Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์

0

นาฬิกาเดรสส์กับไซส์ 42 มิลลิเมตรอาจจะเป็นอะไรที่ใหญ่ไปสักนิดสำหรับบางคน แต่สำหรับผมขนาดนี้ถือว่ากำลังดีเลยกับข้อมือ และ Hamilton Jazzmaster Power Reserve นอกจากจะมากับขนาดที่พอเหมาะแล้ว หน้าตา ชิ้นงาน และกลไกยังถือว่าอยู่ในระดับที่เชิญชวนให้เป็นเจ้าของ

Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์
Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์

Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์

  • หน้าตาแนวเดรสส์แต่ไซส์ 42 มิลลิเมตรจึงเหมาะกับคนข้อมือใหญ่
  • กลไก H-13 มาพร้อมาตรวัดพลังงานสำรอง และการสำรองพลังงานถึง 80 ชั่วโมง
  • ราคาเริ่มต้นสำหรับสายหนัง 45,500 บาท
- Advertisement -

สมัยก่อนอาจจะด้วยเพราะไลฟ์สไตล์และอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต ทำให้ผมกับนาฬิกาแนวเดรสส์แบบเรียบๆ กลายเป็นเหมือนกับเส้นขนาน เรื่องงบประมาณก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่า คือ ถึงซื้อมาแล้วโอกาสที่จะได้ใช้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมค่อนข้างกังวล เพราะอย่างที่บอกไลฟ์สไตล์ผมกับอะไรที่เป็นทางการนั้นแทบจะไม่มีโอกาสได้เจอกันเลย จำได้ว่าครั้งสุดท้าย คงเป็นงานแต่งงานของตัวเอง ที่นานจนแทบจะจำไม่ได้ (นอกจากเมียถาม)

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของขนาดที่ส่วนใหญ่แล้วจะต่ำกว่า 40 มิลลิเมตรก็ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมเมินนาฬิกาในกลุ่มนี้และมีประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องยังไม่เจอกับนาฬิกาประเภทนี้ที่ตรงใจ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะหน้าตาเหมือนกันคือ เรียบ ง่าย จนแทบมองไม่ออกเลยว่าแบรนด์ไหนเป็นแบรนด์ไหน

แต่สุดท้ายว่ากันว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป อะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนตาม ไม่ใช่แค่รสนิยมในการทำอะไรสักอย่างเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงมุมมองและวิธีคิดด้วย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยขนาดเลข 4 นำหน้า เพื่อนๆ หลายคนที่เติบโตมากับการฟังเพลงกลุ่ม L.A. Metal ต่างก็หันไปฟัง Jazz หรือไม่ก็ Classic กันหมด ซึ่งแม้ว่าผมจะยังยึดฐานที่มั่นในการฟังเพลงอยู่ที่กลุ่มนี้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แต่มุมมองที่มีต่อนาฬิกาเดรสส์ของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป

ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพราะหลังจากได้เห็น Hamilton Jazzmaster Power Reserve แล้ว บอกได้เลยว่าเป็นเดรสส์ที่สร้างความประทับใจในครั้งแรกที่ได้เห็น เหมือนกับที่ผมหลงรักเจ้า Grand Seiko SBGM221 เข็ม Blue Steel หน้าครีมและ GMT ตอนที่ได้เห็นครั้งแรก แต่ติดตรงที่ขนาดตัวเรือนเล็กไปหน่อย ซึ่งถ้าไม่รับเรื่องเงินค่าตัว ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้เราไม่ได้เจอกัน

Jazzmaster ถือเป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่นหลักของ Hamilton และนาฬิกาในกลุ่มนี้ก็มีทั้งพวกเดรสส์ และเดรสส์กึ่งสปอร์ตที่มีตัวเรือนใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย โดยถือเป็นคอลเล็กชั่นที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของบรรดาแฟนๆ ของ Hamilton และแบรนด์อื่นๆ ไม่แพ้กลุ่ม Khaki ซึ่งที่ผ่านมา สารภาพเลยว่าผมไม่เคยมองนาฬิกากลุ่มนี้เลย เพราะด้วยขนาด และดีไซน์ที่ดูแหวกแนวและยังไม่โดนใจเท่าที่ควร บางรุ่นดูขาดๆ เกินๆ ในการออกแบบ จะเรียบก็ไม่เรียบ ใส่ลูกเล่นเยอะจนบางครั้งดูมันรุงรังไปหน่อย แต่กับตัว Power Reserve ผมว่าเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผม ‘ต้อง’ หันมามองนาฬิกาคอลเล็กชันนี้อย่างจริงจังขึ้นกว่าเดิม

ถ้าคุณถามผมว่า สิ่งที่ผมชอบในนาฬิกาเรือนนี้มีอะไรบ้าง โอเค…ผมขอแยกเป็นประเด็นตามนี้ก็แล้วกัน

อย่างแรก คือ ขนาดกับตัวเรือนไซส์ 42 มิลลิเมตร ซึ่งอาจจะดูแล้วใหญ่ไปสักนิดสำหรับการเป็นนาฬิกาเดรสส์ แต่ผมมีความรู้สึกว่าพวกเขาสร้างนาฬิการุ่นนี้ขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับคนข้อมือใหญ่ที่อยากได้นาฬิกาแนวเดรสส์ที่เหมาะสมกับขนาดของข้อมือ และแม้ว่าจะมีไซส์เส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 42 มิลลิเมตร (ซึ่งอาจจะดูเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมือ 7 นิ้ว) แต่กับตัวนาฬิกาที่ไม่มี Bezel หรือขอบอะไรที่มันหนาๆ เหมือนกับพวกนาฬิกาสปอร์ต ทำให้ตัวหน้าปัดสามารถเบ่งขนาดได้เต็มที่จนเกือบสุดขอบของตัวเรือน ดังนั้น นาฬิกาพวกนี้เลยให้สัมผัสกับความรู้สึกว่ามีขนาดใหญ่กว่านาฬิกาไซส์เดียวกันแต่มีพวกขอบ Bezel และเมื่ออยู่บนข้อมือ 7 นิ้วของผมแล้ว ถือว่าเต็มข้อ และยิ้มกลับมาให้อย่างชัดเจน

ข้อที่ 2 เป็นผลพวงมาจากข้อแรก เพราะขนาดตัวเรือนที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเดรสส์ทั่วไป แม้ว่าความกว้างขาสายอยู่ที่ 22 มิลลิเมตร (ซึ่งผมมองว่าใหญ่ไปนิดหน่อยสำหรับนาฬิกาไซส์นี้) แต่การมองหาสายหนังตัด Aftermarket ขนาด 22/20 มาเข้าคู่กันนั้น สามารถเปลี่ยนบุคลิกของตัวนาฬิกาไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งตามปกติแล้ว ผมไม่ชอบซื้อนาฬิกามาเพื่อใช้โอกาสใดโอกาสหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่รู้ว่าหลังจากผ่านช่วงนั้นไปแล้วจะได้ใช้อีกเมื่อไร แต่สำหรับ Jazzmaster Power Reserve ตอบโจทย์ในแง่ของการพลิกแพลงเพื่อเปลี่ยนบุคลิกในการใช้งานได้เพียงแค่หาสายหนังใหม่เพียงชุดเดียว แต่ถ้าจะให้ถูกใจจริงๆ ผมว่าความกว้างขาสายสัก 20 มิลลิเมตรกับนาฬิกาไซส์จะลงตัวมากกว่านี้

ข้อที่ 3 ความเรียบง่ายแต่โดดเด่น อันนี้อาจจะยากหน่อยในการอธิบายในเชิงนามธรรม ถ้าตัดสีสันของเข็มและมาตรวัดระดับพลังงานออกไป นาฬิกาเรือนนี้ก็สวยระดับหนึ่งในแง่ของความเรียบง่ายๆ      เหมือนกับสาวสวยสักคนที่ยังไม่ผ่านการแต่งหน้าแต่งตา แต่พอมีสีสันพวกนี้แซมเข้ามาอย่างพอเหมาะและไม่เยอะจนเกินไป มันจะช่วยเพิ่มความโดดเด่นขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ การเลือกสีแดงบนมาตรวัดและน้ำเงินของชุดเข็มทำได้อย่างลงตัว เพียงแต่ผมรู้สึกว่าเข็ม Blue Steel ดูจะหลอกตาไปหน่อยเวลาเล่นกับแสง เมื่อเปรียบเทียบกับ Blue Steel ที่อยู่ในนาฬิกาที่แบรนด์สูงขึ้นไป แต่ก็ไม่ถึงกับขนาดแปลกแยกเหมือนกับพวก Blue Steel ที่พบเห็นจากนาฬิกาหลักพันปลายๆ หรือหมื่นต้นๆ

อีกสิ่งที่ผมชอบคือ บนหน้าปัดไม่รกรุงรังด้วยอะไรต่อมิอะไรเหมือนกับบางแบรนด์ ซึ่งใน Jazzmaster Power Reserve  มีแค่ชื่อแบรนด์ โลโก้ และคำว่า Automatic กับหน้าต่าง Date ตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา โดยที่การวางเกจ์วัดพลังงานตรงตำแหน่ง 8 นาฬิกา ผมว่าเป็นอะไรที่เพอร์เฟ็กต์สุดๆ ในแง่ของบาลานซ์บนหน้าปัด เมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาที่มีมาตรวัดพลังงานหลายๆ เรือนที่อยู่ในท้องตลาด

แค่ 3 ข้อนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้ผมเทใจให้กับนาฬิกาเรือนนี้

Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์
Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์

ส่วนใครที่ต้องการลงลึกในแง่ของกลไก Jazzmaster ก็ไม่ทำให้ผิดหวังในเรื่องนี้ เพราะจากการที่ Hamilton อยู่ใน Swatch Group ซึ่งมีนาฬิกาอยู่ในเครือหลายแบรนด์ รวมถึงบริษัทผลิตกลไกอย่าง ETA พวกเขาได้คิดค้นโมเดลในการช่วยเพิ่มความประหยัดในการผลิตเชิงพาณิชย์กับแนวคิด Economy of Scale ด้วยการแชร์กลไกที่มีอยู่ให้กับแบรนด์ต่างๆ ของบริษัท ซึ่งจริงๆ แล้วแนวคิดนี้มีมานานหลายสิบปีแล้วกับบริษัทรถยนต์ใหญ่ๆ เช่น Toyota และ Volkswagen Group โดยเฉพาะรายหลังนี่ชัดเจนที่สุด ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยลดต้นทุนทั้งในเชิงของเวลาและต้นทุนการผลิต ทำให้คุณสามารถแข่งขันในตลาดได้ ด้วยสเป็กที่เหนือกว่าคู่แข่งในระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่อาจจะถูกค่อนขอดด้วยแฟนเดนตายได้ กับการสูญเสียเอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนไป

ถามผมว่าซีเรียสไหม คำตอบคือ ไม่ซีเรียส แล้วก็ไม่เห็นจะแคร์สักเท่าไร ตรงนี้ผมอาจจะไม่ใช่คนเล่นนาฬิกาที่ยึดติดกับการมีกลไกของตัวเองมากมาย ชนิดที่ว่าจะต้อง In-House หรือ Outsource แต่ผมกลับชอบในเรื่องการออกแบบ และหน้าตามากกว่า ส่วนกลไกก็คงขอเพียงไม่กี่อย่าง คือ ความเที่ยงตรง ซ่อมง่าย และต้นทุนการดูแลรักษาที่ไม่แพงจนเกินไป

เหมือนกับ Lamborghini Gallardo ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานเดียวกับ Audi R8 (ซึ่งเปิดตัวตามหลัง 3 ปีแต่ Audi ที่เป็นแบรนด์แม่ของ Lamborghini มีเปิดตัวต้นแบบที่ชื่อ Le Mans ออกมาก่อนตั้งแต่ปี 2003 และว่ากันว่าต้นแบบคันนี้คือร่างพื้นฐานทางวิศวกรรมสำหรับการพัฒนาของ Gallardo) แถมยอดขายของสปอร์ตแบรนด์นี้ยังถล่มทลาย จนติด Best Selling All-time ของบริษัท ณ ตอนนี้ด้วยยอดขายมากกว่า 14,000 คัน ซึ่งนั่นแสดงว่าพื้นฐานทางวิศวกรรมอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักที่มีผลต่อความรู้สึกของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์มากเท่ากับการสร้างแบรนด์และการสื่อสารที่ชัดเจนกับพวกเขา และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่โดนใจ

สำหรับ H-13 ที่วางอยู่ใน Hamilton Jazzmaster Power Reserve คือ กลไกที่ถูกต่อยอดมาจาก ETA-2824 โดยกลไกชุดนี้ถูกปรับปรุงและปรับแต่งตามความต้องการของแต่ละแบรนด์ในเครือ พร้อมกับวางในนาฬิกาหลายรุ่น โดยของ Hamilton มีการติดตั้งชุดแสดงระดับพลังงานเพิ่มขึ้นมา โดยที่ความสามารถในการเดินอยู่ในระดับ 3Hz และสำรองพลังงานได้ 80 ชั่วโมง ซึ่งคุณสามารถมองเห็นกลไกที่อยู่ภายในได้ผ่านทางฝาหลังแบบใส เรียกว่ากลไกรุ่นนี้มาแบบเต็มยศ ด้วยถังเก็บพลังงานขนาดใหญ่ แถมมีฟังก์ชั่นพิเศษเพิ่มเข้ามาด้วย

ถ้าถามว่าน่าสนใจไหม ? คำตอบน่าจะอยู่ที่ตัวคุณเองมากกว่า เพราะการซื้อนาฬิกาสักเรือนของแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน บางคนซื้อเพราะชอบ แต่บางคนกังวลเกี่ยวกับแบรนด์และราคาขายต่อเสียจนบางครั้งทำให้เราต้องใส่อะไรที่เราไม่ได้ชอบมาก ซึ่งตรงนี้สำหรับผม ถ้าอ่านรีวิวกันมาตลอดจะรู้ดีว่า ผมยึดความชอบของตัวเองเป็นหลักเสมอ เพราะถ้าต้องใส่อะไรที่ตามกระแส หรือมามัวพะวงเรื่องขายต่อทั้งที่ยังไม่ได้ซื้อเลย และ Hamilton Jazzmaster Power Reserve สอบผ่านสำหรับผมในเรื่องของความชอบ

45,500 บาท คือราคาเริ่มต้นของ Hamilton Jazzmaster Power Reserve รุ่นสายหนัง แต่ถ้าอยากได้สายเหล็กก็จ่ายเพิ่มอีก 3,000 บาท ซึ่งถ้าถามผม แน่นอนว่าตัวเลือกหลังย่อมน่าสนใจกว่าถ้างบฯ ถึง เพราะถ้าคุณเกิดอยากได้สายเหล็กตรงรุ่นทีหลัง การซื้อแยกต่างหากมันมีมูลค่ามากกว่าส่วนต่างตรงนี้อย่างแน่นอน

Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์
Hamilton Jazzmaster Power Reserve เติมสีสันให้นาฬิกาเดรสส์

รายละเอียดทางเทคนิค : Hamilton Jazzmaster Power Reserve

  • ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง   :   42 มิลลิเมตร
  • ความหนา    :   12.6 มิลลิเมตร
  • Lug-toLug   :   48 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย  :  22 มิลลิเมตร
  • กระจก  :  Sapphire
  • ระดับการกันน้ำ  :   50 เมตร
  • กลไก   :   H-13
  • สำรองพลังงาน   :   80 ชั่วโมง
  • ความถี่ในการทำงาน    :    3Hz
  • ประทับใจ                ความเรียบง่าย และการใช้สีสันอย่างพอเหมาะ  การสำรองพลังงาน  ขนาดที่พอเหมาะ
  • ไม่ประทับใจ           ความกว้างขาสายน่าจะ 20 มิลลิเมตร เข็ม Blue Steel ที่ดูหลอกตาไปหน่อย