamilton Khaki Field Officer – Field Watch ตัวใหญ่กลไกเจ๋ง

  • Field Watch ที่ถูกปรับปรุงการออกแบบให้ร่วมสมัยขึ้นและมาพร้อมกับช่อง Date
  • ขนาดใหญ่ 44 มิลลิเมตร แต่ความรู้สึกที่ได้มันใหญ่กว่านั้น
  • รุ่นท้ายๆ เปลี่ยนกลไกใหม่เป็น H-10 มีขนาดการสำรองพลังงานเพิ่มขึ้นจากรุ่นเก่าที่ใช้กลไก ETA-2824-2

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่รู้จักกับ Hamilton มักจะผ่านมาทางนาฬิกาที่ดูเรียบง่ายแต่สุดคลาสสิคของพวกเขาอย่างไลน์อัพ Khaki Field ซึ่งถือว่าเป็น Iconic ของแบรนด์เลยก็ว่าได้ ส่วนตัวเอง แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักชื่อของ Hamilton เป็นครั้งแรกกับคอลเล็กชั่นนี้ เป็น Pan Europ Chronograph แต่ Khaki Field ก็ถือเป็นอีกรุ่นที่ผมตั้งเป้าจะสอยเข้ามาอยู่ในกรุให้ได้ ซึ่งก็สมหวังและผิดหวังไปในที่สุด ดังนั้นด้วยความเข็ดที่เคยลองทาบกับไซส์ 42 มิลลิเมตรมาแล้วกลับไม่โดน งานนี้เลยต้องยอมเมินความคลาสสิค และหันไปคบกับไซส์ที่ใหญ่กว่าอย่างรุ่น Khaki Field Officer Auto ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 44 มิลลิเมตรแทน…และต้องใช้เวลานานเอาเรื่องเลยกว่าที่จะคุ้นเคยและสนิทกัน

จริงๆ ถ้าจะให้เล่าเรื่องนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ช่วยฟังกันหน่อยก็แล้วกันนะครับ เพราะตอนแรกเมื่อสัก 3 ปีที่แล้วผมสอยเจ้า Khaki Field 42 มิลลิเมตรมาแล้ว แต่หลังจากเปลี่ยนสาย และลองทาบอยู่พักหนึ่ง มีอยู่ 2 ปัจจัยที่ทำให้ผมตัดสินใจปล่อยออกไปเพื่อตามหาไซส์ที่ใหญ่ขึ้น อย่างแรกคือ ความฝังหัวตอนนั้นในเรื่องของขนาดนาฬิกาที่ผมยังรู้สึกว่าไซส์ 42 มิลลิเมตรมันยังเล็กไปในเชิงตัวเลข และอย่างที่ 2 คือ ดีไซน์และขนาดของความกว้างขาสายที่มันใหญ่ไปหน่อย คือ 22 มิลลิเมตร เลยทำให้ความกว้างตัวเรือนดูแล้วไม่ใหญ่อย่างที่คิด

อย่างไรก็ตาม 3 ปีผ่านไป และผมจัดการสอยเจ้า Khaki Field Officer Auto ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 44 มิลลิเมตรมาอยู่ในมือผ่านการแบบที่ไม่ได้เดินไปดูตัวจริงที่เคาน์เตอร์ก่อน ความคิดแทบจะเปลี่ยนไปในบัดนาว ผมกลับคิดถึงเจ้า 42 มิลลิเมตรนะ พร้อมกับเขกกะบาลตัวเองไปหนึ่งทีโทษฐานรีบด่วนตัดสินใจ รีบปล่อยออกไปหลังจากที่เด็กๆ แถวบ้านมาแซะ เพราะอะไรหรือ ?

อย่างแรกคือ สิ่งที่ผมเคยบ่นอยู่ในรีวิวของตัวเองเสมอ แต่ดันไม่จำเองคือ Khaki Field Officer Auto เป็นนาฬิกาที่ไม่มีขอบ Bezel จึงทำให้หน้าปัดของตัวเรือนขยายออกอย่างเต็มที่ และนาฬิกาเกือบ 90% ของผมเป็นพวกมีขอบ Bezel ส่วนพวกไม่มีขอบนี้ก็มักจะเป็นไซส์ 42 มิลลิเมตรทั้งนั้น จึงเรียกว่าแทบไม่มีประสบการณ์ตรง ดังนั้นอุทานแรก (หรือจะเรียกว่าสบถก็ได้นะ) ที่ได้เจอตัวเป็นๆ คือ ‘ทำไมมันใหญ่ขนาดนี้ฟระ!!!’

อย่างที่ 2 คือ เมื่อความใหญ่ของหน้าปัดมาบวกเข้ากับเม็ดยมที่ยื่นออกมาอีกร่วมๆ 5 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug อีก 54 มิลลิเมตร เอาเป็นว่าข้อมือ 7 นิ้วแบบแบนๆ ของผมแทบจะรองรับกับความใหญ่ของมันไม่ได้เลย เรียกว่าเต็มข้อพอดี

ดังนั้น สัมผัสแรกที่ได้ลองทาบคือ เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่านาฬิกา 44 มิลลิเมตรมันใหญ่กว่าข้อมือผมไปแล้ว และใช้เวลาร่วมๆ เดือนในการปรับอารมณ์ตรงนี้ บวกกับการมองหาสายหนังมาแทนสายโลหะที่เป็นสแตนเลสสตีล ถึงจะคลายความรู้สึกว่าขนาดมันเริ่มพอดีกับข้อมือผมแล้ว และเริ่มชอบในที่สุด

เอาละ…กลับมาที่เรื่องตัวนาฬิกากันบ้าง ต้องบอกว่า Khaki Field ถือเป็นคอลเล็กชั่นหลักของ Hamilton และมีนาฬิกาที่อยู่ในกลุ่มนี้มากมายหลายแบบบนดีไซน์ของ Field Watch แต่ถ้าถามผมว่ารุ่นไหนโดนบ้าง คงต้องบอกว่าเป็นตัวคลาสสิคอย่าง Mechanical หรือไม่ก็ Auto ที่ใช้กลไกใหม่ H-10 ไซส์ 42 มิลลิเมตรที่ผมเล็งเป็นเป้าหมายต่อไปและจะขอแก้มือกันอีกสักครั้ง

ส่วนใหญ่นาฬิกาในกลุ่มนี้จะมีขนาดมาตรฐานอย่าง 38-40 และ 42 มิลลิเมตรเป็นหลัก แต่ก็มีไซส์ 44 มิลลิเมตรเอาไว้รองรับพวกที่มีความรู้สึกแบบตัดสินโดยใช้ตัวเลขเพียงอย่างเดียวอย่างผม แต่ตัวเลือกของรุ่นนี้ก็มีไม่มาก และ Khaki Field Officer Auto คือ หนึ่งในนั้น

ผมไม่ค่อยตัดขัดในเรื่องของดีไซน์โดยเฉพาะหน้าปัดของตัวนาฬิกาที่ถือว่าเป็นจุดเด่นและไฮไลท์อยู่แล้ว ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่มาในแบบ Field Watch แบบเดิมๆ แต่ Hamilton ก็พยายามปรับในเรื่องของการเติมลูกเล่นให้ดูน่าสนใจ เช่น การขยายฟอนต์ตัวเลขในหลักชั่วโลกเด่นอย่าง 12 และ 6 ให้ใหญ่กว่าปกติจนเด่นชัด การเปลี่ยนสีของขอบสเกลย่อยตรงช่วง 10-12 หรือประมาณ 10 วินาทีสุดท้าย ซึ่งอาจจะเพื่อประโยชน์ในเรื่องของการช่วยสะกิดให้เกิดการรับรู้ได้ง่ายขึ้นในจังหวะของการจับเวลา

ทรงของเข็มชั่วโมงและนาทีมาในแบบคลาสสิคเป็นแบบทรงดาบและก็มีปลายแหลมยาวยื่นออกมา โดยเฉพาะในส่วนเข็มนาทีจะยาวจนกระทั่งถึงขอบสเกลด้านนอกสุดที่มีตัวเลขวินาทีระบุเอาไว้ด้วย ส่วนเข็มวินาทีในรุ่นนี้มีการแต้มสีแดงที่ปลายซึ่งเป็นทรงหัวลูกศร ดูเด่นขึ้นมา

เอาจริงๆ นะ ผมพยายามหาข้อมูลที่แท้จริงในการออกแบบของสเกลของหน้าปัดนาฬิกาพวก Field Watch ว่าทำไมจะต้องมีขอบสเกลย่อยด้านในที่เป็นตัวเลขในของชั่วโมงในแบบ 24H ถ้าให้เดาผมว่าคงมีหลักการไม่ต่างจากหน้าปัดของนาฬิกาแบบ B-Uhr ในแบบ B-Type คือ เพื่อความสะดวกในการขานเวลาที่แท้จริง เช่น ถ้าเข็มชั่วโมงชี้ไปที่เลข 7 ในตอนนั้นถ้าเป็นเวลากลางวันก็จบข่าว บอกเป็น 7 นาฬิกาไปเลย แต่ถ้าเป็นหลังกลางวันหรือ P.M. เมื่อมองที่หน้าปัดแล้ว หลายคนอาจจะมึนหรือนึกไม่ทันว่าจะขานอย่างไร การมีตัวเลข 24H  กำกับไว้จะช่วยเพิ่มความสะดวก และบอกเวลาได้อย่างรวดเร็ว คือ 19 นาฬิกา ส่วนตัวเลขนาทีและวินาที ก็ใช้สเกลด้านนอกสุด ซึ่งจะมีตัวเลข 5-10-15-20-25-30  ไล่เรื่อยๆ จนครบ 60 ในการบอกเวลาในหน่วยนาทีและวินาที นัยว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกและความแม่นยำในการขานเวลา

อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่ผมไม่ค่อยโอเคกับหน้าปัดของรุ่นนี้ คือ ช่องหน้าต่างวันที่ หรือ Date ตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถ้าอ่านรีวิวผมมาตลอดจะรู้ว่าผมไม่ค่อยชอบนาฬิกาอัตโนมัติที่มี Day/Date ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ขี้เกียจตั้ง สำหรับ Khaki Field Officer Auto กลับไม่ใช่เหตุผลนั้น แต่เป็นเรื่องของดีไซน์ที่ไม่ลงตัว

ผมลองไล่ดูนาฬิกาในกลุ่มนี้ของ Hamilton แล้ว โดยเฉพาะพวกที่มีช่องหน้าต่างในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถ้าไม่กินพื้นที่ในขอบสเกลด้านในที่จะไม่มีตัวเลข 15 ก็ต้องกระเถิบออกไปด้านนอกและไปกินพื้นที่ของเลข 3 แทน หรือไม่ก็ทับไปเลย และโผล่ออกมาให้เห็นแค่เสี้ยวหนึ่งพอจะทราบได้ว่ามันคือเลข 3 และจะมีแค่ไม่กี่รุ่นที่แทรกกลางระหว่าง 15 และ 3 แต่ช่องวันที่ก็เล็กมาก

ผมเข้าใจนะว่า เรื่องของคนที่จะเอานาฬิกาพวกนี้ไปใช้งานแบบจริงๆ จังๆ มันคงไม่มีหรอก ดังนั้นการมีช่อง Date เข้ามาก็เพื่อรองรับกับการใช้งานของคนปกติ และทำให้นาฬิกามันมีฟังก์ชั่นมากขึ้น แต่มันกลับทำให้ผมเกิดความรู้สึกแบบ พวกเขาประณีประนอมไปหน่อย และไปไม่สุดสักอย่าง สู้ทำเป็น No Date ไปเลยเพื่อความสมบูรณ์บนหน้าปัดและมีความคลาสสิคจะดีกว่า…อันนี้คือมุมแบบเห็นแก่ตัวนิดๆ ของผม

ฝาหลังของ Hamilton Khaki Field Officer Auto เป็นแบบใสมองเห็นกลไก ซึ่งแม้ว่ากลไกจะไม่ได้ขัดแต่งหรือทำสวยเหมือนกับแบรนด์หรูๆ แพงๆ แต่ก็มีประโยชน์พอสมควร เพราะในรุ่นนี้มากับกลไกมาตรฐานอย่าง H-10 ซึ่งก็เป็นการปรับแต่งมาจากกลไกพื้นฐานของบริษัทในเครือ Swatch Group เดียวกันอย่าง ETA C07.611 ด้วยการปรับแต่งโรเตอร์ใหม่มีการฉลุลายตัว H และการที่ฝาหลังใสทำให้คุณทราบความแตกต่างระหว่างรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า ซึ่งใช้กลไก ETA 2824-2 ได้ เพราะจุดหลักคือ โรเตอร์ของทั้ง 2 รุ่นไม่เหมือนกัน

เอาเถอะถ้าตัดประเด็นเรื่องขนาด (ที่ตอนนี้ผมปรับตัวได้แล้ว) และหน้าปัดที่มีช่อง Date มาเบียดบัง โดยรวมแล้ว นี่คือนาฬิกาอีกรุ่นที่น่าสนใจในระดับราคาบวกลบสามหมื่นบาท คุณได้ความคลาสสิคแบบ Field Watch จากแบรนด์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องนี้ แน่นอนว่าเอาไปโม้กับเพื่อนต่อได้สบายๆ ได้งานความเนียนที่มีคำว่า Swiss Made แปะอยู่บนหน้าปัด และกลไกที่เชื่อมั่นได้อย่าง H-10 ที่ขยายความจุในการสำรองพลังงานเป็น 80 ชั่วโมง จากเดิมมีแค่ 40 ชั่วโมงของ ETA-2824-2

อย่างเดียวที่คุณจะต้องเตรียมพร้อมคือ ใจ หรือไม่ก็ขนาดข้อมือ เพราะต้องบอกเลยว่า ความรู้สึกที่ได้มันใหญ่มาก และถ้าข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้วอาจจะลำบากในการใส่สักหน่อย เพราะเชื่อว่ากางอย่างแน่นอน นอกจากคุณจะมีอีกสิ่งคือ ใจที่ไม่สนใจกับเรื่องตรงนี้ และก็อย่าได้แคร์กับเสียงวิจารณ์ของคนรอบข้าง

แต่สุดท้าย ผมบอกตรงๆ ว่าอย่าฝืน และถ้าข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้ว แนะนำให้ไปหาตัว 42 มิลลิเมตรจะดีกว่า นอกจากคุณจะชอบดีไซน์แบบนี้ซึ่งหาไม่ได้ในไซส์ 42 มิลลิเมตร

ข้อมูลทางเทคนิค : Hamilton Khaki Field Officer Auto

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 54 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 11.8 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire
  • ระดับการกันน้ำ : 100 เมตร
  • กลไก : H-10
  • ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
  • สำรองพลังงาน : 80 ชั่วโมง
  • จำนวนทับทิม : 25 เม็ด
  •  ประทับใจ : กลไก คลาสคลาสสิค
  • ไม่ประทับใจ : ขนาดตัวเรือนใหญ่กว่าที่คิด หน้าปัดแบบมีช่อง Date