หน้าปัดในสไตล์วินเทจของรุ่น Khaki Field Mechanical ถูกนำมาดัดแปลงและวางลงบนตัวเรือนที่ใหญ่ขึ้นกับรุ่น Hamilton Khaki Field Auto Camouflage พร้อมเพิ่มความสะดุดตาด้วยสายหนังแบบลายพราง
Hamilton Khaki Field Auto Camouflage ย้อนยุคผสานลายพราง
- บุกตลาดเมืองไทยแล้วหลังจากเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
- ตัวเรือน 42 มม.พร้อมหน้าปัดในสไตล์เดียวกับ Khaki Field Mechanical
- ราคาป้ายสำหรับสายหนัง 32,600 บาท และสายเหล็ก 35,200 บาท
ดูเหมือนว่าความในใจของผมจะสัมฤทธิ์ผลแล้วแม้ว่าจะไม่สมหวังทั้งหมดก็ตาม เพราะตอนที่ Hamilton เปิดตัว Khaki Field Mechanical ออกมานั้น ผมเฝ้าภาวนาให้พวกเขาผลิตนาฬิกาในลักษณะเดียวกันนี้ออกมาแต่มีขนาดตัวเรือนใหญ่ขึ้นจากที่เป็นอยู่ และนั่นก็เลยเป็นที่มาของ Khaki Field Day Date Auto รุ่นใหม่ที่ใช้กลไกอัตโนมัติ พร้อมกับสายผ้าที่มากับลายพรางในสไตล์ Camouflage สำหรับเอาใจคนที่ชื่นชอบอะไรที่เป็นแนวๆ ทหาร ซึ่งก็เข้ากับคอนเซ็ปต์ของนาฬิการุ่นนี้พอดี
ถ้าตามอ่าน Review ของผมมาโดยตลอดจะทราบดีว่า ผมค่อนข้างชื่นชอบนาฬิกาในตระกูล Khaki Field ของ Hamilton ที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกนาฬิกา Field Watch รุ่นแรกๆ ของโลกมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ข้อคือ หน้าตาที่เรียบง่าย แต่ดูสวยโดดเด่น กับราคาที่อยู่ในระดับจับต้องได้สำหรับแบรนด์จากฝั่งตะวันตก และเมื่อ Hamilton มีการปรับไลน์อัพของนาฬิกาใหม่ด้วยการเสริมรุ่น Khaki Field Auto Camouflage เข้าไป ผมว่ามันยิ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจมากขึ้น
ตอนที่ได้เห็นภาพจากอินเตอร์เนตที่ทาง Ana-Digi.com นำเสนอออกมาก่อนหน้านี้สัก 2 เดือนที่แล้ว บอกตามตรงว่าผมตกหลุมรักเจ้านี่เข้าเต็มๆ แม้ว่าสิ่งที่ Hamilton ทำออกมาจะไม่ได้ตรงใจผม 100% ก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ผมค่อนข้างชอบหน้าปัดของตัว Khaki Field Mechanical เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อตัวจริงมาถึงมือ บอกเลยว่าถูกใจมาก แม้ว่าราคาจะกระโดดจากตัว Khaki Field Auto Date เกินที่คาดหมายไปหลายพันบาทก็ตาม
นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวออกมาในตลาดด้วย 4 ทางเลือกด้วยกันคือ หน้าปัดสีดำจับคู่กับสายลายพรางสีน้ำตาล มากับ Ref. H70535031 ตามด้วยหน้าปัดเทากับสายผ้าใบสีเขียวเป็นรหัส Ref. H70535081 ตัวหน้าเขียวกับสายลายพรางสีเขียวเข้ม เป็นรหัส H70535061 และหน้าดำสายเหล็กเป็นรหัส Ref. H70535131 ซึ่ง 3 แบบแรกมากับราคาป้าย 33,600 บาท และรุ่นสายเหล็กราคา 35,200 บาท
ส่วนตัวถ้าใครชอบหน้าดำอยู่แล้ว แนะนำให้ซื้อสายเหล็กจะคุ้มค่ากว่า เพราะส่วนต่างไม่ถึง 2,000 บาท ซึ่งถ้าเกิดอยากได้สายเหล็กต่างหาก การซื้อสายเหล็กแยกมันไม่ใช่ราคานี้อย่างแน่นอน แต่สำหรับผมนั้น จบข่าวกับสายเหล็กและหน้าดำไปตั้งแต่แรก เพราะส่วนตัวชอบหน้าเทากับหน้าเขียวมากกว่า ดูเข้ากับคอนเซ็ปต์ Camouflage อย่างมาก
เอาละคราวนี้มาดูเรื่องเหตุและผลที่ทำให้ผมชอบเจ้า Khaki Field Mechanical เดี๋ยวจะหาว่าชอบแบบลอยๆ โดยไม่มีเหตุผลมาสนับสนุน
เอาในแง่ของงานดีไซน์ก่อน อย่างแรกเลยผมคิดว่าหลายคนอาจจะเบื่อความเรียบง่ายของหน้าปัดในสไตล์ Field Watch ที่มีลูกเล่นไม่มาก ดังนั้นเมื่อตอนที่พวกเขาเปิดตัว Khaki Field Mechanical ออกมากับหน้าตาในสไตล์ย้อนยุค ทั้งฟอนต์ตัวเลขที่ดูลงตัวมาก บวกกับการใช้หลักชั่วโมงทรงสามเหลี่ยมที่ดูแปลกตานั้น ทำให้หลายคนหลงใหลมันทันที (ยังไม่นับรวมเรื่องราคาที่ต้องขยี้ตาดูอีกรอบ…อ่ออันนี้หมายถึงตัว Khaki Field Mechanical ที่เป็นรุ่นไขลานนะ)
ดังนั้น การนำหน้าปัดในสไตล์นี้มาเติมเต็มบนตัวเรือนขนาดกำลังเหมาะของ Khaki Field Auto Camouflage ตรงนี้ทำให้สามารถเพิ่มสีสันของคอลเล็กชั่นนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนการเติมสีสันของสายด้วยลายพรางหรือ Camouflage ตรงนี้บอกตรงๆ ว่า ผมไม่ค่อยอินกับลวดลาย Camouflage เท่าไร ก็เลยเฉยๆ
อย่างที่ 2 ที่ผมค่อนข้างชอบ Khaki Field Auto Camouflage คือ ความลงตัวในแง่ Package ของตัวนาฬิกา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 42 มม. กับขาสายที่มีความกว้าง 20 มม.เป็นอะไรที่ผมคิดว่าคือส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด ทำให้ตัวนาฬิกาไม่ว่าจะวางอยู่บนข้อมือ หรือวางโดดๆ ดูโดดเด่น และขับรูปทรงโค้งเว้าของขอบตัวเรือนให้ดูชัดเจนขึ้น ผิดกับการจับคู่กันระหว่างไซส์ 42 กับความกว้างขาสาย 22 มม. ที่ผมว่ามันทำให้นาฬิกาดูเป็นแท่งๆ ตรงๆ ยังไงพิกล
ต่อมาคือ กลไก ซึ่งผมเขียนเสมอว่าการที่ Hamilton อยู่ในเครือ Swatch Group นั้นทำให้พวกเขาได้เปรียบในเรื่องของ R&D และไม่ต้องลงทุนทั้งในแง่ของเงินทุนและเวลาเหมือนกับพวกแบรนด์เดี่ยวๆ และนโยบายการผลิตกลไกที่สามารถใช้กับหลากหลายแบรนด์ภายในเครือได้ถือเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมนาฬิกายุคใหม่เลยก็ว่าได้ หลายคนอาจจะบ่นเกี่ยวกับเรื่องของการทำลายคุณค่าของนาฬิกาในแง่ที่พวกเขามองว่าเป็นงานศิลป์ แต่ถ้ามองในแง่ของคนใช้งาน ผมเฉยๆ นะสำหรับนาฬิกาในราคาไม่เกินแสน
กลไก H-30 ที่วางอยู่ใน Khaki Field Auto Camouflage เป็นการพัฒนามาจาก C07.111 หรือ 2836-2 ของ ETA ที่อยู่ในเครือ Swatch Group ด้วยเช่นกัน กลไกรุ่นนี้ถูกปรับแต่งหลายจุดตั้งแต่กระปุกลานไปจนถึงชิ้นส่วนที่เป็น Escapement เพื่อช่วยเพิ่มกำลังสำรองให้ขยับมาอยู่ในระดับ 80 ชั่วโมงเลยทีเดียว ขณะที่โรเตอร์ซึ่งคุณสามารถมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังใสนั้นก็จะมีการสลักและแกะเป็นโลโก้ตัว H ของ Hamilton โดยกลไกรุ่นนี้ถูกวางอยู่ในนาฬิกาหลายรุ่นของ Hamilton เช่น Pan Europ ตัว Day/Date และในคอลเล็กชั่น Broadway
เรียกว่าใครที่ชอบนาฬิกาที่มีกำลังรองเยอะๆ นี่คือคำตอบ และถือว่าหาได้ยากกับนาฬิกาที่อยู่ในกลุ่ม 30,000 บาท ยกเว้นเปรียบเทียบกับกับแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในเครือ Swatch Group อย่าง Tissot ที่ราคาย่อมเยาว์กว่า เพราะตำแหน่งทางการตลาดที่แตกต่างกัน
สิ่งแรกที่ผมจัดการเลยเมื่อได้ Khaki Field Auto Camouflage มาอยู่ในมือ คือ หาสาย 20 มม. ที่วางกองเป็นกระตั๊กอยู่ที่บ้านมาเปรียบเทียบใส่ และเจ้าหน้าเขียวที่ผมเลือกมานั้นถือว่าเข้าหับสายหนังสีน้ำตาลอ่อนๆ อย่างลงตัว เพียงแต่ผมไม่ได้ถ่ายภาพมาให้ชมความสวยงาม
สำหรับใครที่กังวลว่านาฬิกาไซส์ 42 มม.จะเป็นอย่างไรกับคนข้อมือใหญ่ๆ อย่างของผมขนาด 7 นิ้วที่น่าจะเป็นมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบได้นั่นถือว่า Khaki Field Auto Camouflage ขนาดกำลังดีไม่ถือว่าเล็กเกินไป อาจจะเป็นเพราะ Lug to Lug ที่อยู่ในระดับ 50 มม. ของมันก็เลยทำให้ดูลงตัว ผมคิดว่าขนาดข้อมือ 6-7.5 นิ้วสามารถรับมือกับเจ้านี่ได้โดยไม่เกิดความรู้สึกว่าเล็กเกินไป ส่วนความหนาระดับ 12 มม.ก็ถือว่าพอดีสำหรับการนำนาฬิกาเรือนนี้ไปใส่ในแบบลำลองหรือแบบทางการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ผมว่าไม่ค่อยลงตัวกับนาฬิการุ่นนี้เหมือนกัน โดยส่วนตัว ผมชอบหน้าปัดของตัว Khaki Field Mechanical เพราะความเป็นนาฬิกา No Date แต่สำหรับ Khaki Field Auto Camouflage มีการปรับเพื่อให้เข้ากับการใช้งาน ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปซึ่งต้องการความครบเครื่องบนนาฬิกาเรือนเดียว คือ มีทั้ง Day และ Date มาถึงจุดนี้ มันก็เลยอยู่ในสภาพได้อย่างเสียอย่าง เพราะส่วนตัวผมคิดว่าเลย์เอาท์บนหน้าปัดดูแปลกไป แต่ก็แลกมาด้วยความครบเครื่องเท่าที่นาฬิกากลไกจะมอบให้ได้
แต่ก็อย่างว่าครับ เรื่องนี้เป็นความชอบส่วนตัวล้วนๆ เพราะเวลานั่งคุยกับเพื่อนๆ บางคนในกลุ่มที่เล่นนาฬิกา พวกเขามักจะชอบนาฬิกาแบบครบเครื่องในเรือนเดียวกัน ต้องมีทั้ง Day และ Date เรียกว่าถ้าไม่มีตรงนี้ แทบจะกาทิ้งจาก Wish List ของตัวเองกันเลยทีเดียว
ประการต่อไป คือ การที่ตัวเรือนมาในแบบขัดทรายหรือ Sand Blast ของ Khaki Field Mechanical ดูสวยมาก และผมคิดว่าน่าจะเอามาใช้กับ Khaki Field Auto Camouflage แต่พวกเขาก็เลือกแบบขัดลาย ซึ่งมันก็สวยดีอยู่หรอก แต่ถ้ามาแบบดิบๆ ตัวเรือนออกเทาๆ ผมว่าน่าจะโอเคอยู่นะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองดูโดยรวมแล้ว ผมค่อนข้างชอบนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ของ Hamilton ตามเหตุผลที่ยกมา แต่ถ้าพวกเขาตั้งราคาได้ใกล้เคียงกับ Khaki Field Auto Date สักหน่อยแล้วละก็ การตัดสินใจก็ง่ายขึ้น และ Khaki Field Auto Camouflage น่าจะมีชื่อติดอยู่ในรายชื่อตัวเลือกของการพิจารณาสอยเข้ากรุของใครบางคนที่กำลังมองหานาฬิกาที่มีช่วงราคาไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นช่วงราคาที่เราถูกบรรดาคนอ่านถามเข้ามาบ่อยมาก
ข้อมูลทางเทคนิค : Hamilton Khaki Field Auto Camouflage
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
- ความหนา : 12 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 50 มิลลิเมตร
- การกันน้ำ : 100 เมตร
- กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- พรายน้ำ : SuperLuminova
- กลไก : H-30
- สำรองพลังงาน : 80 ชั่วโมง
- ประทับใจ : ขนาด รูปแบบหน้าปัดที่ถอดแบบมาจาก Khaki Field Mechanical กลไกสำรองพลังงาน 80 ชั่วโมง
- ไม่ประทับใจ : การเป็น Day/Date ส่งผลต่อหน้าปัดที่ดูละลานตา ตัวเรือนไม่ขัดด้าน ราคาที่ขยับขึ้นเกินไปหน่อย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/