หลังจากผลิตรุ่น Limited Edition ออกมา ในที่สุดทาง Hamilton ก็จัดการรุกตลาดด้วยรุ่น Intra-Matic Chronograph อย่างเต็มตัวด้วยการส่งรุ่นปกติออกขายแต่ลดขนาดตัวเรือนลงเหลือ 40 มิลลิเมตร และใช้หน้าปัดแบบ Panda ที่ดูมุมไหนก็สวยสะดุดตา
Hamilton Intra-Matic Chronograph ถึงลดไซส์แต่ก็ยังน่าสนใจ
- แรงบันดาลใจออกแบบจากรุ่น Intra-Matic Chrono-Matic
- ตัวเรือน Stainless Steel ขนาด 40 มิลลิเมตร
- หน้าปัดสไตล์ Panda กับราคา 82,000 บาท
ปีที่แล้ว Hamilton ฉลองครบรอบ 50 ปีของนาฬิกาจับเวลารุ่นคลาสสิคของพวกเขาอย่าง Intra-Matic Chronograph ด้วยการเปิดตัว Limited Edition ออกมา ดูเหมือนว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี (เช่นเดียวกับมีเสียงบ่นกลับมาบ้างในเรื่องขนาด) งานนี้ก็เลยมีหนังภาคต่อกับการผลิตรุ่นธรรมดาออกมา และงานนี้ทำเอาผมเนื้อเต้นอย่างมาก เพราะมันคือ Panda ไม่ใช่ Reverse Panda เหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้
อันนี้บอกเลยว่าเป็นความชอบส่วนตัว และถ้าตามอ่านกันบ่อยๆ ผมมักจะบอกว่าตัวเองชอบนาฬิกาจับเวลา Chronograph และจะชอบมากขึ้นถ้าเป็นแบบ 2 วง และจะมากขึ้นเป็นพิเศษถ้าเล่นสีบนหน้าปัดในสไตล์ Panda ซึ่ง Intra-Maric Chronograph ตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ของผมอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม งานนี้มี ‘แต่’ เกิดขึ้นตอนที่ได้เห็นสเป็กจากข่าว เพราะว่าตัวเลข 40 มิลลิเมตรที่เป็นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเจ้า Intra-Matic Chronograph รุ่นใหม่ มันเป็นอะไรที่ยังคาใจกับตัวผมอยู่ แถมยังเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก Intra-Matic Chronograph ตัว Limited Edition ที่เป็น Reverse Panda ซะอีก
ก็พอจะเข้าใจเหตุผลของ Hamilton นะ เพราะตอนที่เจ้า Reverse Panda เปิดตัวออกมาใหม่ๆ พร้อมกับไซส์ 42 มิลลิเมตร มีข่าวว่าพวกเขาโดนถล่มโดยแฟนขาวินเทจว่าทำไมถึงทำนาฬิกาที่ใหญ่ขนาดนี้ ทั้งที่เจ้าตัวดั้งเดิมที่เปิดตัวเมื่อปี 1968 นั้นขนาดมันแค่ 36 มิลลิเมตรเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขสัก 38-40 มิลลิเมตรสำหรับรุ่น Re-Issue น่าจะเพียงพอแล้ว
Model : Hamilton Intra-Matic Chronograph
ดูเหมือนว่าเสียงบ่นนี้จะไปถึงหูและมีผลต่อการตัดสินใจอยู่เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเจ้า Intra-Matic Chronograph Panda Dial ที่เปิดตัวออกตามมาทีหลังคงไม่ถูกลดไซส์ลงมาอยู่ที่ 40 มิลลิเมตรอย่างแน่นอน
ผิดหวัง…คือความรู้สึกแรก แต่สมหวัง…คือความรู้สึกที่ตามมาหลังจากที่ได้ลองตัวจริง
ผมเคยเขียนถึงหลายครั้งเหมือนกันสำหรับการตัดสินใจซื้อนาฬิกาที่มีขนาดคาใจว่า ทางที่ดีควรจะลองทาบบนข้อมือเพื่อดูว่าจริงๆ แล้วมันลงตัวหรือไม่ ไม่ใช่ตัดสินใจจากตัวเลขของขนาดบนแผ่นพับเพียงอย่างเดียว และเจ้า Intra-Matic Chronograph Panda Dial คือ หนึ่งในสิ่งที่ผมต้องลองด้วยตัวเองเพื่อดูว่ามันยิ้มให้หรือไม่
ถ้าไม่นำเรื่องการมีใจให้ตั้งแต่แรกแล้ว และคุยกันด้วยเหตุผล ปัจจัยที่ทำให้ Intra-Matic Chronograph Panda Dial สามารถสยบความขัดใจในตอนแรกของผมอย่างอยู่หมัดน่าจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ
อย่างแรก รูปแบบของหน้าปัดที่ไม่มีขอบ Bezel และสเกล Tachymeter ถูกย้ายไปอยู่ด้านในบนหน้าปัดแทน ก็เลยทำให้ขนาดของนาฬิกาดูใหญ่ขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพื้นที่ในส่สนของหน้าปัดนั้นสามารถขยายได้เต็มที่โดยไม่ติดขอบ Bezel
อย่างที่ 2 ความหนาของตัวเรือน ซึ่งตอนแรกผมไม่คิดว่าปัจจัยนี้จะมีผลมาก เพราะเคยผิดหวังมาแล้วกับ Fortis Spacematic GMT แต่ตัวเลขในระดับ 14.6 มิลลิเมตร ถือว่าทำให้ค่อยๆ ลดทอนความรู้สึกเริ่มต้นที่ว่ามันเล็กเกินไปให้จางลงไปเรื่อยๆ
อย่างที่ 3 Lug-to-Lug ของนาฬิกาที่ยาวถึง 50 มิลลิเมตร ทำให้เวลาวางอยู่บนข้อมือแล้วมันเต็มข้อดีและยังเหลือพื้นที่ให้โชว์สายนาฬิกาอีกนิดหน่อย
และสุดท้ายคือ ปุ่มกดของระบบจับเวลา Chronograph และเม็ดมะยม ที่ออกแบบให้ยาวยื่นออกมาในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับยาวมากจนทำให้นาฬิกาดูแปลกไป มีส่วนให้ตัวนาฬิกาในแง่ของภาพรวมเวลาวางอยู่บนข้อมือ ดูไม่เล็กอย่างที่จินตนาการเพียงแค่เห็นตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลาง
ในแง่ของการออกแบบต้องบอกว่าลงตัวและดูดีอย่างมาก ซึ่ง Hamilton พยายามคงสไตล์และรูปแบบของ Intra-Matic Chrono-Matic ตัวคลาสสิคที่เปิดตัวในปี 1968 โดยในตอนนั้นพวกเขาเปิดตัวออกมา 2 แบบคือ Type A ที่เป็น Panda Dial เหมือนกับเรือนนี้ และอีกรุ่นคือ Type B ที่เป็น Reverse Panda ซึ่งเป็นตัว Limited Edition ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนพื้นหน้าปัดจากเดิมที่คิดว่าจะมาในแบบขาวจั๊วะนั้น เอาเข้าจริงๆ เป็นสีขาวออกอมเหลืองนวลๆ ซึ่งผมว่าลงตัวและคลาสสิคมากๆ เพราะคล้ายกับนาฬิกาวินเทจที่หน้าปัดการกระทำของเวลามาในระดับหนึ่ง
วงหน้าปัดย่อยมาในสีดำ และใช้เข็มสีขาวซึ่งดูตัดกันอย่างลงตัว โดยขอบวงด้าน 9 นาฬิกาจะเป็นตัวบอกวินาทีของระบบเวลาหลัก และขอบวงในตำแหน่ง 3 นาฬิกาจะเป็นส่วนจับเวลาซึ่งอยู่ที่ 30 นาที ขณะที่ขอบด้านนอกจะเป็นสเกลของ Tachymeter ที่เป็นพื้นดำและตัวเลขขาว ดูเด่นสะดุดตา โดยที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาจะวางชื่อของ Hamilton ที่มากับฟอนต์ที่ดูสวยลงตัวพร้อมโลโก้ตัว H ส่วนตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะมีหน้าตางของช่องวันที่ (Date) ติดตั้งเอาไว้ ซึ่งใครที่เคยผ่าน Pan Europ มาแล้วคงคุ้นเคยกับระบบ Quick Date ของพวกเขา คือ ใช้ Pusher หรือไม่จิ้มฟันก็ได้กดตรงปุ่มบนตัวเรือนในตำแหน่ง 10 นาฬิกาได้เลย
ตัวเรือนทรงกลมผลิตจากสแตนเลส สตีล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร หนา 14.6 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug 50 มิลลิเมตร มีการขัดเงาและสลับด้านอย่างสวยงาม ส่วนขาสายมีความกว้าง 20 มิลลิเมตร เรียกว่าถ้าคุณเบื่อสายเดิมสีดำที่ผมคิดว่ามันเรียบๆ ไปหน่อย ก็หาสายทดแทนขนาด 20/18 มิลลิเมตร มาทดแทนน่าจะช่วยเพิ่มความสวยให้กับ Intra-Matic Chronograph Panda Dial ได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตัวบัคเคิลเป็นแบบหัวเข็มขัดพร้อมสลักคำว่า Hamilton ไม่ใช่บานพับปีกผีเสื้อ ซึ่งมาได้สร้างความกังวลใจอะไรให้ผมนะ เพียงแต่ถ้าได้ตัวบานพับมาคงจะช่วยเพิ่มความสวยให้ได้อีกระดับหนึ่ง…เท่านั้นเอง
ด้านหลังอาจจะเป็นอะไรที่ขัดใจใครบางคน โดยเฉพาะพวกที่ชื่นชอบฝาหลังใสเพื่อจะได้ชื่นชมความงามของกลไก แต่สำหรับผมเฉยๆ นะจะทึบก็ได้หรือใสก็ได้ เพียงแต่สิ่งที่ขัดใจนิดนึงสำหรับ Intra-Matic Chronograph Panda Dial ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ฝาหลังทึบ แต่น่าจะเป็นไอเดียในการนำเสนอของพวกเขามากกว่า ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่านี้ในการสร้างสรรค์ลวดลาย แทนที่จะเป็นแค่การนำตัวอักษร H มาวางเรียงไล่ขนาดกันในกรอบวงกลม
กลไกของ Intra-Matic Chronograph Panda Dial เป็นหรัส H-31
ที่ถูกต่อยอดมาจากกลไกพื้นฐาน Valjoux 7753 ซึ่งหายห่วงในเรื่องความทนทาน การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุง โดยตัวกลไกมีทับทิมทั้งหมด 27 เม็ด สามารถ Hack เข็มวินาทีได้ และโดนปรับแต่งให้ใช้ระบบ Quick Date ตามที่เล่าให้ฟังข้างบน และมีการอักเกรดถังพลังให้ใหญ่ขึ้นเป็น 60 ชั่วโมง จากของเดิมมีแค่ 44 ชั่วโมง ส่วนความถี่ในการเดินอยู่ที่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่าเนียนและเรียบในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
มาถึงเรื่องสำคัญหลังจากที่ได้อธิบายจุดที่ทำให้ผมคาใจในเรื่องของขนาดกับการสวมใส่ จากที่ได้ลองบอกได้เลยว่า Intra-Matic Chronograph Panda Dial อยู่ในระดับที่โอเคเลย ปัจจัยที่ผมบอกข้างต้นช่วยทำให้ความรู้สึกเล็กในจินตนาการของผมหมดไป และมีส่วนสำคัญเหมือนกันที่ทำให้ความรู้สึกของผมต่อขนาดของนาฬิกาเริ่มเปลี่ยนไป
หมายความว่าอย่างไร ?
ผมกำลังจะบอกว่า ส่วนตัวผมชอบใส่นาฬิกาไซส์ใหญ่ แต่หลังจากลองทาบและอยู่กับเจ้า Intra-Matic Chronograph Panda Dial 2-3 วัน ความรู้สึกตรงนี้เริ่มเปลี่ยนไป และรู้สึกว่านาฬิกาไซส์ 40 มิลลิเมตร มันก็โอเคบนข้อมือขนาด 7 นิ้วของผมเหมือนกัน จะติดอยู่อย่างเดียวสำหรับคนที่มีนาฬิกาเรือนเดียวแต่ต้องใช้ทุกสถานการณ์ นั่นคือ ความหนา
ด้วยขนาดและหน้าตาดูแล้วทดแทนนาฬิกาเดรสส์ ที่อาจะนำไปสวมกับสูทเพื่อออกงานอย่างเป็นทางการ แต่ผมว่าตัวเลข 14.6 คืออุปสรรคและเป็นเรื่องยากมากที่แขนเสื้อจะคลุมผ่านไปได้ โดยที่ไม่ติดตัวเรือน แต่ถ้าคุณไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากที่ต้องคอยจัดแขนเสื้อให้เข้าที่เข้าทางอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร
82,000 บาทคือราคาของ Hamilton Intra-Matic Chronograph Panda Dial แพงไหม ? หลายคนถามกลับมา คำตอบของผมก็คือ สมเหตุสมผล เพราะอย่างที่บอก ถ้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมชอบนาฬิกา Chronograph ในสไตล์นี้ มี Story ให้คุยกับเพื่อนๆ ดีไซน์ของ Hamilton ทำได้ดี และที่สำคัญคือ ความสวยของหน้าปัด Panda ด้วยเหตุผล 4 ข้อนี้ ผมว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้ตัดสินใจได้ง่าย
รายละเอียดของ Hamilton Intra-Matic Chronograph
- Ref : H38416711
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 40 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14.6 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 50 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : Stainless Steel
- วัสดุสาย : หนัง
- กระจก : Sapphire ทรงโดม
- กลไก : H-31 พื้นฐาน Valjoux 7753
- จำนวนทับทิม : 27 เม็ด
- ความถี่ : 28,000 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน : 60 ชั่วโมง
- ระดับการกันน้ำ : 100 เมตร
- ประทับใจ : เรื่องราว ดีไซน์ หน้าปัดแบบ Panda กลไก Chronograph แบบ 2 วง
- ไม่ประทับใจ : วัสดุสาย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/