เราไม่ได้เลือกนาฬิกาเพียงแค่เพราะต้องการเครื่องมือบอกเวลา แต่เครื่องนั้นจะต้องสอดรับกับการแต่งกายด้วย และเมื่อชีวิตเปลี่ยนไป ต้องแต่งตัวในแบบที่เป็นทางการมากขึ้น การมองหานาฬิกา Dress สักเรือนเพื่อรับโอกาสนี้เลยผุดขึ้นมาหัว และนั่นทำให้เราได้พบกับ Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic
Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic นิยามใหม่แห่งความบาง
-ขนาดตัวเรือน 40 มม.แต่หนาเพียง 8.45 มม. พร้อมระบบ EasyClick เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนสาย
-กลไกอัตโนมัติ ETA 2892-A2 สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง
-34,000 บาทกับค่าตัวของ Dress สุดสวยรุ่นนี้
เมื่อก่อน…สมัยเป็นวัยรุ่น ผมคิดว่าการมีนาฬิกาแค่เรือนเดียวก็น่าจะพอ แบบว่ารับมือได้กับทุกสถานการณ์ แต่เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ และหน้าที่การงานเปลี่ยนแปลงไปจากการใช้ชีวิตแบบไม่เป็นทางการมากมาสู่การทำอะไรที่เป็นทางการบ่อยครั้งขึ้น การมีแค่นาฬิกาคู่ใจเพียงเรือนเดียวดูท่าจะไม่พอแล้วกับความลงตัวในการแต่งกาย โดยเฉพาะเมื่อต้องแต่งกายสุภาพ ออกงานที่เป็นทางการบ่อยครั้ง การจะคาดข้อมือด้วยนาฬิกาดำน้ำหนาๆ อาจจะเริ่มไม่เหมาะละ และนั่นทำให้ผมต้องมองหานาฬิกา Dress มาอยู่ในกรุ แล้วสายตาก็ไปสบเข้ากับ Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic เข้าอย่างจัง
งานนี้ออกตัวก่อนเลยว่า Passion ไม่เกี่ยว เพราะส่วนตัวผมไม่ค่อยพิสวาสกับนาฬิกา Dress เรือนบางๆ ขนาดตัวเรือนมีเส้นผ่านศูนย์กลางในระดับ 40 มิลลิเมตรหรือต่ำกว่า แต่ด้วยเหตุที่วิถีในการใช้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป ก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหานาฬิกาที่เหมาะสมกับการแต่งตัว
แน่นอนว่าในเวลาทำงานปกติ ผมก็ยังคาด Diving Watch เรือนหนาๆ ที่ผมคุ้นเคยมาทั้งชีวิต แต่เมื่อเจ้านายส่งสัญญาว่า ‘เย็นนี้ขอ Visa เมียซะ เพราะต้องไปงานเลี้ยงกับผม’ (และมีทีท่าว่าจะบ่อยครั้งขึ้น) คงไม่ดีแน่ถ้าสูทของผมจะมีอะไรปูดๆ โผล่ขึ้นมาตรงข้อมือ นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมต้องมองหาอะไรเข้ามาทดแทนในแบบที่วินวินทั้งคู่ คือ ใช้งานได้ และถูกใจผมในเชิงรูปลักษณ์ พร้อมป้ายราคาที่มีตัวเลขไม่โหดร้ายกับกระเป๋าเงินจนเกินไป
จริงๆ แล้วนาฬิกาในคอลเล็กชั่น Jazzmaster ของ Hamilton กับผมนั้นแทบจะเป็นทางคู่ขนานกัน เพราะอย่างที่บอกข้างต้น ชีวิตผมชอบนาฬิกากลุ่ม Sport มากกว่า แต่เมื่อไลฟ์สไตล์พลิก ก็เลยไล่เรียงดูแต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์ที่ผมจะต้องรองรับกับการแต่งกายในอีกรูปแบบของผม แล้วก็มาสะดุดตากับคอลเล็กชั่นใหม่ของพวกเขาที่ชื่อว่า Thinline Automatic ซึ่งทุกอย่างบ่งบอกผ่านทางชื่อรุ่นย่อยแล้วว่า งานนี้จะต้องเจออะไรที่สุดขั้วอีกแล้ว กับตัวเรือนขนาดบางเฉียบ หลังใส่แต่ของหนาๆ ระดับเฉียด 20 มิลลิเมตรมานาน
จริงอยู่ที่ทาง Hamilton ชูจุดเด่นนาฬิการุ่นนี้ในแง่ของความยืดหยุ่นในการใช้งานที่สามารถรองรับกับวาระ และโอกาสที่เปลี่ยนไปได้เพียงแค่การเลือกเปลี่ยนสายหนังใหม่ด้วยเทคนิค Easy Click แต่เอาเข้าจริงๆ ผมมองว่ามันเป็นแค่การเปลี่ยนโดยที่รูปแบบการแต่งกายที่ใกล้เคียงกันมากกว่า คงไม่ใช่แตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลัง…แบบผม ที่เช้าสวมเสื้อยืดกางเกงยีน สวม Sneaker แล้วตกเย็นต้องมาสวมสูทผูกเน็คไท ใส่คัทชู
เอาละ ลองมาดูจุดที่ Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic ทำให้ผมถูกใจกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง
อย่างแรก…องค์ประกอบโดยรวมที่เรียบง่าย บนตัวเรือนแบบ Stainless Steel ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร พวกเขาเน้นความเรียบง่ายในการออกแบบ ไม่มีอะไรอยู่บนหน้าปัดเยอะจนเกินงาม มีแค่ชื่อและโลโก้อยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา และช่องหน้าต่างวันที่ หรือ Date ขนาดพอเหมาะอยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา ที่สำคัญ คือ หลักชั่วโมงก็เป็นแค่ขีด ไม่มีการใช้ตัวเลข โดยเฉพาะพวกตัวเลขโรมัน มาลดทอนความสวยงาม ซึ่งบางรุ่นที่ผมเล็งๆ เอาไว้ เกือบจะผ่านแล้ว แต่สุดท้ายก็ถูกขีดฆ่าชื่อออกจากลิสต์ เพราะเรื่องตัวเลขสไตล์นี้…อันนี้เรื่องความชอบส่วนตัวล้วนๆ
อย่างที่สอง รูปแบบของสีหน้าปัด ซึ่งเป็นแบบ Sunray มีความเปลี่ยนแปลงไปมาเมื่อเล่นกับแสงที่มาตกกระทบ และตอนแรกที่ลังเลว่าจะเลือกบรอนซ์ (ที่เป็นบรอนซ์จริงๆ ไม่ใช่สีเงินอย่างที่หลายคนเรียก) หรือขาวแชมเปญดี สุดท้ายก็มาลงตัวที่แบบหลัง เพราะส่วนตัว ผมมีความรู้สึกว่าดูวินเทจและคลาสสิคกว่าสีอื่นๆ ซึ่งทาง Hamilton มีผลิตขายในรุ่น Jazzmaster Thinline Automatic ทั้งหมด 4 สี โดยอีก 2 สีที่เพิ่มเติมมาคือ สีเทาสเลตและสีน้ำเงิน
อย่างที่ 3 ความบางของตัวเรือน 8.45 มิลลิเมตรคือตัวเลขของความหนา ซึ่งถือว่าบางมากเมื่อมองไล่ดูนาฬิกา Dress ที่อยู่ในท้องตลาดซึ่งจะมีขนาด 10 มิลลิเมตรหรือมากกว่านี้ทั้งนั้น ซึ่งเจ้าความบางนี่แหละในมุมของผมมันสะท้อนอะไรออกมาได้หลายๆ อย่าง ที่อาจจะเห็นต่างจากคนทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องความเจ๋งในการทำให้กลไกเข้าไปอยู่ในตัวเรือนขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะแค่ความหนาของกลไกอัตโนมัติก็มีตัวเลขเกือบจะครึ่งหนึ่งของความหนาตัวเรือนเข้าไปแล้ว โดยHamilton เลือกใช้กลไกของแบรนด์ในเครือ Swatch Group อย่าง ETA โดยเป็นรุ่น 2892-A2 ซึ่งตัวกลไกมีความหนาเพียง 3.6 มิลลิเมตร และเกือบจะเป็นกลไกอัตโนมัติที่บางที่สุดแล้วจาก ETA
อะไรที่บางและเล็ก ในมุมมองของผมนั้น มันมักจะมาพร้อมกับราคาที่แพงกว่าความใหญ่ เพราะมันหมายถึงการต้องอาศัย Know-How หรืออะไรบางอย่างที่พิเศษเพื่อทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้เล็กลงแต่ยังมีประสิทธิภาพในการทำงานเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับของที่ใหญ่กว่า ส่วนกลไกอัตโนมัติรุ่นนี้ก็มีมาตรฐานในการสำรองพลังงานในระดับเทียบเคียงกับกลไกอัตโนมัติทั่วไป โดยอยู่ที่ 42 ชั่วโมง
อย่างสุดท้ายอาจจะเป็นเหตุผลที่ฟังดูแล้วเพี้ยนๆ หน่อย คือ Jazzmaster Thinline Automatic เป็น Dress Watch ที่มีพรายน้ำ โอเค พวกเขาไม่ได้แต้มสาร Super-Luminova ตามหลักชั่วโมงเหมือนนาฬิกาประเภทอื่นๆ ก็จริง (ซึ่งก็ดีแล้ว) แต่แต้มเอาไว้บนเข็มชั่วโมงและนาทีที่ผลิตจากนิเกิล ซึ่งหายากมากที่นาฬิกา Dress จะมาพร้อมกับพรายน้ำ
แล้วที่ไม่ชอบละมีอะไรบ้างไหม ? คำตอบคือ มี แต่ไม่เยอะ ที่สำคัญคงเป็นเสียงที่มาจากการเขย่าข้อมือเพื่อให้โรเตอร์เหวี่ยงในการเก็บพลังงานเข้าสู่กระปุกลาน ซึ่งผมคิดว่าเสียงที่เกิดจากจังหวะนี้มันดังไปหน่อยเท่านั้นเอง
ส่วนจุดเด่นของตัวนาฬิกาอย่างระบบ EasyClick ในมุมหนึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีและน่าสนใจเลย เพราะ Hamilton หวังดีออกแบบระบบ Easy Click เพื่อให้ความสะดวกในอะไรหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการถอดเปลี่ยนสายแบบไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือและสามารถทำได้อย่างรวดเร็วด้วย เพราะด้านหลังสายหนังจะมีการเจาะรูปบนหัวสายแล้วมีสลักที่สามารถเลื่อนได้เป็นตัวดันหัวสปริงบาร์ให้หดเข้าหรือยืดออก ถ้านึกไม่ออกก็เหมือนกับกลอนประตูนั่นแหละ จะถอดก็แค่ดันสลักตรงนี้
ความสะดวกในการเปลี่ยนสลับสายคือเหตุผลหลักของระบบนี้ แต่ผมคิดว่าอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกันคือ ป้องกันการหายของสปริงบาร์เพราะตัวสลักจะถูกยึดติดอยู่กับหัวสายแบบตายตัวเลย เรียกว่าถ้าจะหายก็ไปทั้งเส้นเลย และอีกข้อคือ ลดความเสี่ยงในการทำให้ด้านหลังของขาสายเป็นรอยได้ ซึ่งพวกมือเปลี่ยนสายหนังแบบผมจดจำประสบการณ์แรกที่สปริงบาร์ดีดเข้ากับตัวเรือนจนฝากรอยให้เป็นบทเรียนได้เป็นอย่างดี
อันนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่ชอบอะไรเดิมๆ แต่อีกมุมหนึ่งสำหรับพวกที่ไม่ชอบอะไรเดิมๆ จากโรงงาน และชอบสายที่แปลกตามากกว่าของจากโรงงาน ผมกลับหงุดหงิดเล็กน้อยกับระบบนี้ อันเนื่องมาจากสุดท้ายผมต้องไปหาสปริงบาร์ไซส์ 20 มิลลิเมตรมาสำรองเอาไว้
เหตุผลหนะหรือ ?
ก็อย่างที่เกริ่นข้างต้นกับการที่สปริงบาร์เดิมถูกล็อกเอาไว้ที่หัวสาย ทำให้ไม่สามารถถอดออกมาสวมกับสายหนังชุดใหม่ที่ผมเตรียมมาได้ หรือถ้าจะเอาออกก็ต้องมีการออกแรงง้างและงัดกันแบบเหงื่อตก หรือสายพังกันไปข้างหนึ่งอย่างแน่นอน แถมผมยังต้องบากด้านหลังของสายเส้นใหม่เพื่อให้หัวสลักของสปริงบาร์เดิมโผล่ขึ้นมาอีก คิดสะระตะแล้ว ค่าสปริงบาร์ถูกกว่าค่าสายอย่างแน่นอน ดังนั้นหาสปริงบาร์ใหม่มาสำรองเอาไว้ดีกว่า…ก็แค่บ่นให้ฟัง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร
เมื่ออยู่บนข้อมือ ต้องยอมรับว่าค่อนข้างแฮปปี้กับ Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic นะ แม้ว่าจะมีเสียงดังครืดๆ ของโรเตอร์มารบกวนอยู่เสมอๆ ตอนที่ขยับแขน กับขนาด 40 มิลลิเมตรแม้ว่าในช่วงแรกจะเกิดสัมผัสที่ดูจะเล็กๆ ไปหน่อย แต่เมื่อปรับสภาพได้ถือว่าดูลงตัวบนข้อมือของผมเลยทีเดียว
และที่ชอบสุดคือ ความบางของตัวเรือนที่แนบกับข้อมือ ทำให้เมื่อกลัดกระดุมปลายแขนเสื้อเชิร์ตแล้วก็ไม่มีอาการโป่งนูนขึ้นมาให้เห็น และตัวนาฬิกาสามารถผ่านปลายแขนเสื้อเชิร์ตไปได้แบบไม่ติดขัดอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คนชอบใส่เสื้อแบบพอดีตัว ทำให้ช่องว่างตรงนี้แคบลง เรียกว่าหลังจากยกมือขึ้นโหวตออกเสียงแล้ว ไม่ต้องเสียเวลามาดึงแขนเสื้อให้ลงมาคลุมนาฬิกาอีกทีหนึ่ง
กับตัวเลข 34,000 บาทที่เป็นค่าตัวของ Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic การจะให้นิยามว่าถูกหรือแพงนั้นไม่ได้มีผลมากเท่ากับความคุ้มค่าและความสามารถของตัวนาฬิกาในการตอบสนองความต้องการของคุณได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในจังหวะของการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเองมาสู่ชีวิตที่เป็นทางการมากขึ้นนั้น การซื้อมาแล้วได้ใช้ และใช้อย่างถูกใจ ผมว่าตรงนี้แหละที่สำคัญที่สุด
ข้อมูลทางเทคนิค : Hamilton Jazzmaster Thinline Automatic
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 40 มิลลิเมตร
- ความหนา : 8.45 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
- กระจก : แซฟไฟร์พร้อมเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่ง
- กันน้ำ : 50 เมตร
- กลไก : อัตโนมัติ ETA 2892-A2 พร้อมฟังก์ชั่นวันที่ (Date)
- สำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
- ประทับใจ : ความบาง ดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ดูดี
- ไม่ประทับใจ : เสียงการทำงานของโรเตอร์
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/